Friday, 17 May 2024
มช

‘ทีมวิจัย มช.’ ค้นพบพืชดอกหอมชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อ ‘บุหงาลลิษา’ เพื่อเป็นเกียรติแก่ ‘ลิซ่า Blackpink’

(11 เม.ย. 66) ทีมวิจัยนักวิจัยสังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผศ.ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู และ น.ส.อานิสรา ดำทองดี นักศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์ และนายอับดุลรอแม บากา นักวิจัยสังกัดกลุ่มวิจัยอิสระ PDiT : Plant Diversity in Thailand พร้อมผู้ร่วมวิจัยอีกหลายคน ร่วมกันศึกษาตัวอย่างพืชดอกหอมวงศ์กระดังงา (Annonaceae) ในจังหวัดนราธิวาส

โดยบูรณาการข้อมูลสัณฐานวิทยาและวิวัฒนาการชาติพันธุ์เชิงโมเลกุลเข้าด้วยกัน พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกจำนวน 1 ชนิด คือ ‘บุหงาลลิษา’ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Friesodielsia lalisaeDamth., Baka & Chaowasku โดยตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ ลลิษา มโนบาล หรือ ‘ลิซ่า’ ศิลปินชื่อดังชาวไทยวง ‘Blackpink’ สังกัดวายจีเอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งความมุ่งมั่นของลิซ่าเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาระดับปริญญาเอกของ น.ส.อานิสรา งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยอนุกรมวิธาน และวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงาในประเทศไทย ที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Willdenowia ปีที่ 53 เมื่อปี 2566

‘เชียงใหม่’ นำร่อง!! ‘รถสองแถว EV’ พัฒนาโดย ‘มช.’ ช่วยลดมลพิษ-ประหยัดค่าใช้จ่าย หวังขยายผลทั่วประเทศ

(27 ม.ค. 67) รถเขียวเริ่มใช้งานแล้ว หลังผู้ขับรถสองแถวลองขับรถสองแถว EV ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ซึ่งโครงการนี้มาพร้อมกับรถสีเขียวทั้งคันตอบโจทย์สโลแกนการรักษ์โลก และลดมลพิษ ลดฝุ่น PM 2.5 โดยรถสองแถวไฟฟ้าคันดังกล่าว อยู่ในระหว่างการพัฒนาโดยมหาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

‘นายบริสุทธิ์ สันติวัฒนพันธ์’ คนขับรถสองแถว EV ที่เปลี่ยนจากการขับรถน้ำมันมาเป็นรถ EV เปิดเผยว่า รถสามารถใช้งานได้ดี และเป็นเรื่องที่ดีที่มีการใช้การมีรถโดยสาร EV เพราะตนได้รับรายได้เพิ่มขึ้น หลังจากไม่ต้องหมดไปกับค่าน้ำมัน โดยปกติจะเสียค่าน้ำมัน กิโลเมตรละ 3 บาท แต่การเปลี่ยนมาใช้ EV จะเหลืออยู่ที่กิโลเมตรละ 70 สตางค์

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา พรมวังขวา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้จัดการโครงการฯ รถสองแถว EV นี้ กล่าวว่า อยากต่อยอดโครงการรถสองแถว EV ให้ขยายออกไปใช้กับรถโดยสารประจำทางที่มีลักษณะเดียวกันได้

อย่างรถ ‘รถแดง’ ซึ่งเป็นรถสองแถว EV ที่คนเชียงใหม่ใช้กันมากอยู่แล้ว และควรมีโครงการนำร่องในการรถแดง EV จำนวนประมาณ 100 คัน เพื่อจะให้เห็นภาพอย่างชัดเจนในการเปลี่ยนรถสองแถวแบบน้ำมัน ไปเป็น EV เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือนในการดำเนินงานต่อไป และมีต้นทุนราว 600,000 บาทต่อคัน ซึ่งทุนที่สูงมาก จึงควรมีรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ

โดยรถสองแถว EV ที่แล้วเสร็จทั้ง 2 คัน จะสามารถวิ่งได้ไกลประมาณ 270 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งเพียงพอแล้วต่อการวิ่งรับส่งทั้งวัน โดยปกติรถสองแถวจะวิ่งอยู่ที่ระยะทาง 150 ถึง 160 กิโลเมตรต่อวัน

