Sunday, 28 April 2024
รถไฟทางคู่สายใต้

การรถไฟฯ ทำพิธีเชื่อมต่อสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง สะพานรถไฟแบบขึงแห่งแรกของประเทศไทย แลนด์มาร์คแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดราชบุรี ในโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ 

เมื่อวันที่  24 มิถุนายน 2565 ณ สถานที่ก่อสร้างสะพานฝั่งค่ายภาณุรังษี อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย  และนายอุดม เพชรคุต รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานในพิธีเชื่อมต่อสะพานรถไฟช่วงสุดท้ายข้ามแม่น้ำแม่กลอง สะพานรถไฟแบบขึงแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางสายใต้ ช่วงนครปฐม–หัวหิน โดยมีพลตรีวิกร เลิศวัชรา รองเจ้ากรมการทหารช่าง และนายดนุช ยนตรรักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด พร้อมด้วยหน่วยงานจังหวัดราชบุรีเข้าร่วมพิธี 

นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟฯ เปิดเผยว่า การสร้างสะพานรถไฟแบบขึงข้ามแม่น้ำแม่กลอง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม – หนองปลาไหล โดยได้มีการสร้างสะพานรถไฟคู่ขนานกับสะพานรถไฟเดิมหรือสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟทางคู่สายใต้ พร้อมกับมีการออกแบบด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมพิเศษให้โครงสร้างสะพานรถไฟใช้คานขึง ที่มีตอม่ออยู่บนฝั่งแม่น้ำทั้ง 2 ฝั่ง แทนรูปแบบเดิมที่มีตอม่อกลางแม่น้ำ เนื่องจากก่อนที่จะมีการก่อสร้างสะพานรถไฟดังกล่าว การรถไฟฯ ได้ทำการสำรวจพื้นที่แล้วพบวัตถุระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขนาด 1,000 ปอนด์ จำนวน 7 ลูก จมอยู่ในแม่น้ำแม่กลองบริเวณใต้สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ ตรงกับแนวเขตการก่อสร้างสะพานรถไฟ หากจะก่อสร้างสะพานในรูปแบบเดิม จำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดออกจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตราย ดังนั้น จึงได้ให้ผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการฯ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากวัตถุระเบิด จึงเป็นที่มาของรูปแบบการสร้างสะพานรถไฟแบบขึง (Extradosed Bridge) หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “สะพานขึง”  ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอพระราชทานชื่อสะพาน 

‘รฟท.’ อัปเดตความคืบหน้า รถไฟทางคู่สายใต้ หัวหิน-ประจวบฯ งานโยธาเสร็จ 100% เตรียมเปิดปี 67 พร้อมกระตุ้นการท่องเที่ยว

(23 มี.ค. 66) การรถไฟแห่งประเทศไทย รายงานความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ล่าสุดการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. มูลค่า 5,807 ล้านบาท ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงการรถไฟทางคู่สายใต้ระยะที่ 1 ได้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาเสร็จสิ้นครบ 100% แล้ว และพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2567 นี้ 

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ มีระยะทางก่อสร้าง 84 กิโลเมตร เป็นการก่อสร้างทางวิ่งรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม เป็นโครงสร้างทางรถไฟวิ่งระดับพื้นดินทั้งหมด ประกอบด้วย สะพาน 2 แห่ง สถานีรถไฟ 12 แห่ง ป้ายหยุดรถ 1 แห่ง ย่านเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) จำนวน 2 แห่งที่สถานีสามร้อยยอด และสถานีทุ่งมะเม่า และงานก่อสร้างอื่นๆ เช่น งานระบบระบายน้ำ สะพานลอยคนเดินข้าม งานรั้ว งานก่อสร้างถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ ถนนกลับรถยกระดับรูปตัวยู ถนนลอดใต้สะพานทางรถไฟ เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟกับรถยนต์ 

