Thursday, 2 May 2024
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง

อัปเดต รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ล่าสุด เริ่มวิ่งทดสอบระบบบนเส้นทางจากถนนศรีนครินทร์ เข้าสู่ถนนเทพารักษ์ เป็นครั้งแรก ระบุ ช่วงนี้จะมีวิ่งทดสอบบ่อยขึ้น

เพจโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เปิดเผยความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเหลืองล่าสุด โดยระบุว่า ใกล้ได้ใช้กันแล้ว รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง เริ่มวิ่งทดสอบระบบ
#ชาวเทพารักษ์ มีเฮ!!!
#ช่วงนี้แอดมินมีแวว ได้ไปเที่ยวสมุทรปราการ....
#เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการด้วยรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ

ทดสอบการเดินรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง  

ครั้งแรกสำหรับการทดสอบเดินรถ บนเส้นทางจากถนนศรีนครินทร์ เข้าสู่ถนนเทพารักษ์ 

‘ดร.สามารถ’ แนะ ‘รฟม.’ เร่งขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง หลังไม่เชื่อมต่อกับสายสีเขียวเหนือ หวั่นทำผู้โดยสารเดือดร้อน

(30 พ.ค. 66) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธา และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ ‘ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์’ ถึงประเด็นที่รถไฟฟ้าสายสีเหลืองไม่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ โดยระบุว่า…

อีกแล้ว!!! รถไฟฟ้า ‘ฟันหลอ’
สายสีเหลืองไม่เชื่อมกับสายสีเขียวเหนือ

สิ่งที่ไม่ควรเกิดก็เกิดขึ้นอีกแล้ว ใครที่จะใช้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองจากถนนลาดพร้าวผ่านทางแยกรัชดา-ลาดพร้าว เพื่อไปสู่รัชโยธิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วัดพระศรีมหาธาตุ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช หรือสถานที่อื่นบนถนนพหลโยธิน จะต้องสะดุด เพราะรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเป็นรถไฟฟ้าฟันหลอ!!

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล มีเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ บริเวณทางแยกรัชดา-ลาดพร้าว กับสายสีส้มบริเวณทางแยกลำสาลี กับแอร์พอร์ตลิงก์บริเวณทางแยกต่างระดับพระราม 9 และกับสายสีเขียวใต้ที่สถานีสำโรง การก่อสร้างมีความคืบหน้า ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 ร้อยละ 99

เหตุที่รถไฟฟ้าสายสีเหลืองเป็นรถไฟฟ้าฟันหลอ ก็เพราะว่า จากสถานีลาดพร้าวบริเวณทางแยกรัชดา-ลาดพร้าว ไม่มีเส้นทางเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต ทั้งๆ ที่สามารถเชื่อมต่อได้ที่สถานีรัชโยธิน โดยก่อสร้างเส้นทางเลี้ยวขวาวิ่งบนถนนรัชดาภิเษก ผ่านแหล่งทำงาน และแหล่งที่อยู่อาศัย มีผู้คนมากมาย ไปบรรจบกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือที่สถานีรัชโยธิน การขาดเส้นทางเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือดังกล่าว หรือมีลักษณะเหมือนฟันหลอ ทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ต้องการเดินทางไปสู่สถานที่ต่างๆ บนถนนพหลโยธินไม่ได้รับความสะดวก เพราะต้องเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีลาดพร้าว เพื่อเดินทางไปสู่สถานีห้าแยกลาดพร้าว แล้วเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือต่อไป ทำให้ผู้โดยสารต้องเสียเวลาและเสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้น

คงจำกันได้ว่า รถไฟฟ้าฟันหลอเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อตอนเริ่มเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน เนื่องจากสายสีม่วงไม่เชื่อมกับสายสีน้ำเงินที่สถานีเตาปูน ทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อน ต้องต่อรถเมล์จากสถานีเตาปูนไปสถานีบางซื่อ เพื่อใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อไป แต่ในที่สุด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็เร่งแก้ปัญหาโดยการต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจากสถานีบางซื่อมายังสถานีเตาปูน ส่งผลให้รถไฟฟ้าสายสีม่วงมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้โดยสารได้รับความสะดวก ไม่ต้องต่อรถเมล์

