Monday, 29 April 2024
ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ

แถลงไข!! ‘พระจันทร์สีเลือด’ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ พิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ มิใช่สัญญาณบอกเหตุลางร้าย

เมื่อวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นเทศกาลลอยกระทงในรอบ 3 ปี ของประเทศไทย ที่ประชานชนทุกภาคได้มีโอกาสลอยกระทง และมีการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และมีเรื่องราวหนึ่งที่มาพร้อมกับการเกิดพระจันทร์เต็มดวงที่ตรงกับเทศกาลลอยกระทงปีนี้คือ การเกิดปรากฏการณ์ลักษณะสีของดวงจันทร์ที่มีสีแดงอิฐคล้ายสีเลือด หรือเรามักเรียกกันว่า ‘พระจันทร์สีเลือด’ นั่นเอง 

เมื่อเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น ก็จะมีคนในวงการหมอดูหรือทางโหราศาสตร์ออกมาแสดงความคิดเห็นกัน รวมทั้งเล่าเรื่องราวที่สืบต่อกันมา ว่าจะเป็นสัญญาณในการเกิดเหตุร้าย และมีบางสำนักออกมาบอกถึงขั้นว่าไม่ควรจะไปโดนแสงที่เกิดจากพระจันทร์สีเลือด เพราะจะทำให้เกิดเภทภัยภยันตรายตามมา 

บางรายก็บอกลงลึกไปถึงขั้นว่า คนที่เกิดราศีไหนจะเกิดผลกระทบมากที่สุดเมื่อโดนแสงจันทร์สีเลือด และมีคำเตือนไม่ให้คนในราศรีนี้ออกไปข้างนอกในช่วงเวลาดังกล่าว หนักถึงขั้นบางสำนักมีวิธีการในการแก้ไขว่าต้องทำกิจกรรมอะไรถึงจะแก้ไขเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากพระจันทร์สีเลือดอีกด้วย

สำหรับเรื่องพระจันทร์สีเลือดนี้ ผู้เขียนจะขอพูดถึงลักษณะปรากฏการณ์ที่ทำให้พระจันทร์มีสีเลือดกัน โดยใช้ 'หลักการทางวิทยาศาสตร์' ที่ได้ข้อมูลมาจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติมาอธิบายกันครับ 

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 15.02 - 20.56 น. (ตามเวลาประเทศไทย) โดยเราจะเริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงที่ดวงจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้า ในเวลาประมาณ 17.44 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก ตรงกับช่วงที่กำลังเกิดคราสเต็มดวง มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลาประมาณ 18.41 น. 

จากนั้นเริ่มเห็นดวงจันทร์ปรากฏเว้าแหว่งบางส่วนและค่อย ๆ ออกจากเงามืดของโลก จนกระทั่งเข้าสู่เงามัวหมดทั้งดวงในเวลา 19.49 น. เปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก เนื่องจากความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20.56 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์  

ขณะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อแสงของดวงอาทิตย์ ผ่านบรรยากาศโลก แสงสีน้ำเงินที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าจะถูกบรรยากาศกระเจิงออกไปหมด เหลือแต่แสงสีแดงที่มีความยาวคลื่นยาวกว่าหักเหไปตกกระทบบนผิวดวงจันทร์ จึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดง 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top