Saturday, 18 May 2024
ปุ้ยพิมพ์ภัทรา

‘ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ มีแววนั่ง ‘รมช.มหาดไทย’ ประสบการณ์ สส. 5 สมัย ความรู้-ความสามารถพร้อม

การเมืองไทยหลังจากที่ได้นายกฯ ชื่อ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ก็มีเรื่องให้ตื่นเต้นอยู่ทุกวัน ประชาชนคอการเมืองต่างตั้งหน้าตั้งตารอว่า ‘ใคร’ จะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงใด และหน้าตาครม. เศรษฐา 1 จะคล้ายคลึงของเดิมหรือเปลี่ยนไปมาน้อยเพียงใด

แน่นอนว่าพรรคการเมืองที่คนให้ความสนใจและจับตาดูก็เป็น ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ที่ได้ส่งรายชื่อผู้ที่จะได้เป็นรัฐมนตรีตามโควตาไปยังพรรคเพื่อไทยเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย

-นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
-นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ เป็นรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม
-นางพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย  
-นายอนุชา นาคาศัย สส.ชัยนาท มีชื่อนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้โควตารัฐมนตรี 4 ตำแหน่ง เป็นว่าการ 2 ช่วยว่าการ 2 มีปัญหาในการจัดสรรตำแหน่งกันในพรรคอยู่บ้าง อย่างสายใต้ มีหลายคนควรได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้ง ‘วิทยา แก้วภารดัย’ แต่ในช่วงเลือกตั้งได้นับมอบหมายให้ไปดูแลพื้นที่ภาคอิสาน

‘ชุมพล กาญจนะ’ ที่สุราษฎร์ธานีกวาดมาได้ถึง 6 เสียง แต่ในเชิงลึกพบว่า ใน 6 เสียง เป็นสายชุมพลเพียง 3 เสียง อีก 3 เสียงเป็นสายกำนันศักดิ์-พงศ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกฯ อบจ.สุราษฎร์ธานี ที่จับทีมกันกับ ‘ชุมพล จุลใส’ (ลูกหมี) แห่งเมืองชุมพร และวิสุทธิ์ ธรรมเพชร แห่งเมืองพัทลุง จึงทำให้ชุมพลชวดตำแหน่งรัฐมนตรี ประกอบกับชุมพลอายุมากแล้วด้วย

เก้าอี้รัฐมนตรีจึงถูกสับโยกไปให้ ‘สุพล จุลใส’ (ลูกช้าง) สส.สมัยสอง อดีตนายกฯ อบจ.ชุมพร แต่สุพลขอสละสิทธิ์ เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ การเป็นรัฐมนตรีต้องเสียสละ ทุ่มเท จึงไม่เหมาะ ขอสละให้คนอื่นเป็นแทน

หันซ้ายมองขวาก็เห็น ‘ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ ยืนโดนเด่นอยู่ ปุ้ยจึงได้รับการเคาะให้เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยแทนสุพล ซึ่งก็ถือว่าเหมาะสม เพราะปุ้ยผ่านประสบการณ์มามาก เป็น สส.4 สมัย ย่างเข้าสมัยที่ 5 แล้ว ก็ถือว่าส้มหล่น เป็นคนที่ไม่เคยคาดหวัง ไม่เคยวิ่งเต้นอยากจะเป็นรัฐมนตรี แต่ถึงเวลา บุญนำพา วาสนาส่ง มันก็หล่นมาเอง

ทางด้าน ม.ล.ชโยทิต กฤดากร สส.บัญชีรายชื่อ ที่มีชื่อนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม แต่ล่าสุด ม.ล.ชโยทิต แจ้งไม่ขอรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ พรรคจึงเปลี่ยนชื่อเป็นนางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ นั่งรัฐมนตรีอุตสาหกรรมแทน

กล่าวสำหรับพิมพ์ภัทรา เป็นทายาททางการเมืองของมาโนช วิชัยกุล อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย ท่านเพิ่งจากไปเมื่อสองปีที่ผ่านมา เมื่อมีชื่อ ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา นั่งเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ในฐานะรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย คนนครศรีธรรมราชก็พากันเฮด้วยความดีใจ นอกจากความเหมาะสม ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์แล้ว คนนครศรีธรรมราชดีใจว่า สส.10 คน ควรจะได้มีรัฐมนตรีในจังหวัดนครศรีธรรมราชกับเขาบ้าง หลังจากเป็นจังหวัดที่ว่างเว้นรัฐมนตรีมานานกว่า 10 ปี (ไม่นับ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ) ที่เป็นคนนครศรีธรรมราช แต่ไม่ได้เป็น สส.นครศรีธรรมราช เป็น สส.บัญชีรายชื่อ และเคยเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คนที่ควรได้เป็นรัฐมนตรีในนามพรรครวมไทยสร้างชาติอีกคนคือ ‘น้อย-วิทยา แก้วภารดัย’ แต่คราวนี้กลับไม่มีชื่อ ช่วงแรก ๆ มีโผจะไปนั่งช่วยว่าการสาธารณสุข แต่วิทยาเคยนั่งว่าการมาก่อนแล้ว จึงไม่เหมาะที่จะไปนั่งช่วยว่าการ ประกอบกับโควตาที่ได้มาเพียง 4 เก้าอี้ จึงต้องเกลี่ยกันไป อีสาน กลาง กรุงเทพ และใต้ให้เท่า ๆ กัน ไม่เอนเอียงไปทางไหนให้คนกังขา

