Saturday, 11 May 2024
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จของคณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

และได้ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ บริเวณหน้าหอประชุม มก. ทั้งยังมีพระราชดำรัสถึงบุคลากรและนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในคราวนั้นว่า

“ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น”

นอกจากนี้ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระมหากรุณาธิคุณร่วมการแสดงดนตรีที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก อันนำไปสู่การเสด็จ "เยี่ยมต้นนนทรี" ที่ทรงปลูกและ "ทรงดนตรี" สืบเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2515

โดย ต้นนนทรี เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เพราะต้นนนทรีเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย 

‘ม.เกษตร’ จัดงาน! “ชวน เช็ค ชิม ช็อป แชร์ผลิตภัณฑ์ดี นวัตกรรมเด่น” เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมรายตำบลอย่างยั่งยืน!! พบกัน 21-22 ธันวาคม 2564 นี้

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์  อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เปิดเผยถึง การจัดงาน “ถ่ายทอดนวัตกรรมการพัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมรายตำบลอย่างยั่งยืน” ว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลสัมฤทธิ์ของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย หรือที่รู้จักกันในนามของ U2T 

ส่วนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รับผิดชอบ 17 Cluster ในพื้นที่ดำเนินการ 27 จังหวัด 140 ตำบล ครอบคลุมทั้ง 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งแต่ละพื้นที่ได้นำผลิตภัณฑ์ดี นวัตกรรมเด่น ทั้งของอุปโภค บริโภค มาจัดแสดงและจัดจำหน่าย ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม 2564 จึงขอเชิญชวนประชาชนได้เข้ามาร่วม เช็กอิน ชมนวัตกรรม ชิม ช็อป และ แชร์ หรือบอกต่อผลิตภัณฑ์ของชุมชนในพื้นที่ U2T ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีคุณภาพ สามารถนำไปเป็นของใช้ และของฝากในช่วงเทศกาลได้  อีกทั้งผู้มาร่วมงานยังจะได้รับแจกกล้าไม้พันธุ์ดีที่ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมป่าไม้ด้วย

ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นหนึ่งในเครือข่ายที่ดำเนินโครงการ “ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ” ทั้งส่วนการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษาให้มีงานทำ และร่วมดำเนินกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ให้เกิดการพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ในพื้นที่ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยเน้นการพัฒนาชุมชนผ่านการดำเนินกิจกรรม 4 ด้านหลัก คือ 1. ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2. ด้านการท่องเที่ยว 3. ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ และ 4. ด้านการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม มีระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน ซึ่งเป็นผลให้เกิดการจัดงาน"ถ่ายทอดนวัตกรรมการพัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลอย่างยั่งยืน"

 

 

 

สมาคมนิสิตเก่า ม.เกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ม.เกษตรศาสตร์จัดกิจกรรมโครงการเดิน - วิ่ง 80 ปี มก. (80th KU RUN)รวมพลังเพื่อโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

​มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 
จัดกิจกรรมรวมพลังแสดงความรักและสามัคคี ภายใต้โครงการเดิน–วิ่ง 80 ปี มก. (80th KU RUN)  กำหนดวันดีเดย์ วันที่ 15 มกราคม 2566 เวลา 6.30 น. โดยเชิญชวน นิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน บุคลากร และประชาชน ร่วมกิจกรรมพร้อมกันทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 รวมพลังครอบครัวเกษตรศาสตร์และประชาชน นำเงินรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย สนับสนุนการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ และ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล ชั้น 1 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลงข่าว เดิน –วิ่ง 80 ปี มก. (80th KU RUN)   โดยมี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นิสิตเก่า KU 33 อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการโครงการเดิน–วิ่ง 80 ปี มก. (80th KU RUN) ให้เกียรติเป็นประธานการแถลงข่าว ร่วมด้วย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ นิสิตเก่า KU 46 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการโครงการเดิน-วิ่ง 80 ปี มก. (80th KU RUN) และนางโสภาวรรณ มงคลธรรมากุล​ นิสิตเก่า KU 36 นายกสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเดิน-วิ่ง 80 ปี มก. (80th KU RUN) ร่วมแถลงข่าว ทั้งนี้ นายสิทธิพล ภู่สมบุญ นิสิตเก่า KU 39 อุปนายกสมาคมนิสิตเก่า ฯ ประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการ เดิน-วิ่ง 80 ปี มก. (80th KU RUN) พร้อมด้วย กรรมการบริหารสมาคมนิสิตเก่า ฯ คณะกรรมการโครงการ ฯ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นิสิตเก่า มก. ดร.ตระการ (ต้น) พันธุมเลิศรุจี เข้าร่วมงานแถลงข่าว

