Sunday, 12 May 2024
ติ๊กต็อก

‘บี้ สุกฤษฎิ์’ มีติ๊กต็อกแล้ว!! ประเดิมคลิปแรกกราบพระโชว์ งานนี้ถูกใจแฟนคลับ ถึงขั้นบอก “คลิปต่อไปขอสวดมนต์”

(7 ส.ค. 66) กระแส TikTok มาแรงสุด ๆ แม้แต่ ‘บี้ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว’ นักร้องซุปตาร์คนดังของเมืองไทย ก็ไม่สามารถต้านทานได้ เปิด TikTok ของตัวเองแล้ว หลังจากห่างหายวงการบันเทิงไปเข้าวัด อยู่กับชีวิตธรรมะธัมโมจนแฟนคลับคิดถึงหนุ่มบี้เพียบ

หนุ่มบี้ นักร้องดังจากบ้านเดอะสตาร์ ได้เปิด TikTiok ชื่อ ‘biesukrit_w’ โดยประเดิมช่องติ๊กต็อกด้วยคลิปแรกที่ทำเอาแฟนคลับฮาลั่น ตามมาถล่มคอมเมนต์และไลก์เพียบ หลังจากหนุ่มบี้โพสต์คลิปไป 1 วันเท่านั้น ล่าสุดยอดวิวคลิปทะลุ 5 แสนวิวไปแล้วเรียบร้อย

‘พี่หมอกลาง’ ให้แง่คิด!! "อย่ามัวแต่รอทำอะไรดีๆ ในวันที่เขาหมดลมหายใจ" หลังรู้สึกผิด เคสลูกเพจที่เคยขอคำอธิบายโรค ลาลับ!! ไม่ทันได้ดูคลิปแนะแนว

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้งานติ๊กต็อกชื่อ @d_klang ที่รู้จักในนาม ‘พี่กลาง หอสมุดแห่งชาติ’ หรือหลาย ๆ คนเรียกติดปากว่า ‘พี่หมอกลาง’ ได้โพสต์คลิปแชร์ประสบการณ์สะเทือนใจจากการทำคลิปตอบคำถามทางการแพทย์ให้แก่คนที่สนใจและคอมเมนต์ถามเข้ามา โดยเล่าไว้ในคลิปนี้ว่า…

“ทุกคนครับพี่หมอมีเรื่องจะเล่าให้ฟัง พี่เก็บเรื่องนี้ไว้นานมากแล้ว ตั้งแต่เริ่มทำติ๊กต็อกมาก็เจอเรื่องเศร้าเหมือนกัน ทุกคนจะเห็นว่าพี่หมอเอาคำถามของทุกคนมาทำคลิป คอมเมนต์ไหนที่น่าสนใจพี่หมอก็จดเอาไว้ แล้วก็ทยอยทำคลิปต่อ…

“แต่ด้วยความที่เรายุ่งมาก คลิปมันก็จะออกช้านะ ทีนี้มีอยู่คอมเมนต์หนึ่ง เป็นน้องผู้ชายเข้ามาคอมเมนต์ว่าอยากให้พี่หมอเล่าเรื่อง ‘Marfan Syndrome’ หน่อย ตอนนั้นพี่หมอเห็นว่าน่าสนใจ ก็จดเอาไว้ คิดว่าน้องคนนี้น่าจะไปอ่านเจอแล้วก็อยากให้เราเล่าให้ฟัง…แต่กว่าคลิป ‘Marfan Syndrome’ จะได้ลง ก็ผ่านไป 1-2 เดือนหลังจากนั้นเลย…

“ในคลิปนั้นพี่หมอก็อธิบายว่า ‘Marfan Syndrome’ ก็คือคอลลาเจนผิดปกติ ไม่แข็งแรง มันยืดเหมือนลูฟี่ คนที่เป็น ‘Marfan Syndrome’ เวลาหักนิ้วลงมา ก็จะหักลงมาได้ถึงข้อมือเลย แต่ไม่ใช่แค่นั้น คอลลาเจนมีอยู่ในทุกอวัยวะร่างกายของเรา แปลว่าร่างกายจะไม่แข็งแรงทั้งตัวเลย…ทุกคนคิดว่าตรงไหนซีเรียสสุด ถ้าไม่แข็งแรง?...

