Friday, 17 May 2024
บิทคอยน์

‘คลัง’ สั่งเพิกถอนใบอนุญาต บจ.บิทคอยน์ หลังชำระทุนจดทะเบียนไม่ถึง 50 ลบ.

เว็บไซต์ราชกิจจาฯ เผยแพร่ คำสั่งกระทรวงการคลัง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขาย คริปโทเคอร์เรนซี และใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ของบริษัท บิทคอยน์ จำกัด

วันที่ 1 ธ.ค. 64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คําสั่งกระทรวงการคลังที่ 1904/2564 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคอยน์ จํากัด เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา

ความว่า ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท บิทคอยน์ จํากัด (“บริษัท”) ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาต ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี และใบอนุญาตประกอบ ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ตามพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561

ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการได้รับใบอนุญาตตามข้อ 2 (3) ประกอบกับ ข้อ 3 (2) ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 (“ประกาศกระทรวงการคลัง”)

โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2563 และวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 บริษัทได้ลดทุนจนทําให้ทุนจดทะเบียน ซึ่งชําระแล้วของบริษัทเหลือเพียง 12.5 ล้านบาท และ 3.125 ล้านบาท ตามลําดับ ซึ่งข้อ 2 (1) ของประกาศคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 20/2561 เรื่อง การกําหนด ทุนจดทะเบียนซึ่งชําระแล้วของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประกอบกับข้อ 3 (1) ของประกาศคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 32/2563 เรื่อง การกําหนดทุนจดทะเบียนซึ่งชําระแล้วของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่กําหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ต้องมีทุนจดทะเบียนซึ่งชําระแล้วไม่น้อยกว่าจํานวน 50 ล้านบาท

Bitcoin ร่วงหนักในรอบ 10 เดือน ราคาหลุดต่ำล้านบาทไทยแล้ว

Reuters รายงานว่า เมื่อวันอังคาร (10 พ.ค.) Bitcoin สกุลเงินดิจิทัลอันดับหนึ่งของโลกร่วงลงต่ำกว่า 30,000 เหรียญสหรัฐ เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ขณะที่ในภาพรวมมูลค่าในตลาดของ Cryptocurrency หายไปเกือบ 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนที่ผ่านมาตามข้อมูลของ CoinMarketCap เนื่องจากนักลงทุนกังวลกับนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น 

เมื่อเทียบกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดรอบล่าสุด ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2016 Cryptocurrency เป็นตลาดที่ใหญ่กว่ามาก ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างกันกับระบบการเงินอื่น

>> ตลาด Cryptocurrency ใหญ่แค่ไหน?
จากข้อมูลของ CoinGecko เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา สกุลเงินดิจิทัลที่นิยมมากที่สุดอย่าง Bitcoin ทะยานสู่ระดับออลไทม์ไฮ ที่กว่า 68,000 เหรียญสหรัฐ ดันให้มูลค่าของตลาด Cryptocurrency ขยับขึ้นไปที่ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาตัวเลขนั้นลงมาอยู่ที่ 1.51 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าของ Bitcoin เกือบ 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วย Ethereum ที่ 285,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

แม้ว่า Cryptocurrency จะเติบโตแบบระเบิดระเบ้อ แต่ตลาดยังค่อนข้างเล็ก ขณะที่ตลาดทุนของสหรัฐฯ มีมูลค่าถึง 49 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสมาคมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์และตลาดการเงินระบุว่ามูลค่าคงค้างของตลาดตราสารหนี้สหรัฐอยู่ที่ 52.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นปี 2021

>> ใครครอบครองและซื้อขาย Cryptocurrency?
Cryptocurrency เริ่มจากการซื้อขายของรายย่อย แต่ความสนใจของสถาบันอย่าง บริษัทแลกเปลี่ยนเงินตรา บริษัทต่างๆ ธนาคาร เฮดจ์ฟันด์ และกองทุนรวมเติบโตอย่างรวดเร็ว

แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันในตลาด Cryptocurrency ค่อนข้างหายาก แต่ CoinBase ผู้ซื้อขาย Cryptocurrency รายใหญ่ที่สุดในโลกระบุว่า นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของสินทรัพย์บนแพลตฟอร์มของบริษัทในไตรมาสที่ 4