เพลาท้าทาย ‘ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา’ ว่าที่เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรม แม้ส้มหล่นใส่จนตีนบวม ก็ต้องสวมหัวใจแกร่งคนคอนสะท้อนกึ๋น

ด้วยความเป็นห่วงยิ่ง ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ สส. 4 สมัย พรรครวมไทยสร้างชาติ มีอาการป่วยหลังติดโผเป็นรัฐมนตรี ‘เศรษฐา’ ด้วยคนหนึ่ง

ช่วงแรกโผออกมาว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ตอนหลังพลิกมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะภูมิใจไทยต้องการคุมมหาดไทยแบบเบ็ดเสร็จ (เว้นนายเกรียง กัลป์นันท์ จากพรรคเพื่อไทย จังหวัดอุบลราชธานี) โดยมหาดไทยจะมีรัฐมนตรีช่วยถึง 3 คน จึงต้องส่งปุ้ยไปกระทรวงอื่น โควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติจึงมีกระทรวงอุตสาหกรรม

แต่จริงๆ กระทรวงอุตสาหกรรม พรรครวมไทยสร้างชาติได้วางตัว 1 ‘พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ’ ทายาทของ ‘ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ’ ไว้แล้ว แต่เศรษฐาเป็นคนตัดสินใจเลือกปุ้ย เพราะต้องการคนที่มีประสบการณ์เข้ามาร่วมทำงาน ในขณะที่พิชชารัตน์ยังมีประสบการณ์น้อย

ที่บอกว่า ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา’ ป่วย เนื่องจากว่า เจอ ‘ส้มหล่น’ ใส่จนเท้าบวม ร้องไห้ขยี้ตา จนตาบวม เพราะได้ตำแหน่งมาอย่างไม่คาดคิด หรือใฝ่ฝันมาก่อนเลย แค่ได้รับเลือกเป็น สส.ก็พอแล้ว

“ถ้าเจอปุ้ย บอกด้วยว่า พี่จะซื้อรองเท้าให้ใหม่” นักการเมืองอาวุโสท่านหนึ่งกล่าวเชิงเย้าหยอก ฝากไปถึงปุ้ย เพราะเท้าบวม ใส่รองเท้าคู่เก่าไม่ได้แล้ว และถ้าเจอกันจะหายาหยอดตาไปฝาก… 5555

กล่าวสำหรับ ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา’ กับผม โดยส่วนตัวไม่รู้จักกัน เคยคุยกันบ้างสั้นๆ แค่สวัสดีกัน ปุ้ยเป็นคนง่ายๆ เจอใครก็ยกมือไหว้ อ่อนน้อมถ่อมตน

ปุ้ย พิมพ์ภัทรา เป็นทายาททางการเมืองของ ‘มาโนชญ์ วิชัยกุล’ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย (ผู้จากไป) ปุ้ยเข้ามารับบทบาททางการเมืองแทนต่อ

ตอนเด็กๆ ปุ้ยเข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมีอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดย น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมรสกับนายนิติรักษ์ ดาวลอย มีบุตร 2 คน

สมัยที่แล้ว ปุ้ย พิมพ์ภัทรา นั่งเป็นประธานกรรมาธิการศึกษา ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง ที่ถือว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงสำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเล และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปุ้ย ตัดสินใจทางการเมือง ย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ด้วยความรัก ความเมตตาของคนขนอม-สิชล ปุ้ยก้าวเข้ามาเป็นผู้แทนอีกสมัย และได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

ปุ้ย พิมพ์ภัทรา เข้าสู่เส้นทางทางการเมือง โดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.นครศรีธรรมราช ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แทน นายมาโนชญ์ วิชัยกุล ซึ่งวางมือทางการเมือง ในการเลือกตั้ง สส.เป็นการทั่วไปปี 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็น สส.สมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็น สส.อีกสมัย กระทั่งในปี 2562 ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกเป็น สส.สมัยที่ 3

หลังจากนั้นในช่วงต้นปี 2566 ปุ้ย พิมพ์ภัทรา ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการเลือกตั้ง เป็น สส.นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ

ถือว่ากระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอีกภารกิจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ในวงการอุตสาหกรรมถือเป็นเครื่องยนต์อีกตัวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

หวังว่า ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา’ จะไม่สร้างความผิดหวังให้คนไทย คนนครศรีธรรมราช ต้องแต่งตั้งที่ปรึกษาดีๆ สร้างทีมประชาสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง เดินหน้าฝ่าทุกปัญหาไปให้ได้ โอกาสมีแล้วต้องทำให้เต็มที่

