Thursday, 2 May 2024
ประกันรายได้

ครม.เตรียมเคาะโครงการประกันรายได้ “ข้าว มัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ที่ประชุมเตรียมพิจารณาข้อเสนอของหน่วยงานต่าง ๆ โดยกระทรวงพาณิชย์เสนอโครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งจะครอบคลุมพืชสำคัญทั้ง 3 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงมาตรการคู่ขนานเพื่อจะช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาพืชแต่ละชนิดเอาไว้ แยกเป็น โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 มีกรอบวงเงินที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) วงเงิน 89,402 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายเกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 4.689 ล้านครัวเรือน 

ทั้งนี้ได้กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้ คือ ราคาความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ยกเว้นข้าวเจ้า ไม่เกิน 50 ไร่ โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน  

ส่วนการประกันรายได้ประกันรายได้มันสำปะหลัง ปีการผลิต 2564/65 มีวงเงิน 6,811 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับประกันรายได้ มันสำปะหลังที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท แต่ไม่เกิน 100 ตันต่อครัวเรือน และไม่ซ้ำแปลง คาดว่า จะช่วยดูแลเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังกว่า 520,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ และมาตรการคู่ขนาน 4 โครงการ คือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง และโครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง

ขยายกรอบชดเชยมาตรา 28 เพิ่ม 1.5 แสนล. จ่ายเงินประกันรายได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการขยายกรอบอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 จากที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพิ่มขึ้นเป็น 35% เป็นระยะเวลา 1 ปี สำหรับปีงบประมาณ 65 เพื่อเปิดเป็นวงเงินให้สำหรับโครงการประกันรายได้พืชผลเกษตรตามนโยบายของรัฐบาล 

“เหตุผลที่ต้องขยายกรอบครั้งนี้ เพราะวงเงินภายใต้กรอบอัตรายอดคงค้าง ณ วันที่ 19 พ.ย.64 มีวงเงินคงเหลือเพียง 5,360 ล้านบาท ไม่เพียงพอกับการดูแลโครงการประกันรายได้ ดังนั้นเมื่อขยายกรอบเพิ่มขึ้นมาอีก 5% จะมีวงเงินเพิ่มได้อีก 1.55 แสนล้านบาท รวมเป็น 160,360 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอกับโครงการประกันรายได้ โดยเฉพาะโครงการที่รอการอนุมัติในส่วนที่ 2 ทั้งการประกันรายได้ข้าว และยางพารา เพื่อให้เกษตรกรได้รับเงินจากโครงการประกันครบทั้งหมด  และเมื่อผ่านการเห็นชอบแล้ว คาดว่า ในเดือนธ.ค.นี้ ธ.ก.ส.จะเร่งจ่ายเงินได้แล้วเสร็จสิ้นภายในฤดูเก็บเกี่ยวนี้”

กาฬสินธุ์ - ชาวนาพอใจ เงินประกันรายได้ภาพรวมถึงมือแล้ว 3,600 ล้าน

ชาวนาจังหวัดกาฬสินธุ์ พอใจเงินประกันรายได้ทำนา และเงินค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตข้าว ฤดูกาลผลิต 2564/65 ที่รัฐบาลจัดให้ ช่วยลดต้นทุนการผลิต มีเงินใช้จ่ายในการครองชีพช่วงสถานการณ์โควิด และมีเงินทุนทำนาปรัง อยากให้มีโครงการนี้ตลอดไป ในขณะที่เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ เผยภาพรวม รัฐโอนถึงมือชาวนาแล้ว 9 งวดเม็ดเงิน 3,678,654,188 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงฤดูแล้งและสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าในเขตใช้น้ำชลประทานลำปาว เริ่มลงมือเพาะปลูกข้าวนาปรังกันแล้ว หลังทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว ได้ระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก แม้ราคาขายข้าวเปลือกนาปีที่ผ่านมาจะตกต่ำ โดยเริ่มต้นเพียงกิโลกรัมละ 5 บาท ทำให้ชาวนาหลายคนถอดใจไม่อยากทำนา เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน  แต่วันนี้ชาวนากลับมาทำนาด้วยความหวังใหม่อีกครั้ง  ทั้งนี้เป็นผลพวงจากการได้รับเงินส่วนต่าง หรือเงินประกันรายได้ รวมทั้งยังได้รับเงินค่าเก็บเกี่ยวอีกไร่ละ 1,000 บาท เป็นรายได้ 2 ต่อหลังจากขายข้าวเปลือกขาดทุนอีกด้วย

นายพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในส่วนโครงการที่รัฐบาลมอบให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวฤดูกาลผลิต 2564/65 มี 2 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องปีที่ 3 คือโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเงินส่วนต่าง และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเงินค่าเก็บเกี่ยว  ซึ่งเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวไว้และผ่านการรับรอง จำนวน 153,884 ครัวเรือน 265,859 แปลง เนื้อที่ 1,558,244.46 ไร่ ผ่านการรับรองและได้รับการช่วยเหลือ ตัดยอดล่าสุด 9 งวด (4 ม.ค.65) จำนวน 153,544 ครัวเรือน 264,997 แปลง เนื้อที่ 1,553,351.34 ไร่

