Monday, 20 May 2024
ต้นคีไย

ชิลีคาดยอดส่งออก ‘ต้นคีไย’ พุ่ง หลังเป็นองค์ประกอบสำคัญวัคซีนโควิด-19 โนวาแวกซ์ แต่หวั่นทรัพยากรร่อยหรอในเวลาอันสั้น

ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ชิลีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไม่น้อย มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1.6 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 37,000 ราย ในขณะเดียวกัน ชิลีก็เป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 อยู่ในระดับสูง โดยประชากรมากกว่า 70% ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว

เมื่อพูดถึงวัคซีนโควิด-19 ก็จำเป็นต้องพูดถึง ‘ต้นคีไย (Quillay)’ พืชพื้นเมืองของชิลีที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โนวาแวกซ์ ซึ่งเป็นความหวังของใครหลาย ๆ คน

บางคนเรียกต้นคีไยว่า ‘ต้นเปลือกสบู่ (Soapbark Tree)’ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Quillaja Saponaria เป็นพันธุ์ไม้หายากในป่าดิบที่มีถิ่นกำเนิดในชิลี ซึ่งชาวมาปูเช (Mapuche) หรือชนพื้นเมืองในชิลีใช้ในการทำสบู่และยารักษาโรคมาอย่างยาวนาน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ต้นคีไยถูกนำมาใช้เพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดและวัคซีนมาลาเรียตัวแรกของโลก ตลอดจนสารทำให้เกิดฟองสำหรับผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเหมืองแร่

โดยโมเลกุลซาโปนิน (Saponin) 2 ตัว ซึ่งสร้างจากเปลือกกิ่งต้นคีไยที่มีอายุได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทโนวาแวกซ์ โดยนำมาใช้ทำสารเสริมที่ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน

สำหรับสารเสริมของวัคซีนโควิด-19 โนวาแวกซ์ ที่เรียกว่า Matrix-M จะประกอบด้วยโมเลกุลซาโปนินที่สำคัญ 2 โมเลกุล หนึ่งในนั้นเรียกว่า QS-21 ซึ่งจัดหาได้ยากเพราะส่วนใหญ่พบในต้นคีไยที่มีอายุอย่างน้อย 10 ปี

ในบรรดาบริษัทยารายใหญ่ มีเพียงโนวาแวกซ์ และ GSK ผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันมาลาเรียรายแรกของโลก เพียง 2 เจ้านี้เท่านั้นที่ใช้ QS-21 เป็นส่วนผสมในการพัฒนายาและวัคซีน

โดยในอีก 2 ปีข้างหน้า โนวาแวกซ์วางแผนที่จะผลิตวัคซีนจำนวนหลายพันล้านโดส ซึ่งจะทำให้เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แต่เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนต้นคีไยที่เหลืออยู่ในชิลีที่จะนำไปใช้สำหรับทำวัคซีนโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมจึงไม่แน่ใจว่า ทรัพยากรต้นคีไยในชิลีจะหมดลงเมื่อไร แต่เกือบทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ในบางอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาสารสกัดจากคีไยอาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้ต้นไม้อื่นแทน เพื่อสงวนคีไยไว้สำหรับการทำวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะ

จากการวิเคราะห์ของรอยเตอร์เกี่ยวกับข้อมูลการส่งออกจากผู้ให้บริการข้อมูลการค้า ImportGenius แสดงให้เห็นว่า ทรัพยากรต้นคีไยอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้น เพราะเดิมทีการส่งออกคีไยก็เพิ่มขึ้นเป็น 3,600 ตันต่อปีในช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดอยู่แล้ว หากต้องมีการส่งออกคีไยเพิ่มเติมสำหรับวัคซีนก็อาจไม่เพียงพอ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top