‘เท้าบวม-ตาบวม’ แป๊บเดียวก็หาย อย่าได้วิตกกังวลไปเลย ชาวบ้านทุกข์ยาก เดือดร้อนมากกว่าเยอะ

เรื่อง : นายหัวไทร

'รมว.ปุ้ย' เผย!! โอนเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดคุณภาพดีเข้าบัญชีวันนี้วันแรก  ภายใต้ความร่วมมือ 'ก.คลัง-ก.พาณิชย์-ก.อุตสาหกรรม'

(26 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีสิทธิ์ได้รับเงินสนับสนุน 125,139 ราย ปริมาณอ้อยสดคุณภาพดี 64.53 ล้านตัน เป็นเงิน 7,743.859 ล้านบาท โดยรัฐบาลเริ่มโอนเงินวันนี้เป็นวันแรก ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 

"ในวันนี้มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับเงิน 105,411 ราย เป็นเงิน 6,918.02 ล้านบาท หรือคิดเป็น 84% ของเกษตรกรที่มีสิทธิ์ได้รับเงิน เกษตรกรที่ได้รับเงินสนับสนุนจะสามารถเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี รวมทั้งนำเงินไปปรับปรุงพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการเผาอ้อย ในอนาคตเราจะนำเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีมาบริหารจัดการในไร่อ้อย ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ การเพาะปลูก การบำรุง และการเก็บเกี่ยว เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธาน Kick off โครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา ว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 7,990.60 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะดูแลและสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมีความสุขกับของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลได้มอบให้

'รมว.ปุ้ย' มอบ 'กนอ.' เร่งช่วยผู้ประสบอุทกภัยในนราธิวาส สนับสนุนงบฯ ฉุกเฉิน ตั้งครัวกลางแจกอาหารให้พี่น้องประชาชน

(28 ธ.ค.66) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดนราธิวาส หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้น้ำล้นตลิ่งและมีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะที่อำเภอระแงะ อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอแว้ง และอำเภอสุไหงโก-ลก ที่ยังอยู่ในขั้นวิกฤติ ประชาชนบางส่วนต้องสร้างที่พักอยู่แนวริมตลิ่งริมแม่น้ำโก-ลก และบางส่วนต้องอพยพไปอยู่ที่ศูนย์อพยพชั่วคราวโรงเรียนเทศบาล 4 บ้านทรายทองนั้น นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าวอย่างมาก จึงมอบหมายให้ กนอ. ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ เร่งประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

เบื้องต้น กนอ.ได้ประสานไปยังพื้นที่ประสบอุทกภัย พบว่า ขณะนี้มีการอพยพประชาชนมาอยู่รวมกันในพื้นที่ที่ปลอดภัยแล้ว ดังนั้น กนอ.จึงสนับสนุนเงินฉุกเฉินเร่งด่วน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเป็นครัวกลาง เพื่อจัดหาและทำอาหารแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนที่กำลังเดือดร้อน

"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งที่จังหวัดยะลา และที่จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จึงกำชับให้ กนอ. เร่งประสานกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว เบื้องต้นเราช่วยสนับสนุนในพื้นที่ให้สามารถจัดหาอาหารและน้ำดื่มให้กับประชาชนได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ และช่วยประสานงานต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กนอ. จะติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และพร้อมให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามความจำเป็นต่อไป" นายวีริศ กล่าว

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นราธิวาส ล่าสุด (26 ธ.ค.66) ยังมีฝนตกลงมาประปรายทั้ง 13 อำเภอ ขณะที่แม่น้ำสายหลัก 3 สายยังคงมีปริมาณน้ำล้นตลิ่ง แม้ระดับน้ำลดลงจากเดิม แต่ในพื้นที่ราบลุ่มของ อ.สุไหงโก-ลก อ.ระแงะ และ อ.ตากใบบางส่วน ยังมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีฝนตกลงมาระลอกใหม่นั้น คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ราบลุ่มของทั้ง 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส จะเริ่มคลี่คลายและกลับคืน สู่สภาวะปกติได้

'กระทรวงพลังงาน' ลุย!! 'ไฟฟ้าสีเขียว' แพงกว่าแต่รักษ์โลก เตรียมเปิดขายให้โรงงานอุตฯ ขนาดใหญ่ช่วง ก.พ. 2567

​’พีระพันธุ์’ เดินหน้า ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ต่อเนื่อง ล่าสุดสร้างมาตรฐาน ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ เป็นครั้งแรกในไทย หนุนนโยบายรัฐบาลต้อนรับการลงทุนข้ามชาติขยายฐานเข้าไทย ลดอุปสรรคข้อกีดกันภาษีคาร์บอนข้ามแดนให้ผู้ประกอบการไทย

(16 ม.ค.67) ​นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน มีความพร้อมในการจัดหา ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ หรือไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตจากพลังงานสะอาด อย่างมีมาตรฐาน พร้อมด้วยกลไกการรับรองมาตรฐานแหล่งที่มาซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมั่นใจว่าจะมี ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ ในปริมาณเพียงพอสนองตอบต่อความต้องการ และรองรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดและเพิ่มปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

