Monday, 17 June 2024
ภูมิภาค

'ก้าวไกล' ชู แคมเปญ 'ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น' ยัน!! ไม่นำไปสู่การยกเลิก 'กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน'

(7 ธ.ค. 65) แถลงการณ์พรรคก้าวไกล ต่อกรณีที่มีการพยายามโจมตีว่าการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ยืนยันไม่เป็นความจริงที่ผ่านมา คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์และนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับประชาชนที่เข้าชื่อจำนวน 80,772 คน ภายใต้ชื่อแคมเปญ 'ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น'

หัวใจสำคัญของข้อเสนอคือการกระจายอำนาจให้กับประชาชน ให้ทุกจังหวัดทุกพื้นที่มีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการกำหนดอนาคตของตนเองและยกระดับการพัฒนาของพื้นที่ ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ตัวแทนของประชาชนผู้เสนอร่าง ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างฯ โดยสมาชิกรัฐสภาจากหลายฝ่ายได้แสดงความเห็นในเชิงสนับสนันกับหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในฐานะกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับบริการสาธารณะ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ แม้อาจมีข้อถกเถียงที่แตกต่างกันในเชิงรายละเอียด

ทางเราได้พยายามชี้แจงและตอบทุกข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาและประชาชนทั่วไป แต่เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าบางท่านอาจยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อสถานะและบทบาทของข้าราชการส่วนภูมิภาค และ เจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องที่ (เช่น กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน) หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเฉพาะความกังวลที่ถูกสะท้อนในแถลงการณ์ของ ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2/2565 (6 ธันวาคม 2565) ทางเราจึงขอชี้แจงเพื่อความชัดเจนดังกล่าว...

1. ส่วนภูมิภาค และ ส่วนท้องที่ มีลักษณะที่แตกต่างกัน - ส่วนภูมิภาคประกอบไปด้วยจังหวัดและอำเภอ (อ้างอิง พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พุทธศักราช 2534 มาตรา 51) ซึ่งข้าราชการมาจากการแต่งตั้ง ในขณะที่ส่วนท้องถิ่นประกอบไปด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มาจากการเลือก และถูกคาดหวังให้ประสานงานระหว่างราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อ้างอิง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อเสนอใด ๆ เกี่ยวกับราชการส่วนท้องที่ ดังนั้น จึงไม่นำไปสู่การยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านแต่อย่างใด

ไทยคว้าเจ้าภาพ ‘บิมสเทค รีทรีต’ ดันสร้างกลไกรับมือวิกฤต  หนุนความร่วมมือด้าน ‘การเกษตร-วัฒนธรรม-การทูต’ ให้ภูมิภาค

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 66 กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ข่าวว่า ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการ (BIMSTEC Retreat) ที่กรุงเทพ โดยประเทศสมาชิกบิมสเทคทั้ง 7 ประเทศ ได้แสดงความมุ่งมั่นอีกครั้งหนึ่งที่จะเสริมสร้างให้บิมสเทคเป็นประชาคมที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น

ในโอกาสนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมดังกล่าวและประเทศสมาชิกที่เข้าร่วม ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล และศรีลังกา

รัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคได้ชื่นชมว่าการประชุมครั้งนี้เป็นประโยชน์ และเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนความเห็นต่าง ๆ อย่างเป็นกันเอง รวมทั้งเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่จะส่งเสริมให้กรอบการดำเนินงานและกลไกความร่วมมือต่าง ๆ ของบิมสเทคมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อความเจริญเติบโตและความมั่งคั่งของภูมิภาค นอกจากนี้ ได้มีการหารือประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกันด้วย

ประเทศสมาชิกเห็นพ้องร่วมกันถึงความสำคัญของการสร้างกลไกในการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เพื่อประสานงานในภาวะฉุกเฉินตามสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และได้หารือในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข พลังงาน และการเงิน รวมถึงความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ได้มีการพิจารณาที่จะจัดตั้งระบบการชำระเงินดิจิทัลระหว่างประเทศสมาชิกบิมสเทค รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ

รัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทค ได้ย้ำถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการประสานงาน ในประเด็นระดับโลกและประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหประชาชาติ ประกอบด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าบิมสเทค เทคโนโลยีด้านการเกษตร ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนเยาวชน และการฝึกอบรมด้านการทูต

รัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทครู้สึกยินดี เมื่อได้รับทราบถึงความคืบหน้าของการจัดตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต เพื่อกำหนดแผนดำเนินการขององค์กร บนพื้นฐานของผลประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศสมาชิกและประชาชน

รัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคเห็นพ้องที่จะจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เป็นประจำ โดยหากเป็นไปได้ จะจัดในช่วงไตรมาสแรกของทุกปี ทั้งนี้ อินเดียได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีบิมสเทคครั้งต่อไปในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติในเดือนกันยายน 2566

ทั้งนี้ ไทยเป็นประธานบิมสเทคหรือกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) วาระปี 2565 – 2566 ภายใต้แนวคิดการเสริมสร้างบิมสเทคสู่การเป็นภูมิภาคที่มั่งคั่ง (Prosperous) ยั่งยืน ฟื้นคืน (Resilient) และเปิดกว้าง (Open) หรือ ‘PRO BIMSTEC’ ภายในปี ค.ศ. 2030


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top