Sunday, 19 May 2024
ทางรัฐ

‘อนุทิน-พวงเพ็ชร’ เปิดตัวแอปฯ ‘ทางรัฐ’ เล็งลดขั้นตอนติดต่อราชการ พร้อมช่วยให้ ‘ผู้สูงอายุ-คนพิการ’ เช็กเบี้ยได้สะดวกและรวดเร็ว

(27 พ.ย.66) ที่อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย เป็นประธานเปิดบริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการบนระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) หรือแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ โดยมีนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายวราวุธ ยันต์เจริญ ผู้ช่วยรมต.ประสำนักนายกฯ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรมว.มหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผอ.สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ตัวแทนภาคประชาชน และสื่อมวลชน ร่วมในพิธี 

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่น่ายินดีที่จะได้เปิดการให้บริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการบนระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชนหรือแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจตามนโยบายรัฐบาลที่จะปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศให้เข้าสู่ยุค Digital Government โดยเมื่อข้อมูลทั้งหลายถูกนำเข้าสู่ระบบออนไลน์แล้ว ประเทศก็จะได้ทั้งการบริหารงานที่โปร่งใส และการให้บริการที่สะดวกสบายสำหรับประชาชน ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์บริการ ทั้งการพัฒนาบริการเดิม และเสริมบริการใหม่ จะช่วยลดขั้นตอนการติดต่อราชการที่ซ้ำซ้อนลง สามารถตอบสนองความต้องการของคนยุคนี้ ในการเข้าถึงบริการของรัฐได้ตลอด 24 ชั่วโมง ลดปัญหาดังที่เราทุกคนเคยมีประสบการณ์ของความหงุดหงิด เวลาอยากจะทำอะไรนอกเวลาราชการแล้วทำไม่ได้ ต้องมาเสียเวลาทำการทำงาน เพื่อไปติดต่อราชการตามเวลาราชการ 

“ความรู้สึกแบบนั้นจะหายไป เมื่อเราเข้าสู่ความเป็น Digital Government โดยสมบูรณ์ ซึ่งการรวมศูนย์บริการภาครัฐให้เป็นพอร์ทัลกลาง เป็นปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลดิจิทัลเกิดขึ้นได้จริง การที่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้นำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการให้บริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ รองรับผู้ใช้งานกว่า 14 ล้านคนในครั้งนี้ ถือว่าสอดคล้องกับอัตลักษณ์ในการทำงานของชาวกระทรวงมหาดไทย คือทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม สนองตอบความต้องการของประชาชน

ด้านนางพวงเพ็ชร กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่วันนี้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนนโยบายของท่านรองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ที่มุ่งพัฒนาให้ข้าราชการและหน่วยงานเป็นที่พึ่งพาของประชาชน ทั้งนี้ การที่กระทรวงมหาดไทยได้ให้เกียรตินำบริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการมาไว้ในแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ สะท้อนถึงการก้าวสู่องค์กรดิจิทัลที่มีความสอดคล้อง คล่องตัว เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะผลักดันให้แอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ เสมือนซูเปอร์แอพของภาครัฐ ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในแอปฯ เดียว ซึ่ง DGA มุ่งมั่นขับเคลื่อนงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างประเทศให้ทันสมัย เพื่อชีวิตของคนไทยที่ง่ายขึ้น (Smart Life) ส่งผลให้ประชาชนทุกคน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

นายขจร กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาที่ประชาชนทั่วไปไม่ทราบ หรือไม่สามารถคำนวณหาช่วงเวลาที่ต้องไปยืนยันตัวตน เพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้อง มีความเสี่ยงในการไปยืนยันตัวตนล่าช้ากว่าที่ระเบียบกำหนด ส่งผลให้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุล่าช้า และจำนวนเงินเบี้ยยังชีพที่ได้รับน้อยลงกว่าสิทธิที่ควรจะได้ หรือต้องการทราบข้อมูลการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการในแต่ละเดือน ก็จำเป็นที่จะต้องเดินทางมาสอบถามข้อมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างเยอะ ยิ่งถ้าต้องการข้อมูลจากหลายหน่วยงานก็ต้องเดินทางไปหลายแห่งอีก สร้างภาระค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากให้กับประชาชนที่ต้องการความสะดวก

นายขจร กล่าวอีกว่า แอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ได้รวบรวมบริการที่สำคัญของภาครัฐมาไว้ในแอพเดียว ที่ให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ปัจจุบันแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ พร้อมให้บริการประชาชนกว่า 134 บริการ เช่น บริการตรวจสอบสิทธิประกันสังคม สิทธิการรักษาพยาบาล เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สิทธิหลักประกันสุขภาพ รวมถึงฐานข้อมูลการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ เป็นการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 รวมถึงแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งรัฐบาลมีเจตนารมณ์มุ่งผลักดันให้แผนนี้เป็นระบบกลางของประเทศ ที่รวบรวมงานบริการภาครัฐไว้ในแหล่งเดียว เพื่อให้ประชาชนได้รับประสบการณ์ที่ดีในการติดต่อราชการผ่านทางออนไลน์

