Sunday, 19 May 2024
ดีอี

‘สหรัฐฯ’ ชวน ‘ไทย’ ลงนามความร่วมมือ ป้องกันเด็กไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากภัยไซเบอร์

ชัยวุฒิ เผย สหรัฐฯ ชวนไทยลงนามความปลอดภัยไซเบอร์ หวังป้องกันเด็กจากเหยื่ออาชญากรรม  

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม พร้อมด้วย นายอะเลฮันโดร มาโยกัส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา หารือด้านความปลอดภัยไซเบอร์ระหว่างเข้าร่วมงาน Singapore international Cyber week  ณ ประเทศสิงคโปร์ 

นาย อะเลฮันโดร มาโยกัส  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ทางสหรัฐอเมริกามีความสนใจ ที่จะร่วมลงนามความร่วมมือกับประเทศไทยเรื่อง การป้องกันภัยไซเบอร์ หรือ Cyber security มุ่งเน้นไปที่การสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านอาชญากรรมทางออนไลน์ที่เกี่ยวกับเยาวชนให้กับคนไทย รวมทั้งการฝึกอบรมด้าน Cyber Security จากสถาบัน Idaho National Laboratory ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา และการป้องกัน Scams ซึ่งทางสหรัฐอเมริกามีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ อีกด้วย   

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ได้เชิญชวนบริษัทในสหรัฐอเมริกาเข้ามาลงทุนเรื่องการตั้งธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้กำลังเติบโตไปได้ด้วยดี อีกทั้งได้พบปะหารือกับทางหอการค้าสหรัฐอเมริกา และบริษัททางด้าน Cyber Security  กว่า 40 บริษัทที่ให้ความสนใจลงทุนในไทยด้วย

‘ดีอี’ ร่วมกับตำรวจไซเบอร์ แถลงปฏิบัติการณ์ทลาย ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ รายใหญ่ ยึดทรัพย์สินนับพันล้าน

วันที่ 12 มกราคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโท วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ร่วมแถลงข่าวปฏิบัติการยึดทรัพย์เครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอรร์ายใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 13 จุด ยึดทรัพย์สินได้มูลค่ารวมกว่า 281.5 ล้านบาท

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอี ได้จัดตั้งศูนย์ AOC 1441 ขึ้นมาทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แบบวันสต็อปเซอร์วิสเพื่อรับเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากภัยอออนไลน์ทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามอาญชากรรมออนไลน์และขยายผลการจับกุม เพื่อเร่งรัดติดตามทรัพย์สินประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหาย ไปจนถึงการดำเนินการปกป้องความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชน นำมาซึ่งปฏิบัติการจับกุมคดีสำคัญในครั้งนี้ คือ คดีของนางสาวธารารัตน์ กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง มีพฤติการณ์แบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการ ในรูปแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สร้างกลโกงหลอกลวงประชาชนผู้เสียหายหลายรูปแบบ สร้างความเสียหายมหาศาล   

นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นผลจาก การบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน ปปง. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการสืบสวนสอบสวนขยายผลเพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์รายคดี นางสาวธารารัตน์  กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการพนัน โดยสำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้ดำเนินการสืบสวนดำเนินคดีในรายคดีดังกล่าว

อีกทั้งจากข้อมูลของ บก.ปอศ. พบว่า นางสาวธารารัตน์ กับพวก มีพฤติการณ์กระทำความผิดในลักษณะ ร่วมกันกระทำความผิดเป็นขบวนการมีการแบ่งหน้าที่กันทำและหลอกลวงผู้เสียหายหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยใช้วิธีการโทรศัพท์สุ่มเข้ามาหลอกลวงประชาชนทั่วไป แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ และหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน นอกจากนี้ยังมีพฤติการณ์หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการโพสต์ข้อความผ่าน แอปพลิเคชั่น Facebook ในลักษณะเป็นการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อชักชวนให้บุคคลทั่วไปมาแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาทเป็นเงินสกุลหยวนในอัตราที่ถูกกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของสถาบันการเงิน แต่เมื่อถึงกำหนดไม่โอนเงินสกุลหยวนหรือไม่สามารถได้ผลตอบแทนตามกำหนด โดยมีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจานวนมาก 

จากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า กลุ่มของนางสาวธารารัตน์ กับพวก มีการโอนเงิน มากกว่า 3 พันล้านบาท ไม่สอดคล้องกับอาชีพรายได้ รวมทั้งกลุ่มผู้กระทำความผิดดังกล่าวมีการโอนเงิน ไปยังบัญชีเงินฝากของกลุ่มผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ และทำธุรกรรมเพื่อปกปิดอำพราง ซ่อนเร้น หรือยักย้ายถ่ายเทเงินและแปลงสภาพเป็นทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ด้วย 

โดยในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ณ สำนักงาน ปปง. คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมไว้ชั่วคราว จำนวน 238 รายการ (เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ดิน ห้องชุด สลากออมสินและเงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 924 ล้านบาท 

สำหรับปฏิบัติการเข้าตรวจค้นในครั้งนี้ เลขาธิการ ปปง. ได้มอบหมายให้คณะพนักงาน เจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ร่วมกับคณะพนักงานสืบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม ทางเทคโนโลยีในการลงพื้นที่ตรวจค้นและยึดทรัพย์เครือข่ายของผู้กระทำความผิดในรายคดีดังกล่าว เป้าหมาย 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ จำนวน 4 จุด นนทบุรี จำนวน 2 จุด และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 จุด รวม 13 จุด ผลจากการเข้าตรวจค้นพบทรัพย์สินผลการเข้าตรวจค้นพบทรัพย์สินเพิ่มเติมจำนวน หลายรายการ เช่น ธนบัตร ทองรูปพรรณ เครื่องประดับ นาฬิกาแบรนด์เนม รถยนต์ และ รถจักรยานยนต์รวมมูลค่าประมาณ 161.5 ล้านบาท และตรวจพบบ้านพักหรู จำนวน 2 หลัง รวมมูลค่าประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งจะได้ยึดไว้และดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมายต่อไป 

เลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐานอีกหลายคดีโดยมุ่งเน้นการสืบสวนขยายผลเพื่อนำไปสู่การยึดและอายัดทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน และตัดเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด ในขณะเดียวกันถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหาย ในความผิดมูลฐาน สำนักงาน ปปง. ก็จะพิจารณาดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายด้วย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิภายใน 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด

ดีอี ขยายความสำเร็จ ขับเคลื่อนโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ เต็มสูบ หวังฟื้นภาคการเกษตรไทย รุกต่อยอดใช้โดรนในอุตสาหกรรมหนัก สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้สาขาอาชีพอื่นๆ

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ภาคการเกษตรถือเป็นสาขาอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากสำหรับประเทศไทย โดยเป็นแหล่งรองรับแรงงานขนาดใหญ่ มากกว่า 40 % แต่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเพียง 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เกษตรกรจึงประสบปัญหาหลักมาจากต้นทุนการเพาะปลูกต่อไร่สูง ขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงขาดทักษะและโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงที่ผ่านมาการส่งเสริมจากภาครัฐเป็นลักษณะการคิดแทน ทำแทน เมื่อโดรนเพื่อการเกษตรเข้ามาช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตร จากข้อมูลโดรนมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนแรงงานลงกว่า 50% และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น 10% โดยปัจจุบันมีโดรนเพื่อการเกษตร ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง จำนวน  9,063 ลำ และเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 11% ปี คาดการณ์ว่าอีก 5 ปี จะมีโดรนเพื่อการเกษตร ไม่น้อยกว่า 80,000 ลำ คิดมูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท

ด้วยการขับเคลื่อนแนวนโยบาย “The Growth Engine of Thailand” ของกระทรวงดีอี มุ่งเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ซึ่งต้องให้ความสำคัญการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) ได้ถูกทำให้เป็นรูปธรรมผ่านโครงการ "1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ)" ด้วยการส่งเสริมให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากฝีมือคนไทยให้มีโอกาสแสดงความสามารถในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าสำนักงาน ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน โดยบริษัท พาวเวอร์ อโกรเทค (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการพัฒนาศูนย์พัฒนาทักษะการบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร สำหรับเป็นสถานที่ในการพัฒนาศักยภาพการบังคับโดรนเพื่อการเกษตร ระยะแรก มีการดำเนินงาน 5 จังหวัด คือ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี ชลบุรี และสงขลา พร้อมเปิดบริการเต็มรูปแบบ ครบทุกสาขาภายในปี 2567 รวมถึง เปิดศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร บริการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรให้ชุมชน เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับชุมชนให้แข็งแรง อีกทั้งยังช่วยพัฒนาช่างในวิชาชีพแขนงต่างๆ เช่น ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้าวิทยุ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยมีจำนวน 50 ศูนย์ซ่อม 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ดำเนินการรูปแบบ Change Agent 1 ศูนย์ซ่อม ดูแลรับผิดชอบ 10 ชุมชน โดยมีเป้าหมาย 50 ศูนย์ซ่อม 500 ชุมชน