สำหรับกิจกรรม KU RUN วิ่งลั่นทุ่ง นั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2562 และ ได้ว่างเว้นการจัดงานมาเป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด 19 เมื่อสถานการณ์โควิด คลี่คลาย จึงได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาอีกครั้ง

โดยในปีนี้ กิจกรรม KU RUN วิ่งลั่นทุ่ง จัดขึ้นในชื่อโครงการเดิน - วิ่ง 80 ปี มก. (80th KU RUN) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเพื่อจัดหารายได้ส่วนหนึ่งสนับสนุนการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์และก่อสร้างโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกทั้งเป็นการรวมพลังแสดงความรักความสามัคคีร่วมกันของเครือข่ายนิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน บุคลากรและครอบครัวของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเพื่อให้ประชาชนและสังคมได้เห็นคุณค่าของการออกกำลังกาย การมีสุขภาพพลานามัยที่ดี อีกด้วย ​รูปแบบกิจกรรม KU RUN เดิน - วิ่ง 80 ปี มก. จะไม่มีการแข่งขัน แพ้ หรือ ชนะ เน้นการมีส่วนร่วม การแสดงออกถึงความรักความสามัคคี การแสดงพลังของชาวเกษตรศาสตร์ และประชาชน กำหนดจัดกิจกรรม ในวันที่ 15 มกราคม 2566 เวลา 6.30 น. พร้อมกันในทุกสนามของวิทยาเขตมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และสนามในแต่ละจังหวัดเครือข่ายนิสิตเก่าทั่วประเทศ สำหรับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จัดที่ สนามอินทรีจันทรสถิตย์ ระยะทาง 4.80 กิโลเมตร จุดเด่นของโครงการนอกจากการแสดงพลังความรักและความสามัคคี และส่งเสริมการออกกำลังกายแล้ว ยังมีกิจกรรมการแชร์ภาพถ่าย ณ จุดเช็คอิน และ Backdrop ตามจุดต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เพื่อเป็นการรำลึกความหลังในธีม 80 ปี มก. รวมถึงมีระบบถ่ายทอดสดสำหรับนักวิ่ง Virtual run เพื่อให้บุคลากร นิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน ได้มีส่วนร่วมในการเดิน–วิ่ง ไปพร้อมๆ กับนักวิ่ง

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ก่อตั้ง โรงเรียนเกษตราธิการ ต้นกำเนิดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 โรงเรียนเกษตราธิการ ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ วังประทุมวัน โดยที่กระทรวงเกษตราธิการได้ทำการรวบรวมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดของกระทรวง 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนแผนที่ (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2425) โรงเรียนกรมคลอง (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448) และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เป็นโรงเรียนเดียวกันเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่างๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย โดยได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรใหม่นี้ในปี พ.ศ. 2452

ต่อมาโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการจากเดิมที่สังกัดกระทรวงเกษตราธิการจึงย้ายมาสังกัดกระทรวงธรรมการ ในปี พ.ศ. 2456 โดยใช้ วังวินด์เซอร์ เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการที่ยุบเข้ารวมกับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน)

29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ในหลวง ร.9 เสด็จทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พร้อมทั้งทรงดนตรีเป็นครั้งแรกร่วมกับ 'อ.ส.วันศุกร์'

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 เวลา 15.30 น. นับเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ในดวงจิตของชาวเกษตรศาสตร์อย่างไม่มีวันลืม 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จของคณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทรงปลูกต้นนนทรี ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ถูกเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย จำนวน 9 ต้น บริเวณหน้าอาคารหอประชุม มก. 

ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น มีพระมหากรุณาธิคุณทรงดนตรีที่หอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรกด้วย อันนำมาสู่การเสด็จ 'เยี่ยมต้นนนทรี' ที่ทรงปลูก และ 'ทรงดนตรี' สืบเนื่องอีกหลายครั้งในปีต่อ ๆ มา 

การเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นนนทรี ทรงเยี่ยมต้นนนทรี และทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปได้ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ทรงปลูกต้นนนทรีจำนวน 9 ต้น และทรงดนตรี

ครั้งที่ 2 วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507

ครั้งที่ 3 วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2508

ครั้งที่ 4 วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510

‘ดร.ธรณ์’ โพสต์ความประทับใจ กับ ‘ปลาฉลาม’ ย้ำ มีความสุขที่ได้ทำงานอนุรักษ์สัตว์น้ำ และท้องทะเลไทย

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กถึงความประทับใจกับฝูงปลาฉลาม โดยมีใจความว่า ... 

หากทะเลดี เราจะมีอะไร ? คำตอบคือมีฉลามไงครับ ตั้งแต่เช้าถึงตอนนี้ นับได้ 20+ ตัว
ฉลามพวกนี้ว่ายมาที่ preserved coral patch พื้นที่อนุรักษ์ปะการังน้ำตื้นติดฝั่ง Crossroads Maldives ที่ผมขอให้ทำไว้ตั้งแต่เริ่มพัฒนาเกาะ

ปัจจุบันปะการังโตเอาๆ ขยายพื้นที่จาก 489 ตร.ม. (2016) กลายเป็น 5,013 ตร.ม. พวกเธอโตเร็วขนาดนั้น

จากนั้นฉลามก็มา… ฉลามตัวโตๆ มาจนติดชายฝั่ง ไม่นับลูกฉลามที่เห็นได้แทบทุกเวลาที่เดินไปริมหาด เช้าที่ผ่านมาจึงเป็นงานแสนสุข ตามดูฉลามทั้งทางอากาศและในทะเล เก็บสถิติบันทึกไว้ต่อเนื่อง รวมถึงงานวิจัยที่ไปอีกขั้น เช่น การพิสูจน์อัตลักษณ์ฉลาม
ฉลามคือราชาแห่งท้องทะเล และงานองครักษ์พิทักษ์ราชา คืองานที่ผมทำแล้วมีความสุขมากมายครับ

‘ม.เกษตร’ ออกแถลงการณ์ เห็นด้วยกับวิถีประชาธิปไตย แต่ไม่สนับสนุนการแสดงออกที่ไม่เคารพเกียรติ-สัญลักษณ์ชาติไทย

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 66 จากกรณีมีการชักธงดำขึ้นสู่ยอดเสาหน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อช่วงเย็นวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีการทำกิจกรรมปราศรัยโจมตี ส.ว. ที่ไม่สนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี

ล่าสุดเพจเฟสบุ๊ก ‘มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์’ ได้ ออกแถลงการณ์ มีข้อความว่า…

“มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นด้วยกับการแสดงออกในวิถีทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เห็นชอบในความกลมกลืนบนความหลากหลายทางความคิด เพื่อความถูกต้องเหมาะสมตามแนวทางประชาธิปไตยแบบไทย

แต่ไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกที่ไม่เคารพเกียรติและสัญลักษณ์ของประเทศชาติ ธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แสดงถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย มีความหมายถึงความเป็นเอกราช สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นความภาคภูมิใจของคนในชาติ ที่รักษาเอกราช มายั่งยืนถึงทุกวันนี้

ขอให้ทุกฝ่ายได้มีการแสดงออกในแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะกับเกียรติภูมิของคนไทย เคารพกฎ ฟังความคิดเห็นของกันและกัน ปฏิบัติตามกติกา การอยู่ร่วมกันและเข้าใจความรู้สึกของคนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของสังคม และของประเทศชาติ”