“ปัญหาฟันหลอของรถไฟฟ้า รฟม. รู้ดี เพราะมีประสบการณ์มาแล้ว จะต้องรีบแก้ปัญหา ด้วยการเร่งต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจากสถานีลาดพร้าวไปเชื่อมกับสายสีเขียวเหนือที่สถานีรัชโยธินโดยด่วน อย่าปล่อยให้ผู้โดยสารเดือดร้อนอีกเลยครับ” ดร.สามารถ กล่าวทิ้งท้าย

‘รถไฟฟ้าสายสีเหลือง’ รถไฟฟ้าโมโนเรลสายแรกของไทย ลดต้นทุนด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ เปิดให้บริการฟรี 1 เดือน!!

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 66 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte’ ในหัวข้อ “ว้าววว...รถไฟฟ้าสายสีเหลือง โมโนเรลสายแรกของไทย” ระบุว่า…

น่าดีใจที่วันนี้ (3 มิ.ย. 66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดให้ประชาชนทดลองใช้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองฟรีเป็นเวลา 1 เดือน หลายคนสงสัยว่าทำไมรถไฟฟ้าสายสีเหลืองต้องเป็นโมโนเรล ?

1.) ทำไมต้องเป็นโมโนเรล ?
โมโนเรล (Monorail) คือรถไฟฟ้า แต่เป็นรถไฟฟ้าที่วิ่งคร่อมรางโดยใช้รางเดี่ยว หรืออาจจะแขวนห้อยอยู่ใต้รางก็ได้ แต่ที่นิยมใช้กันมากก็คือ แบบคร่อมราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้กำหนดว่า โครงข่ายรถไฟฟ้าเส้นทางใด ควรใช้รถไฟฟ้าประเภทไหน โดยพิจารณาจากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร หากเส้นทางใดคาดว่าจะมีผู้โดยสารมาก สนข. ก็จะใช้รถไฟฟ้าขนาดหนัก ซึ่งมีความจุมากกว่า ดังเช่น รถไฟฟ้า BTS หรือ รถไฟฟ้า MRT เป็นต้น

สำหรับสายสีเหลือง สนข. คาดว่าจะมีผู้โดยสารไม่มากจึงเลือกใช้โมโนเรล ซึ่งมีความจุน้อยกว่า หากเลือกใช้รถไฟฟ้าขนาดหนักก็จะเป็นการลงทุนเกินความจำเป็น สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ โดยทั่วไปวงเงินลงทุนโมโนเรลจะถูกกว่ารถไฟฟ้าขนาดหนักประมาณ 40%

2.) ถึงวันนี้รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มีกี่ประเภท?
มี 3 ประเภท ได้แก่

(1) รถไฟฟ้าขนาดหนัก มี 5 สาย ประกอบด้วย สายสีเขียว สีน้ำเงิน แอร์พอร์ตลิงก์ สีม่วง และสีแดง

(2) รถไฟฟ้า APM (Automated People Mover) มี 1 สาย คือ สายสีทอง APM เป็นรถไฟฟ้าไร้คนขับ ใช้ล้อยางวิ่งบนพื้นคอนกรีตโดยมีรางเหล็กวางอยู่ตรงกลางระหว่างล้อซ้ายขวาเพื่อช่วยนำทาง เลี้ยววงแคบและไต่ทางลาดชันได้ดี กินพื้นที่น้อยเนื่องจากใช้โครงสร้างขนาดเล็ก APM เป็นที่นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีผู้โดยสารไม่มาก โดยเฉพาะในสนามบินเพื่อขนผู้โดยสารเครื่องบินไปมาระหว่างเทอร์มินัลกับเทอร์มินัล หรือระหว่างเทอร์มินัลกับอาคารเทียบเครื่องบินรอง (อาคารรอขึ้นเครื่องบิน) ดังเช่นที่ใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อขนผู้โดยสารเครื่องบินระหว่างเทอร์มินัล 1 กับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1

