Thursday, 2 May 2024
บุญรอดบริวเวอรี่

‘บุญรอดฯ’ ซุ่มจับมือกับโรงกลั่นระดับโลก คลอด ‘ซิลเวอร์ไนท์’ สกอตช์วิสกี้ 8 ปี ระดับพรีเมี่ยม ในราคาเริ่มต้นเพียง 549 บาท

ตลาดน้ำเมา 5 แสนล้านคึกคัก ‘บุญรอดฯ’ ซุ่มจับมือโรงกลั่นดังสกอตแลนด์ ส่ง ‘ซิลเวอร์ไนท์’ สกอตช์วิสกี้ 8 ปี ราคาแค่พันเดียว เอาใจคอทองแดงไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยซึ่งมีมูลค่าตลาดราว 5 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น ตลาดเบียร์ 2.6  แสนล้านบาท ตลาดสุรา 1.8 แสนล้านบาท และที่เหลือเป็น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อื่นๆ อาทิ ไวน์ อาร์ทีดี ฯลฯ ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการเฝ้าระวังในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีการระบาดของโควิด-19 ก่อนที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวในปลายปีที่ผ่านมา หลังผ่อนคลายมาตรการและเปิดประเทศ

ข้อมูลจาก ‘วิจัยกรุงศรี’ ยังระบุว่า ตลาดเบียร์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคือ 57.9% รองลงมาได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 34.3% บริษัท ไทย เอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด 4.7% ส่วนที่เหลือ 3.1% หากแบ่งเป็นแบรนด์ จะพบว่า “ลีโอ” มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 44.8% รองลงมาคือ “ช้าง” 31.2%  สิงห์ 11.2%  ไฮเนเก้น 3.8% และ อาชา 2.4%

ส่วนตลาดเหล้าหรือสุรา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คือ 59.5% รองลงมาได้แก่ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด 8% บริษัท รีเจนซี่ บรั่นดีไทย จำกัด 4.4% และอื่นๆ 28.1%

ความคึกคักของตลาดเริ่มระอุอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเจ้าพ่อบาวแดง (คาราบาวแดง) ‘เสถียร เสถียรธรรมะ’ ประกาศทุ่ม 4,000 ล้านบาท เตรียมทำคลอดเบียร์น้องใหม่ออกบุกตลาดในปลายปีนี้ หลังจากปูพรมสร้างช่องทางจำหน่ายทั้งร้านค้าปลีกไซส์ใหญ่ อย่าง ซีเจ มอร์, ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมไปถึง ร้านถูกดีมีมาตรฐาน อยู่ทั่วหัวระแหง

ขณะที่ก่อนหน้านี้เหล้านอกแบรนด์ดังอย่าง “ชีวาส” ก็ขยับตัว ด้วยการเปิดตัว ‘ลิซ่า BLACKPINKง เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์หญิงคนแรก ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากเป้าหมายในการขยายฐานผู้ดื่มมายังคนรุ่นใหม่แล้ว ยังเล็งเห็นว่าตลาดเอเชียยังคงเป็นตลาดสำคัญของสกอตซ์วิสกี้ ด้วย 

ล่าสุดเป็นทีของตลาดเหล้า เมื่อ ‘บุญรอดบริวเวอรี่’ เบอร์ 1 ในตลาดเบียร์ ขอชิมลางตลาดเหล้านอก ด้วยการแจ้งเกิด ‘ซิลเวอร์ไนท์’ (Silver Knight) สกอตช์วิสกี้ 8 ปี ระดับพรีเมี่ยม ที่ซุ่มจับมือกับโรงกลั่นระดับโลก ผลิตจนได้รสชาติถูกปาก ออกมาทำตลาดในสนนราคาที่เชื่อว่าจะโดนใจคอทองแดงไทยแน่นอน

‘เต้ - ภูริต ภิรมย์ภักดี’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า บุญรอดฯ ได้ศึกษาตลาด พร้อมสำรวจแหล่งผลิตสกอตช์วิสกี้ที่ดีที่สุดระดับโลก จนได้ทำงานร่วมกับโรงกลั่นมาตรฐานระดับโลกจากประเทศสกอตแลนด์ที่มีประสบการณ์กว่า 136 ปี ในการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้สกอตช์วิสกี้ที่ลงตัวอย่าง Silver Knight ที่มีคุณภาพ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญอย่างมากในการเลือกซื้อสกอตช์วิสกี้

“Silver Knight เป็นสกอตช์วิชกี้ 8 ปีจากดินแดนต้นกำเนิดที่เราภูมิใจเสนอต่อตลาดวิสกี้ในเมืองไทย เพื่อให้คนไทยได้สกอตช์วิสกี้ที่ดีที่สุด เป็นเอกลักษณ์และราคาจับต้องได้”

