Sunday, 12 May 2024
ปลูกข้าว

นายกรัฐมนตรี Kick off โอนเงินมาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 65/66 งวดแรก 14,531 ล้านบาท

ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลาง จังหวัดเพชรบูรณ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานส่งมอบเงินตามมาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 เป็นวันแรก โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ผู้บริหารและผู้แทนจากส่วนงานต่าง ๆ พร้อมด้วยเกษตรกร  เข้าร่วมกิจกรรม

สำหรับการจัดกิจกรรมในวันนี้ รัฐบาลได้โอนเงินงวดแรกตามมาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไปยังชาวนาทั่วประเทศ จำนวน 14,531 ล้านบาท จากเป้าหมายรวม 81,265 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติวงเงินเพื่อ ให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวผ่าน 4 โครงการ ในการเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่าย และพัฒนาศักยภาพในการผลิต เพื่อให้มีโอกาสขายข้าวเปลือกในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 4.68 ครัวเรือน ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 กันยายน 2566 ประกอบด้วย มาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ โครงการแรกสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 โดยสนับสนุนเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีการผลิต 2565/66 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือน วงเงินงบประมาณ 55,083 ล้านบาท  โดยในส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีเกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 77,452 ราย  เป็นจำนวนเงินกว่า 932 ล้านบาท

‘อนุรัตน์’ ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ เร่งแก้ปัญหาถนนชำรุด กระทบการขนส่งพืชผล ของเกษตรกร

นายอนุรัตน์ ตันบรรจง ส.ส.เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จ.พะเยา กล่าวภายหลังการรายงานตัวรับรองเป็น ส.ส.ว่า ตนจะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขมาอย่างยาวนานให้พี่น้องประชาชน เช่น ปัญหาถนนชำรุด ปัญหาการเกษตร ในจังหวัดพะเยาเป็นพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าว รวมถึงผลไม้ต่างๆ เช่น มะม่วง ลำไย และลิ้นจี่ แต่ถนนเพื่อการเกษตรยังขาดการดูแล ทำให้การขนส่งพืชผลมีภาระต้นทุนสูงขึ้น เพราะว่าถนนนั้นยังชำรุดอยู่ หรือทางเข้าออกยากลำบาก การจะนำพืชผลทางการเกษตรออกมาขายได้ต้องใช้เวลานาน จึงทำให้เกิดการเสียหาย 

นายอนุรัตน์ กล่าวต่อถึงเรื่องของบุคลากรอย่าง อสม.ว่า อสม.เป็นหน่วยงานที่ส่งสริมเรื่องของสุขภาพ ที่ผ่านมา อสม.ถือเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง แต่ตอนนี้ยังขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อที่จะเข้าไปดูแลสุขภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในตำบอล ในหมู่บ้าน ตนจึงอยากจะผลักดันเรื่องของเงินเดือนของ อสม.ให้มีเงินเดือนสูงขึ้น อสม.เป็นจิตอาสา ทำงานอย่างหนัก แต่ได้รับค่าตอบแทนที่ยังไม่คุ้มค่ากับการลงแรงทำงาน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ ที่มี อปพร.กับ ตำรวจบ้าน ทำงานร่วมกันแต่ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนเช่นกัน

นายอนุรัตน์ กล่าวต่อว่า ตนยังมองถึงแผนงานที่จะเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านได้ ก็คือส่งเสริมอาชีพพื้นบ้าน เช่น สินค้าหัตถกรรม โดยเป็นสินค้าที่ทางชุมชนเราผลิตหรือสร้างเอง และนำออกไปขายได้ อย่างเช่น กว๊านพะเยา เป็นแหล่งน้ำที่จะมีผักตบชวา ชาวบ้านจะนำผักตบชวามาตากแห้ง เพื่อเอามาทำเป็นงานจักสานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็จะสามารถสร้างรายได้ 

"อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญมากในพื้นที่จังหวัดพะเยา คือ เรื่องของแหล่งน้ำ เพราะในช่วงฝนตกหนักจะไม่มีพื้นที่รองรับน้ำ ดังนั้น เราจะต้องเร่งประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างเขื่อนหรือฝาย หรืออ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บน้ำ เพราะปัจจุบันอ่างเก็บน้ำมีจำนวนน้อย ดังนั้นเวลาฝนตกลงมาก็จะมีปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอ"นายอนุรัตน์ กล่าว

‘กรมการข้าว’ เดินสายติวเข้ม ‘เกษตรกร’ หวังยกระดับการผลิตข้าวแบบลดโลกร้อน

(19 พ.ย.66) นายอานนท์ นนทรีย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าว มีเป้าหมายนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ หรือ Modern Agriculture Technology จากงานวิจัยมาส่งเสริมเกษตรกร เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน รวมถึงเกิดการผลิตข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแนวทางปฏิบัติของ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ที่เน้นให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ด้วยแนวทาง BCG Model 

