Thursday, 16 May 2024
รัดเกล้า_อินทวงศ์_สุวรรณคีรี

‘รัดเกล้า’ เผย ‘โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1’ แล้วเสร็จ ‘การเคหะฯ’ เตรียมส่งมอบให้ผู้อยู่อาศัย เดือนพ.ค.นี้ ย้ายของเข้าอยู่ได้

(3 เม.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เตรียมส่งมอบโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1 ให้กับผู้อยู่อาศัยโครงการเคหะชุมชนดินแดง 1 อาคารแฟลตที่ 23-32 ซึ่งได้มีการจับสลากเลือกห้องพักอาศัยไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 

ทั้งนี้การเคหะแห่งชาติได้จัดปฐมนิเทศและเปิดให้ชาวชุมชนดินแดงจับสลากโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1 เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมอาคารแฟลตที่ 23-32 โดยมีผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจับสลากเลือกห้องพักอาศัย จำนวน 363 ราย ได้สิทธิครอบครัวขยาย จำนวน 32 หน่วย และผู้ไม่ประสงค์เข้าอยู่อาศัยในอาคาร D1 จำนวน 139 ราย จะได้รับเงินชดเชยรายละ 400,000 บาท ซึ่งการจับสลากเลือกห้องพักอาศัยฯ ถือเป็นกระบวนการที่โปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เนื่องจากมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้อยู่อาศัยในชุมชนดินแดงเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

สำหรับโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1 จัดสร้างเป็นอาคารพักอาศัยสูง 35 ชั้น ขนาด 33 ตารางเมตร จำนวนรวม 612 หน่วย แบ่งออกเป็น ชั้นที่ 3-16 เป็นห้องพักอาศัยสำหรับกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และคนพิการ จำนวน 274 หน่วย ชั้นที่ 16-35 จำนวน 338 หน่วย เป็นห้องพักอาศัยสำหรับกลุ่มผู้อยู่อาศัยทั่วไป มีที่จอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จำนวน 498 คัน (คิดเป็น 81.37%) และมีพื้นที่สวนและพื้นที่สีเขียวบริเวณชั้นล่างของอาคาร ชั้นที่ 7 ชั้นที่ 24 และชั้นดาดฟ้า นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่บริการชุมชน และพื้นที่สำนักงานอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การเคหะแห่งชาติได้นำเรื่องการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลหรืออารยสถาปัตย์ (Universal Design) มาเป็นแนวคิดในการออกแบบเพื่อให้คนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกายสามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และให้ทุกคนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ (Housing for All)

นางรัดเกล้า ยังกล่าวว่า โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1 มีความคืบหน้าการก่อสร้าง 100% แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจรับงานงวดสุดท้ายโดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ พร้อมทั้งทีมสถาปนิก และวิศวกรของการเคหะแห่งชาติที่ได้ร่วมกันตรวจสอบความเรียบร้อยของห้องพักอาศัยก่อนส่งมอบให้กับผู้อยู่อาศัย จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการขนย้ายจากอาคารเก่ามาอาคารใหม่ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม 2567 โดยการเคหะแห่งชาติได้สนับสนุนค่าขนย้ายให้รายละ 10,000 บาท ส่วนผู้ไม่ประสงค์เข้าอยู่อาศัยในอาคาร D1 จำนวน 139 ราย จะได้รับเงินชดเชยรายละ 400,000 บาท

'รัดเกล้า' เผย!! รัฐบาลมุ่งยกระดับอาชีวไทย-พัฒนาทั้งครูและเด็ก เชื่อ!! เป็นทักษะสำคัญในโลกยุคใหม่ที่ตลาดแรงงานโลกต้องการ

(4 พ.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง อาชีวศึกษา: คุณภาพ มาตรฐาน และแรงจูงใจ โดยมีข้อเสนอแนะทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐาน และด้านแรงจูงใจผู้เรียนอาชีวศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัยและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และสร้างแรงจูงใจให้มีผู้สนใจเข้าเรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะให้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของครูผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษา อาทิ พัฒนาสมรรถนะที่ขาดหายไป ด้วยการ Up-Skill, Re-Skill หรือ New-Skill เพื่อให้ครูมีสมรรถนะในการสอน พัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับกลุ่มอาชีพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และให้ความสำคัญกับการฝึกปฏิบัติวิชาชีพจริงในสถานประกอบการที่ตรงกับสาขาอาชีพของผู้เรียน

ส่วนข้อเสนอแนะด้านแรงจูงใจผู้เรียนอาชีวศึกษา เช่น การสร้างค่านิยมต่อการเรียนอาชีวศึกษาว่าการเรียนทางด้านอาชีวศึกษาจะทำให้ผู้เรียนมีงานทำทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษาในแต่ละระดับ การพัฒนากระบวนการแนะแนว นำเสนอความสำเร็จของผู้เรียนอาชีวศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพให้แพร่หลายผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ และสร้างระบบการเรียนร่วมกับการทำงานและมีรายได้ระหว่างเรียน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ซึ่งผู้เรียนจะได้มีประสบการณ์จริงและทักษะในการประกอบอาชีพระหว่างที่เรียนด้วย

