Sunday, 12 May 2024
มาตรฐานมอก

สมอ. คุมเข้ม ‘ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหาร’ ปักธงดีเดย์ 3 ม.ค. 66 ต้องได้มาตรฐาน มอก.

สมอ. ตั้งธงดีเดย์ 3 มกราคม 2566 กำหนดให้ ‘ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหาร’ เป็นสินค้าควบคุม ต้องได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน คุมเข้มทั้งผู้ทำและผู้นำเข้าทุกรายต้องยื่นขอ มอก. ก่อนวันมีผลบังคับใช้ หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย

(8 พ.ย. 65) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นอกจากภารกิจด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมแล้ว อีกภารกิจที่สำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ การคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน โดยการควบคุมสินค้าที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 136 รายการที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศเป็นสินค้าควบคุม และกำลังจะควบคุมเพิ่มอีก 5 รายการ ได้แก่ 

1.) ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร ที่ทำจากพอลิเอทิลีน, พอลิพรอพิลีน, พอลิสไตรีน, พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต, พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ และพอลิเมทิลเพนทีน  

2.) ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร ที่ทำจากพอลิไวนิลคลอไรด์, พอลิคาร์บอเนต, พอลิแอไมด์ และพอลิเมทิลเมทาคริเลต 

3.) ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหารที่ทำจากอะคริโลไนไทรล์-บิวทะไดอีน-สไตรีน และสไตรีน-อะคริโลไนไทรล์ 

4.) ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น (ใช้ซ้ำได้)  

และ 5.) ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่นครั้งเดียว 

โดยสินค้าทั้ง 5 รายการดังกล่าวแบ่งตามชนิดของพลาสติกที่ใช้ทำเฉพาะชั้นที่สัมผัสกับอาหาร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้พร้อมกันในวันที่ 3 มกราคม 2566 นี้ เนื่องจากภาชนะที่สัมผัสอาหารโดยตรงมีความเสี่ยงที่จะมีสารเคมีปนเปื้อน หรือสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพปนเปื้อนลงสู่อาหารได้ เช่น สารตั้งต้นที่ใช้ทำพลาสติก โลหะหนักที่อยู่ในสารเติมแต่ง หรือสีที่ใช้ทาเคลือบภายนอก เป็นต้น 

ด้านนายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสินค้าทั้ง 5 รายการดังกล่าว เป็นสินค้ามาตรฐานทั่วไปที่ผู้ประกอบการสมัครใจในการยื่นขอการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน มอก.655 และ มอก.2493 ซึ่งมีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. รวมจำนวน 13 ราย แต่หลังจากวันที่ 3 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการทุกรายทั้งผู้ทำและผู้นำเข้า จะต้องยื่นขอใบอนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำและนำเข้า หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย กรณีทำโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

'รมว.ปุ้ย' เร่งออก มอก. ภาคบังคับเพิ่ม 2 เท่า สกัด 'สินค้าราคาถูก-ด้อยคุณภาพ' พังตลาดไทย

(13 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องกำลังผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยลดลง ว่า ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากการที่ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งออกมาตรฐานบังคับใช้ หรือ มอก. ให้ได้มากกว่าที่ผ่านมา 2 เท่า เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยจะช่วยเป็นหลักประกัน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภคด้วยว่าจะเลือกใช้ของถูกแต่ไม่มีมาตรฐาน หรือของถูกที่ได้มาตรฐาน

"ยอมรับว่าการที่ภาคการผลิตชะลอตัวอาจจะเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็มีหน้าที่ในการดูแล และสนับสนุน เพราะเวลานี้ผู้ประกอบการเองนำหน้ารัฐบาลไปมาก ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดอุปสรรค ควบคู่ไปกับการสนับสนุน"

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงฯเองก็มีมาตรการที่ดูแลผู้ประกอบการไทย และผู้บริโภค เพียงแต่การดูแลจะต้องทำให้ได้อย่างทั่วถึง โดยในส่วนของผู้บริโภคเองย่อมต้องการสินค้าที่ราคาไม่แพง แต่ประเด็นที่สำคัญคือ จะต้องมีคุณภาพด้วย ซึ่งกระทรวงฯมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง สมอ. คอยช่วยดูแลอยู่ ในการสร้างมาตรฐาน มอก.

โดยสินค้าที่จะเข้ามาจำหน่ายในไทยจะต้องได้รับการยอมรับ หรือผ่านมาตรฐาน มอก. จากการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่ปัจจุบันมีปัญหาจากการสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือถูกมาพักไว้ตามแนวตะเข็บชายแดนก่อนนำเข้า

อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่ากระทรวงฯคงดูแลรับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียวไม่ไหว จะต้องมีหน่วยงานอื่นร่วมมือกันด้วย โดยก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลสินค้านำเข้าให้มีคุณภาพ เพราะหากสินค้าไม่มีคุณภาพเข้ามาเป็นจำนวนมากย่อมกระทบกับผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้นทุนถูกกว่า ซึ่งการดูแลจึงต้องทำควบคู่กันไปทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปอีกว่า ในระยะต่อไปสินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในไทย จะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบมาตรฐาน ตั้งแต่สินค้าชิ้นเล็ก เช่นปลั๊กไฟ หากไม่ได้มาตรฐานอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และครอบครัว หรือเหล็ก ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงของประเทศ โดยปัจจุบันมีทั้งผู้ผลิตในประเทศไทย และเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศที่ผ่าน มอก. อย่างถูกต้อง และไม่ถูกต้อง

"ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกัน โดยมองว่าไม่ใช่ช่วยกันเฉพาะการนำเข้า เพราะไม่ใช่ข้อห้าม แต่สิ่งสำคัญสินค้าจะต้องได้มาตรฐาน"

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ต้องทำความเข้าใจด้วยว่ามาตรฐานมี 2 แบบ คือ มาตรฐานบังคับใช้ และมาตรฐานทั่วไป โดยที่ผ่านมากระทรวงฯพบข้อมูลแล้วว่าเรื่องมาตรฐานเริ่มมีปัญหากับผู้ประกอบการในประเทศ จึงมีการยกระดับให้เป็นมาตรการบังคับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการออกมาตรฐานไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย เพราะจะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ตั้งแต่วิธีการผลิต และการตรวจคุณภาพ ซึ่งอาจจะไม่ทันกับจำนวนสินค้าที่หลั่งไหลเข้ามา

'รมว.ปุ้ย' เตือน!! แผงโซลาร์เซลล์ ไม่มี มอก.ไม่มีมาตรฐาน เสี่ยงไฟไหม้ ย้ำ!! ต้องเลือกที่มี มอก.เท่านั้น เพราะผ่านทดสอบการลุกไหม้มาแล้ว

(9 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ โดยที่ผ่านมามีการสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนติดตั้ง Solar Rooftop ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาวของประเทศ ซึ่งมีสถานประกอบการและประชาชนให้ความสนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟฟ้ามากขึ้น

"แต่เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์มีหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หากนำแผงโซลาร์เซลล์ที่ไม่มีมาตรฐาน และไม่ได้ติดตั้งตามมาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญ อาจจะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้แผงโซลาร์เซลล์ตามที่มีการแชร์คลิปในโลกออนไลน์อยู่ในขณะนี้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ดิฉันจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานของสินค้า ให้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจและให้ความรู้กับประชาชนในการเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก"

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุการเกิดไฟไหม้แผงโซลาร์เซลล์นั้นมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักคือ กระแสไฟฟ้าไหลได้ไม่สะดวก เนื่องจากมีการต่อแผงเข้าด้วยกันหลาย ๆ แผง หากแผงใดเกิดมีปัญหา จะทำให้แรงดันไฟฟ้าจากหลาย ๆ ที่ไหลไปรวมตัวกันที่แผงดังกล่าว จนทำให้เกิดความร้อนสะสม เมื่อความร้อนเกินกว่าศักยภาพที่แผงโซลาร์เซลล์นั้นจะรับได้ ก็จะเกิดกระแสไฟลุกไหม้ตัวแผงนั้นขึ้นมา จนลุกลามกระจายไปยังแผงอื่น ๆ 

ดังนั้นแนวทางที่ปลอดภัยที่สุด คือ ควรเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐานมี มอก. รับรอง เพราะผ่านการทดสอบการทนความร้อน การลุกไหม้ และการลามไฟมาแล้ว 

"สมอ. มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ จำนวน 2 มาตรฐาน ได้แก่ มอก. 61215 เล่ม 1(1) - 2561 เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่แสดงประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์ และ มอก. 2580 เล่ม 2-2562 เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัย ซึ่งมีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการทนความร้อน การตัดไฟ การใช้งานในอุณหภูมิสูง การป้องกันไฟรั่ว การลามไฟ และมีระบบป้องกันไม่ให้เกิดความร้อน จนเกิดการลุกไหม้ในจุดที่ถูกบดบังการรับแสง ไม่ว่าจะเกิดจากเงาเมฆ มีใบไม้มาบัง หรือแผงเกิดความสกปรก แผงโซลาร์เซลล์นั้นก็จะยังคงสามารถทำงานได้ตามปกติ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่มีมาตรฐาน จะมีความปลอดภัยขั้นพื้นฐานและป้องกันอันตรายจากไฟไหม้ได้" นายวันชัย กล่าว

ปัจจุบัน มีผู้ผลิตภายในประเทศที่ได้รับใบอนุญาต มอก. 61215 เล่ม 1 (1) - 2561 และ มอก. 2580 เล่ม 2-2562 จาก สมอ. แล้ว จำนวน 7 ราย ได้แก่ 1. บริษัท เทลซัน เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด 2. บริษัท ฟูโซล่าร์ จำกัด  3. บริษัท โซล่าเพาเวอร์ เทคโนโลยี จำกัด 4. บริษัท โซลาร์ พีพีเอ็ม จำกัด 5. บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท รันเนอร์จี พีวี เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด และ 7. บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) จึงขอฝากถึงประชาชนให้เลือกซื้อแผงโซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐาน มอก. และมีเครื่องหมายรับรอง เพื่อความปลอดภัย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top