(3) โมโนเรล มี 2 สาย ประกอบด้วยสายสีเหลือง และสายสีชมพู (ยังไม่เปิดให้บริการ) เป็นรถไฟฟ้าไม่ใช้คนขับเช่นเดียวกับ APM ใช้ล้อยางวิ่งบนรางคอนกรีต (หรือรางเหล็ก) เพียงรางเดียว เลี้ยววงแคบและไต่ทางลาดชันได้ดี กินพื้นที่น้อยเนื่องจากใช้โครงสร้างขนาดเล็ก โมโนเรลเป็นที่นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีผู้โดยสารไม่มากเช่นเดียวกัน แต่มักนิยมใช้ขนผู้โดยสารไปป้อนให้กับรถไฟฟ้าขนาดหนักที่สามารถขนผู้โดยสารได้มากกว่า พูดได้ว่าใช้โมโนเรลสำหรับรถไฟฟ้าสายรองเพื่อขนผู้โดยสารไปป้อนให้รถไฟฟ้าสายหลัก ดังเช่นรถไฟฟ้าสายสีเหลืองซึ่งเป็นโมโนเรลที่ขนผู้โดยสารริมถนนลาดพร้าวไปป้อนให้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT) ที่สถานีลาดพร้าว

3.) ใครเป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง?
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ร่วมกับพันธมิตรเป็นผู้ชนะการประมูล โดยชนะ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เนื่องจาก BTSC ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิจาก รฟม. (เงินสนับสนุนจาก รฟม. ลบด้วย เงินตอบแทนให้ รฟม.) โดย BTSC ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 22,087.06 ล้านบาท ในขณะที่ BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 157,721.81 ล้านบาท หรือ BTSC ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิจาก รฟม. ต่ำกว่า BEM มากถึง 135,634.75 ล้านบาท BTSC จึงคว้าชัยชนะไป โดย BTSC ได้รับสิทธิ์ในการบริหารจัดการเดินรถเป็นเวลา 30 ปี

4.) ถ้าโมโนเรลเสีย ผู้โดยสารต้องทำอย่างไร?
ในกรณีฉุกเฉิน ผู้โดยสารจะต้องลงจากโมโนเรลไปที่ทางเดินระหว่างรางทั้งสอง (รางขาไปและขากลับ) ทางเดินเป็นตะแกรงเหล็กกัลวาไนซ์เพื่อให้ผู้โดยสารเดินไปสู่สถานีที่ใกล้ที่สุด ความสูงจากพื้นโมโนเรลถึงทางเดินเกือบ 2 เมตร ดังนั้น จะต้องลงทางบันไดที่พาดจากประตูโมโนเรลไปที่ทางเดิน บันไดดังกล่าวจะถูกเก็บไว้บนรถและบนทางเดินตลอดทาง ส่วนผู้โดยสารที่ใช้วีลแชร์จะต้องช่วยกันอุ้มลงมาที่ทางเดินแล้วเข็นไปที่สถานี

5.) สรุปและข้อเสนอแนะ
(1) โมโนเรลไม่ใช้คนขับ แต่ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติซึ่งจะช่วยลดข้อผิดพลาด หรือข้อบกพร่องที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ (Human Error) ได้ ทำให้มีความปลอดภัยสูง แต่การไม่ใช้คนขับทำให้ต้องลงทุนงานระบบควบคุมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวจะช่วยทำให้ค่าใช้จ่ายในการประกอบการเดินรถถูกลง

(2) โมโนเรลใช้ล้อยาง ไม่ใช่ล้อเหล็ก เพื่อลดเสียงดังและการสั่นสะเทือนที่สร้างความรำคาญต่อผู้อยู่อาศัยริมทาง มีความนุ่มนวลในการขับขี่ดีกว่า และช่วยให้สามารถเร่งความเร็วหรือเบรกได้อย่างรวดเร็วในระยะทางสั้นๆ ทำให้ขบวนรถไฟฟ้าสามารถวิ่งต่อเนื่องใกล้ๆ กันได้

(3) เพื่ออำนวยความสะดวก ประหยัดเวลา และลดค่าเดินทางให้ผู้โดยสาร รฟม. ควรพิจารณาต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจากสถานีลาดพร้าว บริเวณทางแยกรัชดา-ลาดพร้าว วิ่งบนถนนรัชดาภิเษกไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีรัชโยธิน ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียวได้แบบไร้รอยต่อ เดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็วขึ้น

แยกลำสาลี’ พลิกโฉมใหม่ รถไฟฟ้า 2 สายมาบรรจบกัน อนาคตเตรียมสร้าง ‘สกายวอล์ค’ พร้อมสวนลอยฟ้า

เฟซบุ๊ก Bangkok Sightseeing ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ที่แยกลำสาลี โดยมีใจความว่า ...

