Tuesday, 21 May 2024
ปลดล็อกท้องถิ่น

'ก้าวไกล' ชู แคมเปญ 'ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น' ยัน!! ไม่นำไปสู่การยกเลิก 'กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน'

(7 ธ.ค. 65) แถลงการณ์พรรคก้าวไกล ต่อกรณีที่มีการพยายามโจมตีว่าการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ยืนยันไม่เป็นความจริงที่ผ่านมา คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์และนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับประชาชนที่เข้าชื่อจำนวน 80,772 คน ภายใต้ชื่อแคมเปญ 'ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น'

หัวใจสำคัญของข้อเสนอคือการกระจายอำนาจให้กับประชาชน ให้ทุกจังหวัดทุกพื้นที่มีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการกำหนดอนาคตของตนเองและยกระดับการพัฒนาของพื้นที่ ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ตัวแทนของประชาชนผู้เสนอร่าง ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างฯ โดยสมาชิกรัฐสภาจากหลายฝ่ายได้แสดงความเห็นในเชิงสนับสนันกับหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในฐานะกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับบริการสาธารณะ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ แม้อาจมีข้อถกเถียงที่แตกต่างกันในเชิงรายละเอียด

ทางเราได้พยายามชี้แจงและตอบทุกข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาและประชาชนทั่วไป แต่เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าบางท่านอาจยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อสถานะและบทบาทของข้าราชการส่วนภูมิภาค และ เจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องที่ (เช่น กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน) หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเฉพาะความกังวลที่ถูกสะท้อนในแถลงการณ์ของ ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2/2565 (6 ธันวาคม 2565) ทางเราจึงขอชี้แจงเพื่อความชัดเจนดังกล่าว...

1. ส่วนภูมิภาค และ ส่วนท้องที่ มีลักษณะที่แตกต่างกัน - ส่วนภูมิภาคประกอบไปด้วยจังหวัดและอำเภอ (อ้างอิง พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พุทธศักราช 2534 มาตรา 51) ซึ่งข้าราชการมาจากการแต่งตั้ง ในขณะที่ส่วนท้องถิ่นประกอบไปด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มาจากการเลือก และถูกคาดหวังให้ประสานงานระหว่างราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อ้างอิง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อเสนอใด ๆ เกี่ยวกับราชการส่วนท้องที่ ดังนั้น จึงไม่นำไปสู่การยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านแต่อย่างใด

'ก้าวหน้า-ก้าวไกล' เสียดายอนาคตประเทศ หลังสภาคว่ำร่าง 'ปลดล็อกท้องถิ่น'

‘ก้าวหน้า-ก้าวไกล’ แถลงเสียดายอนาคตประเทศ หลังสภาคว่ำร่างปลดล็อกท้องถิ่น ‘ธนาธร’ ยัน ไม่ได้เสนอยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ด้าน ‘พิธา’ รับไม้ต่อ ชูนโยบายกระจายอำนาจปราศรัยทั่วประเทศ ชี้ ส.ส. มีหน้าที่ผ่านกฎหมายก้าวหน้า ไม่ใช่ดึงงบลงบ้านใหญ่

(7 ธ.ค. 65) ที่รัฐสภา คณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าวภายหลังรัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ จากการเข้าชื่อของประชาชน ด้วยคะแนนรับหลักการ 254 คน ไม่รับหลักการ 245 คน และ งดออกเสียง 129 คน นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล และวีระศักดิ์ เครือเทพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หนึ่งในผู้ชี้แจงร่างปลดล็อกท้องถิ่น

ธนาธร กล่าวว่า เราอยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองมานาน แต่ร่างฉบับนี้เป็นร่างที่ตั้งใจปฏิรูป เพื่อทำให้ระบบราชการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชน ทันต่อสถานการณ์โลก แบ่งเบาภาระราชการส่วนกลาง ให้ท้องถิ่นดูแลบริการสาธารณะทุกอย่างในพื้นที่และมีงบประมาณเพียงพอ ขณะที่ส่วนกลาง ดูแลมาตรฐานการบริการสาธารณะให้ทุกพื้นที่มีคุณภาพเหมือนกันและพาประเทศไทยไปเวทีโลก

ธนาธร กล่าวต่อว่า บางฝ่ายให้ความเห็นว่าแนวคิดของพวกเราสุดโต่งเกินไป แต่การปล่อยให้ปัญหาของประชาชนอยู่มานานโดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนที่กักขังประเทศไว้แบบนี้ต่างหากที่สุดโต่ง นอกจากนี้ ร่างฉบับนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่ให้จัดทำแผนยกเลิกส่วนภูมิภาค และทำประชามติถามประชาชนว่าจะยกเลิกหรือไม่ภายใน 5 ปี มาถกเถียงกันว่าเมื่อกระจายอำนาจและงบประมาณไปให้ท้องถิ่นเต็มที่แล้ว ราชการส่วนภูมิภาคควรมีบทบาทอย่างไร และสุดท้ายคือเรื่องการทุจริต ตนคิดว่าทุกรายงานยืนยันตรงกัน ว่าส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีมูลค่าการทุจริตมากกว่าท้องถิ่น

