Monday, 29 April 2024
ตลาดน้ำมันโลก

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 26 - 30 ธ.ค. 65 จับตาปัจจัย ‘บวก - ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 2 - 6 ม.ค. 66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 โดยผู้เดินทางเข้าประเทศไม่ต้องกักตัวแต่ต้องแสดงผลตรวจ RT-PCR เป็นลบภายใน 2 วันก่อนออกเดินทาง นอกจากนี้ อนุญาตให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศ และให้ผู้ที่เดินทางมาเปลี่ยนเครื่องบินในจีนไม่ต้องขอ Visa ประกอบกับ วันที่ 27 ธ.ค. 65 นาย Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซีย ลงนามในพระราชกำหนดห้ามจัดส่งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรัสเซีย ให้แก่ชาติที่เข้าร่วมมาตรการกำหนดเพดานราคา (Price Cap) โดยน้ำมันดิบมีผลวันที่ 1 ก.พ.- 30 มิ.ย. 66 ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปจะประกาศภายหลัง เพื่อตอบโต้สหภาพยุโรป (EU) และกลุ่มชาติมหาอำนาจ G7 รวมทั้งออสเตรเลีย ที่ใช้มาตรการ Price Cap น้ำมันดิบรัสเซียที่ขนส่งทางทะเล ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 65  

สัปดาห์นี้คาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 82 - 87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยทิศทางตลาดน้ำมันมีแนวโน้มได้รับการสนับสนุนจากการเปิดประเทศของจีน

ด้านผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นาง Kristalina Georgieva ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 66 มีแนวโน้มเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น โดยเศรษฐกิจของประเทศราว 1 ใน 3 ของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) และจีน ชะลอตัวในเวลาเดียวกัน ประกอบกับยอดการติดเชื้อ COVID-19 ในจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 66 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว

นอกจากนี้ ผลสำรวจนักวิเคราะห์ของ Reuters ในวันที่ 30 ธ.ค. 65 คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในปี 66 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 89.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วน NYMEX WTI อยู่ที่ 84.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 93.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 87.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกเผชิญภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 20 - 24 มี.ค.66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 27 - 31 มี.ค.66

ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าในสัปดาห์ที่ผ่านมาเฉลี่ยลดลงต่อเนื่องสัปดาห์ที่ 3 จากความกังวลผลกระทบปัญหาสถาบันการเงินในยุโรปจะลุกลามต่อ ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน โดยวันที่ 24 มี.ค. 66 ราคาหุ้น Deutsche Bank (DB) ปิดตลาดลดลง 8.5 % มาอยู่ที่ 8.54 ยูโร ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน หลัง Credit Default Swap (CDS) ระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 142 จุด มาอยู่ที่ 173 จุด สูงสุดในรอบ 4 ปี โดย Deutsche Bank เป็นธนาคารใหญ่อันดับที่ 22 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของธนาคารสัญชาติของเยอรมนี มูลค่าสินทรัพย์ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาหุ้นของธนาคารอื่นๆ ในยุโรปลดลงด้วยเช่นกัน อาทิ Commerzbank ของเยอรมนี ลดลง 5.5%, UBS ของสวิตเซอร์แลนด์ ลดลง 3.5%

ในขณะเดียวกัน รมว. กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ นาง Jennifer Granholm แถลงว่าในปีนี้สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องเร่งเติมน้ำมันดิบเข้าคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) แม้ขณะนี้ ราคา NYMEX WTI ปิดตลาดต่ำกว่า 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ เคยกล่าวว่า จะพิจารณาเข้าซื้อน้ำมันดิบเติมเข้าคลังสำรอง หากราคาน้ำมันดิบลดลงเข้าสู่ช่วง 67-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

จับตาการประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 เม.ย. 66 โดยตลาดคาดว่า OPEC+ จะคงนโยบายการผลิตน้ำมันดิบด้วยการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566 แม้ว่าจะเกิดวิกฤตธนาคารในช่วงที่ผ่านมา โดยทางเทคนิคราคา ICE Brent ในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวระหว่าง 74-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

-ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 4.75-5.0% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) วันที่ 21-22 มี.ค. 66 ตามที่ตลาดคาดการณ์ และอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ภายในปี 66      

