Monday, 13 May 2024
พลังงานหมุนเวียน

‘ซาอุฯ’ หวังร่วมมือกับ ‘จีน’ ไม่ขอเป็นคู่แข่ง ลุยลงทุน 'ด้านการค้า-พลังงานหมุนเวียน'

📌 (12 มิ.ย. 66) เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย เปิดเผยว่า ซาอุดีอาระเบียต้องการความร่วมมือกับจีนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ในด้านการลงทุนทางการค้าและการไหลเวียนของพลังงาน แทนที่จะแข่งขันกับจีน โดยรับรู้ถึงความเป็นจริงในปัจจุบันว่าขณะนี้จีนกำลังนำอยู่ และจะยังคงเป็นผู้นำต่อไป จึงไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับจีน โดยได้กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ระหว่างการประชุมธุรกิจอาหรับ-จีน เมื่อวันอาทิตย์ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา

เจ้าชายบิน ซัลมาน ได้กล่าวเสริมว่า การทำงานกับจีนนั้นมีคุณค่า เพราะจีนเป็นผู้นำในการหาโรงงานผู้ผลิตที่เหมาะสม โดยเฉพาะในด้านพลังงานหมุนเวียน และจะไม่กลับไปเล่นเกมที่มีฝ่ายใดเป็นผู้ได้หรือเสียอีก

เมื่อต่อข้อคำถาม ทำไมซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกโอเปกจึงได้มุ่งความสนใจไปที่จีน

เจ้าชายบิน ซัลมาน เชื่อว่าอุปสงค์ด้านน้ำมันของจีนยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นเรื่องสำคัญที่ซาอุดีอาระเบียจะต้องคว้าโอกาสนี้ไว้

ทั้งนี้ จีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก และซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันให้จีนมากที่สุดในเดือนเมษายน แม้ว่าน้ำมันรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรจะราคาถูกกว่าก็ตาม

และในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทซาอุดี อารามโค ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ได้ประกาศข้อตกลงโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 2 ฉบับ ซึ่งจะส่งออกน้ำมัน 690,000 บาร์เรลต่อวัน ให้กับบริษัทหร่งเซิง ปิโตรเคมิคอล (Rongsheng Petrochemical) และบริษัทเจ้อเจียง ปิโตรเคมิคอล (Zhejiang Petrochemical) โดยข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2565 ที่ผ่านมา

นี่ไม่ได้หมายความว่าซาอุฯ จะไม่ร่วมมือกับประเทศอื่น ยังมีประเทศกลุ่มประเทศอื่นที่ซาอุดีอาระเบียมีความสัมพันธ์ทางการค้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐ และลาตินอเมริกา

อย่างไรก็ตาม การประชุมในกรุงริยาดนั้น จัดขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทูตของจีนและซาอุดีอาระเบียที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกันจีนและซาอุดีอาระเบียมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับชาติตะวันตก
 

‘กกพ.’ ยัน!! เชื้อเพลิงก๊าซฯ ยังสำคัญช่วงเปลี่ยนผ่าน ในจังหวะพลังงานหมุนเวียนยังพึ่งพาไม่ได้ 100%

5 ก.พ. 67) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงก๊าซในระบบการผลิตไฟฟ้าหลักยังมีความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อรองรับความมั่นคงและความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถพึ่งพาได้ 100%  

แม้ภาคนโยบายจะวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าของไทยอย่างต่อเนื่องก็ตามในมิติด้านสังคมมองว่า ประเทศไทยยังมีนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าอัตราเดียวกันทุกพื้นที่เพื่อกระจายความเจริญ มีนโยบายที่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มีนโบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสภาวะวิกฤตพลังงาน และมีนโยบายไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะเพื่อความปลอดภัยประชากรโดยไม่คิดค่าไฟฟ้า

ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ใช้ไฟฟ้าเป็นกลไกสนับสนุนสังคมให้มีการใช้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน การวางแผนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว (Energy Transition) จะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางเทคโนโลยีประกอบด้วย เช่น การประยุกต์ใช้ไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) การพัฒนาการของระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่รวดเร็ว (Disruptive Technology) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ทันเวลา จะสามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ลดราคาพลังงาน และสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม ตรงเวลา เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน เกิดการพัฒนาร่วมกันที่สมดุลและยั่งยืน

"อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าพลังงานสีเขียวสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากระบบได้ในราคาที่เป็นธรรมและไม่เอาเปรียบผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิม"

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า ความท้าทายบนกระแสความเปลี่ยนแปลงของภาคพลังงานต่อการกำกับดูแลเพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ และการพัฒนาภาคพลังงานให้เกิดความยั่งยืนจะมีทั้งหมด 4 ด้าน ประกอบด้วย 

-การกำกับดูแลเพื่อรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ เช่น พลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บคาร์บอนในประเทศ

-การบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสามารถรองรับแนวโน้มพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้มา กที่สุดในราคาที่เหมาะสม

-การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพและความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ภาคพลังงานไทยมีความได้เปรียบซึ่งสามารถดึงเอาศักยภาพและความได้เปรียบเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ ศักยภาพในเชิงที่ตั้งที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้และต่อเนื่องจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ภูมิประเทศที่มีพรมแดนเชื่อมติดกับ สปป.ลาว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดสามารถเชื่อมต่อและรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก สปป.ลาว ได้เป็นจำนวนมาก และการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และแหล่งอื่นๆ รวมทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศให้เสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกันก็สามารถช่วยเสริมการให้บริการไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ สถานการณ์รองรับความผันผวนพลังงานและยังสามารถพัฒนาให้เป็นหลุมกักเก็บคาร์บอนได้ด้วย 

-การเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานโดยมุ่งให้ผลประโยชน์เกิดกับผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมผู้ใช้พลังงานและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและใช้พลังงานสะอาดได้ในระดับราคาที่เหมาะสม

สำหรับความท้าทายในการกำกับดูแลกิจการพลังงานในระยะต่อไป คือการสร้างความมั่นคงและความมีเสถียรภาพทางด้านพลังงานที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน สามารถบรรลุเป้าหมายทำให้ภาคพลังงานรับใช้ประชาชนผู้ใช้พลังงานด้วยการพัฒนาสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงพลังงานสะอาดของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ 

และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Energy Transition) โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ขณะนี้ประชากรโลกให้ความสำคัญกับสภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นภัยคุกคามหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น จึงร่วมกันตั้งเป้าหมายที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ประเทศไทยมีเป้าหมายการเข้าสู่สังคม Carbon Neutral ในปี 2050 และ เข้าสู่สังคม Net Zero Emission ในปี 2065 เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังเริ่มมีมาตรการหรือกลไกเชิงบังคับ (CBAM) เพื่อให้ทุกประเทศร่วมกันใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดสภาวะโลกร้อนให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงนโยบายการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้สามารถใช้พลังงานสะอาดที่สะดวกในราคาที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันในตลาดโลกตามกติกาสากล จะต้องเป็นการเปลี่ยนผ่านที่มีรูปแบบให้มีการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพและไม่กระทบต่อความมั่นคงในการให้บริการ ต้องมีรูปแบบการเปลี่ยนผ่านที่ยังคงสามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้สามารถดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานในสังคม และยังคงมีการให้บริการสาธารณะในระดับที่เพียงพอและเกิดความปลอดภัยในสังคมต่อไป

‘กสิกรไทย-อินโนพาวเวอร์’ เตรียมเปิดแพลตฟอร์ม REC  หนุนรายย่อยสร้างรายได้จากการใช้ ‘โซลาร์รูฟท็อป’

‘ธนาคารกสิกรไทย’ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับ ‘อินโนพาวเวอร์’ ผู้บุกเบิกนวัตกรรมด้านพลังงาน เปิดตัวแพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) สำหรับองค์กรและประชาชนรายย่อยครั้งแรกในประเทศไทย เตรียมเปิดแพลตฟอร์มให้บริการในไตรมาส 2 ปี 67 ช่วยให้ลูกค้ารายย่อยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสามารถขอและขายใบรับรอง REC ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย และส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนในประเทศ

(11 มี.ค. 67) ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมุ่งมั่นสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการใช้พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้ออกผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสนับสนุนหลากหลายรูปแบบภายใต้แนวคิด Go Green Together 

โดยความร่วมมือกับ บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ในครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดระบบนิเวศสีเขียวที่ยั่งยืน (Green Ecosystem) ผ่านการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดในภาคประชาชน ถือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะมีช่องทางการให้บริการที่ง่ายและสะดวกในการขึ้นทะเบียน REC และทำการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนผ่านบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด จากที่ผ่านมาจะเป็นการขึ้นทะเบียนให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนอีกด้วย 

