Saturday, 18 May 2024
พนักงานออฟฟิศ

‘มาร์ช จุฑาวุฒิ’ ลองใช้ชีวิต ตามค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ก่อนพบสัจธรรม!! ‘เงินเท่านี้ไม่พอใช้-ไม่เหลือเก็บออม’

(18 ก.ค. 66) เป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์ที่เพิ่งปล่อยออกมา แต่คนเข้าดูทะลุพุ่งสูงไปกว่า 3 แสนครั้งแล้ว สำหรับคลิปใหม่บนช่องยูทูบ มีนาคม ของพระเอกหนุ่ม ‘มาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล’ โดยตั้งชื่อคลิปเอาไว้ว่าค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทจะพอใช้ไหม ถ้าต้องใช้ชีวิตแบบพนักงานออฟฟิศ 1 วัน | MARCHU EP.107

ล่าสุด หนุ่มมาร์ช ได้ปล่อยคอนเทนต์ใหม่ด้วยการทดลองใช้เงินตามค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท แบบพนักงานออฟฟิศใน กทม. ไม่ให้เกินตามนั้น โดยอ้างอิงจากค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคการเมืองดังได้มีการหาเสียงเอาไว้

ซึ่งเริ่มต้นความประหยัดด้วยการซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้ง 2 ไม้ และข้าวเหนียว 1 ห่อ ไม้ละ 12 บาท ทั้งหมดเป็น 29 บาท เป็นมื้อเช้าในวันนั้น ต่อมาก็เดินไปขึ้นวินมอเตอร์ไซค์ไปหน้าปากซอย ราคา 25 บาท ตลอดทั้งวันในคลิปนี้ ตัวพระเอกหนุ่มเองก็พยายามประหยัดมาก ๆ ทั้งเรื่องการกินและการเดินทาง

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดเข้ามา อย่างตอนที่ หนุ่มมาร์ช เจ็บข้อเท้าจนต้องไปซื้อยา ลูกเพื่อนบวชต้องใส่ซองให้ รวมถึงตอนที่เพื่อนร่วมงานชวนไปปาร์ตี้

แม้ว่าระหว่างทาง หนุ่มมาร์ช จะแอบแลกเปลี่ยนสั่งของกับเพื่อนร่วมงานบ้าง ถือเป็นการลักไก่ ไม่ใช้เงิน แต่งบประมาณก็เกิน 450 บาทอยู่ดี ทำให้ หนุ่มมาร์ช สรุปในตอนท้ายว่า ได้เรียนรู้หลาย ๆ บทเรียน และรู้ว่าเงินแค่นี้มันไม่พอสำหรับการใช้ชีวิต และไม่มีทางเลยที่จะเหลือเงินมาเก็บออม เพราะลำพังจะใช้ให้พอในแต่ละวันก็ยากอยู่แล้ว 

‘โรงเรียนภาคค่ำ’ สถานที่รวมตัว ‘พนักงานออฟฟิศเซี่ยงไฮ้’ ใช้เวลาหลังเลิกงาน เรียนรู้วัฒนธรรม-ดนตรี-ศิลปะของจีน

เมื่อวานนี้ (3 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หลังจากถึงเวลาเลิกงาน เหล่าพนักงานออฟฟิศจำนวนมากในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีนต่างเร่งรีบไป ‘โรงเรียนภาคค่ำ’ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกเขาใช้เรียนรู้วิชาศิลปะหลากหลายแขนง นอกเหนือจากการเรียนรู้อ่านเขียนดังเช่นในอดีต

เครื่องดนตรีแบบดั้งเดิม การวาดภาพสีน้ำและหมึก อุปรากรปักกิ่ง และการสานไม้ไผ่ ล้วนแล้วแต่เป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่หลักสูตรศิลปะจีนหลากหลายประเภท

การรวมกลุ่มคน 9-5 คนเพื่อมาโรงเรียนภาคค่ำกำลังกลายเป็นไลฟ์สไตล์ทันสมัยสำหรับหนุ่มสาวในเซี่ยงไฮ้

“โรงเรียนภาคค่ำแห่งนี้อยู่ใกล้บ้านมาก ๆ ค่ะ มันช่วยให้พนักงานออฟฟิศอย่างฉันได้เรียนชั้นเรียนเหล่านี้ด้วยราคาสมเหตุสมผล” หวัง นักเรียนโรงเรียนภาคค่ำคนหนึ่งกล่าว

คณะอาจารย์ในโรงเรียนภาคค่ำส่วนใหญ่มีประสบการณ์และอาจเป็นถึงศิลปินที่มีชื่อเสียง เช่น อาจารย์สอนอุปรากรปักกิ่งบางคนที่เป็นนักแสดงระดับชาติ ขณะชั้นเรียนงานฝีมือบางวิชาถูกสอนโดยผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

“ผมเริ่มสอนจงร่วน (เครื่องดนตรีสายประเภทหนึ่งของจีน) ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ผมเล่นเครื่องดนตรีหลายประเภทได้ดี เลยสอนกลองแอฟริกัน อูคูเลเล่ และกีตาร์ในโรงเรียนภาคค่ำด้วย นักเรียนทั่วไปของที่นี่มีอายุ 18-50 ปี และส่วนใหญ่มีอายุ 25-35 ปี” หลิวอวิ๋นฉี อาจารย์ประจำโรงเรียนภาคค่ำกล่าว

การเข้าเรียนชั้นเรียนภาคค่ำซึ่งผสมผสานการศึกษาเข้ากับวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม ไม่ได้เป็นเพียงวิธีการสร้างความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีหนึ่งในการดื่มด่ำกับประวัติศาสตร์และเข้าใจคุณค่าของมันด้วย

หลักสูตรที่ครอบคลุมหมวดหมู่ศิลปะมากกว่าสิบประเภท พร้อมด้วยเหล่าอาจารย์ผู้สอนระดับมืออาชีพ ทำให้โรงเรียนภาคค่ำในเซี่ยงไฮ้กำลังเป็นกระแสจนยากจะจับจองที่นั่ง โดยช่วงสูงสุดมีผู้ลงทะเบียนเพื่อจองเรียนออนไลน์พร้อมกันกว่า 650,000 คน

“ชาวเน็ตหลายคนบอกว่าโรงเรียนภาคค่ำกลายเป็น ‘ไนต์คลับ’ สำหรับพนักงานออฟฟิศในเซี่ยงไฮ้ไปแล้ว ผมคิดว่านอกเหนือจากการไปโรงหนัง บาร์ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอื่น ๆ พวกเราสามารถเลือกมาโรงเรียนภาคค่ำที่ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ด้วย ที่นี่พวกเราสามารถทำความรู้จักเพื่อนใหม่ไปพร้อมกับสร้างความบันเทิงให้กับตัวเอง ขณะเดียวกันเราก็สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ไปด้วย” หลิวบอกเล่า

“เซี่ยงไฮ้เป็นมหานครระดับนานาชาติ ผมเลยคิดว่าชั้นเรียนพวกนี้มีประโยชน์มาก ๆ ต่อการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงพวกเครื่องดนตรีแบบดั้งเดิมด้วยนะครับ” สวี นักเรียนโรงเรียนภาคค่ำคนหนึ่งกล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top