แนวความคิดกระทรวง ดีอี มุ่งพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มชุมชน ให้เป็นผู้มีทักษะในการบังคับการบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตรที่ได้รับการใบอนุญาติ/ใบประกาศนียบัตร จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 คน และพัฒนาทักษะการซ่อมบำรุงดูแลรักษาโดรนเพื่อการเกษตร จำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน รวมไปถึงการส่งเสริมมาตรฐานโดรนเพื่อการเกษตรดีชัวร์ (dSURE) สำหรับผู้ประกอบการโดรน เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเทคโนโลยีดิจิทัลประเภทโดรนเพื่อการเกษตร ผ่านมาตรฐานดีชัวร์ (dSure) ที่ได้รับการรับรองจากดีป้า โดยมีผู้ประกอบการโดรนเพื่อการเกษตรที่ผ่านมาตรฐานดีชัวร์แล้ว จำนวน 6 บริษัท 7 รุ่น ซึ่งผลดีจากการดำเนินงานนั้น โดรนเกษตรช่วยการประหยัดค่าแรงงานคนในการฉีดพ่นสารเคมีในพื้นที่ 1 ไร่ ลงประมาณ 50% ของการใช้แรงงานคน คิดเป็นมูลค่า 2,500 บาท/ไร่/ฤดูกาล และมีความแม่นยำในการฉีดพ่น ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวได้ 10% ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ตามปริมาณผลผลิต ผลผลิตเฉลี่ยของข้าวต่อไร่อยู่ที่ 500 กิโลกรัม ราคาข้าวต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 10 บาท การเพิ่มผลผลิต 10% จะส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 บาท/ไร่/ฤดูกาล สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างโอกาสในการเข้าถึงและพัฒนาทักษะดิจิทัล จำนวนทั้งสิ้น 1,100 คน รวมไปถึงส่งเสริมการใช้งานโดรนเพื่อการเกษตรกว่า 500 ชุมชน (10,000 ครัวเรือน) ครอบคลุมพื้นที่ 4 ล้านไร่ จะทำให้กลุ่มเกษตรกร ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ลบ.

ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยว่า ขณะนี้ มี ดีป้า ได้เปิดรับสมัคร เกษตรกร บินได้ ซ่อมเป็น รอบที่ 1: วันที่ 14 พ.ย. 66 - 15 ม.ค. 67 มีผู้สมัครมาทั้งสิ้น 518 ชุมชน, 78 ศูนย์ซ่อม และ รอบที่ 2: วันที่ 16 ม.ค. - 15 มี.ค. 67 อยู่ระหว่างการรับสมัคร จึงอยากเชิญชวน พี่น้องเกษตรกรที่สนใจให้มาสมัครในโครงการนี้ เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรเอง โดยในระยะเวลา 1 ปีของการดำเนินโครงการจะเกิดศูนย์บริการฯ ทั่วประเทศจำนวน 50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 500 ชุมชน คิดเป็นพื้นที่ทางการเกษตรรวมไม่น้อยกว่า 4 ล้านไร่ พร้อมคาดหวังว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนโดยกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยมีมาตรฐาน Safety, Functionality, Security รวมทั้งการต่อยอดในการใช้โดรนไปยังสาขาวิชาชีพอื่น ๆ เช่น ก่อสร้าง การขนส่ง การสำรวจ หรือแม้แต่การขนย้ายคนในกรณีฉุกเฉิน เช่น เพลิงไหม้ ขนย้ายผู้บาดเจ็บภายในอาคาร รวมถึงการขยาย พัฒนาซอฟแวร์โดรนและสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้านการคมนาคมทางอากาศอีกด้วย 

ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า ย้ำอีกว่า ความร่วมมือภายใต้โครงการประกอบด้วย ความร่วมมือด้านการพัฒนาหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากระยะไกล ความร่วมมือด้านการส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลกับกลุ่มชุมชนในห่วงโซ่การผลิต ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับ ความร่วมมือด้านการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรน และความร่วมมือด้านการพัฒนาหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนระหว่างดีป้าและเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สถาบันการบินพลเรือน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมวิชาการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์การมหาชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุรนารี และผู้ประกอบการโดรนในประเทศเกษตรกรและชุมชนที่สนใจ รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถติดตามข่าวสาร และศึกษารายละเอียดโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ได้ที่ Facebook Page : depaThailand หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 08-5125-1340 และ 08-2516-6224.

