Saturday, 18 May 2024
ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น

ดร.กอบศักดิ์ เตือน ระวังการสร้างหนี้ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น ชี้!! เงินเฟ้อพุ่ง ทำให้ 'ยุคดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดิน' จบลง

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Kobsak Pootrakool’ ระบุว่า 

ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น !!!! 

ยุคที่เราต้องระวังเรื่องการใช้จ่าย กำลังเริ่มแล้ว

เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา กำลังทำให้ “ยุคดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดิน” จบลง

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการสู้สงครามกับเงินเฟ้อของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก 

ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายแต่ละประเทศ ต้องปรับขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง 

โดยในเวลาไม่ถึงปี

- สหรัฐ ขึ้นดอกเบี้ย 5 ครั้ง รวม +3.0%
- สหภาพยุโรป ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง รวม +1.25% 
- อังกฤษ ขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้ง รวม +2.15%
- ออสเตรเลีย 5 ครั้ง รวม +2.25%
- ฟิลิปปินส์ 5 ครั้ง รวม +2.25%
- มาเลเซีย 3 ครั้ง รวม +0.75%
- อินโดนีเซีย 2 ครั้ง รวม +0.75%
- ไทย 2 ครั้ง รวม +0.5%

เมื่อธนาคารกลางขยับ ดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรต่าง ๆ ก็จะขยับตามเป็นขบวนแรก

ทั้งดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล และดอกเบี้ยหุ้นกู้ของเอกชน 

บางครั้ง ขึ้นก่อนธนาคารกลางปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วยซ้ำไป

ส่วนดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ก็เช่นกัน ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้น 

ตามสัญญาณจากธนาคารกลาง เป็นขบวนถัดมา 

ในสหรัฐ JPMorgan Chase Bank แบงก์ที่ใหญ่ที่สุด ได้ปรับ Prime Lending Rate ขึ้น 5 ครั้ง

จาก 3.25% เป็น 6.25% ขึ้นมา +3.0% ตามจังหวะที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อย่างสอดประสาน

แบงก์อื่น ๆ เช่น Bank of America หรือ Well Fargo Bank ก็ปรับขึ้น 5 ครั้ง ในจังหวะและอัตราเดียวกัน

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ปกติแล้วธนาคารพาณิชย์จะคอยดูสัญญาณจากธนาคารกลางว่า 

ต้องการให้ดอกเบี้ยในประเทศปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหน 

และจะดำเนินการตามที่ธนาคารกลางส่งทิศทางมา 

ทั้งนี้ เนื่องจากแบงก์พาณิชย์แต่ละแบงก์ เป็นแค่ส่วนเดียวของเศรษฐกิจ 

คงยากที่จะฝืนทิศทางของธนาคารกลางได้ 

เพราะสัญญาณและนโยบายจากธนาคารกลาง 

จะกระทบไปทุกส่วนของตลาดการเงิน 

โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรที่จะเป็นตลาดแรกที่ปรับทันที 

ส่วนธนาคารพาณิชย์ อาจจะใช้เวลา อาจจะรอได้บ้าง ในช่วงสั้น ๆ

แต่เมื่อธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยไปต่อเนื่องในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างต่อเนื่อง 

ทำให้ดอกเบี้ยในระบบ เริ่มเคลื่อนไหวไปในทิศทางนั้น

ธนาคารพาณิชย์ก็จะต้องปรับตาม ในท้ายที่สุดเช่นกัน

ซึ่งการปรับดอกเบี้ยตามดังกล่าว จะช่วยให้นโยบายของธนาคารกลาง 

สามารถส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจ ในทิศทางที่ธนาคารกลางต้องการ

สำหรับประเทศไทย 

หลังแบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมา 2 ครั้ง +0.5% และคงปรับขึ้นไปต่ออีกระยะ 

การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์กำลังเริ่มขึ้นเช่นกัน 

ส่งผลต่อดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในประเภทต่าง ๆ 

ซึ่งจะช่วยในกระบวนการดูแลเงินเฟ้อของแบงก์ชาติ 

ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น จะจูงใจให้คนลงทุน และกู้ยืมน้อยลง

ดอกเบี้ยเงินฝากที่เพิ่มขึ้น จะจูงใจให้คนฝากเงิน ใช้จ่ายน้อยลงเช่นกัน 

ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมใช้จ่ายลดลง ลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ

โดยกระบวนการนี้ จะเริ่มชะลอและหยุดลง 

ก็ต่อเมื่อแบงก์ชาติซึ่งเป็นผู้กำหนดทิศทางดอกเบี้ย จบรอบของการขึ้นดอกเบี้ย

หมายความว่า “ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” ในไทย 

ยังจะเดินหน้าไปอีกระยะ

ส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ยเงินกู้แบบต่างๆ ให้เพิ่มขึ้น

สินเชื่อบ้านแบบคงที่ 2-3 ปี ดอกต่ำ ๆ ก็แทบหาไม่ได้ในขณะนี้ ต่างจากช่วงก่อนหน้า

ซึ่งเราทุกคนคงต้องระวังเรื่องการสร้างหนี้ ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น นี้

ยิ่งเศรษฐกิจโลกกำลังอ่อนลง 

บริษัทต่าง ๆ คงต้องคิดเรื่อง สภาพคล่อง ดูแลกระแสเงินสด ฐานะการเงินให้ดี

อะไรไม่จำเป็นก็คงต้องผลักออกไปก่อน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top