Monday, 13 May 2024
ต้องเต

‘ต้องเต’ แต่งหญิงทาปากแดง พาทีมงานรำแก้บน หลัง ‘สัปเหร่อ’ ทะยาน 700 ล้าน คนแห่ร่วมงานนับพัน

เมื่อวานนี้ (30 ต.ค.66) หลัง ‘สัปเหร่อ’ ภาพยนตร์ลำดับที่ 6 ของจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์ กวาดรายได้รวมทั่วประเทศไปถึง 700 ล้านบาท จนขึ้นแท่นเป็นหนังไทยที่ทำรายได้สูงสุดในรอบ 10 ปี ล่าสุดผู้กำกับมาดเซอร์อย่าง ‘ต้องเต ธิติ ศรีนวล’ ก็ได้พาทีมนักแสดง มาทำตามสัจจะวาจาที่เคยพูดไว้ ว่าหากหนังประสบความสำเร็จ จะทำพิธีบวงสรวงและรำถวายท่าน ที่สวนป่า ณ โพนปู่ทองคำ ปู่ย่าที่อีหลีน่าคาเฟ่ จ.สกลนคร บ้านของนักร้องหนุ่ม ‘ก้อง ห้วยไร่’ ผู้เป็นพ่องานในวันนี้

โดย ‘ก้อง ห้วยไร่’ บนไว้ 100 ล้าน ส่วน ‘ต้องเต’ บนไว้ 50 ล้าน วันนี้เจ้าตัวก็เลยแต่งหญิงสวมชุดไทยตามที่บนบาน พร้อมมาเป็นนางรำร่วมกับชาวบ้านกว่า 200 ชีวิต ท่ามกลางผู้เข้าร่วมงานกว่า 1 พันคน ซึ่งบรรยากาศระหว่างพิธีบวงสรวงนั้น ก็มีลมพัดแรงเป็นช่วงๆ ทำเอาขลังและขนลุกไปตามๆ กัน แต่ในขณะเดียวกันก็ม่วนจอยกันหนักมาก หลังเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวง

และงานนี้ผู้กำกับอย่าง ‘ต้องเต’ ก็ถึงกับมีน้ำตา ระหว่างพูดขอบคุณทีมงานและผู้ชม ที่ทำให้หนังไทบ้านอย่าง ‘สัปเหร่อ’ ประสบความสำเร็จและกวาดรายได้ถล่มทลายขนาดนี้ และคาดว่าอีกไม่กี่อึดใจ ก็คงจะทะลุ 1,000 ล้านได้อย่างไม่ยาก 

'ต้องเต' หวังรัฐบาลไทยหนุนภาพยนตร์ไทยเต็มกำลัง หลังยก 'สัปเหร่อ' ขึ้นแท่น Soft Power ของไทย

จากกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม เอ็กซ์ หลังชม ภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อร่วมกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตรประธานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ว่า ..."'สัปเหร่อ' คือภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของภาคอีสานผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่ออกมาได้อย่างน่าชื่นชม ผมเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จคือการที่ผู้กำกับ และทีมงานภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง ควรค่าแก่การสนับสนุนครับ

รัฐบาลเราสนับสนุน Soft Power ทุกมิติ ด้านภาพยนตร์เองก็เช่นกัน เราพร้อมที่จะผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยพาวัฒนธรรมของเราออกไปสู่สายตาชาวโลกเป็น ‘จุดขาย’ ไปสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้และความชื่นชอบให้กับประเทศไทย"

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 66 นายธิติ ศรีนวล หรือ ต้องเต ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ กล่าวในรายการอยู่ดีมีแฮง ช่อง ThaiPBS ว่า "ผมคาดหวังว่าเรื่องต่อ ๆ ไป ไม่ใช่แค่ของผม อยากให้มาสนับสนุนจริง ๆ หน่อย ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป คุณอาจจะไม่ได้เข้าใจหนัง #สัปเหร่อ จริง ๆ เลยก็ได้ แค่มาถ่ายรูป แล้วบอกว่า 'สัปเหร่อ' เป็น ซอฟต์เพาเวอร์ (SoftPower)