​“เป็นครั้งแรกที่ไทยจะมีกระบวนการผลิต จัดหา และรับรองไฟฟ้าสีเขียวใช้ และผมมั่นใจว่าประเทศไทย มีความพร้อมด้านการให้บริการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ หรือบริษัทข้ามชาติที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากภาษีคาร์บอนข้ามแดน (CBAM) ได้เป็นอย่างดี” นายพีระพันธุ์ กล่าวระหว่างการแถลงข่าว ‘เดินหน้าพลังงานสะอาด Utility Green Tariff ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และการลงทุน’

​นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ตระหนักดีถึงความต้องการใช้พลังงานสีเขียวของภาคธุรกิจ รวมถึงพันธกิจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนภาคพลังงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในขณะนี้สามารถจัดให้มีการให้บริการสองรูปแบบ ทั้งแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการไฟฟ้าสีเขียว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับรู้แหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการได้ พร้อมระบบใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียวที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวทุกกลุ่ม ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการ กกพ. ที่สนับสนุนและร่วมกันทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนอย่างต่อเนื่อง

​นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐาน และมีปริมาณเพียงพอรองรับแนวโน้มความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรมไทยและต่างชาติ นอกจากจะเป็นการยกระดับภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ สร้างโอกาสให้กับประเทศในการเป็นฐานการผลิตรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่จากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

​“กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) และโครงการ UGT ของภาครัฐจะเป็นการต่อยอดและยกระดับอุตสาหกรรมให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้มากยิ่งขึ้น” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

​นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ. ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแล้ว และอยู่ระหว่างนำ (ร่าง) ข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวซึ่งกำหนดภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเปิดบริการไฟฟ้าสีเขียวให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้อย่างเป็นทางการ

​“ในการเตรียมความพร้อมในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว อัตราค่าบริการ และมาตรฐานกระบวนการรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียว กกพ. ได้ทยอยดำเนินการมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) กว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573  ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้เสร็จเรียบร้อยทั้งหมด และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว” นายเสมอใจ กล่าว

​สำหรับขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวนั้น การไฟฟ้าซึ่งเป็น
ผู้ให้บริการในแต่ละพื้นที่จะประกาศให้ทราบต่อไป

​อย่างไรก็ตาม การประกาศโครงการ UGT นับเป็นจุดเริ่มต้นโดยภาครัฐ เพื่อให้ผู้ให้บริการพลังงานทุกภาคส่วนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ในระยะเริ่มต้นอาจยังมีข้อจำกัด โดย กกพ. เล็งเห็นว่าจะสามารถขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้หลากหลายขึ้นและปรับปรุงข้อจำกัดต่างๆ ในระยะถัดไปได้ โดยอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงต้องได้รับความเห็นและเสียงสะท้อนจากผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวด้วย

‘นายกฯ’ เตรียมหารือ ‘รมว.อุตฯ’ แก้กฎหมาย เพิ่มความเข้มงวด โรงงานพลุขนาดใหญ่

(19 ม.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุโรงงานพลุระเบิดที่ จ.สุพรรณบุรี ว่า เรื่องการเยียวยาอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสลดใจ เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ระหว่างนี้ต้องไปดูเรื่องผู้เสียชีวิตที่ต้องได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้อง การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล เพื่อคืนศพให้ญาติพี่น้อง ได้รับรายงานว่าสามารถพิสูจน์ได้แล้ว 15 ราย และทยอยคืนศพแล้ง เรื่องระยะสั้นคงเป็นเรื่องนี้ก่อน 

ส่วนเรื่องที่ต้องแก้ไขข้อกฎหมาย ต้องดูแลให้ดี เพราะมีโรงงานเหล่านี้อยู่จำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปจัดการให้ดี ส่วนมาตรฐานของโรงงาน หวังว่าจะกำกับดูแลที่ดีและถูกต้อง เข้าใจว่าโรงงานพลุแห่งนี้ไม่ได้อยู่ในกำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพราะมีขนาดเล็ก ซึ่งต้องดูว่ากฎหมายอะไรที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจเรื่อง Public Safety

เมื่อถามว่าควรให้โรงงานผลิตพลุอยู่ในการควบคุมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมหรือไม่? นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “มันมีกฎที่จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ที่ถามมาว่าทำไมถึงไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุม เพราะโรงงานนี้มีขนาดเล็ก ซึ่งจะต้องพูดคุยกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมว่าจะขยายหรือไม่ เพราะโรงงานที่อันตรายต้องถูกควบคุมให้ใกล้ชิดมากขึ้น อาจจะต้องจำกัดประเภทธุรกิจและสินค้า แม้ว่าขนาดไม่ใหญ่ แต่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ความหายนะสูงก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำกับดูแลให้มากขึ้น” 

