Tuesday, 21 May 2024
บุ้งเนติพร

รู้จัก ‘บุ้ง เนติพร’ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ‘กลุ่มทะลุวัง’ เติบโตในครอบครัวของนักกฎหมาย แต่สุดท้ายต้องเข้าไปอยู่ใน ‘คุก’

‘บุ้ง เนติพร’ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง  สมาชิกกลุ่มทะลุวัง วัย 27 ปี ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้ปกครอง” ของหยก เริ่มเป็นที่รู้จักของสังคมเมื่อตอนที่ได้ทำ 
“โพลสติกเกอร์สำรวจความคิดเห็น” เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมักจะหยิบยกคำถามที่ไม่เหมาะสม ไม่บังควรเช่น คำถามเกี่ยวกับขบวนเสด็จ หรือคำถามเกี่ยวกับงบประมาณสถาบันฯ มาเป็นตั้งโพลสอบถามในที่สาธารณะ โดยเคยทำโพลถามว่า "ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?" และไปส่งโพลไปที่วังสระปทุมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565

ในวัยเด็กนั้น บุ้งเติบโตขึ้นมาในครอบครัวของนักกฎหมาย มีพ่อเป็นผู้พิพากษา พี่สาวเป็นทนายความ มี “ศาล” เป็นสนามเด็กเล่น ตัวบุ้งเอง ก่อนหน้านี้ก็เคยถูกคาดหวังว่าให้เรียนกฎหมายเหมือนกับพ่อและพี่สาว เพื่อจะได้เข้าไปนั่งทำงานในศาล แต่ภาพฝันของทางครอบครัวคงจะไม่มีวันเป็นความจริง เพราะปัจจุบันเขาเลือกเส้นทางชีวิตที่ตรงกันข้าม
เขาเลือกที่จะเป็นแกนนำของกลุ่มทะลุวัง และเคลื่อนไหวเพื่อทำลายสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของคนไทยทั้งชาติ   

บุ้ง ถูกตั้งข้อหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และได้เข้ารายงานตัวที่ สน.ปทุมวันเมื่อ 10 มีนาคม 2565 ศาลได้มีคำสั่งให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์รายละ 200,000 บาท พร้อมคำสั่งติดกำไล EM ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวคือ
1) ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
2) ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
3) ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

แต่บุ้งก็ยังไม่หยุดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ต่อมาศาลจึงมีคำสั่งให้ ควบคุมตัว บุ้ง 
ไปที่เรือนจำทัณฑสถานหญิงกลาง ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา รวมระยะเวลาที่บุ้งต้องใช้ชีวิตในสถานที่แห่งนั้นเป็นเวลาทั้งสิ้น 94 วัน

ศาลฯ สั่งถอนประกัน 'บุ้ง' คดี ม.112 ส่งตัวเข้าคุก ไม่รอลงอาญา ด้าน 'หยก' ถูกออกหมายจับ หลังไม่มาฟังคำสั่งศาล

(26 ม.ค. 67) ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำสั่งกรณีตำรวจ สน.ปทุมวัน ไปร้องให้ถอนประกันตัว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ บุ้ง-เนติพร (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ที่ห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565

พร้อมนัดฟังคำวินิจฉัยคดีละเมิดอำนาจศาล ของ บุ้ง และ หยก กรณีเหตุที่ศาลในวันฟังคำพิพากษาคดีของโฟล์ค สหรัฐ โดยในวันดังกล่าวได้มีเหตุกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล ต่อมาศาลได้นัดไต่สวนไปเมื่อ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง เป็นบุคคลภายนอก แม้จะอ้างว่าเป็นเพื่อนกับสหรัฐ แต่ก็ไม่สามารถเข้ามาก้าวก่ายได้ หากต้องการทราบสิ่งใดย่อมสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่อยู่ป้อมยาม แต่การที่ทั้งสองถือวิสาสะปีนเข้าไป ในลักษณะท้าทายเจ้าพนักงานตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นการเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งในพื้นที่ควบคุมอย่างร้ายแรง เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปแจ้งให้หยุดการกระทำ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองกลับแสดงท่าทีขัดขืน และมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่

ศาลมีคำสั่งให้ บุ้ง-เนติพร และ หยก มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล สั่งจำคุก บุ้ง 1 เดือน ไม่รอลงอาญา และวันนี้หยกไม่มาศาลจึงให้ออกหมายจับ หยก เพื่อมาฟังคำสั่ง

ศาลอาญากรุงเทพใต้ ยังมีคำสั่งถอนประกัน ของ บุ้ง เพียงคนเดียว โดยศาลชี้ว่า จากกิจกรรมที่เกิดขึ้น มีพยานผู้ร้องเห็นว่า บุ้ง ได้ทำการพ่นสีสเปรย์ลงบนธงประจำพระองค์ ซึ่งเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวที่ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหานี้อีก

