Monday, 17 June 2024
ผู้เสียชีวิต

ยอดผู้เสียชีวิตน้ำท่วมใหญ่ที่ ‘ลิเบีย’ พุ่งทะลุ 21,000 ราย ทางการเร่งช่วยเหลือ พร้อมค้นหาผู้สูญหายอีกนับหมื่น

(15 ก.ย. 66) สภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะสูงถึง 11,300 ราย แต่อาจเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากยังมีผู้สูญหายราว 10,000 คน และอาจส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตเกินกว่า 21,000 ราย มากกว่าที่นายกเทศมนตรีเมืองเดอร์นา พื้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเหตุเขื่อน 2 แห่งแตกทลาย ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่าจากการประเมินเขตที่ถูกมวลน้ำมหาศาลพัดถล่มโดยสิ้นเชิงอาจมีผู้เสียชีวิตมากถึง 20,000 ราย

ด้านทางการลิเบียฝั่งตะวันออกเปิดเผยว่ามหาอุทกภัยครั้งนี้ทำให้ประชาชนราว 30,000 คนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน หลายฝ่ายกล่าวโทษว่า เป็นเพราะระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีสภาพทรุดโทรมและไม่ได้รับการซ่อมแซม ขณะที่นักการเมืองท้องถิ่นเรียกร้องให้รัฐบาลลิเบียฝั่งตะวันออกเร่งสอบสวนกรณีดังกล่าว

วันเดียวกัน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) แถลงว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จากน้ำท่วมสามารถหลีกเลี่ยงได้หากระบบเตือนภัยล่วงหน้าและระบบการจัดการเหตุฉุกเฉินที่เหมาะสมถูกต้อง ศาสตราจารย์เพทเตอรี ทาลาส เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก กล่าวว่าหากกองกำลังจัดการเหตุฉุกเฉินสามารถอพยพประชาชนได้ทันท่วงทีตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจต่ำกว่านี้

ขณะที่สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุว่ากำลังเร่งระดมเงินมากกว่า 71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,550 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เข้าข่ายเป็นหายนะครั้งใหญ่

และว่าเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปเยียวยาผู้ประสบภัยที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุดราว 250,000 คน จากผู้ประสบภัยทั้งหมดกว่า 884,000 คน นอกจากนี้ นายมาร์ติน กริฟฟิธส์ หัวหน้าสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรม ยังประกาศกองทุนฉุกเฉินอีก 357 ล้านบาทด้วย

'รพ.ปาเลสไตน์' จำยอม!! ปรับตู้แช่รถไอศกรีมเป็นตู้แช่ศพชั่วคราว หลังพบผู้เสียชีวิตเพิ่มทุกวัน แต่ห้องดับจิตเก็บได้เพียง 10 ศพ

การสู้รบในฉนวนกาซาระหว่างกองกำลังติดอาวุธฮามาส และกองทัพอิสราเอลยังคงดุเดือดต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดเสียชีวิตจากทั้งสองฝ่าย เพิ่มขึ้นไปเกินกว่า 4 พันราย บาดเจ็บนับหมื่นคนแล้ว 

และต้องยอมรับว่าพื้นที่ในกาซาเสียเปรียบกว่าฝ่ายอิสราเอลมาก เนื่องจากสาธารณูปโภคขาดแคลน และยังถูกตัดน้ำ ตัดไฟ และพลังงานเข้าพื้นที่ ทำให้ปฏิบัติการกู้ภัย และด้านการแพทย์ทำด้วยความยากลำบากอย่างมาก

จนล่าสุด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเขตพื้นที่ฉนวนกาซา ได้ออกมายืนยันยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,500 คน จากการถล่มด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดของอิสราเอล ในจำนวนนั้นกว่า 1 ใน 4 เป็นกลุ่มเด็กๆ ชาวปาเลสไตน์ มีการเผยแพร่ภาพศพที่ถูกห่อไว้ในผ้าขาวจำนวนมาก ที่ยังไม่สามารถทำพิธีทางศาสนาได้ เพราะการสู้รบติดพัน และการเดินทางขนส่งในช่วงเวลานี้ อาจกลายเป็นเป้าโจมตีจากฝ่ายอิสราเอล 

