Friday, 17 May 2024
พนักงานสอบสวน

พล.ต.ท ไตรรงค์ ผิวพรรณ พูดถึง ‘ผู้กองอุ้ม’

“ผมได้ฟังน้องพนักงานสอบสวน ‘ผู้กองอุ้ม’ พูดถึงปัญหาของพนักงานสอบสวนแล้ว ผมเข้าใจเลย น้องไม่ต้องกังวลนะครับ ว่าสิ่งที่น้องพูดจะเป็นปัญหากับความเจริญก้าวหน้าของการรับราชการ เพราะน้องนำเสนอความจริงที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนานในวงการตำรวจเรา และกิริยาท่าทางตลอดจนเนื้อหาที่น้องพูด มีความสุภาพอ่อนน้อม สมกับเป็น ผู้กองหญิง ที่มีวุฒิภาวะ เป็นที่พึ่งของประชาชน สะท้อนปัญหาให้ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบ ยิ่งทราบว่าน้องเคยได้รับรางวัลตำรวจต้นแบบมาแล้ว ผมเชื่อว่าน้องอุ้ม จะต้องเติบโตและจะมีส่วนในการพัฒนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป

ปัญหาพนักงานสอบสวนขาดแคลนนั้น นอกจากการที่ต้องปรับอัตรากำลังพล ให้เหมาะสมกับปริมาณงานแล้ว ปัญหาพนักงานสอบสวนหนีไปช่วยราชการหรือไม่ยอมรับคดี โดยอ้างว่าไม่ได้ทำสำนวนมานานแล้ว (ในกรณีถูกแต่งตั้งกลับมาในสายงานสอบสวน) โดยการทำให้พนักงานสอบสวนกลุ่มนี้ กลับมารับคดี ทำสำนวนการสอบสวน จะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนได้เร็วที่สุด ซึ่งตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว พนักงานสอบสวนทุกคน จะต้องรับคดี มีสำนวนการสอบสวนในความรับผิดชอบ จึงจะสามารถเบิกเงินประจำตำแหน่ง และรับรองผลการปฏิบัติงานการสอบสวนประจำปีได้ (เพื่อใช้ในการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ในสถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน)

ในเรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาในระดับ กองบัญชาการ และกองบังคับการ ที่กำกับดูแลสถานีตำรวจ จะต้องจริงจังกับคำสั่งดังกล่าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงที่ผมเคยดำรงตำแหน่ง รอง ผบช.น. (สอบสวน) ได้พยายามดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว สามารถพาน้องๆ พนักงานสอบสวนกลับบ้าน (มารับคดี ทำสำนวน) กว่า 80 คน โดยเฉพาะของ บก.น.4 พ.ต.อ.สุพล ค้ำชู รอง ผบก.น.4 ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น พาน้อง ๆ กลับมาได้ถึง 30 คน

สำหรับกลุ่มที่ทำสำนวนการสอบสวนไม่คล่องแล้ว เนื่องจากทิ้งมานาน หัวหน้างานฯ/หัวหน้าสถานี จะต้องจัดพี่เลี้ยงให้ เข้าเวรคู่กัน และให้ช่วยฝึกทำสำนวน โดยให้เริ่มทำสำนวนคดีที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน เช่น คดีศาลแขวงฯ คดีไม่รู้ตัว คดีเสพฯ หรือครอบครองยาเสพติด เป็นต้น โดยไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง รอง ผกก. (สอบสวน) หรือ สว. (สอบสวน) ก็ตาม ต้องมีสำนวนในความรับผิดชอบ แต่ผู้บังคับบัญชา ก็ต้องให้ความเห็นใจ/ใส่ใจ/ให้โอกาส กลุ่มนี้ด้วยนะครับ อย่าคิดว่าเขาไม่อยากทำงาน

และอีกหนึ่งประเด็น ในปัจจุบันคดีความต่างๆ มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถทำการสอบสวนได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ท่าน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้ทราบปัญหา ซึ่งอยู่ในระหว่างการแก้ไข คำสั่งต่าง ๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