“คำตอบคือ ‘หัวใจ’ มันจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจยืดออกง่าย ลิ้นหัวใจจะพังง่าย หัวใจวายง่ายขึ้น ที่น่ากลัวอีกอย่างคือหัวใจบีบเลือดไปเส้นเลือด ซึ่งจะมีเส้นเลือด Aorta ที่ออกจากหัวใจ และโดนแรงดันจากหัวใจโดยตรงเลย สำหรับคนที่เป็น Marfan Syndrome ตรงนี้จะฉีกได้เลย…

“2-3 วัน หลังจากที่ลงคลิปไป เจ้าของคอมเมนต์ก็เข้ามาแสดงความคิดเห็น ที่พี่หมอรู้เพราะว่าพี่หมอจำเขาได้ โดยเขาคอมเมนต์ว่า “ขอบคุณมากนะคะพี่หมอที่มาตอบเมนต์” ตอนนั้นพี่หมอก็เอ๊ะใจใน เพราะว่าจำได้ว่าคนคอมเมนต์เป็นผู้ชาย แต่ทำไมรอบนี้เป็นผู้หญิง พี่หมอก็อ่านคอมเมนต์ต่อว่า “พอดีแฟนหนูเขาเป็น Marfan Syndrome ค่ะ เขาเลยอยากรู้ว่าโรคนี้มันเป็นยังไง แต่ตอนนี้เขาเสียไปแล้ว ถ้าเขาได้เห็นคลิปพี่หมอ เขาน่าจะดีใจมาก ๆ เลยค่ะ เป็นเอฟซีพี่หมอทั้งคู่นะคะ”...

“ทุกคนพี่หมอเสียใจมากเลยอ่ะ พี่หมอทำคลิปให้เขาไม่ทัน มันแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แต่พี่หมอมีอะไรจะบอกนะ อาชีพหมอ เป็นอาชีพที่รู้จักชีวิตคนดีที่สุด คนเราไม่รู้นะว่าวินาทีไหนจะเป็นวินาทีสุดท้าย พอถึงตอนที่จะต้องไป ก็ไปเลยนะ ไม่มีเวลาร่ำลาด้วยซ้ำ แปลว่าเวลาที่ยังมีกันอยู่ตอนนี้มีค่าที่สุดเลย”

เจ้าของติ๊กต็อกรายนี้ กล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากทำอะไรดี ๆ ให้ก็รีบทำ อยากบอกรักก็บอกเลย คิดถึงกันอยากไปหาก็ไปเลย อย่ารอจนถึงงานศพ เพราะถ้าไปหาเขาตอนนั้น ไปบอกรักตอนนั้น เขาก็ไม่รู้เรื่องแล้วครับ ฉะนั้น เวลาที่ยังมีชีวิตกันอยู่ ทำให้เต็มที่นะครับ”

TikTok อินโดฯ เดือด!! ทุกพรรคอัดแคมเปญหาเสียงเพื่อวัยโจ๋ ขนาดผู้สมัครวัย 72 ยังลุกมาอัดคลิปเต้น หวังเรียกคะแนน

อินโดนีเซียเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งใหญ่ ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 นี้แล้ว 

ตอนนี้ บรรดาว่าที่ผู้สมัคร และ พรรคการเมืองอัดแคมเปญหาเสียงกันอย่างไม่ยั้ง โดยโซเชียลมีเดีย ถูกนำมาใช้เป็นช่องทางหาเสียงอย่างกว้างขวาง ซึ่งแพลตฟอร์มยอดนิยมที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในเวลานี้ ที่อินโดนีเซียก็คือ การหาเสียงผ่าน TikTok 

ประเทศอินโดนีเซีย มีประชากรอยู่ราว ๆ 278 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ในจำนวนนั้นมีกลุ่มคนรุ่น Millennials และ Gen Z ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งมากถึง 56.5% และยังเป็นกลุ่มที่นิยมติดตามข้อมูลข่าวสารบนช่องทางโซเชียลเป็นอย่างมาก ซึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลที่นิยมในกลุ่มคนหนุ่ม-สาวชาวอินโดนีเซียในยุคนี้ หนีไม่พ้น TikTok 

ปัจจุบันอินโดนีเซียมีบัญชีผู้ใช้ TikTok ที่ยัง Active อยู่ถึง 125 ล้านบัญชี นับเป็นประเทศผู้ใช้ TikTok มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก 

การใช้โซเชียลมีเดียช่วยในการหาเสียง มีมานานแล้วในทุกประเทศ ยิ่งในอินโดนีเซียที่กลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมเล่นโซเชียลกันเป็นกิจวัตร แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ TikTok กลายเป็นสื่อออนไลน์ที่เข้ามามีอิทธิพล และบทบาทอย่างมากในการเผยแพร่เนื้อหา ประเด็นทางการเมือง จนกลายเป็นสนามที่ใช้ต่อสู้อย่างดุเดือดในการหาเสียงเลือกตั้งของอินโดนีเซียในปีนี้

