Wednesday, 15 May 2024
น้ำตาล

เผยสาเหตุ!! 'การเสนอปรับขึ้นราคาน้ำตาล' 4 บาท/กก.

การประกาศกำหนดราคาน้ำตาลภายในราชอาณาจักรเพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำปีการผลิตในแต่ละฤดูการผลิต ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะเป็นการแจ้งให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้แก่ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล รับรู้รายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ 

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลสามารถจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร ณ หน้าโรงงานในราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาที่ประกาศได้ แต่โรงงานต้องนำส่งรายได้ตามราคาที่ประกาศ

การปรับเพิ่มราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2566/2567 จากเดิมราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวธรรมดากิโลกรัมละ 19 บาท ปรับเป็นกิโลกรัมละ 23 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิมกิโลกรัมละ 20 เป็นกิโลกรัมละ 24 บาท โดยมีแนวทางการปรับเพิ่มรายได้และพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตแก่ระบบอุตสาหกรรม โดยมีแนวทางการปรับเพิ่มราคาจำแนกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1) การปรับเพิ่มราคา 2 บาท/กิโลกรัม ส่วนที่ 1 
เป็นการปรับเพิ่มราคาตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยใช้หลักการ Cost Plus ประกอบด้วยต้นทุนการผลิตอ้อย ต้นทุนการผลิตน้ำตาล ค่าใช้จ่ายในส่วนการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ และผลตอบแทนในอัตราที่เหมาะสม 

ในเบื้องต้นคาดการณ์ว่า หากมีการบริโภคน้ำตาลในประเทศที่ประมาณ 2.5 ล้านตัน (2,500 ล้านกิโลกรัม) จะทำให้มีรายได้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานที่ ร้อยละ 70 : 30 ส่วนของชาวไร่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 3,500 ล้านบาท 

และจากประมาณการผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 2566/2567 ที่ 82 ล้านตันอ้อย เป็นผลให้ราคาอ้อยมีราคาเพิ่มขึ้นอีกตันละ 42 บาท (3,500/82) ซึ่งจะทำให้ราคาอ้อยที่ชาวไร่อ้อยได้รับคุ้มต่อต้นทุนการผลิต โดยในเบื้องต้นจากการประชุมหารือร่วมกับผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีความเห็นสอดคล้องกัน

2) การปรับเพิ่มราคา 2 บาท/กิโลกรัม ส่วนที่ 2 
เป็นการปรับเพิ่มราคาเพื่อนำเงินส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในจำนวนที่เท่ากับส่วนที่ 1 โดยรายได้ที่นำส่งกองทุน ฯ ในส่วนนี้มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว และจะเป็นการช่วยเหลือทั้งในรูปแบบการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเก็บเกี่ยวอ้อยในพื้นที่ (In Kind) การช่วยเหลือต้นทุนการเก็บเกี่ยวอ้อยสด (In Cash) 

ทั้งนี้เพื่อให้เป็นตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีความเห็นต่อการขอรับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดให้กับชาวไร่อ้อย ที่ให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปศึกษาผลดีผลเสียและความคุ้มค่าของการดำเนินการ รวมทั้งแนวทางการลดต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ที่มีความยั่งยืนและไม่เป็นภาระงบประมาณ

ทั้งนี้ ในการประชุมหารือร่วมกับผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความกังวลว่าการปรับเพิ่มราคาในส่วนนี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

‘ครม.’ เคาะ!! หนุนเงินช่วยชาวนา ไร่ละ 1 พันบาท ไม่เกิน 20 ไร่ พร้อมไฟเขียวขึ้นราคา ‘น้ำตาล’ 2 บาท/กก. หลังต้นทุนชาวไร่อ้อยพุ่ง

(14 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สำหรับส่วนที่ตนดูและรับผิดชอบก็คือเรื่องข้าวและน้ำตาล ในเรื่องราคาข้าวนั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายข้าว ได้มีการประชุมกันและได้ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องทำการหารือกัน ซึ่งได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้หารือและนำสรุปเข้า ครม.วันนี้ ได้ข้อสรุปว่า เงินค่าช่วยบริหารจัดการ ที่จะให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ทั้งหมดจำนวนไม่เกิน 20 ไร่ เกษตรกรแต่ละครัวเรือนก็จะได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท ตรงนี้ก็ได้ประชุมเรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการตั้งแต่มติ ครม.ออก ซึ่งจะรอให้ ธ.ก.ส.เคลียร์รายละเอียดประชุมเสนออีกครั้งหนึ่ง เข้าใจว่าอย่างเร็วก็จะเป็นวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน หรือวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายนนี้ แต่อยู่ภายในกรอบหนึ่งเดือน ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินตรงนี้ต่อเนื่องไป

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ส่วนเรื่องน้ำตาล ตนก็ได้รับฟังจากที่ประชุม ซึ่งตนได้มีการประชุมกับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และได้พูดคุยกับเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และอธิบดีกรมเจรจาการค้าต่างประเทศ ก็ได้ประชุมหารือร่วมกันไปถึง 2 ครั้ง และได้ข้อสรุปว่าเราจะดำเนินการ ในการที่จะพิจารณาอย่างเหมาะสม ตามความเป็นจริง ประเด็นแรก คือ ดูต้นทุนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย แล้วเห็นว่าก็สมควรให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยขึ้นราคา 2 บาท ตามที่ต้นทุนมีอยู่