ขณะที่ ‘ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล’  Chief Marketing Officer บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวย้ำว่า จุดเด่นของซิลเวอร์ไนท์ คือ เป็นสกอตวิสกี้แท้ ใช้กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ตั้งแต่กระบวนการคัดสรรวัตถุดิบ ผลิตโดยโรงกลั่นตามมาตรฐานของ Scotch Whisky Association ที่ปลูกในประเทศอังกฤษและสกอตแลนด์เท่านั้น


โดยได้การรับรองมาตรฐานสากลจาก Scotch Whisky Association โดยมี Blend Master ผู้เชี่ยวชาญการกลั่นวิสกี้ระดับโลก คัดเลือกวิสกี้จากพื้นที่โลว์แลนด์ ไฮแลนด์ และสเปย์ไซด์ของสกอตแลนด์
 

‘บุญรอดฯ - ปตท. - IRPC’ ร่วมพัฒนานวัตกรรมผลิตวัสดุหมุนเวียน มุ่งใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า - ต่อยอดธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ลงนามความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมต่อยอดวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต สร้างผลิตภัณฑ์หมุนเวียน (Returnable Equipment) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เดินหน้าโครงการนำร่องรีไซเคิลพลาสติกผ่านผลิตภัณฑ์ต้นแบบอย่างลังน้ำและโซดาขวดเปลี่ยน ผลิตจาก rPET และ rHDPE พาเลท (Pallet) ผลิตจาก rHDPE และกากมอลต์  

นายปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า หนึ่งในแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ให้ความสำคัญ คือ การดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด ‘องค์กร ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมต้องมีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน’

ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในกลุ่มบริษัทบุญรอดฯ ทั้งหมด เช่น เสื้อยูนิฟอร์มพนักงานจากผ้าที่ผลิตจากขวด PET การแยกขยะ การใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนโครงการที่ทำกับชุมชนและสังคมอีกหลายโครงการ และล่าสุดได้ร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นของไทยที่เป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่นทั่วโลกอย่าง PIPATCHARA ดีไซน์กระเป๋ารุ่นพิเศษที่ผลิตจากผ้าที่ Upcycling มาจากขวดพลาสติก PET 100% 

ทั้งนี้ ในแต่ละปี เรามีวัสดุเหลือจากระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก น่าจะสามารถนำมาสร้างประโยชน์ต่อยอดได้อย่างคุ้มค่า จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือกับบริษัทฯ ปตท. และ ไออาร์พีซี ในครั้งนี้ เราเชื่อว่า ด้วยความรู้ความชำนาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัยของทั้งแต่ละบริษัทฯ จะสามารถร่วมกันพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่จากวัสดุในกระบวนการผลิตให้เป็นประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. ยึดมั่นในพันธกิจรักษาความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ผ่านการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 โดยส่วนหนึ่งได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานให้เกิดเป็นรูปธรรม มุ่งปฏิวัติรูปแบบการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณของเสียตลอดกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และรักษาสิ่งแวดล้อม 

ความร่วมมือในครั้งนี้ กลุ่ม ปตท. โดย PRISM (Petrochemical and Refining Integrated Synergy Management) แพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างบริษัทในกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ผลักดันให้เกิดการผสานองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรจากทั้ง 3 หน่วยงาน นำวัสดุเหลือใช้ ในกระบวนการผลิตมาต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพ และเจตนารมย์องค์กรชั้นนำของไทย ที่จะจุดพลังและขยายความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนอนาคตที่ดีให้แก่โลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า IRPC ดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์องค์กร “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว” ด้วยการใช้นวัตกรรมสร้างการเติบโต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้ เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างสูงสุด โดยบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้ว ประเภทใช้ครั้งเดียวสู่ผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ผ่านผลิตภัณฑ์แบรนด์ “POLIMAXX” สร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั้งในกลุ่มรีไซเคิลและพลาสติกที่มีพืชเป็นส่วนผสมหลักในการผลิต (Bio-Based) ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) 

นอกจากนี้ IRPC ยังได้ร่วมผลักดันการสร้างความสมดุลและความยั่งยืน หรือ ESG โดยตั้งเป้าหมายและกำหนดแนวทางองค์กรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2603 เพื่อก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน 

นับเป็นหมุดหมายสำคัญในการเดินหน้าธุรกิจภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนของบริษัทไทย ชั้นนำอย่าง บุญรอดบริวเวอรี่ ปตท. และ ไออาร์พีซี ที่จับมือพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์หมุนเวียนจากวัสดุเหลือใช้ภายในโรงงาน ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่กำหนดไว้ในปี 2608 ได้ต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top