Sunday, 19 May 2024
ภาวะโลกเดือด

'สว.วีระศักดิ์' แบ่งปัน!! บรรยายพิเศษ 'ภาวะโลกเดือด' 'ปลูกฝังเยาวชน-แลกเปลี่ยน' ปัจจัยบวก-ลบ กระทบสิ่งแวดล้อม

เมื่อไม่นานมานี้ คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเรื่อง ‘ภาวะโลกเดือด’ ให้กับกลุ่มนักเรียนและเยาวชน ค่ายเยาวชนผู้นำโรตารี่ ภาค 3350 ปี 2566 - 2567 Create Hope for the Future (สรรค์สร้างความหวังให้โลกอนาคต ณ บ้านผู้หว่าน (Pastoral Training Center : ศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาล) โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 

เยาวชนที่เข้าร่วมในค่ายในครั้งนี้ประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 200 คนจาก 140 โรงเรียนในเขตภาคกลาง ร่วมกับนักเรียนแลกเปลี่ยนโรตารี่ต่างประเทศ จำนวน 28 คน 

กิจกรรมค่ายอบรมลักษณะนี้ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้เด็กเยาวชนจากหลากระดับชั้นการศึกษา และหลากพื้นฐาน ให้มาร่วมกิจกรรมผ่านกลุ่มวิทยากรและพี่เลี้ยง (รุ่นพี่อาสาสมัคร) ที่จะช่วยสร้างพลังการแบ่งปันประสบการณ์ การคิดบวก การเป็นผู้ให้ การรู้จักบริหารเวลา อารมณ์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายในตนเองและที่เกิดจากปัจจัยแวดล้อมภายนอก สถานการณ์รอบข้างที่มีความหลากหลายและแตกต่าง

'ดร.ก้องเกียรติ' เตือน!! อีก 20 ปี ภาวะโลกเดือด อาจพามนุษย์ล้มตายครั้งใหญ่ ชู!! คาร์บอนเครดิต ทางออกรักษ์โลกที่มีเงินมาช่วยดึงดูดทุกภาคส่วน

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ 'ดร.ก้องเกียรติ สุริเย' ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต และประธานกรรมการ บริษัท จีอาร์ดี เทค จำกัด ในประเด็นปัญหาโลกร้อน (Global Warming) สู่ปัญหาโลกเดือด (Global Boiling) ในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 6 เม.ย.67 โดยมีเนื้อหาดังนี้ ว่า...

ปัญหาทุกวันนี้เกิดจากก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ซึ่งมีหน้าที่สะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ เพื่อควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้ร้อนจัดหรือเย็นจัด หรือเปรียบเสมือนเป็นผ้าห่มคลุมโลกของเราอยู่นั่นเอง แต่เนื่องจากมนุษย์ได้ดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการปล่อยควัน ปล่อยก๊าซพิษต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมเรื่อยมา เช่น ควันไอเสียจากรถยนต์ มลพิษที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ก๊าซเรือนกระจกที่เปรียบเสมือนผ้าห่มคลุมโลกมีความหนามาก จนมาแตะโลก จึงทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็เกิดปรากฏการณ์ Monster Asian Heatwave อากาศร้อนจัดอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อประเทศในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะจังหวัดตากของประเทศไทย

นอกจากนี้ โลกร้อนยังส่งผลกระทบให้เกิดปัญหา PM 2.5 อีกด้วย เนื่องจากเมื่อสภาพอากาศร้อนจัด ฝุ่น PM 2.5 จะลอยตัวขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ แต่เมื่อกระทบกับก๊าซเรือนกระจกที่ปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น ฝุ่นก็ไม่สามารถลอยขึ้นไปได้ เมื่อฝุ่นนิ่งไม่เคลื่อนไหวจึงทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 เมื่อหายใจเข้าไปอาจส่งผลอันตรายและเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง 

ส่วนสำคัญของปัญหาเหล่านี้ มาจากในปัจจุบันมนุษย์มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีล้ำหน้าไปมาก แต่ก็อยากรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งมันสวนทาง ก็เลยเกิดกฎเกณฑ์ใหม่อย่าง คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) และคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ขึ้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการดำเนินกิจกรรมหรือการกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์ เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน 

ปัจจุบันในระดับโลกให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยมีการจัดประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ซึ่งมีเป้าหมายใน ค.ศ. 2030 ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องช่วยกันลดความหนาของก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 45%-50% ด้วยการหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือปลูกต้นไม้เพื่อดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) ภายใต้คำเตือนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่หากประเทศต่าง ๆ ยังนิ่งเฉย ภาวะโลกร้อนนี้ ก็จะทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้นได้อีกด้วย

เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้ทุกคนไม่คิดจะทำอะไรเลย ปัญหาโลกร้อนจะเป็นอย่างไร? ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า โลกจะเย็นลงและอาจจะเกิดหายนะขึ้นได้ เช่น น้ำท่วมโลก ปรากฏการณ์พายุรุนแรง ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มมากขึ้น จนทำให้มนุษย์ล้มตายจำนวนมาก คล้าย ๆ กับทฤษฎีการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ก็เป็นได้ 

ทั้งนี้ ดร.ก้องเกียรติ ได้แนะอีกด้วยว่า หลักการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในตอนนี้ คือ การนำปัญหานี้มาเป็นธุรกิจ สร้างธุรกิจรักษ์โลก ที่ได้เงิน หรือก็คือการใช้กลไก คาร์บอนเครดิต หมายถึง ถ้าเราช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือลดความหนาของผ้าห่มคลุมโลกได้เท่าไหร่ แล้วนำปริมาณนั้นมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ สร้างมูลค่าเพิ่มได้ ด้วยการทำกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีองค์กรกลางในการตรวจสอบรับรอง จึงจะสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ 

สุดท้าย ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า การรักษ์โลกต่อจากนี้ อาจไม่ใช่การทำ CSR (Corporate Social Responsibility) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างให้เป็นธุรกิจได้จริงเสียที


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top