"อย่างตัวผมเองยังไม่รู้ว่า ซอฟต์เพาเวอร์ คืออะไร ตอนผมทำ ผมยังแบบ 'เอ๊า!! หนังผมเป็น ซอฟต์เพาเวอร์' เหรอ ผมยังไม่รู้เลย แต่ถ้าผมได้รู้ หรือได้ทำความเข้าใจว่า ซอฟต์เพาเวอร์ คืออะไร หนังไปไกลกว่านี้ มี 'ซอฟต์เพาเวอร์' จริง ๆ แน่นอน

"ดังนั้น ถ้ามีการพูดคุยหรือเสวนาในวงการที่อยากจะเอา ซอฟต์เพาเวอร์ เผยแพร่ต่อต่างประเทศ อยากให้พาไปจริง ๆ"

ด้าน นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นนี้ทางทวิตเตอร์ หรือ X ว่า "รัฐบาลเพิ่งได้เข้ามาเริ่มผลักดันนโยบาย #SoftPower และไม่ได้คิดจะเคลมผลงานใด ๆ จากความสำเร็จของภาพยนตร์ #สัปเหร่อ ครับ แต่มีเจตนาที่จะสนับสนุน และชี้ให้เห็นตัวอย่างหนึ่งของผลงานที่มีคุณภาพ

"ในฐานะคอหนัง ผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยความตั้งใจ และประทับใจผลงานด้วยใจจริง
"
"หวังอย่างยิ่งว่าในเร็ว ๆ นี้ ความสนใจและตั้งใจจริงของรัฐบาลชุดนี้ ที่จะสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์แขนงต่าง ๆ ให้เติบโตและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างขึ้น จะเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วครับ

"การสนับสนุนอุตสาหกรรมโดยภาครัฐ ไม่ได้มีเพียงกลไกเอาเงินทุนไปให้ หรือไปช่วยประชาสัมพันธ์ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ คือการดึงภาคเอกชนมาร่วมกันให้ข้อมูล ว่าการทำงานที่เป็นอยู่ ติดขัดปัญหาหรือข้อกฎหมายอย่างไรแล้วรัฐในฐานะผู้สนับสนุนจึงจะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้เอกชนได้ขยายศักยภาพของตนเองได้เต็มที่มากขึ้นครับ #SoftPower #รัฐบาลเศรษฐา”

"อันนี้เป็นนโยบายของ #พรรคเพื่อไทย ที่ใช้หาเสียง เฉพาะในส่วนของ 'ภาพยนตร์' ก่อนนะครับ ยังมีส่วนของวงการอื่น ๆ อีกครับ”

ขณะที่ทางด้านเฟซบุ๊กเพจ 'ตุ๊ดส์review' ได้โพสต์เกี่ยวกับประเด็นนี้ ว่า ภาพยนตร์ #สัปเหร่อ กับคำว่า #SoftPower ของรัฐบาลไทย

1) จริง ๆ รัฐไม่ได้เข้าใจด้วยซ้ำว่าเราจะสร้าง Soft Power กันยังไง เราแค่รอมันดังแล้วไปถ่ายรูปคู่ ไม่ได้ร่วมสร้าง ร่วมลงทุน และผลักดันโดยรัฐบาลตั้งแต่ก้าวแรกของการทำงาน

2) การดูกันเอง ชื่นชมกันเอง สนุกสนานกันเองในประเทศ แต่ไม่ได้ผลักดันสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในตลาดโลก หรือพาหนังไปสร้างอำนาจละมุน ตามคำว่า Soft Power เพื่อพาวัฒนธรรมประชาชนไปสั่นสะเทือนวงการและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ก็เท่ากับว่า "มันยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง และไม่ได้มีการลงมือทำอะไรเป็นรูปธรรม"

3) การรอฉกฉวยโอกาสของรัฐ ที่มีต่อสิ่งที่ดังด้วยตัวมันเอง ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยประยุทธ์ กำลังถูกสานต่อโดยยุคสมัยของเศรษฐา โดยที่ยังไม่เห็นนโยบายที่เป็นกลยุทธ์ และแนวทางการสร้างความสำเร็จ นอกจากรูปถ่าย PR เท่านั้น ที่ออกมาสร้างการรับชมกันเองในชาติ โดยที่ต่างชาติไม่ได้มาร่วมอึ้ง หรือซาบซึ้งใด ๆ กับเรา