ส่วน ตะวัน ศาลเห็นว่าจากคำเบิกความของพยาน ไม่มีพยานหลักฐานชี้ให้เห็นว่าการที่จำเลยเข้าร่วมชุมนุม จึงไม่มีความผิดตามเงื่อนไขการประกันตัว

ต่อมาเวลา 11.00 น. บุ้ง ถูกส่งตัวไปคุมขัง ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เนื่องจากได้ตัดสินใจร่วมกับทนายความแล้วว่าจะไม่ยื่นประกันตัวภายในวันนี้

'บุ้ง ทะลุวัง' ประกาศบริจาคร่างกายล่วงหน้า ลั่น!! ปฏิเสธการรักษาเพื่อยื้อชีวิตโดยไม่จำเป็น

(9 ก.พ. 67) เพจเฟซบุ๊กทะลุวัง เผยแพร่ภาพเอกสาร พร้อมระบุข้อความว่า…

“ข้าพเจ้านางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม อายุ 28 ปี 6 เดือน ขอแสดงเจตนาบริจาคร่างกายของข้าฯ และขอแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขเพื่อยื้อชีวิตไว้โดยไม่จำเป็นและเป็นการสูญเปล่า พร้อมติดแฮชแทก #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม #ยกเลิก112 #คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

สำหรับเนื้อหาในหนังสือที่บุ้ง ทะลุวัง แจ้งแสดงเจตนาขอบริจาคร่างกายให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยตอนท้ายของหนังสือ บุ้งระบุว่า

“คุณความดีใดที่ได้จากการอุทิศร่างกายในครั้งนี้ ขอส่งให้กับประชาชนที่ยากลำบากทุกคนและขอให้ไม่มีความเหลื่อมล้ำในประเทศ”

ส่วนหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข บุ้ง ทะลุวัง ระบุตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าทำไปเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิมีรูปกระบวนการยุติธรรมของผู้พิพากษาและศาลในประเทศไทย”

ทั้งนี้โพสต์ดังกล่าวก็มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความเห็น บางคนก็ยกย่อง บางคนก็บอกว่า

-ขอให้สมความมุ่งมารถปรารถนานะคะ อย่าให้อิชั้นเห็นนอนบนรถเข็นแล้วส่งต่อ รักษาที่ รพ.มธ.เหมือนรอบที่แล้วอีกนะคะ แบบนั้นมันผิดเจตนารมณ์นะคะ พรี่บรุ้ง

-ยังมีแรงลงชื่อหลังจากอดน้ำมานานหลายวัน นับถือจริง ๆ

'ผอ.แอมเนสตี้' ชวนก๊วนยืนไว้อาลัย ‘บุ้ง’ 1 นาที ลั่น!! พวกคอมเมนต์เย้ย 'รุนแรง-ลดทอน' ศักดิ์ศรีมนุษย์

(16 พ.ค.67) ที่ โรงแรมสยาม@สยาม เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน ‘BEING OURSELVES IS TOO DANGEROUS: อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง’ สะท้อนสถานการณ์การถูกคุกคามของผู้หญิงและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ต่างตกเป็นเป้าหมายของการสอดส่องด้วยเครื่องมือต่าง ๆ

เวลา 9.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศของงานเต็มไปด้วย นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม และนักขับเคลื่อนประเด็นทางเพศเดินทาง เดินทางมาร่วมงานและเข้าร่วมการเสวนาผ่านระบบการประชุมออนไลน์อย่างคึกคัก อาทิ ไอรีน ข่าน ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก, เช็ชฐา ดาส นักวิจัยและที่ปรึกษาด้านเพศวิถีศึกษาความยุติธรรมทางเพศ ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น, เอลิน่า คาสติโย นักวิจัยและที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีกับมนุษยชน และชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

พร้อมด้วย ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นาดา ไชยจิตต์ อาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และสมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจสหประชาชาติ และ สิรภพ อัตโตหิ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น

เวลา 9.15 น. เปิดคลิปวิดีโอ ‘อันตรายเกินกว่าเป็นตัวเอง’ สะท้อนสถานการณ์การคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศบนสื่อออนไลน์ ผ่านการสปายแวร์เจาะข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียที่มุ่งโจมตีความเป็นส่วนตัวระดับสูง เพื่อบีบให้ยุติบทบาทการเคลื่อนไหว

