Friday, 17 May 2024
ท่อส่งก๊าซ

ยุโรปจี๊ด!! ‘รัสเซีย’ เตรียมเปิดโครงการ Siberia 2 เส้นทางท่อส่งก๊าซใหม่ ‘จีน-มองโกเลีย’ แทนที่ยุโรป

อเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีแห่งรัสเซีย ได้ยืนยันเสียงดัง ฟังชัด ผ่านสื่อช่อง Rossiya-1 ของรัสเซีย ว่ารัสเซียเตรียมเปิดโครงการท่อส่งก๊าซใหม่ Siberia 2 เชื่อมโยงระบบส่งก๊าซจากฝั่งตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน และจะส่งก๊าซผ่านมองโกเลียตรงไปลงที่จีนเลย ซึ่งโครงการ Siberia 2 จะมาแทนที่โครงการ Nord Stream 2 ท่อส่งก๊าซสู่ยุโรปของรัสเซีย

สำหรับโครงการ Siberia 2 นั้น จะเหลือก็เพียงแค่การพูดคุยตกลงกันในขั้นตอนสุดท้ายระหว่าง ‘รัสเซีย - มองโกเลีย - จีน’ จากนั้นจะเริ่มต้นวางท่อก๊าซได้ในปี 2024 นี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2030 สามารถส่งก๊าซได้ถึง 2 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อปี

แน่นอนว่านี่คือผลลัพธ์ หลังจากชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียจากกรณีสงครามในยูเครน จนทำให้รัสเซียต้องหาตลาดใหม่มาทดแทน ซึ่งจีนก็เป็นหนึ่งในผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ที่สุดในโลก และนั่นก็ไม่มีอะไรที่รัสเซียต้องคิดนาน การเปลี่ยนเป้ามาจาก Nord Stream 2 มาโฟกัสที่ Siberia 2 เป็นหลักแทนจึงเป็นคำตอบที่ช่างลงตัว ในช่วงเวลาที่โครงการ Nord Stream 2 ซึ่งรัสเซียพัฒนาร่วมกับเยอรมัน เพื่อส่งก๊าซตรงเข้ายุโรป ถูกระงับอย่างไม่มีกำหนด ทั้ง ๆ ที่โครงการควรจะแล้วเสร็จตั้งแต่กันยายน 2021 

‘พีระพันธุ์’ สั่งติดตามการสู้รบในเมียนมาอย่างใกล้ชิด ยัน!! แหล่งก๊าซฯ 3 แห่งยังส่งก๊าซฯ มาไทยได้ตามปกติ

เมื่อวานนี้ (11 เม.ย. 67) แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานเฝ้าติดตามสถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมาว่าจะส่งผลกระทบต่อการจ่ายก๊าซธรรมชาติในแหล่งยาดานา, เยตากุน และซอติก้า แปลง M9 มายังประเทศไทยหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้การสู้รบในประเทศเมียนมามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

เบื้องต้นขณะนี้ก๊าซฯ จากทั้ง 3 แหล่งดังกล่าว ยังส่งเข้าไทยได้ตามปกติ ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ได้มีการซ้อมแผนรองรับวิกฤติก๊าซธรรมชาติทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ว่าจะเกิดปัญหากับก๊าซฯ ในจุดใด กรม ชธ. ก็จะสามารถบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในประเทศให้ได้

อย่างไรก็ตามคาดว่าการสู้รบในเมียนมาจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งก๊าซฯ มายังไทย เนื่องจากการสู้รบเป็นคนละส่วนกับพลังงานที่จำเป็นต่อชีวิตประชาชนทั่วไป แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดและกระทบต่อการส่งก๊าซฯ มายังไทยจริง ก็อยู่ในวิสัยที่ไทยยังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ ในอ่าวไทยเริ่มกลับมาผลิตได้มากขึ้นแล้ว

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาเติมให้เต็มถัง เพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าและพลังงานในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนี้ด้วย

สำหรับข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เมื่อปี 2566 พบว่าไทยมีปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติรวมทั้งสิ้น 4,664 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งมาจากแหล่งในประเทศ 57% หรือ 2,653 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และนำเข้ามาจากต่างประเทศอีก 43% หรือ 2,010 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 31%  และก๊าซฯ จากเมียนมา 12%

สำหรับก๊าซฯ จากแหล่งในเมียนมาที่ส่งมายังไทย ได้แก่ ก๊าซฯ แหล่งยาดานา, แหล่งเยตากุน และแหล่งซอติก้า แปลง M9 ซึ่งทั้ง 3 แหล่งตั้งอยู่ในอ่าวเมาะตะมะ ของสหภาพเมียนมา โดยปัจจุบันแหล่งยาดานาส่งก๊าซฯ มาไทยประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน, ก๊าซฯ แหล่งเยตากุน ประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้า แปลง M9 ประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้งสิ้นประมาณกว่า 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top