Sunday, 23 June 2024
รมวปุ้ยพิมพ์ภัทรา

‘รมว.ปุ้ย’ ลุยจัดการโรงงานทิ้งกากขยะ-ตั้งกองทุนเยียวยาคนในพื้นที่ ย้ำ!! ตนมาจาก สส.เขต ย่อมเข้าใจความต้องการของประชาชน

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 67 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า ขอบคุณสมาชิกที่ให้ความสนใจงบประมาณของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นพิเศษ กระทรวงอุตสาหกรรมแม้จะดูว่าเป็นกระทรวงใหญ่ แต่งบที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมีเพียง 4,559 ล้านบาทเท่านั้น แต่ต้องทำงานภายใต้การบริหาร 6 กรม มีทั้งกรมที่ส่งเสริม กรมที่ใช้ในการควบคุมภายใต้พันธกิจ การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน แม้ว่างบจะได้อย่างจำกัด แต่ข้าราชการในกระทรวงทุกคน เดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่เพื่อดูแลประชาชน

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลของสมาชิกคือ การจัดการกากขยะอุตสาหกรรม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ และนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มีความกังวลห่วงใย ซึ่งวันนี้สาเหตุของปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากมีการลักลอบทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม โดยมีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง เพราะทุกคนจะมุ่งมาที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมในการรับผิดชอบ ทางกรมโรงงานฯ เรา มีหน้าที่ออกใบอนุญาตในการตั้งโรงงาน ในการควบคุมการดูแลเรื่องกากอุตสาหกรรม เราสามารถจัดการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำอยู่เรามีทั้งทำแล้วทำอยู่ทำต่อ

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิ่มความรับผิดชอบ โดยแก้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมในการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จากเดิมโรงงานใดต้องการปล่อยน้ำทิ้งหรือทิ้งกากอุตสาหกรรมมีหน้าที่แค่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐาน หลังจากนั้นจะใช้บริษัทจำกัด หรือรับผิดชอบก็ได้ แต่วันนี้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะมีบางบริษัทประมูลในราคาที่ต่ำแล้วลักลอบนำไปทิ้งในที่ต่างๆ โดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งมาตรฐานไว้ เราจึงมีการปรับปรุงประกาศของกระทรวง พ.ศ.2566 ได้บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566 โดยเพิ่มความรับผิดชอบอย่างเต็มรูปแบบ

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ได้มีการกำหนดให้โรงงานที่ก่อมลพิษ ต้องรับผิดชอบกับกากอุตสาหกรรมนั้นด้วย ไม่ใช่เพียงให้บริษัทที่รับช่วงไปทิ้งอย่างไรก็ได้ แต่บริษัทต้องรับผิดชอบโดยต้องนำไปทิ้งอย่างถูกต้อง มาตรการที่เรากำลังทำอยู่และรอบังคับใช้คือเรื่อง การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กรมโรงงานฯ ด้วยการเพิ่มบทลงโทษจากเดิมโรงงานใดทำผิดอาจจะมีโทษแค่ปรับจำคุก 1 ปี แต่ได้เพิ่มโทษจำคุกเป็น 5 ปี ดังนั้น บริษัทใดทำผิดกฎหมาย จะยื้อเวลาในการขึ้นโรงขึ้นศาลไม่ได้แล้ว ต่อไปบทลงโทษมีมากขึ้น

