Thursday, 2 May 2024
บริษัทน้ำมัน

ปตท.กางแผนลงทุน 5 ปี 4 แสนล้านบาท ลุ้น!! เจรจา 5 ดีลธุรกิจใหม่ เน้นร่วมทุนในปีนี้

กลุ่ม ปตท.ได้ปรับเปลี่ยนบทบาททางธุรกิจสำคัญจากบริษัทน้ำมันและก๊าซไปสู่ธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ โดยที่ผ่านมามีทั้งการลงทุนเอง การเข้าซื้อกิจการและการร่วมลงทุน และในปี 2566 กลุ่ม ปตท.ยังคงเดินหน้าการลงทุนในธุรกิจใหม่ต่อเนื่อง

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ปตท.อยู่ระหว่างเจรจาธุรกิจกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสความร่วมมือด้านการลงทุนจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่พลังงานแห่งอนาคตที่เป็นเป้าหมายดำเนินงานของ ปตท. โดยคาดว่าในปีนี้จะทำสัญญาร่วมลงทุนแล้วเสร็จไม่ต่ำกว่า 5 โครงการ ขณะเดียวกันในปี 2566 ปตท.ยังมีแผนลงทุนต่อเนื่องในวงเงินประมาณ 33,344 ล้านบาท

“ดีลที่เรากำลังเจรจาอยู่ก็มีทั้งในและต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นต่างประเทศที่กำลังคุยอยู่ โดยมีหลายรูปแบบทั้งเข้าไปซื้อหุ้น การควบรวมและการซื้อกิจการ (M&A) และ Joint Venture หรืออาจจะเป็นความร่วมมือในรูปแบบที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ ซึ่งจะปิดดีลปีนี้ไม่ต่ำกว่า 5 ดีล ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจใหม่ที่เรากำลังสนใจทำ” นายอรรถพล กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ปตท.ได้ลงทุนในธุรกิจใหม่และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น 4 ธุรกิจ ประกอบด้วย

1.Mobility& Lifestyle ซึ่งเป็นการสร้างการขนส่งแบบไร้รอยต่อและเป็นการปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจของ ปตท.จากธุรกิจน้ำมันและแก๊สไปสู่ธุรกิจ Energy Solution ประกอบด้วย

- การตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท Phnom Penh Aviation Fuel Service จำกัด โดยบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพื่อบริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ

- Otteri โดยบริษัทลูกของ OR เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน ของบริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจจำหน่ายเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าแบบอุตสาหกรรม รวมถึงประกอบกิจการร้านสะดวกซักภายใต้แบรนด์ Otteri เงินลงทุนขั้นต้น 1,105 ล้านบาท

- ดุสิตฟู้ด โดยบริษัทย่อยของ OR ลงทุนถือหุ้นสัดส่วน 25% ในดุสิตฟู้ดส์ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจอาหาร ด้วยการผสานจุดแข็งของกลุ่มดุสิตธานีที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำถึงปลายน้ำ

- การตั้งบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มบุญรอด โดยบริษัทย่อยของ OR เข้าไปถือหุ้นร่วมกับบริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ในสัดส่วนฝ่ายละ 50% เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมบริโภค (RTD)

- Traveloka โดย OR เข้าลงทุนใน Traveloka แพลตฟอร์มออนไลน์ด้านการจองบริการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

- Café Amazon โดย OR เข้าไปเปิดสาขาแรกในซาอุดีอาระเบีย สาขา InterHealth Hospital หรือ IHH ที่กรุงริยาด โดยได้ประเมินศักยภาพตลาดค้าปลีกในซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดร้านกาแฟพรีเมียม

รวมทั้งมีการร่วมลงทุนในสตาร์ทอัป ประกอบด้วย Pomelo แพลตฟอร์มและแบรนด์ Fast Fasion , GoWabi แพลตฟอร์มบริการความงามและสุขภาพ , Freshket แพลตฟอร์มจำหน่ายวัตถุดิบอาหารครบวงจร , Carsome แพลตฟอร์มซื้อขายรถยนต์มือ 2 ออนไลน์

Protomate ผู้นำฮาร์ดแวร์และ AI สัญชาติไทย , Hangry สตาร์ทอัปด้านอาหาร พัฒนา Clound Kitchen

