Monday, 20 May 2024
นโยบายเร่งด่วน

‘นายกฯ เศรษฐา’ นั่งหัวโต๊ะ ร่วมหารือ ‘รมต.เพื่อไทย’ นัดแรก กำชับ!! อะไรทำได้ก่อนต้องรีบทำ ทุ่มเทให้สมกับที่ ปชช.ไว้ใจ

(4 ก.ย. 66) ที่ทำการพรรคเพื่อไทย (พท.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการของพรรคเพื่อไทยอีก 16 คน ได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี, นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทย, นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนโยบายการทำงาน

นายเศรษฐา กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการพบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยในวันพรุ่งนี้ (5 ก.ย. 66) จะมีการเข้าถวายสัตย์ฯ ก่อนหน้านี้ตนเองเคยพูดไม่ถูกว่าเราเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย แต่ตอนนี้อยากให้เห็นว่าเป็นรัฐบาลของประชาชน และพรรคร่วม 11 พรรค ซึ่งต้องให้เกียรติพรรคร่วมด้วย จึงฝากเอาไว้ด้วย

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ช่วงที่มีการเลือกนายกรัฐมนตรีและมีการแต่ตั้งคณะรัฐมนตรี ทางนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท. รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้พูดไว้หลายหนว่าเรามาด้วยต้นทุนที่สูง ตนอยากจะขอเปลี่ยน เพราะจริงๆ แล้วไม่ใช่ต้นทุนที่สูง แต่พรรคเพื่อไทยเราเทหมดหนน้าตัก การทำงานครั้งนี้ ตนเชื่อว่าเราเองก็มีท่านผู้มีเกียรติในที่นี้ที่ได้รับเกียรติจากพี่น้องประชาชน เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนเข้ามาดูแลบ้านเมือง เราเองก็มีหลายท่านที่อยากจะเข้ามาตรงนี้ แต่ท่านได้ถูกคัดสรรมา

“การที่เราเทหมดหน้าตักนี้ เรื่องของการที่เราจะต้องทุ่มเทการทำงานของเราเพื่อพี่น้องประชน ผมเชื่อว่าทุกท่านตระหนักดีว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ณ ช่วงเวลานี้ เรื่องการทำงาน เรื่องของระยะเวลา เรื่องของขีดจำกัดของงบประมาณก็เป็นเรื่องสำคัญ ผมไม่อยากให้เรื่องขีดจำกัดของงบประมาณก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ผมไม่อยากให้เรื่องขีดจำกัดของงบประมาณหรือว่าการที่เราได้เข้ามาบริหารช้าไป จึงจะได้ใช้งบประมาณจริงๆในต้นปีหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่างบประมาณเป็นขีดจำกัดในการที่จะไม่ให้เราทำงาน ผมเชื่อว่ามี ‘Quick Win’ (นโยบายเร่งด่วน) หลายๆอย่างเราสามารถทำได้ เพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน หรือแม้กระทั้งการยกระดับของพี่น้องประชาชนก็สามารถทำได้  เรื่องอะไรที่เราทำได้ก่อนก็ทำ” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า เข้าใจว่าแต่ละกระทรวง ทบวง กรม มีแผนงานที่มากมาย บางอย่างขึ้นอยู่กับงบประมาณ บางอย่างขึ้นอยู่กับขั้นตอนทางกฎหมาย แต่ไม่ใช่ทุกอย่างที่จะต้องมีขีดจำกัดทางด้านเวลา หรือทางกฎหมาย ถ้าเกิดว่าอะไรทำได้ อะไรที่เป็นควิกวิน เพื่อให้พี่น้องประชาชนเห็นว่าเราได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ ตนอยากให้นำออกมาทำก่อน เวลาที่เราออกไปพูดคุยกับพี่น้องประชาชน อย่าอธิบายว่าอะไรที่เราทำไม่ได้ เราถูกเลือกเข้ามาเพื่อให้ทำให้ได้ เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

“รัฐบาลของประชาชนเราต้องลดช่องว่างระหว่างฝ่ายบริหารกับพี่น้องประชาชนให้ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นเรื่องที่อยากให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงผู้บริหารได้ ตรงนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่เป็นมิติใหม่ ในการทำงานของรัฐบาลนี้ ซึ่งถ้าได้มีโอกาสพูดคุยกับพรรคร่วมอีกก็จะเน้นย้ำเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง” นายเศรษฐา กล่าว