“สิ่งที่กังวลที่สุดคือ ‘การฟื้นฟู’ มีบางบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Project นำร่องของกรมโรงงานที่ทำอยู่คือ โรงงานที่จังหวัดราชบุรี ปัญหาแบบนี้ไม่ใช่เกิดที่จังหวัดราชบุรีเพียวจังหวัดเดียว แต่ยังเกิดที่ จังหวัดปราจีน จังหวัดระยอง จังหวัดฉะเชิงเทรา และตามเขตอุตสาหกรรมต่างๆ โครงการนี้กรมโรงงานฯ มีงบแค่กว่า 450 ล้านบาทเท่านั้น เงินที่ใช้ในการบริหารกากอุตสาหกรรมมีแค่ 10 ล้านบาท การจัดการกากที่มีปัญหาที่ประชาชนร้องเรียน ทุกครั้ง เราต้องของบกลางจากทางรัฐบาล ดังนั้น จะหาวิธีแทนที่จะหางบกลางจากรัฐบาลจะต้องให้โรงงานช่วยกันรับผิดชอบ จึงมีการตั้งกองทุนฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรม ถ้าสมาชิกที่ร้องเรียนว่า มีโรงงานที่ลักลอบทิ้งกากแล้วเกิดปัญหากับประชาชนในพื้นที่ ถ้ามีเงิน สิ่งแรกที่ทำได้คือ เรามีเงินเข้าไปเยียวยาในพื้นที่ ไม่ต้องไปขอการสนับสนุนจากงบกลาง สิ่งนี้คือเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรม” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า มีสมาชิกห่วงใยเรื่องแบตเตอรี่ที่เกิดจากรถ EV วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้น ตั้งแต่ EV 3 มาถึง EV 3.5 ก่อนหน้านี้ เราได้ทำแล้วคือการส่งเสริมการใช้ ขณะนี้สิ่งที่กำลังทำอยู่ คือการส่งเสริมการลงทุนให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่เรากำลังทำต่อคือดูแลทั้งระบบไม่ใช่ดูแลแค่การลงทุนหรือสร้าง Local Content แต่เราต้องดูแลเรื่องแบตเตอรี่ที่ติดมากับรถ รวมถึงแบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศไทย อยากให้คลายความกังวลว่า สุดท้ายจะต้องดูแลทั้งระบบ เพราะผลกระทบคือคนไทยทั้งประเทศ

สำหรับ สิ่งที่นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติถามเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่อยากให้ยกระดับครอบคลุมถึงพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จะได้ดูแลนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องเชื่อมโยงกับโครงการแลนด์บริดจ์ด้วย เรื่องระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาคนั้น ได้ทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ที่มาทำเพื่อส่งเสริมนักลงทุน จะช่วยทั้งเกษตรกร นักลงทุน ครบทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ สิ่งที่เห็นคือจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมันได้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรมากขึ้น ไม่รวมถึงโครงการดีๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังทำขึ้น คืออุตสาหกรรมฮาลาล ไม่ใช่ทำแค่เรื่องของอาหาร แต่จะรวมถึงเครื่องสำอาง การท่องเที่ยว ที่สำคัญที่สุดเราจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน

“ดิฉันมาจากประชาชน มาจาก สส.เขต เข้าใจถึงความต้องการของประชาชนดี ขอขอบคุณที่ได้ชี้แนะและแนะนำ ขอให้มั่นใจในการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีว่า ทุกๆ วัน ทุกๆ กระทรวงที่ทำงานก็ล้วนทำงานให้กับประชาชน” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ นำร่องเปิด ‘ศูนย์แปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ เมืองคอน เดินหน้าแปลงโฉมพื้นที่ ปั้นชุมชนต้นแบบ ยกระดับ ศก.ฐานราก

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้านโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ผ่านการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เปิดศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ โมเดลต้นแบบชุมชนเปลี่ยน ผลสำเร็จการขับเคลื่อนนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยการปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Reshape The Area) พร้อมเร่งขยายผลครอบคลุมชุมชนทุกภูมิภาคภายในปีนี้ คาดสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 4.8 ล้านบาทต่อปี  

(18 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งยกระดับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน เตรียมความพร้อมรับมือกับรูปแบบเศรษฐกิจแห่งอนาคต ส่งเสริมอัตลักษณ์ของประเทศเพื่อสร้างรายได้ผ่านการสนับสนุน Soft Power จูงใจนานาประเทศผ่านการส่งเสริมการลงทุน การเปิดตลาดประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าได้อย่างเต็มความสามารถ จึงจำเป็นต้องยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้ชุมชนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และเติมเต็มโอกาสในการสร้างรายได้จากต้นทุนที่มีในท้องที่ต่างๆ  

