Sunday, 5 May 2024
ทางรถไฟจีนลาว

‘ทางรถไฟจีน-ลาว’ หนุนส่งออก ‘ทุเรียนไทย’ สู่ตลาดจีน เพิ่มกำลังการขนส่งรวดเร็วยิ่งขึ้น สร้างรายได้มหาศาล

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวซินหัว, แหลมฉบัง/คุนหมิง รายงานว่า ขบวน ‘รถไฟผลไม้’ บรรทุกทุเรียนและมังคุดของไทย จำนวน 23 ตู้คอนเทนเนอร์ ได้เดินทางถึงนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
.
รถไฟขบวนนี้มีต้นทางจากแหลมฉบัง ท่าเรือแห่งสำคัญของไทย และวิ่งถึงจุดหมายปลายทางในจีนโดยผ่าน ‘ทางรถไฟจีน-ลาว’ ซึ่งปัจจุบันกำลังกลายเป็น ‘ทางด่วน’ ของบรรดาผู้ส่งออกชาวไทยในการเข้าถึงตลาดจีนอย่างรวดเร็ว
.
อรทัย เอื้อตระกูล วัย 67 ปี อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนำเข้าและส่งออกสินค้าพืชของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย เผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า เมื่อก่อนทุเรียนส่วนใหญ่ถูกส่งออกสู่จีนทางถนนและทางทะเล ซึ่งเป็นเส้นทางที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะหลายปัจจัยอย่างสภาพอากาศเลวร้าย ทำให้บางครั้งใช้เวลาขนส่งนานกว่า 20 วัน
.
ทว่าปัจจุบัน ทุเรียนไทยถูกขนส่งถึงคุนหมิงภายใน 3 วัน ด้วยอานิสงส์จากการขนส่งแบบห่วงโซ่ความเย็นบนทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งอรทัยแสดงความหวังว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคชาวจีนได้เพลิดเพลินกับทุเรียนสดใหม่และสุกอร่อยเหมือนกับชาวไทยเพิ่มขึ้น

ด้าน นที ชวนสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) กล่าวว่า ปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนแห่งสำคัญที่สุดของไทย และหวังว่าผู้บริโภคชาวจีนจะได้ชิมทุเรียนรสชาติดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยขยับขยายตลาดทุเรียนไทย

อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่า จีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนไทยขนาดใหญ่สุดในปี 2022 ครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 96 ของปริมาณการส่งออกทุเรียนทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 3.09 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1.06 แสนล้านบาท)

บริษัท ไทยแลนด์ รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด (Thailand Royal Farm Group) ได้ดำเนินธุรกิจส่งออกทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่มีชื่อเสียงของประเทศ เป็นเวลานานมากกว่า 16 ปีแล้ว

วีริศา วนนุรักศ์สกุล ซีอีโอของบริษัทฯ กล่าวว่า ความต้องการจากตลาดจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้ราคาขายส่งทุเรียนพุ่งสูงไม่หยุด และรายได้จากงานบรรจุหีบห่อแบบจ้างงานชั่วคราวในช่วงฤดูส่งออกกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนท้องถิ่นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ทางรถไฟจีน-ลาว ได้เปิดเส้นทางใหม่สำหรับการส่งออกทุเรียนไทย และบรรเทาปัญหากำลังการขนส่งไม่เพียงพอที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ รวมถึงการขนส่งทางถนนและทางทะเลที่ไม่มีความแน่นอน

กนกวรรณ สุวรรณกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการสินค้า การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดทางรถไฟจีน-ลาว ได้ส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางของไทย โดยปริมาณการขนส่งสินค้าจากไทยสู่ลาวเพิ่มขึ้นจาก 500-600 ทีอียู (TEU: หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) ในปี 2019 เป็น 2,000 ทีอียูในปี 2022 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 3,000 ทีอียูในปี 2023

บริษัท สปีด อินเตอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจส่งออกและขนส่งผลไม้มากกว่า 20 ปี ได้ตัดสินใจพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางอย่างจริงจัง หลังจากทดลองดำเนินงานมากว่าหนึ่งปี

พานเจียวหลิง ซีอีโอของบริษัทฯ กล่าวว่ามีการซื้อตู้คอนเทนเนอร์แบบห่วงโซ่ความเย็นสำหรับขนส่งสินค้าพร้อมติดตั้งระบบจีพีเอส (GPS) ในปีนี้ ซึ่งช่วยระบุตำแหน่งและเฝ้าติดตามอุณหภูมิแบบเรียลไทม์จากระยะไกล รวมถึงส่งข้อมูลโลจิสติกส์ให้ลูกค้าได้อย่างทันท่วงที

‘ทุเรียนไทย’ กลิ่นหอมขจรขจายทั่วนครฮาร์บิน ตอนเหนือของจีน ด้วยการขนส่งก้าวหน้า โดย ‘ขบวนด่วน’ ของทางรถไฟจีน-ลาว