ใครเลยจะคิดว่าแยกลำสาลี ที่หลายๆคนตั้งฉายาว่า "แยกลำสาหัส" จะพลิกโฉมไปได้ขนาดนี้ในวันที่มีรถไฟฟ้า 2 สายมาบรรจบกัน ด้านล่างลึกลงไปใต้ดิน คือรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านบนคือรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และอนาคตกำลังมีการก่อสร้างทางเดินหรือสกายวอล์คสวยๆพร้อมสวนลอยฟ้าเชื่อมไปถึงแยกบางกะปิและหน้าเดอะมอลล์ บางกะปิ สายไฟสายสื่อสารก็กำลังจะถูกนำลงใต้ดิน สังเกตุจากตู้ไฟที่ตั้งเรียงรายริมทางเท้าและเกาะกลางถนน นี่มันคือสวรรค์ของคนย่านนี้ชัด ๆ.

🔍มีไหมนะ? คอนโดฯ ราคาดี อยู่ใกล้รถไฟฟ้า…

มีแน่นอน!! วันนี้ THE STATES TIMES รวบรวมมาให้แล้ว!! 7 คอนโดราคาไม่ถึง 2 ล้านบาท ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1.30 ล้านบาทไปจนถึง 1.99 ล้านบาทเลยนะ ใครกำลังมองหาคอนโดฯ ใกล้ๆ รถไฟฟ้าห้ามพลาดเลยนะ 

ยกเลิกส่วนต่อขยายสายสีเหลืองเชื่อมเขียว ดับฝัน ‘ชาวลาดพร้าว-รัชดา’ เศรษฐาทบทวนให้ดี

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 66 นายภูวสิทธิ์ พนมสิงห์ อาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง สาขาสถาปัตยกรรมเพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของเพจ ‘ขอบอสัง’ และ TikTok ‘สพีทโรเจอร์’ อดีตทีมพัฒนาธุรกิจและจัดซื้อที่ดินบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ได้ออกมาแสดงมุมมองความคิดเห็น กรณีที่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ประกาศยกเลิกโครงการส่วนต่อขยายเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุว่า…

“รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ประกาศยกเลิกโครงการส่วนต่อขยายเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว กระทบชีวิตคนกรุงฯ งานนี้ชาวลาดพร้าวโดนหนักสุด”

นายภูวสิทธิ์ กล่าวว่า ‘รถไฟฟ้าสายสีเหลือง’ เป็นสายที่วิ่งรถผ่านตั้งแต่สำโรง เทพารักษ์ ศรีนครินทร์ แยกบางกะปิ-ลำสาลี เข้าเส้นลาดพร้าว และสิ้นสุดการเดินรถอยู่ที่บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว ซึ่งจากเดิมรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีแผนจะสร้างส่วนต่อขยายการเดินรถไปจนถึงแยกรัชโยธิน ที่จะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งประชาชนกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการยกเลิกโครงการส่วนต่อขยายครั้งนี้ คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลาดพร้าว ทั้งทางด้านค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทาง

โดยรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ถูกบริหารโดย บริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (Eastern Bangkok Monorail : EBM) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ รถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ ‘BTS’ ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ ‘MRT’ ถูกบริหารโดย EBM เช่นกัน

ซึ่งในปัจจุบัน หากประชาชนต้องการนั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปต่อสายสีเขียว จำเป็นต้องนั่งเพิ่มอีก 1 สถานี เพื่อเดินทางไปส่วนต่อขยายสถานีระหว่างสายสีน้ำเงินและสายสีเขียว ซึ่งถือเป็นการเพิ่มต้นทุนชีวิตคนกรุงเทพฯ อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในแง่ของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และระยะเวลาในการเดินทางที่จะต้องรอต่อขบวนรถไฟในส่วนต่อขยาย อยู่ที่ประมาณ 15-30 นาทีต่อรอบ นับเป็นการสูญเสียที่เปล่าประโยชน์อย่างสิ้นเชิง