4) ถ้าบอกว่าสนับสนุนเพื่อให้ Soft Power ไทยไปไกลในตลาดโลก รัฐต้องลงทุน และมีหน่วยงานที่เอาผลผลิตอุตสาหกรรมบันเทิงไทยไปเจาะตลาดโลก ตั้งแต่ Day One โดยร่วมวางแผนการสร้าง Soft Power ให้ก้าวแรกมีเนื้อหาสาระ นักแสดง กลยุทธ์ และแนวทางการประชาสัมพันธ์ที่ส่งเสริมการส่งออกแบบครบวงจร แต่เราไม่เห็นกระบวนการเหล่านั้นในการวางแผนการทำงาน

5) แค่ถ่ายรูป แล้วบอกว่าเป็น Soft Power มันมีประโยชน์น้อยมาก แถมยังสร้างความเหลื่อมล้ำในวงการหนังเสียอีก หนังไหนดัง รัฐถึงจะวิ่งปรี่เข้าไปเชิดชู ส่วนหนังเรื่องไหนไม่ทำเงิน ไม่มีกระแส กลับไม่เคยได้รับการแยแสจากรัฐ ทั้ง ๆ ที่หนังดี ๆ หลายเรื่อง ๆ ขาดการพูดถึง และให้คุณค่าจากสังคม แล้วทำไมรัฐไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ให้โอกาสกับหนังไทยหลาย ๆ เรื่องได้แจ้งเกิดมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องรอผู้กำกับมาทวงถาม

Soft Power แบบปลอม ๆ ก็ไม่ได้ไปไหนได้ไกลกว่าการเชยชมกันเอง เมื่อไหร่โลกทั้งใบจะเห็นศักยภาพของคนไทยและวงการบันเทิงไทย เราต้องทวงถามให้รัฐบาลทำงานเรื่องนี้กันอีกนานแค่ไหน

ไม่งั้น Soft Power ไทย ก็มีไว้เพียงเพื่อการโฆษณา

'สว.วีระศักดิ์' ชี้ นโยบาย Soft Power ต้องขับเคลื่อนในระยะยาว เพราะมีหลายมิติทับซ้อนกันอยู่

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 66 ที่โรงแรม S31 กรุงเทพฯ SPACEBAR ได้จัดงานเสวนา SOFT POWER ฝันไกลไปได้แค่ไหน? เปิดเวทีระดมความคิดเห็นบุคลากรหลากหลายวงการ มาร่วมสะท้อนมุมมอง กับแนวคิดนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ที่จะผลักดัน SOFT POWER ไทย ให้มีศักยภาพส่งต่อไปถึงความยั่งยืน เพื่อนำไปสู่สายตาชาวโลก

โดยในเวทีดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า...

ความเป็นไปได้ในการผลักดันนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ว่า นับเป็นครั้งแรกที่ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ถูกหยิบยกเป็นนโยบายระดับชาติ จากทั้งทางพรรคเพื่อไทยเอง และทุกพรรคที่หาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งหากอ้างอิงจากนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวถึง Roadmap ก็ประเมินว่า อาจจะใช้เวลาถึง 3 ปี ถึงจะเริ่มเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ตามแผน

“นโยบายนี้อาจจะไม่สามารถคาดหวังได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพราะเป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนในระยะยาว รวมถึงนโยบายนี้มีมิติ 3 ด้านสำคัญ คือ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทับซ้อนกันอยู่ อย่างประเทศที่ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์สำเร็จอย่าง เกาหลีใต้ สำเร็จได้จากนโยบายการเมืองที่แข็งแรงและต่อเนื่อง” วีระศักดิ์ กล่าว

‘หมออั้ม’ สวน ‘ต้องเต’ ไม่เข้าใจ Soft Power อย่างแท้จริง ถามแรง!! “รู้ไหมพาหนังโกอินเตอร์ ต้องประสานหน่วยงานไหน?”