‘ปลัดคลัง’ เผย จะใช้แอปฯ ‘ทางรัฐ’ รองรับดิจิทัลวอลเล็ต ย้ำ!! ประชาชนเตรียมลงทะเบียนรับสิทธิ์ ไตรมาส 3 ปีนี้

(11 เม.ย. 67) นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า คณะกรรมการโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ได้กำหนดให้ประชาชนจะต้องเข้ามาลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนในการรับสิทธิ โดยโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะเริ่มเปิดลงทะเบียนในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 และประชาชนจะสามารถใช้จ่ายได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 ส่วนช่องทางในการใช้จ่ายนั้น จะใช้แอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือดีจีเอ

“สาเหตุที่ไม่เลือกใช้แอพพ์เป๋าตัง เนื่องจากแอพพ์ทางรัฐ เป็นแอพพ์ของรัฐจริง ๆ แต่เป๋าตังเป็นของแบงก์ อย่างไรก็ตาม เป๋าตังก็อาจจะยังต้องใช้ แต่เป็นระบบข้างหลัง ไม่ได้เป็นด้านหน้า เนื่องจากเป็นระบบควบคุมแบบเปิด หรือ Open Loop ซึ่งหมายความว่า เป็นวอลเล็ตของสถาบันการเงิน ทั้งแบงก์และนอนแบงก์สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งเป๋าตังอาจจะไปเชื่อมต่อตรงนั้น เช่นเดียวกันกับ เคพลัส และแม่มณี เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ดีจีเออยู่ระหว่างการพัฒนา” นายลวรณ กล่าว

นายลวรณ กล่าวว่า ส่วนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นร้านค้าที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะต้องมีขนาดเล็ก เช่น ร้านค้าโชห่วย และร้านสะดวกซื้อ อย่างเซเว่น อีเลฟเว่น ก็สามารถเข้าร่วมได้ ทั้งนี้ หลักการได้รับเงินของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ คือรอบแรกมีเงินอยู่ที่ประชาชน โดยประชาชนที่ได้รับสิทธิจะต้องใช้ในร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น ที่อยู่ในเขตอำเภอ เพื่อให้มีเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งถือเป็นรอบที่ 1

นายลวรณ กล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อร้านค้าขนาดเล็กได้รับวงเงินมาแล้ว ต้องเอาไปใช้ต่อเป็นรอบที่ 2 ในร้านค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเป็นการซื้อขายร้านค้ากับร้านค้า โดยหากร้านค้าที่มีขนาดใหญ่ดังกล่าวอยู่ในระบบภาษี ร้านค้านั้น ๆ จะสามารถเอาออกจากระบบได้ โดยเกณฑ์โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต กำหนดให้ร้านค้าที่สามารถนำเงินออกจากระบบได้ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

“การกำหนดร้านขนาดเล็กในรอบแรก มองว่า จะต้องเป็นร้านโชห่วย ขึ้นมาได้มากที่สุด คือร้านสะดวกซื้อ อาทิ เซเว่น ร้านในปั๊ม แต่ยังไม่ถึงแม็คโคร ค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ที่ทำให้มีรอบที่ 1 และรอบที่ 2 เพราะเราอยากให้เกิดการหมุนเวียน เพราะหากเงินในระบบออกได้เร็ว แรงส่งต่อเศรษฐกิจก็จะมีน้อยลง”นายลวรณกล่าว

นายลวรณ กล่าวว่า วงเงินจากดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ประชาชน 50 ล้านคนได้รับ จะต้องใช้จ่ายผ่านร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น โดยมีระยะเวลาการใช้จ่าย 6 เดือน ซึ่งมั่นใจว่า วงเงิน 5 แสนล้านบาท จะลงสู่ร้านค้าขนาดเล็กทั้งหมด โดยรัฐจะมีระบบบล็อกร้านค้าที่ 2 ไม่ให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายได้ เพื่อกำหนดให้ประชาชนซื้อในร้านค้าขนาดเล็กก่อน

นายลวรณ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าวมีระบบป้องกันเรื่องเงินทอน และทุจริตการใช้จ่าย ซึ่งโครงการในอดีตที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้น แต่ก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิในการใช้จ่าย ทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายจะต้องมีการยืนยันตัวตนในรูปแบบตัวต่อตัว และยังมีตำรวจไซเบอร์ที่จะเข้ามาดูเรื่องเงินทอน และการซื้อของผิดประเภท โดยมีโทษสูงสุดถึงจำคุก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top