ลูกค้าสถาบันของ CoinBase ซื้อขาย Cryptocurrency มูลค่า 1.14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2021 เพิ่มจากปี 2020 ที่อยู่ที่ 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

Bitcoin และ Ethereum ที่หมุนเวียนอยู่ในมือของคนไม่กี่คนเท่านั้น รายงานของเดือน ต.ค. ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NBER) พบว่า นักลงทุน Bitcoin 10,000 คนทั้งบุคคลและนิติบุคคลควบคุม 1 ใน 3 ของตลาด Bitcoin และนักลงทุน 1,000 คนครอบครองเหรียญ Bitcoin ราว 3 ล้านเหรียญ โดยจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยชิคาโกพบว่า จนถึงปี 2021 ราว 14% ของชาวอเมริกันลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

>> การล่มสลายของคริปโตจะกระทบระบบการเงินไหม?
แม้ว่าในภาพรวมแล้วตลาด Cryptocurrency จะค่อนข้างเล็ก แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการเสถียรภาพการเงิน (FSB) ระบุว่า Stablecoin หรือเหรียญดิจิทัลที่ตรึงมูลค่าไว้กับมูลค่าของทรัพย์สินจริงๆ เป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพการเงิน

Stablecoins ส่วนใหญ่จะใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ โดยได้รับการหนุนหลังจากสินทรัพย์ที่อาจสูญเสียมูลค่าหรือขาดสภาพคล่องในช่วงเวลาที่ตลาดตึงเครียด ในขณะที่กฎและการเปิดเผยเกี่ยวกับทรัพย์สินเหล่านั้นและสิทธิ์ในการไถ่ถอนของนักลงทุนยังคลุมเครือ

'ดร.วรัชญ์' ยกอุทาหรณ์ 'เอลซัลวาดอร์' เลือกผู้นำผิด ชู บิทคอยน์เป็นเงินทางการ จนประเทศล้มละลาย

'ดร.วรัชญ์' ยกอุทาหรณ์ ประเทศเอลซัลวาดอร์ เลือกผู้นำผิด ให้บิทคอยน์เป็นเงินทางการของประเทศ จากไอเดียของประธานาธิบดี นายิบ บูเคเล่ วัยเพียง 41 ปี จนประเทศล้มละลาย

(31 ส.ค. 2565) ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง เลือกผู้นำผิด ประเทศชาติอาจล้มละลายได้ มีเนื้อหาดังนี้

เอลซัลวาดอร์ อาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ล้มละลายจากบิทคอยน์ หนึ่งปีหลังจากเป็นประเทศแรกที่ประกาศให้บิทคอยน์เป็นเงินทางการของประเทศ จากไอเดียของประธานาธิบดี นายิบ บูเคเล่ วัยเพียง 41 ปี ผู้หลงใหลคริปโตเคอเรนซี่อย่างหนัก

โดยกฎหมายบิทคอยน์นี้ ใช้เวลาเพียง 5 วันก็ผ่านสภาที่พรรคของบูเคเล่ครองเสียงข้างมาก โดยไม่มีประชาพิจารณ์หรือการรับฟังความเห็นจากประชาชนเลย และไม่ผิดคาดที่การใช้งานนั้นเต็มไปด้วยปัญหาและการทุจริต

บูเคเล่ ที่สร้างอำนาจมาจากพ่อของเขาที่เป็นนักธุรกิจมหาเศรษฐี มักเรียกตัวเองว่าเป็น CEO ของเอลซาวาดอร์ แต่ประชาชนจำนวนมากเรียกเขาว่าเป็น "เผด็จการที่หลงตัวเอง" และออกมาต่อต้านกฎหมายบิทคอยน์กันจำนวนมาก

แม้ว่าประชาชนจะต่อต้าน แต่บูเคเล่ก็ไม่ฟังเสียง ยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยการทุ่มงบประมาณมหาศาลไปกับอภิมหาโปรเจคในการสร้าง "เมืองบิทคอยน์" (Bitcoin City) แม้ว่าประเทศจะอยู่ในสภาวะวิกฤตจากหนี้แล้วก็ตาม จึงพยายามออกพันธบัตรเพื่อระดมทุน และให้สัญชาติกับนักลงทุน แต่ก็ไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนมาได้

