Monday, 6 May 2024
นโยบายเศรษฐกิจ

‘สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ’ จับมือ ‘ม.หอการค้าไทย’ เตรียมจัดดีเบต เจาะลึกนโยบายเศรษฐกิจ 9 พรรคการเมือง

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จับมือมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดซูเปอร์ดีเบต ‘โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 66 เจาะลึก…นโยบายเศรษฐกิจ 9 พรรคการเมือง’ พร้อม MOU ความร่วมมือ อันเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพสื่อมวลชน

(9 เม.ย. 66) รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พร้อมด้วย นายกฤษณะพงศ์ พงศ์แสนยากร นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ ณ วันที่ 4 เมษายน 2566 โดยมีนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ประธานที่ปรึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ดร.รวิดา วิริยกิจจา คณบดีคณะบริหารธุรกิจ และคณาจารย์มหาวิทยาลัยหอการค้า กรรมการบริหารสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เป็นสักขีพยาน
โดยความร่วมมือแรกที่จะเห็นทันที คือการ ร่วมกันจัดสัมมนาดีเบตใหญ่ ‘โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 66 เจาะลึก…นโยบายเศรษฐกิจ 9 พรรคการเมือง’ ขึ้นในวันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ณ อาคาร 23 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถนนวิภาวดีรังสิต

ซึ่งพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ส่งผู้เข้าร่วม ในระดับหัวหน้าพรรคฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และผู้ร่วมผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของพรรค ร่วมดีเบต เช่น นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย, นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า, หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร จากพรรครวมไทยสร้างชาติ, นายอุตตม สาวนายน จากพรรคพลังประชารัฐ, นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกล, นายชาติชาย พยุหนาวีชัย จากพรรคชาติไทยพัฒนา และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี จากพรรคไทยสร้างไทย

โดยภายในงาน จะมีการเปิดผลสำรวจความเห็นประชาชน จากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในประเด็นนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากเห็น และนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองที่แต่ละพรรคจะทำทันที หากได้เป็นรัฐบาล

รศ.ดร.ธนวรรธน์ เปิดเผยว่า ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย ได้ร่วมลงนาม MOU ครั้งแรก ระหว่าง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ทั้งในสมาชิกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน และประโยชน์ต่อสถาบันการศึกษา งานด้านวิชาการจากทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย การถ่ายทอดเทคโนโลยี ประสบการณ์จากทางสมาคมสื่อเศรษฐกิจ เพื่อให้มีความก้าวหน้าสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พัฒนาภาพลักษณ์และการสื่อสารองค์กร ทั้งภายในและภายนอก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นระยะเวลา 3 ปี นับจากปี 2566

‘3 คำสำคัญ’ ใช้วัดนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมือง

เมื่อวันที่ 16 เม.ย.66 ‘ดร.วิรไท สันติประภพ’ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับความชอบหรือไม่ชอบนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองไหนบ้าง โดยระบุว่า…คำถามที่ผมถูกถามมากเป็นพิเศษในช่วงใกล้เลือกตั้งนี้ คือชอบนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองไหนบ้าง

คำตอบ คือ ยังตัดสินใจไม่ได้ เพราะไม่ค่อยเห็นข้อเสนอนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่างๆ แบบภาพรวม จะเห็นแต่การนำเสนอมาตรการประเภทสัญญาว่าจะให้ เพื่อเอาใจฐานเสียงกลุ่มต่างๆ หรือไม่ก็มีลักษณะเป็น wish list แบบเบี้ยหัวแตกมากกว่าที่จะบอกว่าเป้าหมาย หรือทิศทางของเศรษฐกิจไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร และจะทำอย่างไรให้เกิดผลได้จริง

ข้อเสนอนโยบายเศรษฐกิจควรต้องผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดี ผ่านการจัดลำดับความสำคัญ ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียและผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น เพราะปัญหาแต่ละเรื่องมีความเร่งด่วนและความรุนแรงไม่เท่ากัน และเรามีทรัพยากรทุกอย่างจำกัด ไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง หลายเรื่องที่ถูกต้องและจำเป็นสำหรับอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องที่จะถูกใจฐานเสียงเสมอไป