“งานวิจัย ถือเป็นภารกิจต้นน้ำของกรมการข้าว แล้วนำมาต่อยอดในช่วงกลางน้ำ ด้วยการขยายผลนำเทคโนโลยีที่ได้มาเผยแพร่ สู่การยอมรับและนำไปใช้ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และปลายน้ำเป็นการนำมาปรับใช้และสร้างมูลค่าเพิ่ม ดั่งคำที่ว่าตลาดนำการผลิต และทำน้อยแต่ได้มาก ล้วนแล้วแต่เป็นการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาใช้ทั้งสิ้น แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาเราจะมุ่งเน้นเพียงแค่เพิ่มของผลผลิตเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะหากการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น แต่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการทำลายสิ่งแวดล้อมย่อมทำให้การผลิตข้าวไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน” นายอานนท์ กล่าว

การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง หรือ AWD นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จ ของการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ โดยเป็นองค์ความรู้ที่กรมการข้าวได้ดำเนินการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งส่งเสริมให้ชาวนาได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ปลูกข้าวนาชลประทาน ทั้งนี้ การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง เป็นการจัดการน้ำที่ใช้น้ำในปริมาณที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งจะใช้ประมาณ 850-900 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อฤดูกาลเพาะปลูก

เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำแบบขังตลอดเวลาจะสามารถใช้น้ำลดลงได้มากถึงร้อยละ 30 แล้วยังเพิ่มผลผลิตข้าวได้อีกถึงร้อยละ10-15 ที่สำคัญเทคโนโลยีนี้ยังสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอันก่อเกิดภาวะโลกร้อนลงได้ถึงร้อยละ 80 ทั้งนี้ตัวอย่างของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ยกมาให้เห็นนี้เป็นเพียงบางส่วนของงานวิจัยที่กรมการข้าวได้ดำเนินการ และขยายผลสู่เกษตรกรให้มีการผลิตข้าวแบบลดโลกร้อน

“กรมการข้าว ได้นำผลงานวิจัยดังกล่าว มาถ่ายทอดสู่เกษตรกร ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว’ ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมวิสมา โฮเทล จังหวัดราชบุรี

โดยการฝึกอบรมดังกล่าว เป็นการจัดครั้งที่ 2 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของกรมการข้าว และเกษตรกรชั้นนำภายใต้กลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนในเขตภาคกลาง จำนวน 100 คน เข้าเรียนรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ข้าวที่มีระบบรากแข็งแรงต้านทานภัยแล้ง เทคนิคการปรับพื้นที่ให้ราบเรียบด้วยเลเซอร์ การปลูกข้าวด้วยเครื่องหยอดข้าวงอกและข้าวแห้ง การใช้โดรนฉีดพ่นทางการเกษตรให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และการใช้สารอินทรีย์รมกำจัดแมลงศัตรูข้าวในโรงเก็บซึ่งปลอดภัยต่อคนและสภาพแวดล้อมอีกด้วย” นายอานนท์ กล่าว

‘มาร์ส เพ็ทแคร์’ หนุนเกษตรกรปลูก ‘ข้าว-ข้าวโพด’ อย่างยั่งยืน หวังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำร่อง ‘นครราชสีมา-ลพบุรี’

(21 พ.ย. 66) นายปิยรัฐ อมรฉัตร ผู้อำนวยการด้านการจัดซื้อ ภูมิภาคเอเชีย บริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการร่วมกับ 6 พันธมิตรทางการค้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิตผ่านโครงการเกษตรกรรมฟื้นฟู

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้กิจกรรม Climate Actions For A Better Tomorrow โดยจะนำร่องโครงการในการปลูกข้าวโพดและข้าวนำร่อง ที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ลพบุรี 

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายบริษัท ที่วางแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2573 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 

ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีส่วนสำคัญในการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์และฟื้นฟูดินควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

“มาร์ส เพ็ทแคร์ ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงภายใต้กรอบความยั่งยืนและหนึ่งในเป้าหมายความยั่งยืน คือ การลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยดำเนินโครงการเกษตรกรรมฟื้นฟู มุ่งยกระดับสุขภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อจัดเก็บคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับปรุงคุณภาพของลุ่มน้ำ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งโครงการนี้จะเสริมสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งกับเกษตรกร เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก้าวไปสู่การเกษตรแบบเท่าทันภูมิอากาศ ( Climate Smart Agriculture) โดยทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์และเกษตรกรส่งเสริมวิธีการทำเกษตรที่ดียิ่งขึ้น และการสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพกระบวนการผลิตข้าวโพดและข้าวอย่างยั่งยืน” 

นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นวาระสำคัญของทุกภาคส่วน โดยภาครัฐพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากกลุ่มภาคเกษตรกรรม เพราะเป็นอาชีพหลักของประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับ 6 พันธมิตรที่ร่วมดำเนินการ ประกอบด้วย ร้านตรงพานิช, บริษัท ส.วิริยะอินเตอร์เทรด จำกัด ,บริษัท พูลอุดม จำกัด, บริษัท วชาไล จำกัด (แสงตะวัน), ห้างหุ้นส่วนจำกัดกรแก้วพืชผล และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนลไรซ์ แอนด์โปรดักซ์ จำกัด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top