อาร์โย เซโน บากาสโกโร ผู้ทำหน้าที่โฆษกในแคมเปญหาเสียงของนาย กันจาร์ ปราโนโว กล่าวว่า จากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว (2562) ที่ใช้ Instagram ในการหาเสียงผ่านโซเชียลมากที่สุด แต่ทว่าปีนี้กลายเป็นยุคของ TikTok ไปเสียแล้ว

จึงไม่แปลกใจที่ตอนนี้ผู้สมัครแถวหน้าทั้ง 3 คนในศึกชิงตำแหน่งผู้นำอินโดนิเซีย ล้วนสร้างคอนเทนต์เอาใจกลุ่ม Voter รุ่นใหม่ผ่านช่องทาง TikTok กันอย่างคึกคัก อย่างนาย ปราโบโว ซูบิอานโต รัฐมนตรีกลาโหมวัย 72 ปี โชว์คลิปเต้น TikTok กลางเวทีเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดูอ่อนวัย กระฉับกระเฉง เข้าถึงง่าย และได้ฐานเสียงกลุ่มคนวัย 40 ไปได้ไม่น้อย 

นาย อานีส บัสเวดัน อดีตผู้ว่ากรุงจาการ์ตา ใช้ TikTok เจาะกลุ่มวัยรุ่นผู้นิยม K-Pop ในอินโดนีเซียได้อย่างกว้างขวาง บางคลิปมีคำบรรยายภาษาเกาหลี และมีการสื่อสารผ่านเครือข่ายกลุ่มแฟนด้อมของไอดอลเกาหลีในอินโดนีเซียในการหาเสียง

ส่วนนาย กันจาร์ ปราโนโว ผู้สมัครแถวหน้าอีกคนใช้ TikTok ในสไตล์หาเสียงที่ต่างออกไป ด้วยการถ่ายคลิปแบบเรียบง่าย เหมือนคนธรรมดาทั่วไปที่เล่น TikTok สวมเสื้อแจ็กเกตแบบ Top Gun บ้าง เสื้อยืดขาวลายเพนกวินธรรมดาบ้าง เดินเท้าเปล่าบ้าง เน้นการสื่อสารที่เข้าถึงชาวบ้านทั่วไปแบบเป็นธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่ง ก็ได้รับความสนใจไม่น้อยโลกโซเชียลของอินโดนิเซีย

แม้แต่ละคนจะมีกลยุทธ์การสื่อสารถึงฐานเสียงที่ต่างออกไป แต่ TikTok กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในสนามเลือกตั้งอินโดนีเซีย แสดงให้เห็นถึงสื่อสังคมออนไลน์อย่าง TikTok ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้การหาเสียงแบบเดินเท้า เคาะประตูตามบ้าน หรือแสดงวิสัยทัศน์ผ่านรายการดีเบตบนหน้าจอโทรทัศน์ ยังคงต้องมีอยู่ 

แต่ทั้งนี้ การก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งสื่อหลักของ TikTok ในแคมเปญหาเสียงของแทบทุกพรรคในอินโดนีเซีย อาจกำลังสะท้อนถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านสู่มุมมอง และการตัดสินใจของคนยุคใหม่ ทั้งกลุ่ม Millennials และ Gen Z ที่เกาะกระแสไว เน้นประเด็นหลัก สรุปจบสั้นภายในเวลาไม่ถึง 1 นาที ก็พร้อมเข้าคูหา กาคนที่โดนใจได้แล้ว

‘ปู่ไบเดน’ ตัดสินใจเปิดบัญชี ‘TikTok’ เดินหน้าหาเสียง เจาะกลุ่มวัยรุ่น

(12 ก.พ.67) ผู้นำโลกต่างร่วมวง ‘ติ๊กต็อก’ แพลตฟอร์มมาแรงในหมู่วัยรุ่น และล่าสุดคือ ประธานาธิบดี ไบเดน

โดยเมื่อวันอาทิตย์ (11 ก.พ.67) ตามเวลาท้องถิ่น ประธานาธิบดี วัย 81 ปี จากพรรคเดโมแครต โพสต์คลิปประเดิมบนบัญชี @bidenhq พูดคุยสบายๆ ในหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่การเมืองไปจนถึงเกมนัดชิง NFL