โดยคาดว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยจุดกระแสให้ประชาชนทั่วไปหันมาผลิตและใช้พลังงานสะอาดผ่านการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ให้สำเร็จ

ทั้งนี้ ธนาคารได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลในการพัฒนาบริการต่าง ๆ ให้กับโครงการฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ 

1.) ให้บริการยืนยันตัวตนและนำส่งข้อมูลประกอบการขึ้นทะเบียน REC
2.) ออกแบบ UX/UI และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสาระสนเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟสมัครใช้บริการขึ้นทะเบียน REC 
3.) ให้บริการ Cash Management ซึ่งเป็นการพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่เชื่อมต่อระหว่างธนาคาร อินโนพาวเวอร์ และลูกค้าที่ขาย REC ให้มีรูปแบบการชำระเงินที่เหมาะสม ปลอดภัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้รายย่อย และสร้างประสบการณ์ที่ดีในการรับ-จ่ายเงิน

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “อินโนพาวเวอร์ เป็นผู้ให้บริการจัดหาและซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ครบวงจรอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ให้บริการกับองค์กรขนาดใหญ่ แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทฯ ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยเข้าไปช่วยรวบรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าระดับรายบุคคลและองค์กรรายย่อยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดกำลังการผลิตไม่ถึง 500 กิโลวัตต์ โดยผู้ผลิตเหล่านี้มีเป็นจำนวนมากและตลาดโซลาร์รูฟท็อปมีอัตราการเติบโตสูงถึงปีละ 26% บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนา REC Aggregator Platform ผ่านการรวบรวมและจัดเตรียมข้อมูลการขึ้นทะเบียน REC เพื่อช่วยผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยสามารถยื่นขอใบรับรอง REC ได้สะดวกขึ้น และอำนวยความสะดวกในการนำ REC ที่ออกและได้รับการรับรองไปจำหน่ายแก่ผู้รับซื้อ 

โดยนอกจากจะช่วยให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถขาย REC เป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่งแล้ว แพลตฟอร์มนี้ยังช่วยกระตุ้นให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในตลาดเติบโตยิ่งขึ้น และยังช่วยให้องค์กรและประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) อย่างเป็นรูปธรรม

ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) คือใบรับรองสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่สามารถซื้อขายได้ เพื่อยืนยันที่แหล่งผลิตว่ามาจากพลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์, น้ำ และลม เป็นต้น การซื้อขายใบรับรองมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดย REC สามารถนำไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ในกิจกรรมที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า (Scope 2: Indirect Emission) 

‘สนพ.’ เผยการปล่อยก๊าซ CO2 ภาคพลังงานของไทยปี 2566 น่าปลื้ม!! ลดลง 2.4% จากปีก่อน ผลจากการใช้พลังงานสะอาดทดแทน

(21 มี.ค. 67) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน ปี 2566 พบว่า การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงาน อยู่ที่ระดับ 243.6 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง อุปสงค์ในตลาดโลกมีความต้องการสินค้าลดลง ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกชะลอตัวทำให้การใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมลดลง ซึ่งสอดคล้องกับการใช้พลังงานของประเทศไทยที่ลดลงเล็กน้อย 

สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายชนิดเชื้อเพลิงในปี 2566 พบว่า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 243.6 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 2.4 โดยการปล่อยก๊าซ CO2 จากน้ำมันสำเร็จรูปมีสัดส่วนการปล่อยสูงที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 43 รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วนร้อยละ 33 และ 24 ตามลำดับ 

ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และน้ำมันสำเร็จรูป ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 15.0 และ 1.1 ตามลำดับ ในขณะที่การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ในปี 2566 ที่ลดลง ในขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายภาคเศรษฐกิจในปี 2566 พบว่า  มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 243.6 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 2.4 โดยภาคการขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 81.6 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 95.2 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 9.7 ภาคการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 89.6 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้แก่ ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ มาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 รวม 13.2 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 3.5

“หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานเฉลี่ย อยู่ที่ 2.05 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ภูมิภาคเอเชีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ซึ่งอยู่ที่ 2.27 / 2.28 / 2.13 และ 2.85 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ตามลำดับ 

ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อย ก๊าซ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซ CO2 ตามเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้” นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top