ดีอี-ตำรวจไซเบอร์ จับกุมเว็บพนันออนไลน์ พบเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท

พร้อมทลายแหล่งบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ที่จังหวัดชลบุรี พร้อมขยายผลข้ามแดน ควบคุมตัวคนไทย 154 รายในเมียนมา โยงแก๊งคอลเซ็นเตอร์

วันที่ 27 มีนาคม 2567 นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมด้วย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) , พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ รอง ผบช.ฯ ปฏิบัติราชการ บช. สอท. , พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท. , พล.ต.ต.จิตติพนธ์ ผลพฤกษา ผบก.สอท.4 ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด โดย นายสุริยน ประภาสะวัต ตําแหน่งอัยการพิเศษ ฝ่ายการสอบสวน 1 , เจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังผาเมือง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , ตำรวจภูธรภาค 5 และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ (AIS) โดย นายศรัณย์ ปรีชา ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดย พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมผู้เกี่ยวข้องร่วมแถลงผลการจับกุม “JOINT CYBER OPERATION”  ใน 3 ปฏิบัติการ ดังนี้ 

1. ครั้งแรกเก็บพยานหลักฐานนอกประเทศ ขยายผลข้ามแดนจับกุมคนไทย 154 ราย ถูกควบคุมตัวในเมียนมา โดยได้ประสานความร่วมมือสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เก็บรวบรวมข้อมูลและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานเครือข่ายการพนันออนไลน์ใน จ.ท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารร่วมกับตำรวจสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้เข้าปราบปรามบ่อนการพนันออนไลน์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จ.ท่าขี้เหล็ก โดยจัดตั้งศูนย์สืบสวนสอบสวนและขยายผลการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อร่วมขยายผลเก็บรวบรวมข้อมูลและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.ท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ซักถามคัดกรองปากคำบุคคล รวมทั้งการตรวจสอบพยานหลักฐานทางดิจิทัล และรายละเอียดต่าง ๆ สำหรับแนวทางการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมดในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน หลังจากได้รับโทษตามกฎหมายแล้ว จะส่งตัวกลับมาดำเนินนคดีในประเทศไทย

2. ทลายแหล่งลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ ใกล้สถานศึกษาดัง จ.ชลบุรี โดยเข้าตรวจค้นและจับกุมตัว นายหัถตชัยฯ (สงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี ได้ที่บ้านไม่มีเลขที่ ต.หนองชาก อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี พร้อมทั้งตรวจยึดของกลางบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า รวม 370 ชิ้น มูลค่าของกลางประมาณ 50,000 บาท พร้อมขยายผลการจับกุมถึงแหล่งที่มา จุดกระจายสินค้า และผู้ทำหน้าที่ค้าส่งหรือส่งสินค้าในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จึงขออนุมัติหมายจับและหมายค้นนายรัชชานนท์ฯ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี โดยเป็นผู้จำหน่ายและผู้จัดส่งบุหรี่ไฟฟ้า และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัยจะเป็นแหล่งเก็บ ซุกซ่อนและจําหน่าย บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 2 จุด 

โดยจุดที่ 1 ภายในซอยบางทราย 63 หมู่ที่ 5 ต.บางทราย อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เก็บ ซุกซ่อน สถานที่แพ็คของ จากการตรวจค้นพบนายรัชชานนท์ฯ อายุ 25 ปี แสดงตนเป็น ผู้ดูแล/เจ้าของบ้าน ตรวจยึดของกลาง บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 12 ชิ้น คิดเป็นมูลค่า 1,560 บาทและอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และ จุดที่ 2 ในพื้นที่ ต.แสนสุข อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากสถานศึกษาชื่อดังของจังหวัดชลบุรี เพียง 300 เมตร ตรวจยึดของกลาง บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา บุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จำนวนกว่า 5,000 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000,000 บาท 

ทั้งนี้ ขอแจ้งเตือนผู้บริโภคและประชาชนว่า การจำหน่าย ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า การลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เป็นความผิดตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองที่ 9/2558 เรื่อง  “ห้ามขายหรือห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาเติมบุหรี่ไฟฟ้า” มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกไม่ เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย หรือรับไว้โดยประการใดโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร โดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคา สินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. จับกุมเครือข่ายพนันออนไลน์ slotpgthai.net และ uwin9.com พบเครือข่ายที่เกี่ยวข้องรวม 25 เครือข่าย ตรวจยึดของกลางและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง มูลค่ากว่า 18 ล้านบาท พบยอดเงินหมุนเวียนเดือนละกว่า 500 ล้านบาท โดยได้ตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหารวม 7 ราย กลุ่มผู้รับ ผลประโยชน์จำนวน 1 ราย กลุ่มผู้ดูแลการเงิน 1 ราย และบัญชีม้า 5 ราย ทั้งนี้ยังตรวจสอบพบเครือข่ายพนัน อื่น ๆ รวม 25 เครือข่าย มีสมาชิกผู้เล่นกว่า 200,000 คน โดยดำเนินคดีในความผิดฐาน “ร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกันทาง อิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน” 