คณะแพทยฯ ม.เกษตรฯ พร้อม!! หลังแพทยสภารับรอง เริ่มรับนิสิตรุ่นแรก ปีการศึกษา 2567 ผ่าน กสพท. 21 คน

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แจ้งว่า หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ผ่านการรับรองจากแพทยสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีข้อความระบุว่า

“ประกาศ เรื่อง แพทยสภาให้การรับรองคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านการตรวจประเมินหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ 2567 ณ วันที่ 15 กันยายน 2566”

ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีกำหนดรับนิสิตใหม่รุ่นละ 48 คน โดยแบ่งฝึกปฏิบัติการที่โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร และโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรีแห่งละ 24 คน โดยขณะนี้เปิดรับสมัครนิสิตรุ่นแรก ปีการศึกษา 2567 ผ่านกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) นำร่องจำนวน 21 คน 

สำหรับวิชาเรียน หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ม.เกษตรศาสตร์ เรียน 6 ปี จำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 244 หน่วยกิต จากโครงสร้างหลักสูตร วิชาเรียนในกลุ่มวิชาบังคับไม่ได้ต่างจากหลักสูตรของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เพราะจะเน้นการเรียนที่ปูพื้นฐานด้านการแพทย์และเจาะลึก รวมถึงการฝึกปฏิบัติงานในระดับชั้นคลินิก หรือ ในโรงพยาบาลกลุ่มวิชาเฉพาะที่ส่งเสริมสมรรถนะที่เป็นจุดเด่นของสถาบัน และกลุ่มวิชาเฉพาะที่ส่งเสริมศักยภาพ

อาทิ วิชาเวชศาสตร์ระดับเซลล์และโมเลกุลเพื่อการตรวจวินิจฉัยโรค, วิชาพันธุศาสตร์ทางการแพทย์และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์, วิชาองค์ความรู้จากการศึกษาในต่างประเทศ, วิชาการฝึกปฏิบัติการดูแลประคับประคองสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ, วิชากีฏวิทยาทางการแพทย์, วิชาพืชสวนบำบัดและสัตว์บำบัดเพื่อสุขภาพ, วิชาสุขภาพและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ,

วิชาการพัฒนาแอปพลิเคชันการดูแลผู้ป่วย, วิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลทางการแพทย์และการประยุกต์, วิชาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, วิชาพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ, วิชาสปาทางการแพทย์, วิชาการฝึกปฏิบัติเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ฯลฯ 

29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ในหลวง ร.9 ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้ เมื่อ 60 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงปลูกต้นนทรี 9 ต้น พร้อมร่วมการแสดงดนตรีที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จของคณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

และได้ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ บริเวณหน้าหอประชุม มก. ทั้งยังมีพระราชดำรัสถึงบุคลากรและนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในคราวนั้นว่า

“ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น”

นอกจากนี้ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระมหากรุณาธิคุณร่วมการแสดงดนตรีที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก อันนำไปสู่การเสด็จ ‘เยี่ยมต้นนนทรี’ ที่ทรงปลูกและ ‘ทรงดนตรี’ สืบเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2515

โดย ‘ต้นนนทรี’ เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เพราะต้นนนทรีเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย 

ซึ่งต้นนนทรีทั้ง 9 ต้น ได้สร้างความเป็นสง่าราศี เป็นขวัญกำลังใจ เป็นจิตวิญญาณและให้ความร่มเย็น แก่เหล่าลูกนนทรีมาโดยตลอด ปัจจุบันนนทรีทั้ง 9 ต้นเจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ เต็มวัย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 53 เซนติเมตร มีความสูงเฉลี่ย 15 เมตร 

มีพื้นที่เรือนยอดปกคลุม 123 ตารางเมตรต่อต้น หรือพื้นที่เรือนยอดรวม 1,108 ตารางเมตร ด้วยต้องยืนตระหง่านฝ่าร้อนฝ่าฝนและหนาวมาเป็นระยะเวลายาวนานย่อมถูก โรคภัยเบียดเบียน มหาวิทยาลัยได้เฝ้าดูแลต้นนนทรีทั้ง 9 ต้น ด้วยความใส่ใจมาตลอด พร้อมทั้งทำศัลยกรรมตกแต่งปิดโพรงภายในจากการทำลายของโรคอย่างถูกวิธี เพื่อให้นนทรีทั้ง 9 ต้นดำรงความเป็นเกียรติประวัติแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สืบไป