ที่สำคัญการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ การรถไฟฯ ยังได้คำนึงคงความเป็นเอกลักษณ์ ความสวยงาม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยรอบในพื้นที่ มีไฮไลต์สำคัญ เช่น สถานีรถไฟหัวหิน ได้ออกแบบสถานีให้เป็นแบบผสมผสานนำเอกลักษณ์และความสวยงามของสถานีรถไฟหัวหินเดิมมาไว้ที่สถานีหัวหินใหม่ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม โดยเมื่อสถานีแห่งใหม่เปิดให้บริการ สถานีหลังเดิมจะยังคงเปิดให้บริการควบคู่ไปด้วย

สถานีรถไฟปราณบุรีปรับปรุงใหม่ บนรถไฟทางคู่สายใต้ สิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม-มีมาตรฐาน เพื่อคนทุกกลุ่ม

(9 พ.ค. 66) เพจ 'ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย' ได้โพสต์ข้อความระบุว่า...

วันนี้ทีมพีอาร์ฯ ขอนำเสนอ สถานีรถไฟปราณบุรี ซึ่งเป็นสถานีที่ปรับปรุงใหม่ในโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์

โดยสถานีมีการปรับปรุงสภาพสถานี และสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างจริงจัง เพื่อคนทุกกลุ่ม ตามมาตรฐาน Universal Design ได้แก่

- ทางลาด เข้าถึงทุกสิ่งอำนวยความสะดวก และชานชาลา 
- ชานชาลาสูง ระดับเดียวกับพื้นรถไฟ
- ห้องน้ำใหม่ พร้อมกับการทำห้องน้ำ สำหรับคนทุกกลุ่ม
- พื้นที่รอโดยสาร และห้องจำหน่ายตั๋ว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก 
- ร้านค้า ภายในตัวสถานี เพื่อสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น

โดยการพัฒนาเส้นทาง ในโครงการทางคู่ทั้งหมด ถูกออกแบบเพื่อให้รองรับรถไฟ ได้มากขึ้นถึง 4 เท่า จากการให้บริการเดิม 

โดยการปรับปรุงอาณัติสัญญาณ เป็น ETCS Level 1 ซึ่งเป็นระบบดิจิตอล ทำให้รู้ตำแหน่งของรถไฟอย่างแม่นยำ เพื่อความปลอดภัยในการให้บริการ และทำให้เพิ่มปริมาณรถไฟในราง ได้มากขึ้นถึง 4 เท่า

ในการออกแบบการพัฒนารถไฟทางคู่ ทั้งหมดรองรับการพัฒนาต่อเนื่องในอนาคต เช่น รองรับการขยายเส้นทางเพิ่มเติม การเพิ่มขึ้นของการขนส่งสินค้าทางระบบราง การเพิ่มขบวนรถไฟ และการติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือหัว (OCS) ในอนาคต

ซึ่งการพัฒนาสถานี และเส้นทาง เป็นรถไฟทางคู่ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของไทย 

เวลาเปลี่ยน เมืองไทยเปลี่ยน: รถไฟทางคู่สายใต้

ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลมุ่งพัฒนาระบบคมนาคมของไทยให้ดียิ่งขึ้นและครอบคลุมทั่วประเทศ ‘รถไฟทางคู่สายใต้’ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่รัฐบาลเร่งดำเนินการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชนภาคใต้ และลดระยะเวลาการเดินทาง จาก 6 ชม. เหลือเพียง 4 ชม. คาดว่าจะเปิดให้บริการบางส่วนภายในปีนี้

เวลาเปลี่ยน เมืองไทยเปลี่ยน: รถไฟทางคู่สายใต้ เฟส 2

ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลมุ่งพัฒนาระบบคมนาคมของไทยให้ดียิ่งขึ้นและครอบคลุมทั่วประเทศ ‘รถไฟทางคู่สายใต้ เฟส 2’ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่รัฐบาลเร่งดำเนินการ ถือเป็นมิติใหม่แห่งการเดินทาง เชื่อมโยงการคมนาคม ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้สะดวกสบายในการเดินทาง นอกจากนี้ยังเป็นทางเชื่อมไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top