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า ผลการโอนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2,272,155,530 บาท ขณะที่ผลการโอนเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 1,406,498,618 บาท รวมจำนวน 3,678,654,188 ล้านบาท โดยยังเหลือที่จะโอนให้อีก 2 งวด รวมที่รัฐบาลจะจัดโอนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั้ง 2 โครงการทั้งหมด 11 งวด ทั้งนี้ เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในการลดต้นทุนการผลิต มีเงินใช้จ่ายในการอุปโภค บริโภคในครัวเรือน ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมาเกษตรกรได้รับความพึงพอใจ 100%

ด้านนายประเสริฐ ภูสิงหา อายุ 55 ปี ชาวนาบ้านหนองบัวหน่วย อยู่บ้านเลขที่ 21 หมู่ 16 ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า ตนที่พื้นที่ทำนา 19 ไร่ ขายผลผลิตข้าวนาปีได้กิโลกรัมละ 6 บาท ซึ่งขาดทุน เนื่องจากค่าปุ๋ยเคมี ค่าเก็บเกี่ยวสูงมาก จนคิดว่าในฤดูแล้งนี้ไม่อยากจะทำนาปรัง เพราะทำไปก็ขาดทุนซ้ำซาก แต่พอทางรัฐบาลจัดเงินส่วนต่างและค่าเก็บเกี่ยวให้ โดยโอนผ่าน ธ.ก.ส.ครอบครัวตนได้เกือบ  30,000 บาท ทำให้พอมีเงินใช้หนี้ปุ๋ยเคมี และชดเชยค่ารถเกี่ยวข้าว ทั้งมีเหลือพอใช้จ่ายในครัวเรือนบ้างจึงมีกำลังใจที่จะทำนาต่อไป ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลมีโครงการดี ๆ นี้ต่อเนื่องตลอดไป

 

'นายกฯ' เคาะประกันรายได้เกษตรกร เฟส 4 วงเงิน 7.6 พันล้าน คาดเริ่มจ่ายงวดแรก ก.พ.นี้

(1 ก.พ. 66) นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) วันนี้ (1 ก.พ. 66) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 วงเงินรวมกว่า 7.6 พันล้านบาท โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะเร่งเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ และคาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินงวดแรกได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 ล่าสุดมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 จำนวนทั้งสิ้น 1,604,379 ราย (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,372,865 ราย และคนกรีดยาง 231,514 ราย) คิดเป็นพื้นที่ปลูกยาง รวม 18,183,764.59 ไร่ ซึ่งเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว

‘จุรินทร์’ เผย เริ่มจ่ายเงินประกันรายได้ยางพาราปี 4 แล้ว แนะ ชาวสวนยางอัปเดตสมุดบัญชี ธกส. เพื่อรับเงินส่วนต่าง

(18 เม.ย.66) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ประเด็นการเดินหน้าโครงการประกันรายได้ ปี 4 ที่บริเวณหน้าตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

นายจุรินทร์กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เราเดินหน้าปี 4 ทุกตัว แต่ตอนนี้การจ่ายเงินส่วนต่างในส่วนของข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังไม่มี เพราะราคาดีมาก มันสำปะหลังเราประกันที่ 2.50 บาท/กก. ตอนนี้ไป 3 บาทกว่าเกือบ 4 บาท/กก. และข้าวโพดประกันรายได้ที่ 8.50 บาท/กก. ตอนนี้ไป 12 บาท/กก. ส่วนปาล์มน้ำมัน ประกันรายได้ 4 บาท/กก. ตอนนี้ 5-6 บาท/กก. ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ถือว่าดี ข้าวตอนนี้ราคาเกือบถึงราคาที่ประกัน ถือว่ายังราคาดีอยู่ ข้าวบางตัวราคาสูงกว่าที่ประกัน ส่วนยางพาราต้องจ่าย ซึ่งยางพาราปี 4 เริ่มจ่ายส่วนต่างแล้ว ขอเรียนข่าวดีให้พี่น้องชาวสวนยางทั่วประเทศ เริ่มจ่ายตั้งแต่ 12 เมษายน และจะทยอยจ่ายไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม มีวงเงินเตรียมไว้แล้ว 7,000 กว่าล้านบาทเสนอผ่านครม.ไปแล้ว

ประชาธิปัตย์ปลื้มนโยบายประกันรายได้โดนใจชาวนา

'อลงกรณ์' ขอบคุณผู้นำสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยเชียร์ชาวนา 4.6 ล้านครัวเรือนกาเบอร์ 26 พรรคประชาธิปัตย์ เผยทีมเศรษฐกิจปชป.เตรียมเปิดตัวนโยบายเกษตรทันสมัย 26-26 แก้หนี้ แก้จนแบบเต็มคาราเบล  27 เม.ย.นี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าววันนี้(26 เม.ย)ว่า ขอขอบคุณ นายเดชา นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยที่ออกมาประกาศสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์โดยขอให้ชาวนา 4.6 ล้านครัวเรือน กาเบอร์ 26 พรรคประชาธิปัตย์ เพราะชาวนาได้รับการดูแลช่วยเหลือและได้ประโยชน์จากผลงานและนโยบายประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top