Monday, 13 May 2024
ผ่อนบ้าน

ดาราหนุ่ม ‘ปกป้อง ปริธี บุญศักดา’ โพสต์บ่น ผ่อนบ้าน 4 ปี เหลือหนี้อีก 10 กว่าล้าน เจอดอกเบี้ยปีละ 5 แสน

เริ่มมีชาวเน็ตหลายราย ออกมาโพสต์พ้อเกี่ยวกับดอกเบี้ยมหาโหด ซึ่งเป็นปัญหาหนักของคนผ่อนบ้าง ล่าสุด “ปกป้อง ปริธี บุญศักดา” นักแสดงหนุ่มและนักรีวิวเจ้าของเพจดัง ก็ได้มีการโพสต์บ่นถึงเรื่องนี้ โดยระบุว่า

“ผ่อนบ้านมาแล้ว 4 ปีกว่า เหลือหนี้ผ่อนบ้าน 10 กว่าล้าน จ่ายทุกเดือน 71,900 เงินต้น 27,256 ดอกเบี้ย 44,643 เท่ากับดอกเบี้ยปีนึง 535,716 เงินต้นเพิ่งหายไป 327,072 เอง แบบนี้ถือว่าธนาคารเอากำไรเกินไปไหม”

“ทุกคนหลังจากโพสต์ไป มีเพื่อน ๆ มาเตือนให้รีไฟแนนซ์ หรือ รีเทนชั่นทุก 3 ปี ไม่งั้นดอกจะแพง ในรูปคือผมกับแฟนลืมไปรีหลัง 3 ปี ตอนกู้ได้ดอก 2.5% พอเลย 3 ปีกลายเป็น 5.3% แล้วจ่ายเรตนี้มาปีกว่า แทนที่จะเสียดอก 250,000 กลายเป็นต้องเสียดอก 530,000 ขอเตือนไว้สำหรับคนที่จะกู้บ้านครับ”
“รีเทนชั่นคือไปบอกกับแบงก์เดิม ว่าขอลดดอกเบี้ยหลัง 3 ปี ส่วนรีไฟแนนซ์คือย้ายธนาคาร อาจจะได้โปรดีกว่าเดิม แต่ต้องยื่นเอกสารใหม่หมดเหมือนเริ่มกู้ใหม่ สะดวกอันไหน ไปอันนั้น จะได้จ่ายดอกเบี้ยถูกลงนะครับ”

“ไม่ใช่มีแค่เราที่บ่น หลายคนก็บ่น เพราะดอกเบี้ยมันโหดจริง ๆ ล่าสุดข่าวออก กู้บ้าน 13 ล้าน แต่เจอดอกเบี้ย 20 ล้าน สรุป เป็นหนี้ 33 ล้าน พอมานั่งคูณดู เจอดอกเบี้ยปีละ 5 แสน เข่าแทบทรุดอะคับ”

‘ผู้เชี่ยวชาญการเงิน’ แตะเบรกดรามาตัดต้นแค่ 5.50 บาท เพราะยอดผ่อนต่อเดือนน้อย แบบนี้ธนาคารพึงประสงค์

ภายหลังจากเมื่อวานนี้ (2 พ.ย. 66) ได้เกิดกระแสฮือฮาขึ้น เมื่อชาวเน็ตสาวรายหนึ่ง ออกมาโพสต์ภาพใบเสร็จการจ่ายค่าบ้าน มูลค่ารวม 10,900 บาท พร้อมแคปชันว่า...

“ชาติไหนหมดเนี่ย หนักเลยวันนี้ ไปตัดต้นกู 5฿ ฝากถึงคนที่จะกู้บ้าน 5555555 ตาย 2 ปีแรกชิว พอปีที่3….. รอรีไฟแนนซ์!!!!”