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวซินหัว, ฮาร์บิน รายงานว่า ณ ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรฮาต๋า ซึ่งเป็นศูนย์กลางจัดจำหน่ายผักผลไม้ที่พลุกพล่านที่สุด ในมณฑลเฮยหลงเจียงทางตอนเหนือสุดของจีน มีรถบรรทุกทุเรียน 1,000 กล่อง ถูกรุมล้อมด้วยพ่อค้าแม่ขายที่มารอรับสินค้า โดย ‘เสี่ยวเหิง’ เป็นพ่อค้าคนหนึ่งที่ร่วมรอรับทุเรียน เพื่อขนขึ้นรถส่วนตัวพร้อมกับผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ อย่างฝรั่งและมะม่วง

‘เสี่ยวเหิง’ ผู้ค้าขายผลไม้มานานกว่า 10 ปี เล่าว่าเขาเริ่มต้นขายผลไม้ปี 2013 ตอนนั้นชาวฮาร์บินชอบรับประทานทุเรียนกันแล้ว แต่ยังมีของขายไม่มากและราคาไม่ถูก แถมการขนส่งที่ใช้เวลานานทำให้ทุเรียนที่ขนส่งมาถึงเปลือกแห้งและดำ ต่างจากปัจจุบันที่ล่าสุดได้ยินว่าขนส่งด้วย ‘ขบวนด่วน’ บนทางรถไฟจีน-ลาว ทั้งมีคุณภาพดีและราคาลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนๆ

ย้อนกลับเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผลไม้เมืองร้อนจากไทยที่วางจำหน่ายในนครฮาร์บิน เมืองเอกของเฮยหลงเจียง ต้องผ่านมือเหล่าพ่อค้าคนกลางในกว่างโจว เสิ่นหยาง ปักกิ่ง และอื่นๆ เพราะไม่มีช่องทางซื้อขายโดยตรง ทำให้ราคาพุ่งสูง ขณะเดียวกันรูปลักษณ์และรสชาติของผลไม้แย่ลงเพราะใช้ระยะเวลาขนส่งยาวนาน

ทว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีน ช่วยลดระยะเวลาขนส่งลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณภาพของผลไม้นำเข้าดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แม้แต่เฮยหลงเจียงที่เป็นมณฑลทางเหนือสุดของจีน ยังสามารถเพลิดเพลินกับผลไม้เมืองร้อนเลิศรสที่ส่งมาจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทย มาเลเซีย และลาว

หากวันนี้ลองเยี่ยมเยือนซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในนครฮาร์บิน คุณจะได้พบทุเรียนหมอนทองสุกพร้อมรับประทานวางเรียงรายดึงดูดลูกค้ามาเลือกซื้อจำนวนมาก โดยมีราคาช่วงโปรโมชันอยู่ที่ราว 43.8 หยวน (ราว 210 บาท) ต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคาค้าปลีกในท้องตลาดอย่างมาก

พนักงานซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้เผยว่า ทุเรียนมีราคาถูกเช่นนี้เพราะต้นทุนการขนส่งลดลง โดยทุเรียนจากไทยถูกขนส่งสู่นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ก่อนจะถูกกระจายไปทั่วประเทศ ขณะเดียวกันที่นี่มีบริการปลอกเปลือกทุเรียนฟรีและตรวจดูคุณภาพทุเรียนก่อนจ่ายเงิน เพื่อรับประกับความสดใหม่ทุกลูก

อนึ่ง ทางรถไฟจีน-ลาว ถือเป็นโครงการสำคัญของการร่วมสร้าง ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (BRI) ที่มีคุณภาพสูง และกลายเป็นช่องทางโลจิสติกส์ที่สะดวกระหว่างจีนและอาเซียน โดยทางรถไฟสายนี้ช่วยให้ขนส่งทุเรียนจากไทยถึงคุนหมิงภายใน 3 วัน ซึ่งช่วยให้ไทยสามารถส่งออกทุเรียนที่สุกมากขึ้นและรสชาติดีขึ้นได้

ปัจจุบันไทยมีทุเรียนกว่า 200 สายพันธุ์ และถือเป็นประเทศส่งออกทุเรียนสดมากที่สุดในโลก โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่าจีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนไทยขนาดใหญ่ที่สุดในปี 2022 ครองส่วนแบ่งร้อยละ 96 ของทุเรียนไทยส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.05 แสนล้านบาท)

ด้าน ‘ขบวนด่วน’ บนทางรถไฟจีน-ลาว ช่วยลดระยะเวลาขนส่งทุเรียนสู่จีนอย่างมาก โดยกลุ่มสื่อไทยรายงานว่า ‘รถไฟขบวนทุเรียน’ จากสถานีมาบตาพุดไปยังนครกว่างโจวของจีน ทำสถิติขนส่งผลไม้จากไทยสู่จีนเร็วที่สุดครั้งใหม่ และการเน่าเสียระหว่างการขนส่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เสี่ยวเหิง เผยทิ้งท้ายว่า เขาขายทุเรียนได้หลายร้อยลูกในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา โดยเขายังมี ‘บริการหลังการขาย’ อย่างเช่น การแลกคืนทันทีหากพบทุเรียนด้อยคุณภาพ ขณะการรับประกันอุปทานและการพัฒนาโลจิสติกส์ช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่เสี่ยวเหิง และเกื้อหนุน ‘กลิ่นหอม’ ของทุเรียนไทยขจรขจายทั่วดินแดนตอนเหนือสุดของจีน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top