เชียงใหม่-มช.จัดพิธีลงนามความร่วมมือ พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดันนโยบายคาร์บอนฯ เป็นศูนย์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดึงบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น “Taisei Advanced Center of Technology, Taisei Corporation” มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดันนโยบายคาร์บอนฯ เป็นศูนย์ 

วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ Taisei Advanced Center of Technology, Taisei Corporation ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมีเป้าหมายร่วมกันพัฒนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากเครือข่ายความร่วมมือ และร่วมกันพัฒนาให้เกิดงานวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมในการยกระดับความสามารถด้านวัสดุการก่อสร้าง (Construction Material) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นำของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว นำโดย ศาสตราจารย์ 
ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. พร้อม Mr.Tsuyoshi MARUYA Executive Fellow Deputy Chief of Taisei Advanced Center of Technology และ MR.NAOHITO OHBA กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยเซอิ (ไทยแลนด์) จำกัด และคณะผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ NSP Exhibition Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. กล่าวว่า มช. มีวิสัยทัศน์ที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม อันสอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 ในเรื่องการพัฒนากลไกเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม (Innovation Mechanisms Development) ที่สามารถขับเคลื่อนและผลักดันให้มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ให้เกิดผลงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมได้ในเวลารวดเร็วขึ้น ตอบโจทย์ในเรื่องการก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Carbon Neutral University) และการสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือและยกระดับงานวิจัยให้สอดคล้องกับพันธกิจ

โดยมี อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. (STeP) และคณะวิทยาศาสตร์ มช. เป็นกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานหลักในการพัฒนางานวิจัยให้ออกสู่รั้วมหาวิทยาลัย  ควบคู่กับการแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย การพัฒนา และนวัตกรรม นั่นคือ Taisei Corporation ผู้เชี่ยวชาญและผู้นำด้านการผลิต Carbon Free Concrete เพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากร องค์ความรู้ทางปัญญาร่วมกัน และผลักดันให้เกิดการต่อยอดเทคโนโลยีนวัตกรรมซึ่งกันและกัน อีกทั้งพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและการสร้างคุณค่าใหม่ (New Value) ด้วยการจัดหาโซลูชั่นที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาสังคมเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพลังงาน “อันจะก้าวสู่หมุดหมายเดียวกัน คือ การทำให้ความร่วมมือนี้สำเร็จเกิดเป็นการวิจัยเป็นสากลที่มุ่งเน้นการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกในการแสวงหาการพัฒนาที่ยั่งยืน”

และด้วยความร่วมมือนี้ เชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายและปลูกฝังความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป ผ่านการผสานองค์ความรู้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตและนำงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเชื่อมโยงการวิจัยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

Mr.Tsuyoshi MARUYA Executive Fellow Deputy Chief of Taisei Advanced Center of Technology กล่าวว่า “Taisei Corporation” มีแนวทางอย่างชัดเจนในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยการจับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน ผ่านการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและองค์ความรู้ทางปัญญาเพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม และการส่งเสริมอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งความร่วมมือของเราในวันนี้ จะกำเนิดเป็นผลสำเร็จของงานวิจัยระดับสากลจากผสานองค์ความรู้ของทั้งสองฝ่ายเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักของจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและการผลิตนวัตกรรมสมัยใหม่ อีกทั้งการคิดค้นโซลูชั่นที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังที่จะมีส่วน ในการลดมลภาวะการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่กำลังดำเนินการร่วมกันในอนาคต พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตและผลักดันสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ที่จับต้องได้ เพื่อเชื่อมโยงการวิจัยและการใช้งานจริงได้อย่างราบรื่น

Mr.Haruka OZAWA เลขานุการโทประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวถึงความยินดีและชื่นชมในวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลโดยให้ความสำคัญกับผู้คนและการสร้างความยั่งยืน ของทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Taisei Corporation จากการทำข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอีกขั้นของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อมีส่วนช่วยต่อสังคมในการลดการปล่อยคาร์บอน และยิ่งมากไปกว่านั้น ยังถือเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและไทยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผ่านขอบเขตการทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมระดับชาติต่อไป 