5 นโยบายเร่งด่วนรัฐ เรื่องไหนกระตุ้น ศก. เรื่องไหนกระตุ้นความกังวล ‘แก้รธน.-ส่งเสริมท่องเที่ยว-แก้หนี้-ลดราคาพลังงาน-แจกเงินดิจิทัล’

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา สรุป 5 ประเด็นสำคัญ ที่ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน

1.เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

2.แก้ปัญหาหนี้สิน เช่น พักหนี้เกษตรกร ช่วยประคองหนี้สิน ลดต้นทุนทางการเงิน

3.ลดภาระค่าใช้จ่ายราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน

4.สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ตั้งเป้าอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนขอ-เก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า ปรับปรุงระบบคมนาคม

5.หารือแนวทางนำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และไม่แก้ในหมวดพระมหากษัตริย์

จากวันที่แถลงนโยบาย มาจนถึงปัจจุบัน  นโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรม ลำดับแรก คงเป็น นโยบายที่ 3 คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งมีการปรับลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มจากน้ำมันดีเซล ให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร และ ลดน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร จากโครงสร้างราคาเดิม เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่ง ครม. ก็ได้ให้ไฟเขียวในการประชุมไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาท/หน่วย มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายน 2566 จนถึงรอบบิลเดือนธันวาคม 2566

นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ภายใต้กลไกตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป

นโยบายเร่งด่วนถัดมา ที่เริ่มดำเนินการ คือ นโยบายที่ 2 การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุม ถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง ซึ่งในส่วนการพักชำระหนี้เกษตรกร ระยะเวลา 3 ปี เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เมื่อ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน BAAC Mobile ของ ธ.ก.ส. มากกว่า 2.5 แสนราย

นโยบายอีกด้านที่ลงมือดำเนินการแล้ว คือ นโยบายที่ 4 ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และสร้างงานให้กับประชาชน ซึ่งภาคเอกชน ร่วมกันขานรับ ทั้งมาตรการการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า และมาตรการยกเลิกการออกวีซ่าประเทศเป้าหมายชั่วคราว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 30-40% โดยเริ่มใช้นโยบายวีซ่าฟรีกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่ 25 ก.ย. 2566-29 ก.พ. 2567 รวมระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากนโยบาย ทั้ง 3 ที่ 'ลด แลก แถม' ในแพ็กเก็จต่างๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลัง Covid-19 ให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง กระทบฐานะทางการคลังของประเทศไม่มากนัก และส่งเสริมให้ภาครัฐ สามารถจัดเก็บภาษีกลับคืนได้พอสมควร 

แต่ที่ประเด็นใหญ่ ที่ยังหาช่องทางดำเนินการไม่ได้ คงไม่พ้น นโยบาย 'แจก' เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่นักเศรษฐศาสตร์ของไทยเกือบ 100 คน ลงชื่อคัดค้านไม่เห็นด้วยในการดำเนินการ เนื่องจากจะกระทบกับเสถียรภาพทางด้านการคลังเป็นอย่างมาก โดยมี 2 อดีต ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมคัดค้านในนโยบาย ที่จะ 'ได้ไม่คุ้มเสีย' ฟากรัฐบาลก็ยังไม่มีทีท่าจะยกเลิก โดยพยายามหาแนวทางในการดำเนินการ และจุดสำคัญ คือ จะจัดหาเงินงบประมาณ 560,000 ล้านบาท มาจากที่ไหน อย่างไร เพื่อมาแจกให้กับประชาชน

สำหรับอีก 1 นโยบายเร่งด่วนที่แถลงต่อรัฐสภา คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แน่นอนว่า ประเด็นนี้ ไม่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเพียงการแก้ไข ที่จะเปิดช่อง กำหนดกติกาให้นักการเมืองในฝ่ายตน ได้เปรียบในการแข่งขันลงเลือกตั้ง เพื่อถืออำนาจรัฐในมือมากกว่า 

สุดท้าย นโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลปัจจุบันแถลง ฐานะทางการเงินของประเทศไทย จากที่เคยมีทุนสำรองระหว่างประเทศรวม (Gross Reserves) อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทที่ 8.17 ล้านล้านบาท ณ เดือนตุลาคม 2564 สูงเป็นลำดับที่ 12 ของโลก หลังจากนี้ไป จะเป็นอย่างไร คงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top