>>ต่อยอดไฮแวลู-โลจิสติกส์

2.High Value Business โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำ กัด (มหาชน) หรือ GC ได้เพิ่มสัดส่วนถือหุ้น Vencorex เป็น 100% ซึ่งจะเป็นการต่อยอดการสร้าง Synergy ร่วมกับ Allnex หลังจากที่บริษัทย่อยของ GC เข้าไปซื้อหุ้นของ Allnex รวมมูลค่า 148,000 ล้านบาท ซึ่งผลิต Coating Resins และสาร Additives ที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรมอุตสาหกรรม

3.Logistic & Infrastructure ได้มีการตั้งบริษัท Global Multimodal Logistics (GML) เชื่อมเครือข่ายขนส่งในประเทศและระหว่างประเทศ โดย GML ร่วมมือกับกลุ่มมิตรผล ขนส่งน้ำตาลทรายทางระบบราง 10,000 ตู้ จากขอนแก่นไปชลบุรี 

รวมทั้งมีการศึกษากับองค์การคลังสินค้า (อคส.) พัฒนาธุรกิจห้องเย็นสำหรับสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าไปตลาดต่างประเทศ ร่วมกับผู้ประกอบการคลังห้องเย็นให้บริการแช่แข็งและจัดส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ นำร่องโดยทุเรียนแช่แข็งเพื่อรองรับนโยบายระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC)

นอกจากนี้ OR ได้ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และ JR Freight ทดสอบส่ง LNG ด้วยถัง ISO Container Tank รวมทั้งมีการขนส่งเม็ดพลาสติกทางรถไฟเส้นทางไทย-ลาว-จีน เที่ยวปฐมฤกษ์ จำนวน 25 ตู้ น้ำหนัก 620 ตัน

>>เร่งแผนธุรกิจ‘เอไอ-หุ่นยนต์’

4.AI,Robotics & Digitization ได้ตั้ง T-ECOSYS พัฒนา Industrial Digital Platform , ตั้ง P-DICTOR ดำเนินธุรกิจ AI หุ่นยนต์ ดิจิทัล 

รวมทั้งปรับโครงสร้างการถือหุ้นและเพิ่มทุน Mekha Tech และเปลี่ยนชื่อเป็น Mekha V เพื่อเป็นเรือธงในธุรกิจ AI&Robotics

นอกจากนี้ ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ทดสอบระบบ National Corporate Identification (NCID) อละได้ร่วมกับ Kongsberg Ferrotech พัฒนา Nautilus เทคโนโลยีหุ่นยนต์สำรวจและซ่อมบำรุงท่อปิโตรเลียมใต้ทะเลแบบครบวงจรครั้งแรกของโลก

รวมทั้งได้ลงนามกับ HMC Polymers เพื่อใช้เทคโนโลยี UAV และ Digital Platform เพื่อตรวจสอบ Flare และ Confined Space ในการผลิตเม็ดพลาสติก และร่วมมือกับ ปตท.พัฒนาเทคโนโลยีประเมิน Carbon stock สำหรับภาคป่าไม้ และลงนามกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ บริการเครื่องมือคัดกรองสุขภาพและเก็บรวบรวมในรูปแบบดิจิทัล

>> ลุยแผนลงทุน 5 ปี 4 แสนล้านบาท

ส่วนแผนลงทุนระยะ 5 ปี (2566-2570) ปตท.คาดการณ์ใช้งบภายใต้วงเงินรวม 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินลงทุนในโครงการที่มีความชัดเจนและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท.แล้ว 100,227 ล้านบาท แบ่งเป็น 

1.การลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 36,322 ล้านบาท 
2.การลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% มูลค่า 32,773 ล้านบาท 
3.การลงทุนในธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 18,988 ล้านบาท 
4.การลงทุนในธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 8,828 ล้านบาท 
5.การลงทุนธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,316 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนที่มีความชัดเจนแล้ว จะมีโครงการหลัก อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7, โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8, โครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้, โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5, ลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า, ขยายธุรกิจของกลุ่ม บริษัท Innobic (Asia), พัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3

ขณะที่โครงการลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ปตท.ประเมินงบลงทุนอยู่ที่ 302,168 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นลงทุนโครงการตามวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top