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ส่วนกรณีของเรื่องอีก 2 บาท ที่ขอขึ้นเพื่อจะใช้ในกองทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม อันนี้เรายังไม่ให้ขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม และกรรมการที่เกี่ยวข้องไปหารือกันว่า เรื่องนี้ไม่ควรจะให้ผู้บริโภครับผิดชอบคนเดียว ให้ไปดูว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันกับใครอย่างไร มีช่องทางในการดำเนินการจัดการอย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่ยังไม่อนุมัติ และขอให้ดำเนินการตามนี้

เมื่อถามถึง ปัญหาเรื่องน้ำตาลขาด นายภูมิธรรมกล่าวว่า ก็ได้คุยกับที่ประชุมที่เกี่ยวข้องทุกส่วนแล้ว ยืนยันว่า น้ำตาลจะไม่ขาด

เมื่อถามว่า การประชุมมีเรื่องอื่นด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า คิดว่าเอาเรื่องเฉพาะหน้า ที่เกษตรกรกำลังเดือดร้อน และก็จะได้คุมราคาน้ำตาลขึ้นสองบาท แล้วก็สามารถดำเนินการได้ ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ก่อน ส่วนเรื่องอื่นๆ สำหรับอนาคตที่จะต้องมีการปรับอะไรต่างๆ ก็ค่อยว่ากัน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องฉุกเฉิน ที่มีปัญหาอยู่ และเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่ประชาชนกำลังรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า จะมีผลตั้งแต่วันนี้หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ครม.ได้กำหนดเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เกี่ยวข้องก็ไปดำเนินการต่อ จะมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

‘มิตรผล’ ร่อนแถลง หลังภาพพนง.เหยียบกองน้ำตาลว่อนเน็ต ยัน!! ภาพดังกล่าวเป็นขั้นตอนนำน้ำตาลไปผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ

จากกรณีโลกโซเชียลแห่แชร์ภาพของหนุ่มรายหนึ่งที่ได้โพสต์ภาพขณะที่ตนเองกำลังเหยียบน้ำตาลทรายกองใหญ่ ส่วนอีกคนกำลังใช้ไม้กวาด กวาดน้ำตาลที่อยู่บนพื้นด้วย พร้อมระบุข้อความว่า…

“ก่อนที่สูสิพากันได้กินน้ำตาลอยู่สุมื้อนี่ กะต้องผ่านส้นตีนกูหนิล่ะก่อน55555”

เบื้องต้นทราบว่าผู้โพสต์เป็นพนักงานของบริษัทน้ำตาลชื่อดังระดับประเทศ ชนิดที่ว่าเกือบทุกบ้านจะต้องมีน้ำตาลยี่ห้อนี้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม พบว่าชาวเน็ตรายหนึ่งเข้าไปสอบถามผ่านเพจบริษัทน้ำตาลยี่ห้อดังกล่าว เพื่อให้ตรวจสอบว่าเป็นพนักงานหรือไม่ โดยแอดมินได้ตอบกลับว่าจะรีบตรวจสอบโดยทันที

ต่อมา (29 เม.ย. 67) ทางเพจเฟซบุ๊ก ‘Mitr Phol Sugar’ ของกลุ่มโรงงานน้ำตาลมิตรผลได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีการแชร์ภาพการบรรจุน้ำตาลที่ไม่ได้มาตรฐาน ระบุว่า…

“สืบเนื่องจากกรณีที่มีการโพสต์ภาพการบรรจุน้ำตาลที่ไม่ได้มาตรฐาน ลงบนสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567

ทั้งนี้ เมื่อโรงงานฯ ได้รับทราบเหตุการณ์ดังกล่าวก็มิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด โดยได้เร่งให้ฝ่ายผลิตน้ำตาลและฝ่ายควบคุมคุณภาพของโรงงานฯ ดำเนินการตรวจสอบระบบการผลิตและบรรจุของน้ำตาลดังกล่าวโดยละเอียดทันที ซึ่งจากผลการตรวจสอบ โรงงานฯ ขอเรียนชี้แจงว่า

1. ห้องที่อยู่ในภาพดังกล่าว เป็นห้องบรรจุน้ำตาลที่อยู่ในระหว่างการปิดปรับปรุง ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา โดยภาพน้ำตาลที่เห็นคือน้ำตาลที่ค้างอยู่ในท่อบรรจุ ซึ่ง ณ วันที่มีการเผยแพร่ภาพ โรงงานฯ อยู่ระหว่างดำเนินการทำความสะอาดห้องและขนย้ายน้ำตาลทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ และป้องกันมิให้กลับไปสู่กระบวนการบริโภค

2. กระบวนการผลิตน้ำตาลของโรงงานฯ เป็นระบบปิดที่ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติตลอดทั้งกระบวนการ ภายใต้อุณหภูมิความร้อนสูง 65-1,000C นอกจากนี้ กระบวนการผลิตและบรรจุสินค้ายังได้รับการรับรองมาตรฐานสากล GMP&HACCP และ FSSC 22000 จึงมั่นใจได้ว่ามีความสะอาด ปราศจากการปนเปื้อนตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต และมีการควบคุม ตรวจสอบการขนส่ง เคลื่อนย้าย การจัดเก็บอย่างถูกสุขลักษณะ ด้วยการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อตามระยะความถี่ที่เหมาะสม

โรงงานฯ ขอแจ้งให้ทราบว่าการเผยแพร่ภาพการบรรจุน้ำตาลที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จึงขอความร่วมมือทุกท่านงดนำเสนอ เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลและภาพดังกล่าว เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในสังคม

สุดท้ายนี้ โรงงานฯ ขอเรียนยืนยันถึงมาตรฐานและการควบคุมการผลิตน้ำตาลทุกประเภท ซึ่งเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นอันดับแรก

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและอยากรู้ถึงบทลงโทษของผู้ที่โพสต์ให้บริษัทเสียหาย ว่ามีการจัดการอย่างไร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top