หลังจากที่ ‘ต้องเต ธิติ ศรีนวล’ ผู้กำกับภาพยนตร์ ‘สัปเหร่อ’ ออกมาพูดถึงเรื่องการผลักดันหนังไทยให้เป็น ‘Soft Power’ ว่า ประเด็นที่ผู้ดำเนินรายการสอบถามถึงการโกอินเตอร์ของภาพยนตร์ ‘สัปเหร่อ’ รวมทั้งกลายเป็นหนังซอฟต์เพาวเวอร์

โดย ‘ต้องเต’ เปิดเผยตอนหนึ่งว่า “ถ้ามีเรื่องอื่นที่ดีแล้วพาเขาไป ให้มาซัปพอร์ตจริง ๆ หน่อย ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป คุณอาจไม่เข้าใจหนังสัปเหร่อจริงเลย ๆ ก็ได้ แค่มาถ่ายรูปแล้วก็บอกว่าหนังสัปเหร่อเป็นซอฟต์เพาเวอร์ ตัวผมเองยังไม่รู้ว่าซอฟต์เพาเวอร์คืออะไร” 

จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ็ในโลกออนไลน์จำนวนมาก

ทางด้าน นายแพทย์อิราวัต อารีกิจ หรือ หมออั้ม อดีตศิลปินชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘อั้ม อิราวัต’ ระบุว่า

“ข้อแรก - เพื่อไทย เขาเพิ่งเป็นรัฐบาลครับ ต้องเต
ข้อสอง - ถ้าไม่ให้เขาถ่ายรูป หรือร่วมยินดีด้วยจะให้เขาเพิกเฉย หรือไม่สนใจเหรอ? ในฐานะรัฐบาล
ข้อสุดท้าย - เออ ฟังบทสัมภาษณ์แล้วสรุปว่าไม่เข้าใจ คำว่า Soft Power จริง ๆ นั่นแหละ จะโกอินเตอร์ รู้ไหมต้องประสานกับอะไรจะไประดับนานาชาติ รู้ไหมว่าต้องผ่านหน่วยงานไหน

ต้องผ่านกรมกองระหว่างประเทศ + งบสนับสนุนอย่างไร

รัฐบาล+คณะรัฐมนตรี กระทรวงต่าง ๆ เขากำลังช่วย แล้วมาให้สัมภาษณ์แบบนี้ มันไม่ดีต่อภาพรวมเลย แต่ก็ตามสบายเลยครับ ถ้าคิดว่าดี”

ล่าสุดวันที่ 6 พ.ย. 66 ต้องเต ให้สัมภาษณ์ผ่าน Live ‘กรรมกรข่าว คุยนอกจอ’ 6 พฤศจิกายน 2566 ทางช่อง สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ดำเนินรายการโดย สรยุทธ สุทัศนะจินดา

ต้องเต ระบุว่า “ไม่อยากให้มันเกิดดรามารุนแรงขนาดนั้น ที่ตนพูดโดยการที่ไม่รู้ระบบ และไม่เข้าใจระบบการดำเนินการของภาครัฐ ซึ่งตนอาจจะใจร้อนด้วย”

ต้องเต กล่าวต่อว่า “แต่สิ่งที่อยากจะพูดจริง ๆ คือ อยากเป็นกระบอกเสียงในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพราะต้องเข้าใจว่า กระแสหนังจะมาแป๊บเดียว และจะหายไปเลย ถ้าไม่มีระบบมารับรองทัน อาจจะเสียโอกาสในการผลักดันภาพยนตร์เรื่องนี้ไปเลย มองว่า ถ้าหนังสัปเหร่อ สามารถเป็นโมเดลได้ อาจจะเป็นโมเดลที่จะขับเคลื่อนภาพยนตร์ไทยเรื่องต่อ ๆ ไปด้วย”

ต้องเต กล่าวต่อว่า “ทั้งนี้ อยากสะท้อนว่าถ้าภาครัฐอยากจะสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังนั้น ต้องเร่งสนับสนุน เพราะกระแสหนังไปเร็ว ถ้าช้านิดนึงต่อไปอาจจะผลักดันไม่ทัน”