ด้าน รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ในฐานะคณะดำเนินงานหลัก เผยถึง การดำเนินงานจากความร่วมมือในช่วงเวลาที่ผ่านมาของการวิจัยและพัฒนาคอนกรีตชนิด Carbon Free อย่างต่อเนื่อง โดยการใช้คอนกรีตที่ผลิตจากวัสดุเหลือทิ้งหรือผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งคอนกรีตชนิดนี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างการผลิตด้วยการพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านงานวิจัยทั้งสองฝ่าย และเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารและคณาจารย์จาก มช. ได้เข้าศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ พร้อมหารือแนวทางการดำเนินงานอื่น ๆ ในอนาคต ณ Taisei Advanced Center of Technology, Taisei Corporation เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นการจุดประกายความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ เพื่อเน้นย้ำการดำเนินงานร่วมกันอย่างไม่หยุดยั้งตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาและก้าวสู่เป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง คือ การสนับสนุน Carbon Net Zero ของทั้งประเทศไทยและระดับนานาชาติ ผ่านการวิจัยขั้นสูงด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่และค้นหาโซลูชั่นในการพัฒนาคอนกรีตชนิด Carbon Free จากวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการก่อสร้างต่อไป 

ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของเจตนารมณ์อันแน่วแน่ทั้งสองฝ่ายในวันนี้ จะเกิดเป็นสะพานเชื่อมต่อการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะสามารถผลักดันงานวิจัยให้เกิดการต่อยอดและถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงมากขึ้นและยังเป็นการเน้นย้ำให้กับหลายๆ หน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ถึงความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม
ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

นภาพร/เชียงใหม่

'มช.' ร่วมมือ 'เจริญชัย' ประสบความสำเร็จ วิจัยหม้อแปลง IoT และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน Solar กับ Energy Storage

ด้วยโปรแกรม Sustainable Green Energy Management System ของคนไทยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA ภายใต้โครงการ 'Low Carbon Transformer ระบบจัดการหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาด อย่างมั่นคง Net Zero, Near Zero, Peak Demand และ Demand Response'

ด้วยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับบริษัท เจริญชัย หม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ได้ร่วมวิจัยและได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ให้ดำเนินงานวิจัยหม้อแปลง IoT และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน Solar กับ Energy Storage ด้วยโปรแกรม Sustainable Green Energy Management System ภายใต้โครงการ “Low Carbon Transformer ระบบจัดการหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อรองรับพลังงานสะอาดอย่างมั่นคง Net Zero, Near Zero, Peak Demand และ Demand Response” ซึ่งจากการดำเนินงานพบว่าหม้อแปลงที่ใช้ในการดำเนินโครงการ ที่กล่าวในข้างต้น ตอบโจทย์ ด้านการประหยัดพลังงาน ในภาคอุตสาหกรรม Smart Factory, Smart Building ในด้าน Net Zero & Near Zero, Peak Demand และ Demand Response และการประหยัดพลังงาน โดยสามารถลดการใช้พลังงาน ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และมีระยะเวลาคืนทุนภายในเวลา 2 – 5  ปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้านการประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สังคม ประชาชนและผู้ประกอบการ ด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้า 

นายประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด กล่าวขอขอบคุณ ศ.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ. ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ.ดร. สิริชัย คุณภาพดีเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์, ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี และดร. ณัฐวุฒิ จารุวสุพันธุ์  ที่ได้ร่วมวิจัยในครั้งนี้ ทำให้การวิจัยในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ หม้อแปลง Low Carbon และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน Solar กับ Energy Storage ด้วยโปรแกรม Sustainable Green Energy Management System เพิ่มอายุการใช้งานให้กับ Energy Storage มากถึง 20 ปี ทำให้ระบบไฟฟ้าเกิดความเสถียรภาพ เกิดความมั่นคง Net Zero, Near Zero, Peak Demand และ Demand Response ตอบโจทย์การประหยัดพลังงาน ของภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ อาคารสถานที่ ที่สามารถลดการใช้พลังงาน ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และลดคาร์บอน เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สังคม และประชาชน ด้านความปลอดภัย, ด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้า 