ความเคลื่อนไหวของไบเดนสวนทางกับท่าทีของทางการ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐไม่ว่าจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครตล้วนวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นของบริษัทจีน ‘ไบต์แดนซ์’ ซึ่งนักการเมืองสหรัฐกล่าวหาว่า ถูกรัฐบาลปักกิ่งใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ แต่ ‘ไบต์แดนซ์’ ปฏิเสธมาโดยตลอด

หลายรัฐในสหรัฐรวมถึงรัฐบาลกลางห้ามใช้แอปติ๊กต็อกบนเครื่องมือของราชการ แต่แม้รัฐบาลกลางไม่ไว้ใจก็ไม่ได้ห้ามหรือควบคุมการใช้แอปเพิ่มมากไปกว่านี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อการเลือกตั้งสหรัฐใกล้เข้ามา ติ๊กต็อกยิ่งเป็นช่องทางให้เข้าถึงวัยรุ่น ไบเดนจึงตัดสินใจใช้แพลตฟอร์มนี้ โดยคลิปเมื่อวันอาทิตย์จบลงที่ประธานาธิบดีตอบคำถามว่า เขาชอบใครระหว่างตนเองกับโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวเก็งจากพรรครีพับลิกัน

“ล้อเล่นหรือเปล่า ชอบไบเดนซิ” เจ้าตัวตอบพลางหัวเราะ

‘จีน’ ประณาม ‘สหรัฐฯ’ หลังผ่านร่าง กม.แบน ‘TikTok’ พร้อมเตือน!! ท้ายสุดเรื่องนี้จะย้อนกลับมาเล่นงานตัวเอง

(14 มี.ค.67) จากกรณีสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 352 ต่อ 65 ก่อนที่จะส่งต่อไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป โดยสมาชิกรัฐสภาสหรัฐที่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวมองว่า TikTok เป็นแอปพลิเคชันที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เนื่องจากถูกควบคุมโดยชาติที่เป็นศัตรูของสหรัฐ

ทางด้าน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาพร้อมที่จะลงนามในร่างกฎหมายดังกล่าว หากผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส

ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมากล่าวหาสหรัฐว่า พยายามปราบปราม TikTok ทั้งที่ไม่เคยพบหลักฐานว่า TikTok เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ

“พฤติกรรมรังแกกันแบบนี้ เพราะไม่สามารถเอาชนะในการแข่งขันอย่างเป็นธรรมได้ เป็นตัวขัดขวางกิจกรรมทางธุรกิจปกติของบริษัทต่างๆ, สร้างความเสียหายต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนระหว่างประเทศในสภาพแวดล้อมการลงทุน และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการซื้อขาย ท้ายที่สุดเรื่องนี้จะย้อนกลับมาเล่นงานสหรัฐเอง" นายหวัง กล่าว

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘กฎหมายปกป้องชาวอเมริกันจากแอปพลิเคชันที่ควบคุมโดยปรปักษ์ต่างชาติ’ (Protecting Americans from Foreign Adversary Controlled Applications Act) ยังจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาสหรัฐและให้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ลงนาม เพื่อบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งประธานาธิบดีไบเดนกล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาพร้อมที่จะลงนามในร่างกฎหมายดังกล่าว หากผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส

โดยสหรัฐแสดงความกังวลมาตลอด ว่า TikTok อาจแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้กับรัฐบาลจีน ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ขณะที่ ไบต์แดนซ์ ซึ่งเป็นเจ้าของ TikTok ปฏิเสธเรื่องความเสี่ยงใดๆ และยืนยันว่าพวกเขาปรับโครงสร้างบริษัทไปแล้ว เพื่อให้ข้อมูลของชาวอเมริกันอยู่แต่ในสหรัฐเท่านั้น

‘Tiktok’ มุ่งเน้น ‘รักษาความปลอดภัย’ ของผู้ใช้งานบนออนไลน์ ครอบคลุมในด้าน ‘ความเป็นส่วนตัวข้อมูล-การกลั่นกรองเนื้อหา’

(11 เม.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ติ๊กต็อก (TikTok) แอปพลิเคชันคลิปวิดีโอขนาดสั้น กล่าวย้ำถึงความทุ่มเทในการรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้งานขณะใช้งานทางออนไลน์

ด้าน ฟอร์จูน แมกวิลี-สิบันดา ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับดูแลและนโยบายสาธารณะของติ๊กต็อก ประจำภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา กล่าวว่า ติ๊กต็อกพัฒนาหลักเกณฑ์สำหรับชุมชน นโยบายผู้ใช้งาน และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมเชิงบวกที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

