Thursday, 16 May 2024
มิจฉาชีพออนไลน์

ตร. เตือน มุกใหม่ SMS มิจฉาชีพ อ้างฉลองครบรอบ Central ให้แอดไลน์แจกเงิน

วันที่ 18 ส.ค. 2565 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าหลังจากที่ได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้ทราบถึงมุกเด็ดของ SMS มิจฉาชีพทั้ง 5 แบบ ที่มิจฉาชีพมักจะใช้ในการหลอกลวงเหยื่อให้กดลิงก์หลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล หลอกเอาทรัพย์สินจากเหยื่อ หลอกให้กู้เงินนอกระบบ หรือหลอกให้เล่นพนันออนไลน์ นั้น

ปัจจุบัน พบว่ากลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวได้เปลี่ยนแผนประทุษกรรมในการหลอกลวงผ่าน SMS จากรูปแบบเดิม เปลี่ยนมาเป็นการส่งข้อความอ้างว่า เพื่อฉลองครบรอบ Central ทางบริษัทจะแจกเงินรางวัลให้กับทุกท่าน โดยให้แอดไลน์ผ่านลิงก์ที่แนบมากับข้อความ ซึ่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สอบถามไปยัง บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด หรือ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล แล้ว ได้รับการยืนยันว่าบริษัทฯไม่ได้มีการจัดกิจกรรมแจกเงินรางวัลในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด โดยกรณีดังกล่าวหากเหยื่อหลงเชื่อแอดไลน์คนร้าย ก็อาจจะถูกคนร้ายหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลบัญชีธนาคาร ตลอดจนรหัสผ่านต่าง ๆ  นำไปใช้ทำให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลได้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ เครือซีพี รวมพลังแฉกลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ หวังต้านอาชญากรรมไซเบอร์

วันที่ 10 ก.พ. 66 เวลา 15.00 น. ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้แทนลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ว่าด้วยการประชาสัมพันธ์สื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้แทนลงนาม ทั้งนี้มีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้แทนบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าร่วมพิธีฯ 

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ สืบเนื่องจากสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรืออาชญากรรมไซเบอร์ในปัจจุบันมีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่หลงกลตกเป็นเหยื่อจนได้รับความเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งในบางรายถึงกับต้องสูญเสียชีวิต ซึ่งจากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565 – 6 ก.พ. 2566  มีการรับแจ้งความอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 192,031 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 29,546,732,805 บาท สามารถติดตามอายัดบัญชี  65,872 บัญชี อายัดได้ทัน 445,265,908 บาท

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และห่วงใยประชาชน จึงบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public Private Partnership (PPP) เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการยับยั้ง ป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกัน (Cyber Vaccine) แก่ประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพ ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินงานได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไปยังประชาชน 

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่อาชญากรรมไซเบอร์ได้พัฒนารูปแบบกลลวงอย่างหลากหลายและรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงระดับชาติ เพราะส่งผลกระทบทั้งต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย และความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ในการประชุม World Economic Forum 2023 ได้จัดให้ 'ภัยคุกคามไซเบอร์' เป็น 1 ใน 5 ความเสี่ยงที่สำคัญระดับโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์ จะสูงถึง 10.5 ล้านล้านเหรียญภายในปี 2025 นั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มบริษัทในเครือฯ ในฐานะของผู้นำธุรกิจภาคเอกชน จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำร่องด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับกลโกงต่างๆ ของอาชญากรรมไซเบอร์เป็นองค์กรแรก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์วัคซีนให้ประชาชนชาวไทยมีความรู้เท่าทันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการร่วมสร้างความตื่นรู้ให้สังคมไทยในครั้งนี้ สอดคล้องกับค่านิยม 3 ประโยชน์ที่เครือฯ ยึดมั่นในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ

โดยเครือฯ ได้ระดมสรรพกำลังของกลุ่มธุรกิจในเครือ เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์กลโกงของอาชญกรรมไซเบอร์ในทุกช่องทางการสื่อสารอย่างเต็มศักยภาพรวมระยะเวลา 2 ปี ทั้งจากกลุ่มโทรคมนาคมและร้านค้าปลีกค้าส่ง คือการส่ง SMS เตือนภัยผ่านเครือข่ายทรูมูฟ เอช ซึ่งมีผู้ใช้บริการรวม 37 ล้านเลขหมาย ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในเดือนมกราคมที่ผ่านมา การเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อภายในลักษณะต่างๆ ในร้านเซเว่น – อีเลฟเว่นกว่า 13,000 สาขาประเทศ ซึ่งมีจำนวนลูกค้าเข้าใช้บริการ 11,404,314 คนต่อวัน ในแม็คโคร 152 สาขา และโลตัสมากกว่า 2,000 สาขา การประชาสัมพันธ์รายการในสถานีข่าว TNN16 และช่อง True4U การจัดกิจกรรมแฮกกาธอนในกลุ่มเยาวชน คิดค้นไอเดียรับมือกลโกง รวมถึงการกระจายข่าวสารผ่านพนักงานกว่า 361,570 คนทั่วประเทศ ซึ่งความหลากหลายทางธุรกิจฯ ของเครือ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ข่าวสารเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง และทำให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความสูญเสียทั้งต่อประชาชนและประเทศชาติที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดการเสวนา “จุดกระแส On Stage” ดำเนินรายการโดย คุณกรรชัย  กำเนิดพลอย ในหัวข้อ “แฉสารพัดกลโกงมิจฉาชีพหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์” ซึ่งมีผู้ร่วมแชร์ประสบการณ์ ได้แก่ คุณมยุรา เศวตศิลา นักแสดงชื่อดัง, คุณภาณุพงศ์  หอมวันทา ยูทูปเบอร์เจ้าของช่อง Epic Time,  ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกระบวนการกลโกง Call Center  และผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเคยตกเป็นเหยื่อกลโกงแอพออนไลน์ดูดเงินโดยแอบอ้างสรรพากร โดยมีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่าโครงการความร่วมมือครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนไทย เพราะความรู้ผ่านสื่อต่างๆ จะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกมิจฉาชีพออนไลน์หลอกลวง และจากที่เคยตกอยู่ในสถานะของเหยื่อมาแล้วนั้น ทำให้มั่นใจมากว่า ถ้ารู้ทันกลโกงก่อนจะไม่ตกเป็นเหยื่ออย่างที่ผ่านมา และหวังว่าการสื่อสารประชาสัมพันธ์ถึงกลโกงผ่านช่องทางที่หลากหลาย จะเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่มทั่วประเทศได้ รวมถึง “ความร่วมมือของภาคเอกชน ต้านภัยออนไลน์ด้วยวัคซีนไซเบอร์” โดย พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และคุณศิริพร  เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) 

‘สส.สรรเพชญ’ ส่งเสียงหนุน พ.ร.ก.ปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ ลั่น!! ปัญหาของ ปชช. รอไม่ได้ ขอสภาฯ ให้ความเห็นชอบ

เมื่อวานนี้ (3 ส.ค. 66) ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ ห้องประชุมสุริยัน อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายแสดงความเห็นต่อ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยนายสรรเพชญฯ กล่าวว่า 

"ตนเห็นด้วยกับพระราชกำหนดฉบับนี้ เนื่องจากเป็นปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับผลกระทบกันเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายให้กับประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศมูลค่ามหาศาล อีกทั้งพระราชกำหนดฉบับนี้ ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยของสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ที่กำลังประสบกับปัญหาที่เกิดขึ้นท่ามกลางโลกไร้พรมแดน"

นายสรรเพชญ ได้กล่าวต่อว่า "ปัจจุบันพฤติกรรมของขบวนการนี้ มีความพยายามที่จะทำให้กระบวนการในการจับกุม และสอบสวนซับซ้อนมากยิ่งขึ้น รวมถึงใช้วิธีการต่าง ๆ ที่จะหลอกล่อ ขู่เข็ญให้ประชาชนหลงเชื่อและตกใจกลัวด้วยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลเครดิตต่าง ๆ จนหลงเชื่อและต้องสูญเสียทรัพย์สิน เมื่อมิจฉาชีพเหล่านี้ได้รับเงินจากผู้เสียหายแล้วก็จะมีการโอนต่อกันเป็นทอด ๆ ผ่านบัญชีม้า ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำงานยากมากยิ่งขึ้นซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นภัยร้ายแรงที่กำลังคุกคามสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน"

นอกจากนี้นายสรรเพชญฯ ยังได้กล่าวให้กำลังใจไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่กำลังปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในขณะนี้ รวมถึงได้ตั้งข้อสังเกตในโครงสร้างของคณะกรรมการว่าให้ควรมีภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย รวมถึงหากเป็นไปได้อยากให้มีนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ แต่มีความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาร่วมทำงานด้วยเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ในตอนท้าย นายสรรเพชญฯ กล่าวว่า "ปัญหาของประชาชนในขณะนี้รอไม่ได้แล้ว การมีพระราชกำหนดฯ นี้จะเป็นเกราะป้องกันและช่วยเหลือประชาชน ซึ่งหากสมาชิกท่านอื่น ๆ มีความเห็นว่าสมควรแก้ก็ค่อยยื่นร่างฉบับแก้ไขกลับเข้ามาเพื่อให้กฎหมายบังคับใช้ต่อไปได้" 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top