ท่ามกลางหลากหลายปัญหาที่ระบบเศรษฐกิจไทยเผชิญอยู่ในเวลานี้และที่จะเผชิญในอนาคต ผมคิดว่านโยบายเศรษฐกิจจะต้องให้ความสำคัญกับคำสามคำ คือ productivity (ผลิตภาพ) immunity (การสร้างภูมิคุ้มกัน) และ inclusivity (การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง) เพราะทั้งสามเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น และแก้ไขยากขึ้นมากถ้าเราปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ไหลลงไปเรื่อยๆ โดยไม่รีบจัดการ (อันที่จริง เราพูดเรื่องเหล่านี้กันมากว่า 10 ปีแล้ว แต่หลายเรื่องมักถูกลืม หรือถูกแกล้งลืม จนทำให้ปัญหาสะสมมากขึ้น)

              

คำแรก productivity หรือ ผลิตภาพ ถ้าแปลง่ายๆ คือคนไทยต้องเก่งขึ้น ธุรกิจไทยต้องเก่งขึ้น และต้นทุนการใช้ชีวิต การทำธุรกิจของคนไทยต้องลดลง สังคมไทยกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในขณะที่จำนวนคนไทยวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ มาสองสามปีแล้ว และหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมาก ในอนาคตคนไทยวัยทำงานแต่ละคนจะต้องหาเงินดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทั้งดูแลทางตรง(ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวและตัวเองในวัยชรา) และทางอ้อม(ผ่านการเสียภาษีให้รัฐบาลเพื่อเอาไปดูแลคนชรา) ตลาดในประเทศก็มีแนวโน้มเล็กลงตามจำนวนประชากรและโครงสร้างประชากร ในอนาคตงบประมาณของภาครัฐที่จะไปลงทุนเรื่องใหม่ๆ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกก็มีแนวโน้มน้อยลง เพราะงบรายจ่ายสวัสดิการเพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการแข่งขันกับประเทศอื่นที่เข้มข้นมากขึ้น หลายประเทศคู่แข่งของเรามีโครงสร้างประชากรที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว และกำลังเพิ่มผลิตภาพหลายด้านอย่างก้าวกระโดด

นโยบายด้าน productivity ต้องทำหลากหลายเรื่อง ที่สำคัญต้องเร่งพลิกโฉม (transform) ภาคเศรษฐกิจที่มี productivity ต่ำแต่มี impact สูงกับคนส่วนใหญ่ของประเทศก่อน โดยให้ความสำคัญกับอย่างน้อยสามภาค คือ ภาคเกษตร ภาคการศึกษา และภาครัฐ ที่ต้องพลิกโฉมอย่างจริงจัง ต้องทำนโยบายและมาตรการด้านอุปทาน (supply side) และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็น Agri-tech, Edu-tech, หรือ Gov-tech ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลได้จริงในระยะยาว

ภาคเกษตร ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลผลิตต่อไร่ของทุกพืชหลักของเราแทบไม่ดีขึ้นเลย และอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น นอกจากนี้ แรงงานในภาคเกษตรเป็นแรงงานสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมใช้น้ำมาก ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในปริมาณสูง และสร้าง PM2.5 ทำให้คนไทยตายผ่อนส่งและสร้างภาระรายจ่ายด้านสุขภาพสูงมาก ภาคเกษตรจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศรุนแรงในอนาคต ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่เพราะครัวเรือนกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศไทยพึ่งพิงรายได้จากภาคเกษตร การเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตรจะต้องลงมือทำอย่างจริงจัง ไม่ติดอยู่กับนโยบายให้เงินอุดหนุน ประกันรายได้ หรือเน้นสร้างแรงจูงใจที่มีผลบิดเบือนระยะสั้นเหมือนที่ผ่านมา

ภาคการศึกษา ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลิตภาพการศึกษาของเราอยู่ในระดับต่ำ และยังผลิตคนที่มีทักษะและความรู้ไม่ตรงกับความต้องการของโลกปัจจุบันและอนาคต เรามีโรงเรียนรัฐบาลขนาดเล็กที่ขาดคุณภาพจำนวนมาก และกำลังเผชิญปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยลงเรื่อยๆ สถาบันการศึกษาเอกชนหลายแห่งต้องทยอยปิดตัวลง สถาบันอุดมศึกษาต้องเร่งปรับตัวจากการมุ่งสอนนิสิตนักศึกษาไปสู่การวิจัยที่สร้างนวัตกรรม และเพิ่มบทบาทการ upskill และ reskill แรงงานจำนวนมากที่ต้องยกระดับทักษะของตัวเอง การศึกษาเคยเป็นบันไดทางสังคม (social ladder) ที่สำคัญของไทย แต่บทบาทนี้จะยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะช่องว่างในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพถ่างขึ้นระหว่างคนที่มีฐานะดี กับคนทั่วไป