‘รมว.ปุ้ย’ ลุย ‘ระนอง’ รวบปัญหา ศก.ภาคใต้ฝั่งอันดามัน เตรียมนำเสนอ ‘ข้อเรียกร้อง-ทางแก้’ เข้าครม.สัญจร พรุ่งนี้

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ ลงพื้นที่จังหวัดระนอง ประชุม กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมนำเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ พร้อมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชมและรับฟังปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่

(22 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กรอ.) ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดกระบี่, ตรัง, พังงา, ภูเก็ต, ระนอง และสตูล ร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อเตรียมนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการประชุมสอบถามความต้องการขอรับการสนับสนุน ปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งข้อเสนอแนะของผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ เพื่อนำเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ ห้องประชุมรัตนรังสรรค์ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดระนอง ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง

โดยในการประชุมมีการนำเสนอประเด็นและความต้องการขอรับการสนับสนุนในหลายประเด็น สรุปได้ดังนี้…

>> การนำเสนอประเด็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ด้วยการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น โครงการพัฒนาและยกระดับ Andaman Wellness and Spa ที่มุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากร เพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ Wellness and Spa  โดยการบูรณาการร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยให้จังหวัดระนอง เป็นเจ้าภาพหลัก

>> การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งในการแก้ไขควรจัดให้มีการฝึกอบรมเรื่องการลดใช้พลังงาน การสนับสนุนพลังงานทดแทน ปรับปรุงเครื่องจักรที่ทำให้ประหยัดพลังงาน

>> การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาล รวมถึงยกระดับมาตรฐานฮาลาลของไทย เพื่อตอบสนองความต้องการขยายตัวของตลาดโลก โดยการจัดตั้งองค์กรกลางหรือมาตรฐานที่เกี่ยวกับฮาลาล ที่นานาชาติยอมรับ เพื่อให้สามารถจำหน่ายในประเทศต่างๆ ได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศมุสลิม

>> การเพิ่มมูลค่าสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล และแปรรูปเกษตรอื่นๆ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลตามแนวทาง BCG Model ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้กลุ่มอันดามัน โดยต้องเป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม
การขาดแคลนฝีมือแรงงาน โดยได้ขอรับการสนับสนุนให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้อง ตามความต้องการของสถานประกอบการ  

>> การสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัด ที่ได้ขอให้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับในการเข้าถึงสินเชื่อ

นอกจากนี้ มีการนำเสนอประเด็นอื่นๆ อาทิ พื้นที่ที่เหมาะสมในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการประมง แต่ไม่สามารถขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้ ซึ่งเรื่องนี้ มีการเสนอให้แก้ไขผังเมืองให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากอุตสาหกรรม ได้สร้างภาระเพิ่มต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการโรงงาน ซึ่งได้มีการเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากอุตสาหกรรมด้วย

“ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เกิดจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ดิฉัน รับทราบถึงกรณีที่เกิดขึ้นและจะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ เพื่อเสนอประเด็นและวาระ การพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (23 ม.ค.67) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

จากนั้นช่วงบ่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดระนอง เพื่อเยี่ยมชมสถานประกอบการ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท สยามชัยอาหารสากล จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ซูริมิ ซอฟท์เซลล์ สินค้าปู สินค้ากุ้ง และบริษัท มินเนอรัล รีซอร์สเซส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เหมืองดินขาว MRD)

โดยบริษัท สยามชัยอาหารสากล จำกัด ได้รับมาตรฐาน BRC, ISO 9000 ปี 2015, GMP, HACCP, HALAL เป็นต้น รวมทั้งได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับ 2 และยังเข้าร่วมโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการติดตั้งระบบ Sensor เพื่อควบคุมค่ามาตรฐานต่างๆ ในสถานที่เก็บ เพื่อให้สามารถแสดงค่าของปัจจัยได้ตลอดเวลา ผ่านระบบ loT on Cloud เพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพสถานประกอบกิจการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้เข้าร่วมโครงการพลิกธุรกิจ SMEs ไทย สู่การผลิตสมัยใหม่ 4.0 ปี 2565 ด้วย ในการเยี่ยมชม บริษัทฯ ได้ชี้แจงถึงปัญหา อุปสรรคที่พบทั้งค่าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และไม่สามารถคุมราคาขายกับผู้บริโภคได้ ซึ่งในปี 2567 กระทรวงฯ ได้เตรียมที่จะส่งเสริมเรื่องการลดใช้พลังงานในโรงงาน อบรมการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ เครื่องจักร รวมทั้งการจัดการ Logistic เพื่อทำ Cost Cutting เป็นต้น

ส่วนบริษัท มินเนอรัล รีซอร์สเซส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เหมืองดินขาว MRD) ซึ่งเป็นบริษัทฯ ผลิตแร่ดินขาวได้ปริมาณและคุณภาพที่ดี สามารถผลิตป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งแร่ดินขาวให้กลุ่มอุตสาหกรรมภายในประเทศ ประมาณร้อยละ 80 และส่งออกต่างประเทศ ร้อยละ 20 ได้รับมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ มอก. 9001-2559 และระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย มอก. 45001-2561 เข้าร่วมโครงการ CSR-DRIM ตั้งแต่ปี 2555 และเข้าร่วมเครือข่าย CSR-DRIM ตั้งแต่ปี 2557 และได้รับมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวประจำปี 2566 และ การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 2 ตั้งแต่ปี 2554 และระดับ 3 ตั้งแต่ปี 2560 ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ 