พร้อมทั้งโพสต์สลิปบิลการจ่ายค่าบ้านหลักหมื่นบาท แต่หักเงินต้นไปแค่ 5.50 บาท ที่เหลือเป็นค่าดอกเบี้ยนั้น

ล่าสุด ดร.กริช เศรษฐนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและเศรษฐกิจ ก็ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กอธิบายสาเหตุที่ทำให้สาวคนดังกล่าวถูกหักเงินต้นน้อยแต่ดอกเบี้ยเยอะ ดังนี้…

สาเหตุที่เป็นแบบนี้ คือ เพราะยอดผ่อนต่อเดือนมันน้อยครับ ไม่มีอะไรผิดปกติในเรื่องการคำนวณใด ๆ (ผิดได้กรณีเดียวคือ ธนาคารใช้ดอกเบี้ยไม่ตรงกับสัญญาหรือข้อกำหนดแบงก์ชาติ แต่ถ้าผิดเรื่องนี้ มันจะไม่ใช่แค่เคสเงินต้นเกือบศูนย์แบบนี้ เพราะมันผิดได้หมดทุกวงเงินกู้)

ดูทรงแล้ว ช่วงของการผ่อน ณ ปัจจุบัน ดอกเบี้ยน่าจะโดนประมาณ 6% ต่อปี ยอดเงินกู้เหลือประมาณ 2 ล้าน ณ ตอนนี้ก็ดอกประมาณ 120,xxx ต่อปี หรือ 10,xxx ต่อเดือน แล้วดันผ่อนประมาณ 10,xxx ต่อเดือนเช่นกัน มันแทบไม่ต่างจากดอก แล้วมันจะเหลือเอาเงินผ่อนที่ไหนไปหักเงินต้น แบบนี้คือเลือกผ่อนน้อย ผ่อนนาน

ถ้าสมมติ ผ่อนประมาณ 20,000 ต่อเดือน มันก็หักดอกประมาณ 10,000 เท่านี้แหละ ที่เหลืออีก 10,000 มันก็จะไปหักต้นให้ มันก็จะตัดเงินต้นได้เยอะ จบได้ไวกว่า

ยอดดอกในแต่ละเดือน มันจะลดลงตามเงินต้นที่ถูกตัดไป ถ้าอยากจ่ายดอก ‘โดยรวมทั้งหมด’ สำหรับการกู้ซื้อบ้านหลังใดหลังหนึ่ง ให้มันน้อยหน่อย ก็ต้องผ่อนต่อเดือนเยอะ ๆ ให้มันมีเงินเหลือจากการหักดอก แล้วไปตัดเงินต้นเยอะๆ

คนที่กู้ แล้วจ่ายเงินผ่อนต่อเดือนน้อย ๆ นี่คือ ลูกหนี้ชั้นดีที่พึงประสงค์ของธนาคารเลยแหละ อ่านสัญญา ดูโครงสร้างการผ่อนเงินกู้ให้ดี รู้จักวิธีรีเทนชั่น วิธีรีไฟแนนซ์ ศึกษาเรื่องเงินที่มันเกี่ยวข้องกับชีวิตเราหลาย ๆ ด้าน 

'ค่าครองชีพ' พุ่ง!! ทำคนซื้อบ้านต่ำ 3 ล้าน เริ่มผ่อนไม่ไหว พบ!! หนี้เสียสินเชื่อบ้านทะลัก 1.2 แสนล้านบาท

(21 ก.พ.67) ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้เผยภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัวตามที่คาด อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปถึงภาวะหนี้ครัวเรือนและกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผู้บริโภคชะลอแผนซื้อบ้านออกไปก่อน ทำให้ภาพรวมความต้องการซื้อทั่วประเทศในไตรมาสล่าสุดลดลง 14% และลดลงทุกประเภทที่อยู่อาศัย สวนทางภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศที่ปรับขึ้นตามต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นอุปสรรคต่อกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ที่มองหาที่อยู่อาศัยในราคาที่จับต้องได้

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (ไตรมาส 4 ปี 2562) พบว่า ภาพรวมความต้องการซื้อในระยะยาวยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยความต้องการซื้อคอนโดฯ ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด 12% ตามมาด้วยที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างทาวน์เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น 10% และบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 2%