สำหรับแนวคิดในเรื่องการเจริญเติบโตในสายงานสอบสวน ถ้ามีโอกาสจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อไปครับ”

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ
10 ก.พ. 2567

'อ.อุ๋ย-ปชป.' ชี้ ศึกสองบิ๊กตำรวจ แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง  ยังมีปมอีกมากที่อยู่ใต้น้ำ แนะ!! ดึง ปชช.ร่วมตรวจสอบกาะทำงาน 

(24 มี.ค.67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร ส.ส. กทม เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นกรณีความขัดแย้งระหว่าง ผบ.ตร และรอง ผบ.ตร. จนสุดท้ายทำให้นายกรัฐมนตรีต้องเข้ามาหย่าศึก โดยการสั่งย้ายทั้งสองคนกลับเข้าสำนักนายก ฯ ว่า...

กรณีการสั่งย้ายดังกล่างเป็นแค่การลูบหน้าปะจมูก เพื่อแก้ปัญหาหาเฉพาะหน้าให้จบ ๆ ไปเท่านั้น เพราะความขัดแย้งระหว่างสองบิ๊กตำรวจ เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ออกมาพ้นน้ำให้เห็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกมากที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งต้องรอการสะสาง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ปัญหาการรับส่วยสินบน ปัญหาการไม่รับแจ้งความ ปัญหาเกี่ยวกับขอบเขตการใช้กำลังในการปฏิบัติหน้าที่ ฯลฯ ซึ่งตนขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ดังนี้...

1. ค่าตอบแทนและสวัสดิการของตำรวจ ต้องเพียงพอให้ดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องหาเศษหาเลย โดยเฉพาะระดับปฏิบัติการ ค่าใช้จ่ายในการทำงานต้องเบิกได้เต็มจำนวน
2. ต้องใช้ระบบคุณธรรมในการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง ใครทำดี บำบัดทุกข์บำรุงสุขเพื่อประชาชนต้องได้ดี ใครทำชั่วทุจริตกินสินบาทคาดสินบนต้องได้ชั่ว (ถูกลงโทษ)  
3. กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นที่เชี่ยวชาญกว่า (Decentralization) เช่น การสอบสวน ควรให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระและตรวจสอบถ่วงดุล รวมทั้งการย้ายภาระงานบางส่วนให้ อปท. เช่น งานจราจร หรือคดีที่มีโทษเล็กน้อยหรือปรับเพียงสถานเดียว โดยใช้วิธีกระจายอำนาจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพิ่มอัตรากำลังและค่าตอบแทนพนักงานสอบสวนที่มีความรู้กฎหมายระดับเนติบัณฑิต
4. ออกกฎหมายกำหนดขอบเขตการใช้กำลังและหลักการการใช้กำลังขั้นถึงตาย (Use of Deadly Force) แยกต่างหากไปจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชน เพื่อคุ้มครองตำรวจจากการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อทำให้ตำรวจมีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้นเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
5. เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจมากขึ้น สร้างระบบให้ประชาชนสามารถรีวิว (Review) การทำงานของตำรวจได้ และมีผลต่อการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง 

ทั้งนี้ย้ำว่าที่ตนเสนอมาเป็นเพียงข้อเสนอแนะในกรอบกว้าง ๆ เท่านั้น เพราะตนเชื่อว่าทุกคนในแวดวงตำรวจรู้ปัญหาและรู้วิธีแก้ไขอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีความกล้าที่จะลงมือทำหรือไม่ สุดท้ายแล้วตำรวจต้องตรวจสอบอยู่เสมอว่าประชาชนต้องการอะไรจากตำรวจ จากนั้นตำรวจจะต้องปรับปรุงตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการนั้นให้ได้ ต้องพิจารณาให้ดีว่าประเทศไทย คนไทยต้องการอะไร และอยากจะปรับปรุงตำรวจไปในทิศทางไหน แล้วเลือกวิถีทางของตัวเอง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top