Friday, 17 May 2024
มรดกทางวัฒนธรรม

แสง สี เสียง จัดเต็ม ชวนคนไทยเที่ยว ‘เทศกาลดอกลำดวนบาน’ หนุนการท่องเที่ยว-ชมประเพณีสี่เผ่า ‘ไทศรีสะเกษ’

ชวนคนไทย เที่ยว เทศกาลดอกลำดวนบานฯ ศรีสะเกษ ททท. ส่งเสริมการท่องเที่ยว ชมอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม 4 เผ่าไท  

(11 มี.ค.66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเชิญชวนประชาชน ร่วมงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ประจำปี 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-12 มี.ค. 2566 ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ โดยเทศกาลดอกลำดวนบานฯ เป็นการแสดงอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม ของชาว จ.ศรีสะเกษ ที่มีความหลากหลายของ 4 เผ่า ไทศรีสะเกษ ได้แก่ กูย เขมร ลาว เยอ อยู่ร่วมกันมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อคงความเป็นเอกลักษณ์ รักษามรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันเทศกาลดอกลำดวนบานฯ ได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งกิจกรรมโดดเด่นในปฏิทินที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) แนะนำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติไปเยี่ยมชมด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เทศกาลดอกลำดวนบานฯ มีกิจกรรมทั้งภาคกลางวันและภาคกลางคืน โดยกิจกรรมช่วงกลางวัน มีการแสดงรากวัฒนธรรม อาทิ บ้านจำลองของ 4 เผ่า ไทศรีสะเกษ (กูย เขมร ลาว เยอ) การแสดงที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ พิธีกรรมประเพณี และวิถีชีวิตของชุมชน ที่มีความงานและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละชนเผ่า พร้อมอาหารพื้นบ้านของแแต่ละชนเผ่า  มีการจัดจำหน่ายสินค้าโอทอป (OTOP) อาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพร ผ้าทอเบญจศรี ของใช้ เครื่องประดับ เป็นต้น กิจกรรมภาคกลางคืน ชมการแสดง เเสงสี เสียง "อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตราศรีพฤเธศวร" ตอน รอยบรรพชน ซึ่งเป็นชุดการแสดงที่มีความยิ่งใหญ่ ใช้นักแสดงร่วมกว่า 400 คน

‘ยูเนสโก’ มอบประกาศนียบัตร ‘ประเพณีสงกรานต์’ ของไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 67 นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเนสโก’ ประกาศขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์ในประเทศไทย’ เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ ยูเนสโกได้มอบประกาศนียบัตร (Certificate) เพื่อรับรองประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการให้แก่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้ สวธ.เตรียมการขับเคลื่อนกิจกรรมสงกรานต์ในประเทศไทยไปพร้อมกัน

“สงกรานต์เป็นประเพณีปีใหม่ไทยที่เฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือนเมษายนของทุกภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งได้รับการถือปฏิบัติและสืบทอดอย่างยาวนาน ประเพณีอันงดงามและมีความหมายสะท้อนให้เห็นถึงความกตัญญูของคนไทยที่มีต่อบรรพบุรุษ ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ประเพณีสงกรานต์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้เคารพนับถือ จัดขบวนแห่ของชุมชนที่แสดงถึงตำนานสงกรานต์ จัดละครพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ การละเล่น และการแสดงต่างๆ เป็นต้น

“การได้รับประกาศขึ้นทะเบียนครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งโดย ในปี 2567 จะมีจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ เป็นงานมหาสงกรานต์ คงเนื้อหาในการเผยแพร่สาระคุณค่า สร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้ตระหนักถึงความสำคัญตามขนบประเพณีของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ โดยเตรียมจัดโครงการ ‘World Songkran Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก’ ดำเนินงานผ่านเครือข่ายวัฒนธรรม 76 จังหวัดทั่วประเทศ และ 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน 2567” นายโกวิทกล่าว

อธิบดี สวธ.กล่าวต่อว่า โอกาสนี้ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนไทย ชาวต่างชาติ ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์อันทรงคุณค่าของไทยให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน และใช้เป็นพลัง Soft power ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top