แมกวิลี-สิบันดา ระบุว่า เราจะจัดอบรมวิธีการทำงานของติ๊กต็อกสำหรับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานกำกับดูแล โดยมุ่งเน้นที่ความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และวิธีการกลั่นกรองเนื้อหาบนแพลตฟอร์มนี้

แมกวิลี-สิบันดา เน้นย้ำว่า ศูนย์รักษาความปลอดภัยของติ๊กต็อกยังมอบทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้งานเดิมและผู้ใช้งานรายใหม่ ครอบครัว และผู้ดูแล เพื่อช่วยสร้างประสบการณ์บนโลกออนไลน์ที่เหมาะกับผู้ใช้งาน

ปัจจุบันติ๊กต็อกมีผู้เชี่ยวชาญด้านความไว้วางใจและความปลอดภัยมากกว่า 40,000 คนทั่วโลก ที่ทำงานแข่งกับเวลาเพื่อคุ้มครองชุมชนบนโลกออนไลน์ โดยติ๊กต็อกให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นลำดับแรก ๆ ในการจัดทำแพลตฟอร์มซึ่งมีส่วนจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และนำความสุขมาสู่ผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก

สภาสหรัฐฯ โหวตท่วมท้น 'แบนติ๊กต็อก' ไม่สนเสียงคัดค้าน-ปิดกั้นเสรีภาพผู้ใช้

เมื่อวานนี้ (21 เม.ย. 67) สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โหวตรับรองร่างกฎหมายบังคับให้ไบต์แดนซ์ขายติ๊กต็อก หรือปล่อยให้แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นยอดนิยมนี้ถูกแบนจากตลาดอเมริกา ด้านติ๊กต็อกออกแถลงการณ์ร้องเรียนทันควันชี้เป็นการเหยียบย่ำสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของชาวอเมริกัน 170 ล้านคน ทำลายธุรกิจ 7 ล้านแห่ง และปิดแพลตฟอร์มที่สร้างรายได้ปีละ 24,000 ล้านดอลลาร์ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ

เจ้าหน้าที่อเมริกาและตะวันตกกังวลว่า ความนิยมในติ๊กต็อกในหมู่หนุ่มสาวจะเปิดโอกาสให้จีนสอดแนมข้อมูลผู้ใช้ เฉพาะอเมริกามีผู้ใช้แอปนี้ถึง 170 ล้านราย

เจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังกล่าวหาว่า ติ๊กต็อกอยู่ใต้อำนาจของปักกิ่ง และเป็นช่องทางเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อของจีน ซึ่งทั้งรัฐบาลจีนและติ๊กต็อกต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้

ร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนท่วมท้น 360 ต่อ 58 เสียงเมื่อวันเสาร์ (20 เม.ย.) ซึ่งอาจนำไปสู่ขั้นตอนที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในการกีดกันไม่ให้บริษัทเอกชนทำธุรกิจในอเมริกานั้น จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในสัปดาห์นี้

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุว่า จะลงนามรับรองร่างกฎหมายนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ย้ำความกังวลเกี่ยวกับติ๊กต็อกระหว่างหารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเมื่อต้นเดือน

การยื่นคำขาดต่อติ๊กต็อกครั้งนี้รวมอยู่ในร่างกฎหมายการให้ความช่วยเหลือยูเครน อิสราเอล และไต้หวัน

ทางด้านติ๊กต็อกร้องเรียนทันควันโดยออกแถลงการณ์ ระบุว่า น่าเสียดายที่สภาล่างสหรัฐฯ อาศัยร่างกฎหมายความช่วยเหลือต่างประเทศและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อเร่งรัดร่างกฎหมายแบนติ๊กต็อก ซึ่งจะเป็นการเหยียบย่ำสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของชาวอเมริกัน 170 ล้านคน ทำลายธุรกิจ 7 ล้านแห่ง และปิดแพลตฟอร์มที่สร้างรายได้ปีละ 24,000 ล้านดอลลาร์ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ

ภายใต้ร่างกฎหมายนี้ ไบต์แดนซ์ บริษัทไฮเทคสัญชาติจีน ต้องเลือกระหว่างขายกิจการติ๊กต็อกในอเมริกาภายใน 1 ปี หรือติ๊กต็อกถูกถอดออกจากแอปสโตร์ของแอปเปิลและกูเกิลในอเมริกา