-Goldman Sachs ปรับลดประมาณการราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าราคา ICE Brent จะเฉลี่ยอยู่ที่ 97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ภายในไตรมาส 2/67 จากอุปสงค์จากจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังเปิดประเทศ โดยคาดว่าอุปสงค์ของจีนในปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 15.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปรับเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และในปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 16.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 30 ต.ค. - 3 พ.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 6 - 10 พ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบชะลอตัว หลังนักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ

• ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจากความกังวลเศรษฐกิจจีน ซึ่งล่าสุดสำนักสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index: PMI) ในเดือน ต.ค. 66 ลดลง 0.7 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 49.5 จุด ทั้งนี้ ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะหดตัว

• กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานอัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ในเดือน ต.ค. 66 เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 3.9% สูงสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 65 และภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัว หลังสหภาพแรงงานยานยนต์ (United Auto Workers: UAW) ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 400,000 ราย มีการประท้วงหยุดงานจำนวน 46,000 ราย เพื่อขอขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 66

• วันที่ 31 ต.ค. - 1 พ.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% และมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 12 - 13 ธ.ค. 66

• ให้ติดตามการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งล่าสุดดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (USDX) เทียบกับเงินสกุลหลักโลก 6 สกุล อยู่ที่ 104.8 จุด ต่ำสุดตั้งแต่ 20 ก.ย. 66 โดย CEO ของบริษัทจัดการลงทุน DoubleLine Capital ในสหรัฐฯ นาย Jeffrey Gundlach คาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flows) จากเงินสกุลดอลลาร์สู่สกุลเงินต่างประเทศอื่น ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์จะผลักดันอุปสงค์ของประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน

• รมว. กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย เจ้าชาย Abdulaziz bin Salman ประกาศซาอุดีอาระเบียจะคงมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 66 (เริ่มตั้งแต่ ก.ค. 66) แม้ว่าจะเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งตลาดกังวลว่าจะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน ทั้งนี้ ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 18-22 ธ.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 25-29 ธ.ค. 66

ตลาดน้ำมันกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลแดง

- Platts รายงานจำนวนเรือขนส่งผ่านช่องแคบ Bab el-Mandab ก่อนเข้าสู่ Red Sea (ทะเลแดง) ที่เชื่อมกับคลอง Suez วันที่ 19 ธ.ค. 66 อยู่ที่ 50 ลำ/วัน (ช่วง 1-14 ธ.ค. 66 เฉลี่ยอยู่ที่ 75 ลำ/วัน) หลังกองกำลัง Houthi ในเยเมนโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ทำให้ BP บริษัทพลังงานรายใหญ่หยุดการขนส่งทางเรือทั้งหมดในบริเวณดังกล่าว และบริษัทเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ใหญ่หลายราย เปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ ไปอ้อมแหลม Good Hope ใช้เวลาเพิ่มขึ้นกว่า 10 วัน และค่าใช้จ่ายสูงขึ้น กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

- ผู้ค้ายังคงกังวลต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลก แม้สหรัฐฯ เปิดตัวกองกำลังนานาชาติ (10 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร บาห์เรน แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน และเซเชลส์) เพื่อปกป้องเส้นทางเดินเรือในทะเลแดง เนื่องจากแผนปฏิบัติการ และจำนวนเรือยังไม่ชัดเจน

- กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ซื้อน้ำมันดิบเพื่อเติมคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สำหรับส่งมอบในเดือน ก.พ. 67 ปริมาณรวม 2 ล้านบาร์เรล ด้วยราคาเฉลี่ย 74.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

- 21 ธ.ค. 66 รมว.กระทรวงน้ำมันของแองโกลา นาย Diamantino Azevedo ประกาศยุติสมาชิกภาพในกลุ่ม OPEC ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 ทั้งนี้ แองโกลาเข้าร่วม OPEC ตั้งแต่ปี 2550 โดยในเดือน พ.ย. 66 ผลิตน้ำมันดิบ 1.08 MMBD และโควตาที่ OPEC กำหนดปีหน้า คือ 1.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำเกินไป อนึ่งแองโกลาเคยผลิตได้สูงสุด 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2551


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top