เชียงใหม่-รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทย์ มช.เดินหน้าสร้าง“อาคารสุจิณฺโณ ปลอดฝุ่น PM2.5” นำร่องแห่งแรกในภาคเหนือ

ฝุ่น PM2.5 ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นประจำทุกปี คณะแพทยศาสตร์ มช. เล็งเห็นความสำคัญ และหาแนวทางแก้ไขปัญหา นำร่องสร้างอาคารสุจิณฺโณ ปลอดฝุ่น PM 2.5 ยกระดับสุขภาวะของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา และบุคลากรทางการแพทย์ภายในอาคารสุจิณฺโณ

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า สถานการณ์วิกฤตหมอกควันมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 10 ไมครอน(PM10) และฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นกับจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือมาอย่างยาวนาน โดยขณะนี้เกินค่ามาตรฐานอย่างหนักในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-15 มี.ค. 2567) ด้วยผลกระทบจาก PM2.5 แล้วทั้งสิ้น จำนวน 30,339 ราย มากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงเดียวกันของปีก่อน1 เท่าตัว (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2566 จำนวนผู้ป่วย 12,671 คน) ส่วนใหญ่พบมีอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ โรคหืด เลือดกำเดาไหล โรคถุงลมโป่งพอง ตามลำดับ

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยต่อว่า “อาคารสุจิณฺโณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีหอพักผู้ป่วยแบบปรับอากาศและไม่ปรับอากาศ ซึ่งหอพักผู้ป่วยแบบไม่ปรับอากาศ ปัจจุบันมีการเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ ดังนั้นหากฝุ่น PM2.5 เข้ามายังอาคารหอผู้ป่วยสุจิณฺโณ จะส่งผลกระทบต่อสภาวะทางเดินหายใจของผู้ป่วยได้ จึงได้มีแนวคิดในการป้องกันปัญหา PM 2.5 ของอาคารสุจิณฺโณ 

โดยการสร้างความดันภายในอาคาร ให้สูงกว่าภายนอกบริเวณอาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นเล็ดลอดเข้ามาในอาคารสุจิณฺโณ ลดพื้นที่ช่องเปิดให้เหลือน้อยที่สุด และทำการเติมอากาศสะอาดเข้ามาภายในบริเวณโถงทางเดิน ซึ่งอากาศที่เติมเข้ามา จะถูกกรองด้วยระบบกรองอากาศ โดยใช้ Filter 3 ชั้น ได้แก่ แผ่นกรองอากาศชนิดชั้นต้น (Pre – Filter), แผ่นกรองอากาศชั้นกลาง (Secondary -filter) และแผ่นกรองอากาศขั้นสูง (HEPA -filter) ที่มีความสามารถในการกรองฝุ่นได้ถึงระดับ PM2.5
 
นอกจากนี้ พื้นที่ช่องเปิดและหน้าต่างสำหรับระบายอากาศที่เหลือ ได้ทำการติดตั้งม่านกันฝุ่น PM2.5 โดยใช้ม่านกันฝุ่นชนิดนาโนไฟเบอร์ในห้องผู้ป่วยที่ไม่มีการปรับอากาศ ทั้งนี้ในอาคารสุจิณฺโณ ได้มีการติดตั้งเซนเซอร์ วัดปริมาณฝุ่น PM2.5 เพื่อติดตามปริมาณฝุ่น ภายในอาคาร และสามารถรายงานผลได้ทุกช่วงเวลา แบบ Real time”

คณะแพทยศาสตร์ มช. จึงได้จัดแถลงข่าว“อาคารสุจิณฺโณปลอดฝุ่น ลดผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM 2.5”ขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567 เวลา 12.15 น. โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานและร่วมแถลงในประเด็น สถานการณ์และมาตรการการแก้ปัญหา PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช.แถลงประเด็น นโยบายคณะแพทยศาสตร์ มช. ในการสร้างอาคารสุจิณฺโณ ให้เป็นอาคารนำร่อง ปลอดฝุ่นPM 2.5 และการป้องกันดูแลสุขภาพของประชาชน และรศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แถลงถึงความคืบหน้าอาคารสุจิณฺโณ ปลอดฝุ่น PM 2.5 ณ ชั้น 1 Grand Hall ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต

นภาพร/เชียงใหม่

เชียงใหม่-"มช. เชื่อมพลัง โรงพยาบาลลำพูน บูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรม ต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ โดยมี รากฐากมาจากงานวิจัยในรั้วมหาวิทยาลัย"

วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2567 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดย อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับโรงพยาบาลประจำจังหวัดอย่างโรงพยาบาลลำพูน เพื่อร่วมกันสร้างความร่วมมือการวิจัยและพัฒนา โดยมุ่งนำองค์ความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยี งานวิจัยและนวัตกรรมภายใน มช. ไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ผ่านการถ่ายทอดและบูรณาการความรู้สู่การใช้งานจริง โดยมี รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เป็นผู้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และ แพทย์หญิงภาวิณี เอี่ยมจันทน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำพูน กล่าวรายงาน จากนั้น จึงเป็นการร่วมลงนามฯ ของทั้งสองฝ่ายร่วมกัน พร้อมกันนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เกียรติกล่าวแสดงความยินดี และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามดังกล่าว อีกทั้งผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ณ NSP Exhibition Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)

ผศ.ดร.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดี มช. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งเน้นการเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยี งานวิจัยและนวัตกรรมของ มช. สู่การประยุกต์ใช้ในระบบการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ โดยหวังให้เกิดการบูรณาการและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทรัพยากรระหว่างมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นรากฐานในการการสร้างเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ อันจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อวงการทางการแพทย์และยกระดับคุณภาพบริการสาธารณสุข ตลอดจนขยายโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยแก่ประชาชนทั่วไปได้อย่างกว้างขวางต่อไป

ด้าน แพทย์หญิงภาวิณี เอี่ยมจันทน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำพูน กล่าวว่า โรงพยาบาลลำพูนให้ความสำคัญกับสิทธิและการเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาของประชาชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อหาโซลูชั่นที่จะช่วยยกระดับระบบการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนที่ครบวงจร อันสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาล คือ "โรงพยาบาลคุณภาพคู่ใจประชาชน" ซึ่งการสร้างความร่วมมือกับมช. ในครั้งนี้ ได้มีการนำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีรากฐานมาจากการวิจัยและการศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการของโรงพยาบาล โดยมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งการประยุกต์ใช้ในการให้บริการ อาทิ การนำนวัตกรรมพลาสมาอากาศรักษาแผลเรื้อรังมาทดลองใช้ โดยเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาแผล และช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ซึ่งการนำนวัตกรรมดังกล่าว มาใช้จะช่วยปรับปรุงการบริการของโรงพยาบาล นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังคาดว่าในอนาคตจะสามารถขยายผลการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมอื่น ๆ เพื่อพัฒนาการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จังหวัดลำพูน ได้เข้าถึงเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น

รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เผยว่า การลงนามความร่วมมือกับโรงพยาบาลลำพูนในครั้งนี้ สะท้อนถึงนโยบายของ มช. ในการผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย เครื่องมือวิจัย องค์ความรู้ และงานวิจัยต่าง ๆ ให้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในวงกว้าง ไม่เพียงแค่ในระดับการศึกษา แต่ครอบคลุมถึงการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ ทั้งพัฒนาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ โดยปัจจุบันได้มีการนำร่องด้วยการนำนวัตกรรมพลาสมาอากาศรักษาแผลเรื้อรัง ผลงงานวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มช. ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการช่วยทำลายเชื้อแบคทีเรียดื้อยา และกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ อีกทั้งช่วยลดระยะเวลาในการรักษาแผล ผู้ป่วยกลุ่มเรื้อรังและผู้ป่วยติดเตียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยสามารถช่วยร่นระยะเวลาของแผลปิดได้เร็วขึ้นอย่างน้อย 50 วันเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะเวลาแผลปิดด้วยวิธีการโดยทั่วไป ที่ทดลองการใช้งานในโรงพยาบาลลำพูนอีกด้วย

นภาพร/เชียงใหม่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top