เดือนที่แล้ว สภาล่างสหรัฐฯ อนุมัติร่างกฎหมายแบนติ๊กต็อกที่กำหนดให้ไบต์แดนซ์ต้องขายหุ้นติ๊กต็อกให้บริษัทสัญชาติอเมริกันภายใน 6 เดือน หรือถูกแบนในอเมริกา ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายนี้อยู่ในการพิจารณาของสภาสูง

สตีเวน มนูชิน อดีตรัฐมนตรีคลังในคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความสนใจซื้อกิจการติ๊กต็อก และขณะนี้กำลังรวบรวมกลุ่มนักลงทุน

ติ๊กต็อกตกเป็นเป้าหมายการเพ่งเล็งของทางการสหรัฐฯ มานานหลายปี ภายใต้ข้อกล่าวหาว่า แพลตฟอร์มยอดฮิตนี้ช่วยให้ปักกิ่งสอดแนมผู้ใช้ในอเมริกา

อย่างไรก็ตาม กฎหมายแบนติ๊กต็อกอาจนำไปสู่การฟ้องร้อง โดยกฎหมายนี้ให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุแอปพลิเคชันที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ หากแอปดังกล่าวควบคุมโดยประเทศที่ถือเป็นศัตรูของอเมริกา

วันศุกร์ที่ผ่านมา (19 เม.ย.) อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มเอ็กซ์ หรือทวิตเตอร์ในอดีต ออกมาต่อต้านการแบนติ๊กต็อกโดยระบุว่า แม้การดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลดีต่อเอ็กซ์ แต่เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้คน

TikTok ยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ หลังบีบให้ ‘ขาย’ หรือ ‘ถูกแบน’ ลั่น!! เป็นการละเมิดสิทธิ ด้วยคำอ้างความมั่นคงของชาติ

เมื่อวานนี้ (7 พ.ค. 67) ติ๊กต็อก (TikTok) ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ ในความพยายามที่จะสกัดกั้นการบังคับใช้กฎหมายที่ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งพยายามบีบให้ติ๊กต็อกต้องเลือกว่าจะขายกิจการหรือจะถูกแบน โดยเอกสารฟ้องร้องที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี กล่าวหาว่า กฎหมายดังกล่าวซึ่งได้แก่ กฎหมายการปกป้องชาวอเมริกันจากแอปพลิเคชันที่ควบคุมโดยปรปักษ์ต่างชาตินั้น ละเมิดการคุ้มครองเสรีภาพในการพูดตามรัฐธรรมนูญ

เอกสารฟ้องร้องระบุว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นการละเมิดบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment) อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ติ๊กต็อกระบุในเอกสารฟ้องร้องว่า “นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สภาคองเกรสได้ตรากฎหมายที่มุ่งเป้าแบนแพลตฟอร์มสำหรับการแสดงออกเพียงแพลตฟอร์มเดียวเป็นการถาวร…และห้ามชาวอเมริกันจากการมีส่วนร่วมในชุมชนออนไลน์มีผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก”

ติ๊กต็อกโต้แย้งว่า การอ้างถึงข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติไม่ใช้เหตุผลที่เพียงพอในการจำกัดเสรีภาพในการพูด และรัฐบาลกลางมีหน้าที่ที่จะต้องพิสูจน์ว่า การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างไร แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถทำได้

ด้านนายจอห์น มูเลนาร์ สส.จากรัฐมิชิแกนและประธานคณะกรรมการสภาผู้แทนฯ ด้านการคัดเลือกที่เกี่ยวกับจีนกล่าวว่า “สภาคองเกรสและฝ่ายบริหารได้สรุปจากข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะและข้อมูลที่เป็นความลับว่า ติ๊กต็อกมีความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติและชาวสหรัฐ โดยข้อมูลระบุว่า ติ๊กต็อกยอมที่จะใช้เวลา เงิน และความพยายามในการต่อสู้ในชั้นศาล มากกว่าการแก้ปัญหาโดยการตัดสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผมมั่นใจว่ากฎหมายของเราจะมีผลบังคับใช้”

ฟากสำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การฟ้องร้องในวันอังคารที่ผ่านมา ถือเป็นความคืบหน้าล่าสุดของสถานการณ์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินความพยายามมาหลายปีที่จะแบนติ๊กต็อก โดยความพยายามที่จะควบคุมแอปฯ ยอดนิยมนี้ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2563 ภายใต้การบริหารประเทศของทั้ง อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ และ ปธน.โจ ไบเดน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top