“ในส่วนนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนหลากหลายกลุ่ม ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นทั้งหมด อาทิ สถานศึกษาอย่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม หน่วยงานราชการอย่างศาลอาญา สำนักการเจ้าหน้าที่ สำนักงานศาลยุติธรรม หรือแม้แต่คอนโดมิเนียมในเส้นทางรัชดา ลาดพร้าว-วังหิน ตลอดจนบริเวณลาดพร้าว-โชคชัย 4 ถึงบางกะปิ ที่ประชาชนจำนวนมากอาศัยอยู่ และมีการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่นอย่างมาก จึงอยากให้รัฐบาลและคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทบทวนในเรื่องนี้ดูอีกครั้ง” ภูวสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

‘ดร.เอ้’ ยกกรณีสายสีเหลือง ความปลอดภัยสังคมไทยน่าห่วง ถึงเวลาตั้ง ‘องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ’ เสียที

(3 ม.ค.67) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ผมว่ามันมากเกินไป บ้านเมืองไทยปลอดภัยกว่านี้ได้นะ การปล่อยผ่านไปโดยไม่มีการถอดบทเรียนอย่างตรงไปตรงมา ครั้งหน้าความสูญเสียมันอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ อย่าล้อเล่น

การสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย เริ่มต้นด้วย ‘เรื่องความปลอดภัย ต้องมาก่อน’ ดีไหมครับ ห่วงใยจริงๆ ครับ

ผมจึงขอรณรงค์ เสนอกฎหมาย จัดตั้ง ‘องค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ’ เพื่อเป็นคนกลางจริงๆ ทำงานแทนประชาชน รับเรื่องร้องเรียน แจ้งเตือน ป้องกันภัย ถอดบทเรียน และให้ความรู้แก่ประชาชน เป็นที่พึ่งของสังคมเรื่องความปลอดภัย

ร่วมลงชื่อ ที่ suchatvee.com ให้ครบหนึ่งหมื่นชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายนี้ร่วมนะครับ ขอบคุณครับ

#รถไฟฟ้าสายสีเหลือง #สะพานถล่ม #ความปลอดภัย #องค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ

‘รถไฟฟ้าสายสีเหลือง’ บอกต่อ!! จัดโปรโมชันเดินทางสุดคุ้ม ชูแพ็กเกจ 25 บาทตลอดสาย แบบรายสัปดาห์ 7 วัน 10 เที่ยว

รถไฟฟ้าสายสีเหลืองยกขบวน บอกต่อแพ็กเกจสุดคุ้ม ‘นั่งไปไหนก็ 25 บาท ตลอดสาย’ 
พร้อมเดิน Troop แจกน้ำเก๊กฮวย มอบความสดชื่นให้กับประชาชนตลอดเส้นทาง

(13 ก.พ.67) บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ยกขบวนโปรโมท โปรโมชันสุดคุ้ม ‘นั่งไปไหนก็ 25 บาท ตลอดสาย’ กับแพ็กเกจเที่ยวเดินทางรายสัปดาห์ 7 วัน 10 เที่ยว 250 บาท พร้อมจัดกิจกรรมเดิน Troop มอบความสดชื่นแจกน้ำเก๊กฮวยให้กับประชาชน ในแหล่งชุมชนใกล้สถานีรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ตลอดสาย ลาดพร้าว-สำโรง อาทิ ตลาด, ห้างสรรพสินค้าและโรงเรียน ในวันที่ 12-13, 17-18 กุมภาพันธ์ และ 1-2 มีนาคม 2567 

พิเศษ!! สุดสำหรับกิจกรรมนี้ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแรบบิท รีวอร์ดส และโชว์หน้าแอปพลิเคชันในกิจกรรมวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ และ 2 มีนาคม 2567 จะได้รับ 250 แรบบิท พอยท์ไว้แลกสิทธิพิเศษ ส่วนลดต่าง ๆ ในช่องทางแอปพลิเคชัน

สำหรับผู้โดยสารและประชาชนที่สนใจกิจกรรมดี ๆ ในการมอบความสดชื่น ตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ Facebook Page : MRTYellowLine


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top