นอกจากนี้ยังพบว่าที่อยู่อาศัยราคา 1-3 ล้านบาท มีจำนวนมากที่สุดในตลาดด้วยสัดส่วน 30% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมดทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคระดับล่าง ยังคงไม่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะดูดซับอุปทานเหล่านี้

สอดคล้องกับข้อมูลของเครดิตบูโรที่พบว่าหนี้เสียจากสินเชื่อบ้านเพิ่มสูงขึ้น ผู้ซื้อระดับล่างเริ่มผ่อนบ้านไม่ไหวจากปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้น โดยประมาณ 60-70% ของหนี้ที่กำลังจะเสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือประมาณ 1.2 แสนล้านบาท มีปัญหามาจากคนที่ผ่อนบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง

สำหรับภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับภาพรวมของทั้งประเทศ พบว่าดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับเพิ่มขึ้น 4% เทียบปีก่อน โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทุกรูปแบบที่อยู่อาศัย ส่วนคอนโดฯ เพิ่มขึ้นมากที่สุดเพิ่มขึ้น 5% เทียบปีก่อน ตามมาด้วยที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 3% เทียบปีก่อนและทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 3% เทียบปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนการก่อสร้างโครงการใหม่ที่กลายเป็นปัจจัยกดดันให้ผู้ประกอบการต้องวางกลยุทธ์เพื่อปรับราคาให้สอดคล้องกับทั้งต้นทุนและกำลังซื้อของผู้บริโภค

ทั้งนี้ราคาบ้านที่แพงขึ้นในยุคที่อัตราดอกเบี้ยสูงกลายเป็นความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภค ทำให้ความต้องการซื้อในกรุงเทพฯ ลดลงอย่างมาก โดยภาพรวมความต้องการซื้อลดลง 15% เทียบไตรมาสก่อนและลดลง 27% เมื่อเทียบปีก่อน 

อย่างไรก็ดี หากมองในระยะยาวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ ภาพรวมความต้องการซื้อในกรุงเทพฯ ยังคงเป็นบวก โดยความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 8% ซึ่งบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 10% สวนทางกับความต้องการระยะสั้น ตามมาด้วยคอนโดฯ เพิ่มขึ้น 8% และทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 5%

สำหรับทำเลที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในกรุงเทพฯ ในไตรมาสล่าสุด ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลนอกเขตศูนย์กลางธุรกิจ และกรุงเทพฯ รอบนอก อันดับ 1 ได้แก่ เขตบางเขน เพิ่มขึ้น 16% เทียบไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 10% เทียบปีก่อนด้วยทำเลที่ใกล้รถไฟฟ้า 2 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และยังอยู่ใกล้สนามบินดอนเมืองจึงเชื่อมต่อการเดินทางได้อย่างสะดวก ตามมาด้วยเขตบางกอกใหญ่ เพิ่มขึ้น 15% เทียบไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 24% เทียบปีก่อน, เขตลาดกระบัง เพิ่มขึ้น 13% เทียบไตรมาสก่อน ลดลง 5% เทียบปีก่อน , เขตบางขุนเทียน เพิ่มขึ้น 9% เทียบไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 1% เทียบปีก่อน และเขตประเวศ เพิ่มขึ้น 6% เทียบไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้น 10% เทียบกับปีก่อน

นายวิทยา อภิรักษ์วิริยะ ผู้จัดการทั่วไป ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (ฝั่งดีเวลลอปเปอร์) กล่าวว่า หากมองภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้อาจไม่ได้สดใสเท่าใดนัก ยังมีปัจจัยท้าทายที่สืบเนื่องมาจากปีก่อนหน้า ทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวไม่มากนัก อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมทั้งค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง ปัจจัยเหล่านี้กำลังผลักให้กลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ต้องชะลอการซื้อบ้านออกไปก่อน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top