“ขอยืนยันความตั้งใจของเรา ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เป็นการทำให้การบริการของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลายข้อกล่าวหาที่เราได้รับจึงไม่ได้ตั้งอยู่บนความจริง แต่ตั้งอยู่บนอคติที่ผิด เสียดายเวลาและโอกาสของประเทศ ทั้งที่หากเราเห็นไม่ตรงกัน รัฐสภาควรรับหลักการในวาระ 1 เพื่อไปถกเถียงแลกเปลี่ยนในวาระ 2 ต่อ เพราะเรายืนยันชัดเจนว่าพร้อมประนีประนอม แต่แม้วันนี้ทำไม่สำเร็จ คณะก้าวหน้าจะเดินหน้ารณรงค์เรื่องการกระจายอำนาจต่อไป และเชื่อว่าเพื่อนร่วมงานของเราในพรรคก้าวไกล จะสานต่อภารกิจนี้” ธนาธรกล่าว

ขณะที่ พิธา กล่าวว่า การกระจายอำนาจอย่างแท้จริงเป็นหนทางเดียวของประเทศไทย เป็นนโยบายที่จะปราศรัยทุกเขต เช่นนโยบายยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ล้วงลูกการทำงานของท้องถิ่น หรือการเพิ่มงบของท้องถิ่นทั่วประเทศ 200,000 ล้านบาท ภายใน 4 ปี โดยที่ผ่านมาเห็นว่าเป็นนโยบายที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี จากการลงพื้นที่ ตนได้เห็นท้องถิ่นที่มีศักยภาพ แต่หากไม่มีการแก้ไขกฎหมายให้กระจายอำนาจมากขึ้น ประเทศไทยก็จะกระจุกตัวต่อไป

‘ก้าวไกล’ รับฟังปัญหาชุมชนแออัดในเชียงใหม่ พร้อมชงปลดล็อกท้องถิ่น กระจายที่ดินสู่ปชช.

‘พิธา’ พร้อมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ก้าวไกล สำรวจชุมชนแออัดเชียงใหม่ ชี้ปัญหาประชาชนไม่มีที่อยู่มั่นคง ที่ดินถูกทิ้งร้าง-กระจุกในมือเอกชนรายใหญ่ ชงแก้ปัญหาระยะยาว สร้างรัฐสวัสดิการ-ปลดล็อกท้องถิ่น-กระจายที่ดินให้ประชาชน

วันที่ 10 ธันวาคม 2565 ที่จังหวัดเชียงใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ ของพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย เขต 1 เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู, เขต 3 ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล และ เขต 4 พุธิตา ชัยอนันต์ ร่วมสำรวจและรับฟังปัญหาชาวชุมชนริมคลองแม่ข่า หลังวัดโลกโมฬี อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนแออัดที่อยู่ในพื้นที่ของเทศบาลนครเชียงใหม่ และกำลังได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาแม่บทคลองแม่ข่า รวมถึงการไล่รื้อชุมชนออกจากพื้นที่ด้วย

.จากการรับฟังปัญหา พบว่าชุมชนแออัดในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ มีจำนวนกว่า 21 ชุมชน รวม 2,169 หลังคาเรือน คิดเป็น 3% ของประชากรในเขตเทศบาล โดยที่ดินที่อาศัยอยู่ทั้งหมดเป็นที่ดินของรัฐ ส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุและเทศบาลนครเชียงใหม่ และหน่วยงานอื่น ๆ รวมกันกว่า 9 หน่วยงาน ชาวชุมชนมีทั้งที่อยู่อาศัยโดยมีสัญญาเช่าและไม่มีสัญญาเช่า ซึ่งตามแผนพัฒนาแม่บทคลองแม่ข่าไม่ได้มีแผนในการจัดการที่อยู่อาศัยหรือการชดเชยที่ชัดเจนหากการไล่รื้อเกิดขึ้น

.เพชรรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตัวแทนชุมชนมีข้อเสนอในการจัดการ โดยขอให้ทางจังหวัดหยุดการไล่รื้อหรือย้ายประชาชนออกจากชุมชนจนกว่าจะมีแผนแม่บทการจัดการที่อยู่อาศัยที่ชัดเจน โดยชุมชนพร้อมจะปรับปรุงในที่ดินเดิมผ่านคณะทํางานที่อยู่อาศัยระดับชุมชน ในการร่วมกำหนดระยะร่นของอาคารและการปรับปรุงที่เหมาะสม ส่วนประชาชนที่ไม่สามารถอยู่ที่เดิมได้ จะขอเช่าอยู่ในพื้นที่ของรัฐใกล้เคียงที่เดิมและขอมีส่วนร่วมในการกําหนดเกณฑ์การพิจารณาสิทธิในการอยู่อาศัยร่วมกับคณะทํางาน