'ท๊อป จิรายุส' ชี้!! บิทคอยน์ New High ก่อน Halving ไม่เคยมีมาก่อน ส่วน 'ก.ล.ต.สหรัฐฯ' ไฟเขียว Bitcoin ETF 'ซื้อ-ขาย' ถูกต้อง สร้างความเชื่อมั่น

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 67 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการ ‘Bitkub Exchange’ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของไทย และบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ผู้ให้บริการ ‘Bitkub Academy’ ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล ร่วมจัดงานเสวนา ‘Digital Assets Navigator เจาะลึกวงในทิศทางสินทรัพย์ดิจิทัล (by Bitkub’s Crypto Theses)’ เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์สินทรัพย์ดิจิทัลในแง่มุมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 และเหตุการณ์ Bitcoin ETF และ Bitcoin Halving ที่จะส่งผลต่อการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมี นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด, นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อุ๊คบี จำกัด, นายโดม เจริญยศ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Tokenine, นายภาณุ ชลหาญ เจ้าของเพจ Nookfree God Defi, นายณัฎฐ์ จิตตมัย ผู้ก่อตั้ง GM Learning Club Pudgy Thailand Community Leader และนายกันตณัฐ วุฒิธร Digital Asset Analyst Supervisor บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ร่วมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้  ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค 101 กรุงเทพฯ

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าวตอนหนึ่งภายในงานว่า “ปีนี้เป็นปีที่วงการสินทรัพย์ดิจิทัลมีความคึกคักและน่าจับตามอง เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นถึง 2 เรื่อง คือ การประกาศอนุมัติให้ Bitcoin Spot ETF สามารถเปิดซื้อขายได้อย่างถูกกฎหมายของ ก.ล.ต. สหรัฐฯ เมื่อมกราคมที่ผ่านมา โดยวงการคริปโทเคอร์เรนซีในปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับกองทุนระดับโลกต่าง ๆ เช่น BlackRock, Vanguard ฯลฯ ที่มีมูลค่าประมาณ 130 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมูลค่าของวงการคริปโทเคอร์เรนซีก็ยังนับว่าน้อยอยู่มาก แต่หากกองทุนที่เพิ่งได้อนุมัติ Bitcoin Spot ETF มีการซื้อขายบิทคอยน์เพียงแค่ 5% ของมูลค่ากองทุน จะทำให้เงินสถาบันจำนวนมหาศาลไหลเข้าสู่ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีมากยิ่งกว่ามูลค่าของตลาดทั้งหมดเสียอีก

นอกจากนี้ ปีนี้ยังเป็นปีที่จะเกิดปรากฏการณ์ Bitcoin Halving ขึ้นเป็นรอบที่ 4 ในช่วงเมษายนนี้ ซึ่งตามสถิติในแต่ละรอบที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีรอบไหนที่บิทคอยน์ทำ New High ก่อน Halving แบบรอบนี้ นักลงทุนจึงควรระมัดระวังและคอยจับตาอย่างใกล้ชิด แต่อย่างน้อย Bitcoin Spot ETF ก็ยังทำให้รู้สึกปลอดภัยได้ว่ายังมีเงินสถาบันที่จะไหลเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในรอบนี้เพิ่มอีกด้วย โดยเมื่อดูตามสถิติต่าง ๆ และตัวเลขแล้วเชื่อว่าวงการคริปโทเคอร์เรนซียังมีโอกาสเติบโตได้อีก”

ทั้งนี้ นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ฝากคำแนะนำให้นักลงทุนหน้าใหม่และผู้ที่สนใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลว่า “ขอให้ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนให้ดี เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง แต่ละคนมีความพร้อม เงินทุน และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ไม่เหมือนกัน นึกถึงคำที่ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ เคยบอกว่า คุณไม่จำเป็นต้องสวิงไม้เบสบอลทุกครั้งที่เขาขว้างลูกมา แต่ให้ดูความพร้อมของตัวเองและรอจังหวะที่คุณพร้อม ดังนั้น ทุกคนควรทำความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองจะลงทุนให้ดีทุกครั้ง”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top