ต่อมา 9.25 น. นางปิยนุช โครตสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า จากเหตุการณ์ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ ‘บุ้ง’ ที่อดอาหารประท้วงกว่า 110 วัน ที่ถูกจำคุกตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2667 โดยทางการปฏิเสธที่จะให้การประกันตัวต่อบุ้งรวมทั้งนักกิจกรรมอื่น

“ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมของไทย แสดงให้เห็นถึงการที่คน ๆหนึ่ง ออกมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานและการแสดงออก ในความเห็นของเขาไม่ว่าจะความเห็นอะไรก็ตาม สุดท้ายต้องลงเอยด้วยความตาย แทนที่จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงดิฉันขอเชิญทุกท่านที่ร่วมงานวันนี้ร่วมแสดงความเสียใจและรำลึกถึง บุ้ง เนติพร ด้วยการยืนสงบนิ่ง 1 นาที” นางปิยนุชเผย

จากนั้น ได้เชิญผู้เข้าร่วมงานแสดงความไว้อาลัยต่อ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง นักกิจกรรมทางการเมืองที่ประท้วงด้วยการอาหารจนเสียชีวิต ด้วยการยืนไว้อาลัยเป็นเวลา 1 นาที

ต่อมา นางปิยนุชกล่าวต่อไปว่า วันที่มีการรายงานข่าวการเสียชีวิตของบุ้ง กลับมีการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์หลายรูปแบบ ซึ่งเป็นลักษณะของการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้มีการแสดงความเสียใจจากคนกลุ่มหนึ่ง แต่คนอีกกลุ่มพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเย้ยหยัน อันนี้ก็ถือว่าเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลกดิจิทัลด้วย

“อยากจะให้การเสียชีวิตของเธอเป็นสัญญาณเตือนถึงทางการไทยและพวกเราทุกคน ในการเคารพสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก แล้วก็สิทธิการได้รับการประกันตัว การรักษาความยุติธรรม และการตระหนักเรื่องสิทธิเสรีภาพที่กำลังเกิดขึ้น” นางปิยนุชระบุ

นางปิยนุชกล่าวว่า วันนี้เราเปิดรายงาน “อันตรายเกินกว่าที่จะเป็นตัวเอง บนโลกออนไลน์และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มุ่งปิดปากนักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจัดขึ้นโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ ‘Protect the protest’ ซึ่งเป็นแคมเปญในระดับสากล ที่เรารณรงค์กันมาในระดับสากล

“เราต้องการที่จะนำเสนอเรื่องราว เพื่อปกป้องเรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และส่งเสริมความเคลื่อนไหวท่ามกลางที่ถูกบีบตัว โดยเฉพาะในภาคของประชาสังคม ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะแสดงตัวเป็นผู้นำในการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ

แต่ความจริงที่ปรากฏในรายงานพบว่า นักกิจกรรมหญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกคุกคามต่าง ๆ นานา ทั้งความรุนแรงผ่านภาษา หรือประเด็นทางเพศ ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นใครเป็นคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ ผู้หญิง คุณเป็นตัวของตัวเองไม่ได้เลย มันเป็นความล้มเหลวของการปกป้องและคุ้มครองจากภาครัฐต่อคนกลุ่มนี้” นางปิยนุชกล่าว

นางปิยนุชกล่าวต่อว่า เราหวังว่ารายงานนี้จะช่วยให้ทุกคนเห็นถึงเนื้อหา ข้อเสนอแนะถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกสอดส่องโดยไม่ชอบ ถูกสอดส่องโดยด้วยสปายแวร์ หรือคุกคามบนโลกออนไลน์ เหมือนกันเดินบนกับดักระเบิด ที่เดินไปทางไหนก็โดนทั้งนั้น เราอยากจะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของรัฐ ควรจะเป็นผู้กระทำหรือผู้ปกป้องพวกเขากันแน่

“เราอยากให้เรื่องราวของนักปกป้องสิทธิเหล่านี้เป็นที่รับรู้ของสังคม และรัฐก็ได้ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมพวกเขา ให้เขาได้ใช้สิทธิกันอย่างเต็มที่ และเราอยากสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมว่า เกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น อยากให้เคารพการแสดงออกและการประท้วง ให้พื้นที่ของพวกเขาโดยที่ไม่ทำให้รู้สึกหวาดกลัว

สุดท้ายที่สำคัญ คือ เราต้องการที่จะยืนหยัดเคียงข้าง ปกป้องสิทธิ เคียงข้างผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อที่จะได้สื่อสารเรื่องราวของตัวเอง ด้วยความเป็นตัวเองอย่างแท้จริง ไม่ต้องหวาดกลัวการโจมตี หรือ โดนทำร้ายอีกต่อไป” นางปิยนุชทิ้งท้าย 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top