ต้องเต กล่าวต่อว่า “ก่อนหน้านี้ ไม่รู้จริง ๆ ว่าซอฟต์พาวเวอร์ คืออะไร และหลัง ๆ ไม่เข้าใจด้วยว่า ความรู้เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ที่เรารู้นั้น ถูกรู้ไม่ ซึ่งสำหรับซอฟต์พาวเวอร์ ผมแค่รู้สึกว่า มันคือกระบวนการที่ทำให้เกิดค่านิยมอย่างใดอย่างหนึ่ง”

“ทั้งนี้ ผมขอบคุณ และยินดีที่มีคนบอกว่าหนังสัปเหร่อ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ แต่แค่ งง เพราะรู้สึกว่าถ้าคนทำงานเข้าใจว่าซอฟต์พาวเวอร์ คืออะไร มีขั้นตอนกระบวนการอย่างไร ผมอาจจะทำการบ้านและทำให้หนังเรื่องนี้มันไปได้ไกลขึ้น”

‘แขก’ หนุนคำ ‘ต้องเต’ ไม่ได้ทำสัปเหร่อให้เป็น Soft Power ชี้!! รัฐต้องมอบ ‘เงินทุน-โอกาส’ จึงถือเป็นการผลักดันที่แท้จริง

(6 พ.ย. 66) จากกรณีที่ ‘ต้องเต ธิติ ศรีนวล’ ผู้กำกับหนัง ‘สัปเหร่อ’ ร่วมงานเสวนาในหัวข้อ ‘จากจักรวาลไทบ้านสู่พลังอีสานสร้างสรรค์’ โดยมีบางช่วงบางตอนได้มีการแชร์คลิปของงานเสวนาและคลิปที่เผยแพร่ในรายการอยู่ดีมีแฮง ช่อง ThaiPBS ในตอนที่ต้องเตตอบคำถามประเด็นเกี่ยวกับ Soft Power ว่า ขอให้รัฐผลักดันภาพยนตร์ไทยจริง ๆ ไม่ใช่แค่ถ่ายรูปแล้วบอกซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)

ทั้งนี้ ประโยคดังกล่าวที่ ผกก.สัปเหร่อ ได้หล่นไว้ในงานเสวนาเที่ยวล่าสุดนั้น ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเป็นจำนวนมากทั้งในแวดวงคนทำหนังด้วยกัน หรือกระทั่งล่าสุดที่ ลักขณา ปันวิชัย หรือ ‘คำ ผกา’ พิธีกรหญิงประจำช่องวอยซ์ทีวี (Voice TV) ก็ได้ออกมาโพสต์ถึงประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน ผ่านเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อเดียวกับชื่อและนามสกุลจริงของตัวเอง @ ระบุ “ว่าด้วย soft power การที่ ผกก.สัปเหร่อบอกว่า ไม่รู้ ไม่ตั้งใจทำหนังเป็น soft power น้องเขาพูดถูกแล้วนะ”

“พลังของ soft power คือถ้าเราตั้งใจจะทำมันจะไม่ใช่ มันจะไม่เป็น ถ้าวันไหนใครสักคนลุกขึ้นมาทำอะไรแล้วประกาศว่านี่คือ soft power สิ่งนั้นจะไม่มีวันมี power”

“Power ของหนังสัปเหร่อคือ การที่เขาแค่อยากเล่าเรื่องที่เขา ‘รู้’ และ ‘รู้สึก’ คนทำงาน ไม่ว่าจะแขนงไหน ก็ทำไปตาม passion ตามรสนิยมตัวเอง ส่วนมันจะมี power ขึ้นมาอย่างไร มันอยู่ที่ ‘ผู้บริโภค’ เสน่ห์ของ soft power คือ คนตกหลุมรักสิ่งนั้น ๆ ด้วยองค์ประกอบที่ไม่สมบูรณ์แบบด้วย”

“ส่วนการที่รัฐบาลจะ endorses การสร้างศก. จาก soft power คือเป็นการ endorses ด้วย ‘เครื่องมือ’ หรือ กลไกรัฐที่จะสร้าง ศก. จากสิ่งเหล่านี้ โดยไม่เข้าไปครอบงำทาง ‘เนื้อหา’ แต่ facilitates สิ่งที่ ‘ขาด’ เช่น ทุน หรือ โอกาส และนี่คือเหตุผลว่าทำไมต้องมีคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top