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมีอุปสรรคและปัญหาบางประการที่ต้องได้รับการแก้ไขและสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ปัญหาการแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูก ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาต้นทุนพลังงานสูง ปัญหาความซับซ้อนและใช้เวลานานในการขออนุญาตและประทานบัตร และปัญหาระยะเวลาในการขออนุญาตนำแร่ออกนอกเขตไหล่ทวีป ทั้งนี้ ในปี 2567 กระทรวงฯ จะเข้าไปส่งเสริมการสร้างมาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ การพัฒนาฝีมือแรงงาน และการให้ความรู้ภาษาอังกฤษ สนับสนุน/ส่งเสริมการใช้เครื่องจักร ทดแทนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ ผลักดันให้มีเจ้าหน้าที่ด้านเหมืองแร่ประจำที่จังหวัดระนอง การจ่ายค่าภาคหลวงออนไลน์ที่จังหวัดระนอง เป็นต้น

“บริษัทฯ ทั้งสองแห่งมีการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้รับมาตรฐานสากลและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม บริษัททั้งสองแห่งยังคงมีอุปสรรคและปัญหาบางประการที่ต้องได้รับการแก้ไขและสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ปัญหาการแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูก ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาต้นทุนพลังงานสูง ปัญหาความซับซ้อนและใช้เวลานานในการขออนุญาตและประทานบัตร และปัญหาระยะเวลาในการขออนุญาตนำแร่ออกนอกเขตไหล่ทวีป กระทรวงฯได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนบริษัททั้งสองแห่ง โดยในปี 2567 จะให้การส่งเสริมเรื่องการลดใช้พลังงานในโรงงาน อบรมการใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์ เครื่องจักร รวมทั้งการจัดการ Logistic เพื่อทำ Cost Cutting หรือการสร้างมาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ พัฒนาฝีมือแรงงาน และการให้ความรู้ภาษาอังกฤษ สนับสนุน/ส่งเสริมการใช้เครื่องจักร ทดแทนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ ผลักดันให้มีเจ้าหน้าที่ด้านเหมืองแร่ประจำที่จังหวัดระนอง การจ่ายค่าภาคหลวงออนไลน์ที่จังหวัดระนอง เป็นต้น เชื่อว่าแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้บริษัททั้งสองแห่ง สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ขณะที่ในช่วงเย็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ท่าเรือชุมพร (แหลมริ่ว) และท่าเรือระนองแห่งใหม่ (อ่าวอ่าง) เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่พัฒนาโครงสร้างด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ภายใต้ชื่อ ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน (BIMSTEC) เพื่อเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ

'รมว.ปุ้ย' แจ้งข่าวดี!! 'รัสเซีย' ขยายความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย ยกระดับมาตรฐาน 'ส่งออก-นำเข้าสินค้า' ระหว่างไทย–รัสเซีย

(31 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบหารือกับนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ที่ประเทศจีน เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา รัสเซียได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ยาวนาน โดยรัสเซียต้องการขยายความร่วมมือกับประเทศไทยในด้านต่างๆ ทั้งพลังงาน การเงิน เทคโนโลยีดิจิทัล เคมีภัณฑ์ และการเกษตร 

สำหรับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซีย เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกันในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเฉพาะผู้ประกอบการ Start Up และ SMEs อำนวยความสะดวกและสนับสนุนข้อมูลเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทย กับเขตประกอบการ Far East ของรัสเซีย ส่งเสริมให้เกิดการประชุม สัมมนา ระหว่างภาคธุรกิจไทยกับรัสเซีย แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูงตามความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของแต่ละฝ่าย จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน (Working Group) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ MoU ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ล่าสุดคณะผู้แทนการค้าแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย (The Trade Representation of the Russian Federation in the Kingdom of Thailand) ได้เข้าหารือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อรับทราบข้อมูล มาตรฐาน และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำสินค้าที่ สมอ. ควบคุมเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 144 รายการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน โดยรัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทย และอันดับที่ 1 ในสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (รัสเซีย, คาซัคสถาน, เบลารุส, อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน) มีการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ มากเป็นอันดับ 1 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 30 - 40 รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเกษตรและอาหาร แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า รวมทั้งสินค้าสุขอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อ เช่น ถุงมือยางและถุงยางอนามัย เป็นต้น 