ดังนั้น ตนจึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เร่งขับเคลื่อนการเสริมศักยภาพและพัฒนาชุมชนด้วยการผลักดันให้ธุรกิจชุมชนเติบโตตามบริบทอุตสาหกรรมใน 2 มิติ ได้แก่ การพัฒนาคน ให้มีทักษะด้านอุตสาหกรรมการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้เติบโตไปพร้อมกัน และการพัฒนาผู้นำทางธุรกิจที่เข้มแข็งเพื่อเชื่อมโยงกับธุรกิจในชุมชน ซึ่งได้นำร่องในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ ณ กลุ่มพัฒนาอาชีพสมุนไพรยาเส้นบ้านเขาทราย ตำบลเปลี่ยน อำเภอสิชล ถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับเกษตรกรในชุมชน ให้เกิดการดำเนินงานทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นชุมชนเปลี่ยน (Community Transformation) และสามารถต่อยอดสู่การเป็นชุมชนดีพร้อม ที่มีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า นอกจากการดำเนินงานดังกล่าวแล้ว ยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนจากชุมชน และพัฒนาแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งชุมชนมิใช่เพียงเฉพาะราย ตลอดจนเชื่อมโยง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) ในรูปแบบพี่ช่วยน้อง หรือ ‘Big Brother’ โดยเข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการเปลี่ยนชุมชน ด้วยเครื่องมือ กระบวนการ หรือเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับระดับศักยภาพ ของชุมชนในแต่ละพื้นที่ต่อไป โดยกำหนดเป้าหมายสร้างต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ภายในปี 2567

“ดิฉันมีความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางการพัฒนาชุมชนให้เป็น ‘ชุมชนเปลี่ยน เปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อม’ ซึ่งจะเป็นโมเดลในการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชน และสามารถขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ อันจะทำให้เกิดการยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจฐานราก และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน การกระจายรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนของชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโต และมีความเข้มแข็ง เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ เป็นโมเดลต้นแบบของชุมชนเปลี่ยน ซึ่งเกิดจากการทำงานสอดประสานกันระหว่างด้านเทคโนโลยี โดยกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม รวมถึงในด้านการยกระดับทักษะธุรกิจชุมชน โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ตามนโยบาย ‘RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต’ ในบริบทปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE THE AREA) เพื่อสร้างชุมชนเปลี่ยน เปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งยึดศักยภาพชุมชนที่ฐานการพัฒนา ส่งเสริมทักษะด้านอุตสาหกรรมที่จำเป็น อาทิ การพัฒนาทักษะการประกอบการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมมาตรฐานการผลิต/ผลิตภัณฑ์ การใช้เครื่องจักรเทคโนโลยี การส่งเสริมการตลาด การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการส่งเสริมเงินทุนหมุนเวียน สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับสินค้าและบริการชุมชน สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและชุมชนมีส่วนร่วมในโซ่อุปทาน ภายใต้แนวคิด ‘คิดถึงธุรกิจ คิดถึงดีพร้อม’

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ ณ กลุ่มพัฒนาอาชีพสมุนไพรยาเส้นบ้านเขาทราย ตำบลเปลี่ยน อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ซึ่งคาดว่าการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ ที่สนใจ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากการดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 4.8 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ ยังได้มีการดำเนินกิจกรรม ‘การพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการด้วยแนวคิดเชิงสร้างสรรค์’ ภายใต้โครงการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน เป็นการนำร่องชุมชนที่ 2 หลังจากที่ได้มีการนำร่องที่ชุมชนเปลี่ยนเป็นที่แรก เพื่อเตรียมความพร้อมให้เศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมชุมชน ให้มีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน ด้วยการสร้างองค์ความรู้ ทักษะ แนวคิด และการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Design) ซึ่งจะเป็นการนำเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชนผนวกเข้ากับแนวความคิดเชิงสร้างสรรค์ มาประยุกต์สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ รวมถึงสามารถใช้ทรัพยากรภายในชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ ดีพร้อมได้วางเป้าหมายในการนำร่องพัฒนา ขีดความสามารถผู้ประกอบการด้วยแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ในปี 2567 จำนวน 20 ชุมชนทั่วประเทศ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top