ภาครัฐ ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณในอนาคต ภาครัฐจะต้องมีขนาดเล็กลง ซึ่งหมายความว่าต้องทำงานเก่งขึ้น นอกจากนี้ภาครัฐเป็นต้นทุนแฝงของการใช้ชีวิต และการทำธุรกิจของเราทุกคน เพราะเราต้องจ่ายภาษีและจ่ายค่าบริการสาธารณูปโภคต่างๆ ให้กับรัฐวิสาหกิจ (ที่หลายแห่งมีปัญหาด้านคุณภาพและรั่วไหลต่อเนื่อง) การยกระดับผลิตภาพของภาครัฐจะต้องปฏิรูปกระบวนการทำงานของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจอย่างจริงจัง ต้องรักษาคนเก่งจำนวนมากให้อยู่ในภาครัฐให้ได้ ให้ได้ผลตอบแทนที่ดีและให้ทำงานที่มีคุณค่าสูง ต้องลดการรวมศูนย์จากส่วนกลาง กระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่นเร็วขึ้นและมากขึ้น นอกจากนี้ ต้องเร่งปรับปรุงกฎหมาย ยกเลิกกฎเกณฑ์กติกาที่ล้าสมัย ซึ่งเป็นต้นทุนและอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตและทำธุรกิจของคนไทย และที่สำคัญที่สุดต้องเน้นการสร้างความโปร่งใส และเอาจริงกับการปราบปรามคอร์รัปชัน เพราะการคอร์รัปชันทำลายผลิตภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทย ที่ใดก็ตามที่มีการคอรัปชั่นเป็นวัฒนธรรม การแข่งขันจะไม่ได้อยู่บนความเก่งหรือความสามารถ แต่จะขึ้นอยู่กับว่ารู้จักใคร หรือรู้จักวิธีที่จะจ่ายกับใคร
 

‘รวมไทยสร้างชาติ’ หาเงินได้ - ใช้เงินเป็น

หารายได้เข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาท ใน 2 ปีที่ผ่านมา
>> ทุนต่างชาติ ลงทุนผลิตรถยนต์ ไฟฟ้าในไทยกว่า 360,000 ล้านบาท
>> ส่งเสริมสมาร์ท อิเล็กทรอนิกส์กว่า 700,000 ล้ำนบาท
>> อุตสาหกรรมดิจิทัล 300,000 ล้านบาท
>> ชาวต่างชาติพำนักระยะยาวราว 5 แสนคน เกิดการใช้จ่าย 600,000 ล้านบาท
>> ซาอุดีอาระเบีย ลงทุนผลิตพลังงานไฮโดรเจนในไกย 600,000 ล้านบาท

ใช้เงินเป็น
>> ช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง บัตรสวัสดิการ พลัส จะเพิ่มเงินให้เดือนละ 1,000 บาท รวม 12,000 บาท/ปี
>> ให้กู้เงินฉุกเฉินจากธนาคารของรัฐได้ 10,000 บาท/คน
>> ทำโครงการคนละครึ่ง ใช้งบประมาณ 60,000 ล้านบาท
>> ทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฉพาะเมืองรอง 18,000 ล้านบาท

‘รัฐบาลลุงตู่’ ก่อหนี้ไม่สูญเปล่า

ที่ผ่านมา ‘รัฐบาลลุงตู่’ ก่อหนี้…แต่ไม่สูญเปล่า

กู้ 3 ล้านล้าน สร้างความเจริญ
>> ถนนจาก 4,000 กม. เป็นกว่า 10,000 กม.
>> รถไฟฟ้าสารพัดสี จากเดิมมีแค่ 2 สาย (บนดิน-ใต้ดิน)
>> รถไฟทางคู่ 8 เส้นทาง
>> พัฒนาขนส่งทางน้ำ
>> พัฒนาขนส่งทางอากาศ

รู้หรือไม่?
หนี้สาธารณะที่บางคนบอกว่า ‘เพิ่มสูงขึ้น’ นั้น ต้องดูว่าการเพิ่มขึ้นไม่ใช่การกู้มาแจก แต่กู้มาลงทุน นั่นเพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ลงทุนแบบนี้มานานมากแล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top