‘นักวิจัย มก.’ พบ ‘กุ้งเต้นปั่นท่อ’ ชนิดใหม่ของโลก  บริเวณแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม

(18 ธ.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘Kasetsart University’ โพสต์ข้อความระบุว่า “ทีมนักวิจัย มก. พบกุ้งเต้นปั่นท่อชนิดใหม่ของโลกบริเวณแม่น้ำแม่กลอง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นรายงานแรกที่พบในอ่าวไทยและในแม่น้ำ

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ดร. กรอร วงษ์กำแหง นางสาวชนิกานต์ เกตุนวม และ ดร.ทศพล แซ่ตั้ง กีฏพิชญกุล ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Assoc. Prof. Dr. Azman Abdul Rahim จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia) ร่วมกันพบกุ้งเต้นปั่นท่อชนิดใหม่ของโลกบริเวณแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม

โดยทั่วไปกุ้งเต้นปั่นท่อชนิดอื่น ๆ พบกระจายบริเวณชายฝั่งในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก การค้นพบครั้งนี้เป็นรายงานแรกของกุ้งเต้นปั่นท่อในอ่าวไทย และเป็นรายงานแรกที่พบกุ้งเต้นปั่นท่อในแม่น้ำ ผศ.พงษ์รัตน์ ดำรงโรจน์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานจึงได้ตั้งชื่อให้ว่า Cerapus rivulus ซึ่งหมายถึงแหล่งอาศัยของกุ้งเต้นปั่นท่อที่พบในแม่น้ำนั่นเอง

แม่น้ำแม่กลอง เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลลงสู่อ่าวไทยโดยมีปลายทางคือจังหวัดสมุทรสงคราม มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ บริเวณที่เป็นน้ำจืดคือในเขตอำเภอบางคนทีมีการทำเกษตรกรรม และอำเภออัมพวาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง ส่วนปากแม่น้ำบริเวณดอนหอยหลอดก็เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศ

ในปีที่ผ่านมามีการค้นพบกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลกที่อำเภออัมพวา 2 ชนิดและเมื่อศึกษาต่อเนื่อง ในปีนี้ทีมสำรวจได้สำรวจไกลขึ้นไปในเขตอำเภอบางคนที และได้พบกุ้งเต้นปั่นท่อสร้างท่อติดไว้กับเครื่องมือวิจัยที่ติดไว้ที่ท่าน้ำบริเวณหน้าโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ กุ้งเต้นชนิดนี้มีการปรับรยางค์ให้ดำรงชีวิตอยู่ในท่อได้ตลอดชีวิต

ทีมงานวิจัยได้ลองเลี้ยงและบันทึกพฤติกรรมในการสร้างท่อ การสืบพันธุ์และการกินอาหารพบว่ากุ้งเต้นปั่นใยจับตะกอนแขวนลอยในมวลน้ำกินเป็นอาหาร ช่วยให้น้ำในพื้นที่นั้นสะอาดขึ้น

นอกจากนี้ใยที่กุ้งเต้นปั่นท่อสร้างออกมาจากขาเดินคู่ที่ 3 และ 4 ยังมีคุณสมบัติที่เหนียวและสามารถยึดกับวัสดุใต้น้ำได้ มีรายงานการพบกุ้งเต้นปั่นท่อในพื้นที่ที่น้ำไหลค่อนข้างแรงจึงทำให้มีการปรับตัวที่น่าสนใจ

การค้นพบดังกล่าวอาจนำไปต่อยอดในแง่ของชีวลอกเลียน (Biomimic) ในการสร้างกาวที่มีความยืดหยุ่นสูงและยึดติดใต้น้ำได้ โดยได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยค้นพบกุ้งเต้นปั่นท่อเผยแพร่ลงในวารสาร Zoosystematics and Evolution เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://zse.pensoft.net/article/107974/


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top