Thursday, 9 May 2024
รัสเซล_โครว์

'อัษฎางค์' อธิบาย Lost in Bangkok ของ 'ลุงโครว์' หมายถึง หลงเข้ามาเที่ยวในกทม. ไม่ใช่หลงทาง

อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก ‘เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค’ อธิบายคำว่า ‘Lost in Bangkok’ ว่า ไม่ใช่หลงทาง แต่เป็นความ ‘หลงระเริง’ จนลืมวันคืน

คำว่า Lost in Bangkok ที่รัสเซล โครว์ เอามาเล่นเป็นซีรีส์ภาพถ่ายการตะลอนทัวร์ในกรุงเทพนั้น คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสามกีบ เอามาตีความหมายว่า รัสเซล โครว์ “หลงทางในกรุงเทพ” แล้วก็ละเลงสีใส่ไข่ สร้างเรื่องและวาทกรรมด้อยค่าเมืองไทยกันสนุกปาก

จริงอยู่ว่า Lost แปลว่า หลง

แต่บริบทของการใช้คำว่า “Lost in Bangkok” กับภาพความสนุกสนานเพลิดเพลินในการท่องเที่ยวไปทั่วกรุงเทพของรัสเซล โครว์...มันไม่ใช่การ “หลงทาง”

แต่มันคือการ “หลงระเริง”

หลงระเริง ที่แปลว่า “หลงในความสนุกสนาน”

เหมือนที่คนไทยเปรียบเทียบคนต่างจังหวัดที่เข้ามากรุงเทพแล้วลืมบ้านเกิดเมืองนอนว่า “หลงแสงสีในเมืองกรุง” นั้น คือ “Lost in Bangkok” หรือการที่เรียกคนที่ชอบเที่ยวกลางคืนว่า “หลงราตรี” นั่นก็คือ “Lost in Bangkok”

“Lost in Bangkok” ของ รัสเซล โครว์ จึงไม่ใช่หลงทาง แต่เป็นความ “หลงระเริง” ด้วยความสนุกสนาน

‘อ.แพท’ แจงความหมาย LOST IN BANGKOK ชี้ ‘รัสเซล โครว์’ สื่อถึง ‘หลงใหล’ ไม่ใช่ ‘หลงทาง’

คุณพัฒนพงศ์ (แพท) แสงธรรม อาจารย์ คณะศิลปศาสตร์ (ภาควิชาภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีรัสเซล โครว์ โพสต์ภาพท่องเที่ยวชุด LOST IN BANGKOK ในระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่า The Meaning of Being Lost : LOST IN BANGKOK แปลผิดว่า "หลงทาง" กันเยอะ เพราะไม่เข้าใจคำว่า lost

to be lost: นอกจากจะแปลว่าหลงทางแล้ว มันแปลว่า เคลิบเคลิ้ม จนไม่รู้กาลเวลา เพลิดเพลิน ดื่มด่ำ อย่างเช่นเพลง "Lost in Love" ของ Air Supply คือตกอยู่ในภวังค์ ของความรัก ไม่รู้วันรู้คืน ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ไม่มีเวลาหรือสถานที่ ไม่รับรู้เหตุผล

Debbie Gibson มีเพลงดังชื่อ Lost in Your Eyes ไม่ได้หลงทางอยู่ในเบ้าตา แต่มองตาเธอแล้วจังงัง ทำอะไรไม่ถูก เคลิ้มในเสน่ห์

ในโบรชัวร์นำเที่ยว ภาษาอังกฤษ จะใช้การเชิญชวนด้วยคำว่า lost เช่นจะแนะนำว่า ให้ไปเที่ยว เกียวโต แล้ว Get lost in the subtle splendor of ancient Japan ไปเพลิดเพลินอยู่กับความอลังการอันสุขุมของญี่ปุ่นยุคโบราณ จนลืมเวลา

ตลอดมา Russell Crowe ใช้ฉันทลักษณ์ในการสื่อด้วย Twitter บอกให้รู้ว่า หลงใหลเสน่ห์ของเมืองไทยแค่ไหน เช่นใช้รูปแบบภาษา dreaming  อันแปลได้ว่า "ในฝัน" ให้ความหมายเชิงบวก ที่สะท้อนความหลงใหล เช่น Amanpuri Dreaming โรงแรมสวยดั่งฝัน  Bangkok Dreaming กรุงเทพแดนฝัน เพลง California Dreaming เกิดห้วงคำนึง ฝันถึงแคลิฟอร์เนีย ที่ไม่หนาวเหน็บเหมือนตรงนี้

5 วิธีโปรโมทเที่ยวไทยให้ปังแบบ 'รัสเซล โครว์' ไม่ต้องอวยจนเอียน แต่เนียนจนใครก็อยากไป

นายเถกิง สมทรัพย์ อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก 'เถกิง สมทรัพย์' เผย 5 ข้อคิดการโปรโมทท่องเที่ยวไทย หลังเลนส์ดาราฮอลลีวูดอย่าง 'รัสเซล โครว์' ไว้อย่างน่าสนใจและควรทำตาม ว่า... 

แกกลับไปแล้ว...>> อะไรที่ควรคาดหวัง

1.) รัสเซล โครว์ นำเสนอเมืองไทยแบบนักท่องเที่ยว ไม่นำเสนอแบบ “นายแบบรับจ้างโปรโมท” ที่ถ่ายทำสวยงามแบบเฟก ๆ

2.) จุดที่นำเสนอผ่านทวิตเตอร์ เป็นแบบ “ธรรมชาตินักเที่ยว” ทั่วไป ไม่เน้นถ่ายทำสวย ๆ หรือบรรยายอะไรหรูหรา

3.) ไม่เน้นจุดท่องเที่ยว ไฮเอนด์ ตามแบบฉบับดาราดัง ๆ คนอื่น จึงทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

4.) มุมมองเมืองไทยผ่านสายตาของรัสเซลคือ เมืองไทยทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่เมืองไทยแบบในโฆษณาท่องเที่ยวเนี้ยบ ๆ

5.) คนรับทราบความเคลื่อนไหวของรัสเซลผ่านทวิตเตอร์ จะได้ความรู้สึกว่า “มาเมืองไทยได้ง่าย ๆ สบาย ๆ เป็นมิตรไม่ต้องกังวลเรื่องควอรันทีนแบบอึดอัดเข้มงวด”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top