“การยกระดับระบบอาชีวศึกษาไทย โดยเฉพาะการเสริมทักษะขั้นสูงและเฉพาะทาง ถือเป็นหนึ่งนโยบายที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และสร้างแรงงานทักษะให้ตรงกับความต้องการในตลาดแรงงานโลก ซึ่งหากข้อเสนอแนะดังกล่าวจะเป็นแนวทางให้นักศึกษาและแรงงานอาชีวะไทยได้รับการสนับสนุนเพิ่มทักษะความรู้ ก็จะทำให้กลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอีกทางหนึ่งด้วย” รองโฆษกฯ กล่าว

‘รัดเกล้า’ เผย ไทยเสนอกรอบประชุม WIPO IGC ด้านทรัพยากรพันธุกรรม ผลักดันด้านทรัพย์สินทางปัญญาฯ - คุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมไทย

(10 พ.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอกรอบเจรจาการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม ด้านทรัพยากรพันธุกรรม ภายใต้กรอบองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เอกสารที่ใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจา WIPO IGC ด้านทรัพยากรพันธุกรรม เพื่อจัดทำความตกลงหรือตราสารระหว่างประเทศมีการปรับปรุงสาระสำคัญไม่สอดคล้องกับกรอบเจรจา WIPO IGC ด้านทรัพยากรพันธุกรรม ที่ ครม. เห็นชอบไว้ 

โดยมีประเด็นที่แตกต่างจากกรอบเจรจาฯ เดิม หลายประเด็น รวมถึงมีการเพิ่มเติมประเด็นที่อยู่นอกเหนือการเจรจา พณ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดประชุมคณะทำงานเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมเพื่อสรุปผลความตกลง

ซึ่งการประชุม WIPO IGC ด้านทรัพยากรพันธุกรรม มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-24 พฤษภาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่ WIPO นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ที่ประชุมคณะทำงานฯ มีมติให้ปรับปรุงกรอบการเจรจา WIPO IGC ด้านทรัพยากรพันธุกรรม และใช้กรอบการเจรจาเดิมที่ ครม. เห็นชอบไว้เป็นพื้นฐาน โดยคงหลักการและสาระสำคัญของกรอบเจรจาเดิม เนื่องจากหลักการดังกล่าวเป็นประโยชน์กับไทย และเพิ่มประเด็นใหม่ รวมถึงอาจพิจารณาลดประเด็น เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจา และได้รับประโยชน์จากการดำเนินการตามความตกลงหรือตราสารโดยเร็ว 

“ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และอยู่ในฐานะประเทศที่เป็นแหล่งทรัพยากรพันธุกรรมที่สำคัญ การประชุม WIPO IGC ในด้านทรัพยากรพันธุกรรม จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการผลักดันให้เกิดความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือการให้ความคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมของไทย รวมถึงการได้รับประโยชน์ในอนาคต” รองโฆษกฯ กล่าว

‘รัดเกล้า’ เผย!! ครม.ไฟเขียวขยายเวลา 2 โครงการใหญ่ชลประทาน เหตุเพราะปัญหาและอุปสรรคจากสถานการณ์โควิด19

(11 พ.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ จำนวน 2 โครงการ สาเหตุเนื่องจากปัญหาและอุปสรรคจากสถานการณ์ Covid - 19 ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางให้อยู่ในวงจำกัด ส่งผลให้ผู้รับจ้างประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุก่อสร้างเครื่องจักร เครื่องมือไม่เพียงพอ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสถานที่ก่อสร้างได้ นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ ยังมีสาเหตุมาจากสภาพภูมิประเทศ และการใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขแบบก่อสร้างเพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน และลดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ ประกอบกับในขั้นตอนการจัดหาที่ดินมีเจ้าของทรัพย์สินบางส่วนไม่ยอมรับราคาค่าทดแทนทรัพย์สินที่ภาครัฐกำหนดและไม่ยินยอมให้เข้าใช้พื้นที่ รวมถึงที่ดินบางแปลงติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งจากปัญหาอุปสรรคดังกล่าว กษ. โดยกรมชลประทานจึงได้อนุมัติให้มีการขยายอายุสัญญาและอนุมัติงดค่าปรับจากการแก้ไขแบบแก้ไขสัญญา และให้ได้รับสิทธิ์กำหนดอัตราค่าปรับร้อยละ 0 ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงแพร่ระบาดโรค Covid - 19 ของทั้ง 2 โครงการด้วยแล้ว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาดังกล่าว กษ. (กรมชลประทาน) จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ภายใต้กรอบวงเงินโครงการเดิมจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี เสนอขออนุมัติขยายระยะเวลาจากเดิม 14 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553–2566) เป็น 17 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553–2569) และโครงการกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง จากเดิม 19 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548–2566) เป็น 22 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548–2569) 

“โครงการชลประทานขนาดใหญ่เป็นไปเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำ ทั้งสำหรับพื้นที่เพาะปลูก การอุปโภค บริโภค การอุตสาหกรรม ปศุสัตว์ รักษาสมดุลของระบบนิเวศ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้ในอนาคตอีกด้วย” รองโฆษกฯ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top