ด้วยปัจจัยหลายด้านจำกัด ชาวปาเลสไตน์ไม่มีทางเลือก ต้องนำตู้แช่รถไอศกรีมท้องถิ่นมาใช้เป็นตู้แช่ศพชั่วคราวไปก่อน 

ด็อกเตอร์ ยัสเซอร์ อาลี นายแพทย์ประจำโรงพยาบาลชูฮาดา อัล-อัคซอร์ กล่าวว่า ตอนนี้ในห้องดับจิตของโรงพยาบาลสามารถเก็บศพได้เพียง 10 ศพเท่านั้น และการเคลื่อนย้ายศพไปยังสุสานแทบเป็นไปไม่ได้ มิหนำซ้ำ ศพยังล้นสุสาน เพราะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน จนไม่สามารถจัดการได้ทัน จึงจำเป็นต้องใช้รถตู้แช่ไอศกรีมเอามาเก็บศพก่อน 

ทำให้เราได้เห็นภาพรถขนไอศกรีมหวานเย็น สีสันสดใส ชวนน่ารับประทาน ต้องถูกดัดแปลงให้กลายเป็นตู้แช่เก็บศพจำนวนมาก ที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง แต่ความน่าหดหู่ยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น 

ด็อกเตอร์ ยัสเซอร์ อาลี ย้ำว่า ต่อให้วันนี้เรามีรถตู้แช่ไว้เก็บศพแทนโรงพยาบาลได้ก็จริง แต่ไม่ช้าก็เร็ว รถตู้แช่เหล่านี้ก็จะมีศพเต็มจนล้นเกินความจุเช่นกัน ทางโรงพยาบาลยังต้องหาเต็นท์ชั่วคราวเพิ่มไว้เก็บศพที่จะเข้ามาเพิ่มอีกในวันต่อๆ ไปให้ทัน 

ด้าน ซาลามา มารอฟ ผู้อำนวยการสำนักการข่าวของรัฐบาลปาเลสไตน์ ยอมรับว่า การสู้รบยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้ครอบครัว และ ญาติๆ ไม่สามารถเข้ามารับศพในโรงพยาบาลกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาได้ ทางรัฐบาลจึงตัดสินใจเร่งสร้างสุสานฝังศพเฉพาะกิจ เพื่อประกอบพิธีฝังศพผู้วายชนม์จำนวนกว่า 100 ศพ ก่อนที่จะมีศพใหม่เพิ่มเติมเข้ามามากกว่านี้ 

ในขณะที่กองทัพอิสราเอลยังยืนยันที่จะเดินหน้าโจมตีกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ทั้งทางบก ทางเรือ และ ทางอากาศ กดดันให้ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในฉนวนกาซา ต้องอพยพลงใต้กลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยแล้วกว่า 1 ล้านคน 

ซึ่งชาวปาเลสไตน์จำนวนไม่น้อย รู้สึกเหมือนประวัติศาสตร์แห่งโศกนาฏกรรมวันนักบาห์ในปี 1948 เกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามอาหรับ-อิสราเอล ทำให้ชาวปาเลสไตน์กว่า 7 แสนคน ถูกกองทัพอิสราเอลขับไล่ออกนอกดินแดน กลายเป็นคนไร้รัฐ นับเป็นปัญหาผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่ยังค้างคามาจนถึงปัจจุบัน 

แต่วันนี้ ชาวปาเลสไตน์กำลังเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรมนักบาห์ครั้งที่ 2 ที่ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายจากสงคราม และการพลัดถิ่นฐานอีกครั้งของชาวปาเลสไตน์ได้ จนกว่าการปะทะระหว่างอิสราเอล และ กลุ่มฮามาสจะสงบ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top