ทั้งนี้ ในปี 2566 ประเทศไทยกับรัสเซียมีมูลค่าการค้ารวม 53,441.29 ล้านบาท โดยไทยส่งออกสินค้าไปรัสเซียมีมูลค่า 29,227.50 ล้านบาท และนำเข้าสินค้าจากรัสเซียมีมูลค่า 24,213.79 ล้านบาท มีดุลการค้าระหว่างประเทศเกินดุลอยู่ที่ 5,013.72 ล้านบาท

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะผู้แทนการค้าแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย มีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนข้อมูลทางเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย และกิจกรรมความร่วมมือด้านมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของรัสเซีย ส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างไทย - รัสเซีย ได้เข้าหารือกับ สมอ. เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับมาตรฐาน และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย

โดยเฉพาะสินค้าที่ สมอ. ควบคุม อาทิ สินค้ากลุ่มเหล็ก ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง เครื่องดับเพลิง ของเล่น และหมวกกันน็อก เป็นต้น โดยรัสเซียให้ความสนใจในการนำผลิตภัณฑ์เหล็กเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ เป็นต้น 

การประชุมหารือในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะกระชับความร่วมมือระหว่าง สมอ. กับคณะผู้แทนการค้าแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย ในการเผยแพร่ข้อมูลมาตรฐานของ สมอ. รวมถึงการส่งเสริมการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย เพื่อขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือและข้อตกลงการค้าเสรีในระบบพหุภาคีและทวิภาคี โดยเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้ว รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าการนำเข้าให้แก่ประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย 

‘รมว.ปุ้ย’ หนุน 'เอสเอ็มอีไทย' เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ชูโครงการ ‘หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ เข้าช่วย

(6 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อเข้าถึงหลักประกันและแหล่งเงินทุน ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่ง เพื่อร่วมกันพัฒนากลไกสนับสนุน SMEs ให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินผ่านการช่วยค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

รมว.พิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจทั่วโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ ส่งผลให้เอสเอ็มอีไม่สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจได้อย่างเต็มกำลัง โดย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สู่ความยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและสตาร์ตอัปให้มีความเข้มแข็งภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ และความท้าทายรอบด้าน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าอุปสรรคหนึ่งที่สำคัญต่อการก้าวข้ามปัญหา และความท้าทายดังกล่าว คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ทำได้ยากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รัฐบาลโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ได้ออกกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกันได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ายังมีเอสเอ็มอีจำนวนมากต้องใช้ทรัพย์สินของกิจการเพื่อค้ำประกันในสัดส่วนที่สูง เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส และทำให้เอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ต้องแบกรับภาระต้นทุนทางการเงินมากเกินความจำเป็นจากการใช้สินเชื่อผิดประเภท

“เราได้เล็งเห็นสภาพปัญหาดังกล่าว และนำมาเป็นโจทย์เพื่อหาแนวทางแก้ไข อย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งหากลไกการค้ำประกันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน ได้รับวงเงินสินเชื่อธุรกิจที่เพียงพอกับความต้องการในการต่อยอดธุรกิจ เป็นกลไกหมุนเวียนรายได้และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่างๆ จนสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในประเทศ จนส่งผลให้ธุรกิจสามารถแข่งขันในระดับประเทศและสากลได้”

ทั้งนี้ ด้วยเทรนด์การดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ อาจมีข้อจำกัด ดังนั้น โครงการนี้ จึงหวังที่จะช่วยเอสเอ็มอีได้ยื่นขอเงินสนับสนุนได้ง่ายขึ้น เบื้องต้นคาดมีผู้ประกอบการยื่นขอรับสิทธิ์ราว 1,000 ราย วงเงินสนับสนุนขั้นต่ำระดับ 1,000-2,000 ล้านบาท อีกทั้ง ยังจะช่วยให้เอสเอ็มอีที่ปัจจุบันมียอดการกู้เงินนอกระบบหลักหลายแสนล้านบาท ลดลงด้วย

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดีพร้อม ตอบรับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับ ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. พัฒนากลไกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการใช้การค้ำประกันสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นโดยใช้หนังสือค้ำประกันแทนหลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังมีการให้คำปรึกษาทางการเงิน ผ่าน โครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’

ทั้งนี้ มี 4 พันธมิตรสถาบันการเงิน เข้าร่วมสนับสนุนสอดรับกับนโยบาย Reshape the Future: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคตผ่านกลยุทธ์การปรับตัวเพิ่มการเข้าถึงโอกาส (Reshape the accessibility) ภายใต้นโยบาย DIPROM Connection เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือ สร้างโอกาสและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ เป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง ดีพร้อม กับหน่วยงานพันธมิตรทั้ง 5 ได้แก่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน

โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นเรื่องผ่านดีพร้อมเพื่อขอรับการพิจารณาการค้ำประกันและส่งต่อให้กับทางสถาบันการเงินทั้ง 5 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2567 โดย ดีพร้อม และ บสย. ร่วมกันพิจารณาการค้ำประกันและสามารถแจ้งผลพิจารณาเบื้องต้นภายใน 7 วันทำการ ซึ่งคาดว่าจะมีเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และสามารถต่อยอดการเริ่มต้นธุรกิจและสร้างโอกาสเติบโตคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท

ด้าน นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้กระทรวงการคลัง รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง และมั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้ บสย. โดย ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน ‘บสย. F.A. Center’ จะช่วยให้ SMEs ที่มีมากกว่า 3.2 ล้านราย โดยเฉพาะรายที่ขาดหลักประกันสินเชื่อสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยการใช้กลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ร่วมกับธนาคารพันธมิตรทั้ง 4 สถาบันการเงิน ภายใต้แนวนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม DPROM Connection เชื่อมโยงกับทิศทางการเป็น Digital SMEs Gateway ของ บสย. กับบทบาทการเป็นตัวกลางทางการเงิน (Credit Mediator) เพื่อยกระดับการเข้าถึงสินเชื่อพร้อมการค้ำประกันและการให้คำปรึกษาทางการเงิน การปรับแผนธุรกิจ และการแก้หนี้ให้กับ SMEs ในลักษณะการปรับโครงสร้างหนี้ โดย บสย. F.A. Center

ทั้งนี้ บสย. ได้เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่สมัครและผ่านการพิจารณาเบื้องต้นจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สามารถลงทะเบียน Online เข้าร่วมโครงการผ่าน LINE Official Account @tcgfirst ได้ โดยผู้ประกอบการที่สมัครภายใน 30 วันหลังจากวันที่เปิดรับสมัครและได้รับอนุมัติสินเชื่อพร้อมวงเงินค้ำประกัน 100 รายแรก จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันหรือค่าออกหนังสือค้ำประกันทันที

‘รมว.ปุ้ย’ สั่ง ‘สมอ.’ เร่งแก้ไข-ปรับปรุง ‘สุราพื้นบ้าน’ เน้นคุณภาพให้ได้มาตรฐาน หนุนเป็น Soft Power

(12 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยให้ปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสุราชุมชน เพื่อส่งเสริมให้คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ใช้จ่ายและซื้อสินค้าภายในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการปรับอัตราภาษีสุราพื้นบ้าน เช่น กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้านอื่น ๆ และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี เป็น 0 % รวมทั้งให้กรมสรรพสามิตทบทวนเรื่องกฎหมายที่ช่วยสนับสนุนสุราพื้นบ้านด้วย

“นโยบายดังกล่าวถือเป็นการสร้างโอกาสในการขายสินค้าและสร้างรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก และผู้ผลิตชุมชนที่ผลิตสุราพื้นบ้าน ดิฉันจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานสุราพื้นบ้าน เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตชุมชน พร้อมทั้งผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้านเป็นซอฟท์พาวเวอร์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว หรือเป็นศูนย์กลางด้านร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทย เกิดการกระจายรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนอีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สมอ. มีมาตรฐานสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้าน ที่เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จำนวน 6 มาตรฐาน ได้แก่ สุรากลั่นชุมชน สาโท ไวน์ผลไม้ ไวน์สมุนไพร อุ และ เมรัย โดยมีผู้ผลิตชุมชนได้รับการรับรองมาตรฐาน มผช. แล้ว จำนวน 66 ราย กระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวได้ประกาศใช้มาระยะหนึ่งแล้ว สมอ. จึงต้องดำเนินการทบทวนและปรับปรุงให้ทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน และสอดคล้องตามประกาศของกรมสรรพสามิต รวมทั้งตามมาตรฐาน มอก. สุรากลั่นและสุราแช่ ที่ปรับแก้ไขมาตรฐานไปก่อนหน้านี้ด้วย โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไขมาตรฐาน เช่น  มาตรฐานสุรากลั่นชุมชน แก้ไขข้อกำหนดวัตถุเจือปนอาหาร กรดเบนโซอิก ซึ่งเป็นวัตถุกันเสีย จากเดิม ‘ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร’ แก้เป็น ‘ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร’ มาตรฐานไวน์สมุนไพร แก้ไขข้อกำหนดสารปนเปื้อน ตะกั่ว จากเดิม ‘ไม่เกิน 0.2 ไมโครกรัมต่อลิตร’ แก้เป็น ‘ไม่เกิน 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร’ มาตรฐานเมรัย แก้ไขเกณฑ์ข้อกำหนดสารเอทิลคาร์บาเมต (กรณีผสมสุรากลั่น) จากเดิม ‘ไม่เกิน 400 ไมโครกรัมต่อลิตร’ แก้เป็น ‘ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อลิตร’ เนื่องจากสารดังกล่าวหากมีมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เป็นต้น

นอกจากนี้ สมอ. ยังได้แก้ไขข้อกำหนดในด้านอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้ประชาชนสามารถบริโภคสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้านได้อย่างปลอดภัย โดยทั้ง 6 มาตรฐานได้แก้ไขแล้วเสร็จ พร้อมประกาศใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ เพื่อให้ผู้ผลิตชุมชนที่ผลิตสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้าน สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าให้มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้ต่อไป เลขาธิการ สมอ. กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top