‘ธนาธร’ ชี้ ‘กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น’ มีผลดีมหาศาล ช่วยขับเคลื่อน ศก.-เกิดการจ้างงาน-ลดความเหลื่อมล้ำ

(3 เม.ย. 66) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และวสันต์ เหลืองประภัสร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมวงเสวนาวิชาการ ‘30 ปี ข้อถกเถียงเรื่องการกระจายอำนาจ กับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของไทย’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแถลงข่าว โดย สันติสุข กาญจนประกร บรรณาธิการ The Voters ที่กำลังเปิดการรณรงค์ล่ารายชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งประเทศ

ธนาธร ระบุว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในประเทศไทยนั้นยังเป็นโจทย์ที่ต้องมาพูดคุยกันในรายละเอียดอีกมาก แต่หลักการสำคัญที่สุดที่ไม่อาจขาดได้ คือการทำให้หน่วยการปกครองที่มีอำนาจสูงสุดทั้งในระดับจังหวัดและในระดับท้องถิ่นพื้นฐานอย่างเทศบาล และ อบต. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งไม่ใช่รูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของการปกครองท้องถิ่น ภายใต้กลไกราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแน่ ๆ

การจัดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของอำนาจและงบประมาณ ที่เต็มไปด้วย ‘งบฝาก’ ให้ท้องถิ่นทำภารกิจที่ไม่ใช่เรื่องของท้องถิ่น แต่แทบไม่มีงบประมาณให้ท้องถิ่นได้ทำเรื่องของตัวเองจริงๆ กลายเป็นอุปสรรคที่บดบังเจตนารมณ์ของประชาชนที่จะสร้างบ้านสร้างเมืองของตัวเอง ทำให้ประชาธิปไตยไม่มีความหมาย ทำให้การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ไม่มีครั้งไหนที่ทำให้ชีวิตดีได้อย่างมีนัยสำคัญ

ธนาธรกล่าวต่อไปว่า ในด้านหนึ่งการรวมศูนย์เช่นนี้คือต้นเหตุหนึ่งของความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากในประเทศไทย ที่สะท้อนออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในต่างจังหวัด งานและรายได้ที่กระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะตามเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ระบบราชการรวมศูนย์ยังเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งด้วย นั่นเป็นเพราะภายใต้โครงสร้างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การอนุมัติโครงการใด ๆ แม้กระทั่งการสร้างสะพานลอยสักเส้นหนึ่งในตำบลหนึ่ง ล้วนแต่เป็นเรื่องของส่วนกลาง ต้องรอให้ถูกหยิบยกมาพิจารณาแล้วรอการอนุมัติ ทำให้ทุกการแก้ปัญหาเป็นเรื่องล่าช้า

เรื่องของอำนาจท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่ส่งผลโดยตรงในทุกมิติของชีวิตประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง และได้เกิดข้อพิสูจน์มาแล้วว่าการกระจายอำนาจสามารถระเบิดพลังทางเศรษฐกิจได้จริง อย่างเช่นที่ญี่ปุ่น ที่ในปลายทศวรรษที่ 1980 เมื่อเผชิญกับวิกฤติฟองสบู่แตก ต้องหา new s-curve (อุตสาหกรรมใหม่) ที่จะพาประเทศไปข้างหน้าได้ สิ่งที่ญี่ปุ่นทำคือการกระจายอำนาจอย่างเต็มรูปแบบ เกิดการยกเลิกกฎหมายกว่า 100 ฉบับที่เดิมเคยให้ส่วนกลางเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในทุกเรื่องของท้องถิ่น เปลี่ยนมาเป็นการให้ท้องถิ่นมีอำนาจเต็ม จนแต่ละเมืองเริ่มมีการผลักดันสถานที่ท่องเที่ยว สินค้าและผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นขึ้นมาเป็นจุดขายใหม่ ออกแบบระบบขนส่งสาธารณะ และบริการสาธารณะต่าง ๆ ของตัวเองขึ้นมา

ธนาธรกล่าวต่อไป ว่า new s-curve คือสิ่งที่ประเทศไทยก็กำลังพยายามแสวงหาอยู่เช่นกัน เพราะอุตสาหกรรมที่เป็นเสาหลักของประเทศไทยมาโดยตลอดอย่างยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ มาถึงจุดอิ่มตัวของมันเองแล้ว แม้จะเพิ่มการลงทุนในรูปแบบเม็ดเงินใหม่ได้ แต่ไม่อาจเพิ่มกำลังการผลิต ไม่สามารถนำไปสู่การจ้างงานใหม่ ๆ ได้อีกต่อไป เรียกได้ว่าอุตสาหกรรมทั้งยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ จบที่ยุคนี้แล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top