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้ความสำคัญกับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคงระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติบริเวณชายแดน ในการดำเนินการขยายผลจับกุมทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เว็บพนันออนไลน์ ซิมผี บัญชีม้า  โดยตั้งแต่ 1 ต.ค. 66 - 5 มี.ค. 67 กระทรวงดีอีดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์เกี่ยวกับพนันออนไลน์ จำนวน 25,571 รายการ  เพิ่มขึ้น 13 เท่าตัวจาก 2,059 เว็บ ในช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน ในการตรวจสอบ ระงับ ยับยั้ง หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถโทรปรึกษาสายด่วน AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

‘ดีอี’ จับมือหน่วยงานพันธมิตร เร่งปราบ ‘โจรออนไลน์’ ระยะที่ 2 ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี กวาดล้างบัญชีม้าไปแล้ว 1 แสนบัญชีต่อเดือน พร้อมเร่งรัดหาวิธีคืนเงินผู้เสียหายให้เร็วที่สุด

วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าปราบโจรออนไลน์ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ประชุมร่วมกับ ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี และ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อหารือเรื่องการกวาดล้างบัญชีม้าและเร่งรัดการคืนเงินให้ผู้เสียหาย ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงดีอี ร่วมกับตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์เป็นระยะที่ 2 ต่อเนื่องจากระยะแรก 30 วัน (1-30 เมษายน 2567) โดยผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้ 

1. การเร่งรัดกวาดล้างบัญชีม้า : ปปง. ธปท. สมาคมธนาคาร กสทช. สมาคมโทรคมนาคมฯ และ ดีอี ได้ร่วมกันดำเนินการขยายผลกวาดล้างบัญชีม้า จากการใช้ข้อมูลรายชื่อเจ้าของบัญชีม้า และรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำการปิดบัญชีธนาคารทุกธนาคาร จากชื่อบุคคลดังกล่าว โดยตั้งเป้าระงับ/ปิด บัญชีม้ามากกว่า 12,000 คนต่อเดือน หรือ 100,000 บัญชีต่อเดือน พร้อมทั้งกำหนดมาตรการและเงื่อนไขการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันการนำไปกระทำความผิดโดยเพิ่มกระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง Customer Due Diligence หรือ CDD โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง ธนาคารต้องตรวจสอบให้เคร่งครัดมากขึ้นก่อนอนุมัติเปิดบัญชี โดยทาง ธปท.จะมีการออกประกาศภายในเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งปัจจุบันบางธนาคารได้มีการดำเนินการแล้ว โดยได้มีการเชื่อมระบบข้อมูลของธนาคารทุกธนาคาร มอบหมายให้ กสทช. เป็นผู้ดำเนินการจัดทำระบบรวบรวมข้อมูล ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 2 สัปดาห์ สำหรับการกวาดล้างบัญชีม้า และซิมม้าในระบบ mobile banking ที่ประชุมมอบหมายให้ กสทช.เร่งรัดตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ที่ผูกกับระบบ mobile banking จำนวนประมาณ 106 ล้านเลขหมาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 120 วัน 

นายประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับผลการกวาดล้างบัญชีม้าถึง 30 เมษายน 2567 ได้ระงับบัญชีม้าแล้วกว่า 700,000 บัญชี แบ่งเป็น ธนาคารระงับเอง 300,000 บัญชี AOC ระงับ 101,375 บัญชี ปปง.ปิด 325,586 บัญชี ในส่วนของตำรวจดำเนินการการจับกุมคดี บัญชีม้า-ซิมม้า เม.ย. 67 มีจำนวน 361 คน เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 187 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567

2. การแก้กฎหมายพิเศษเป็นการเร่งด่วน : เพื่อให้การปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ตลอดจนช่วยเหลือคืนเงินให้ผู้เสียหาย ได้มีการหารือเรื่องการแก้กฎหมายในประเด็น ดังนี้ 2.1 การเร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหาย โดยที่ผ่านมาการคืนเงินให้ผู้เสียหายจากคดีออนไลน์ ต้องใช้เวลานาน หลายๆ กรณีใช้เวลาหลายปี กว่าจะสามารถคืนเงินให้ผู้เสียหายได้ ประกอบกับ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ทาง AOC 1441 โดย ดีอี ตำรวจ สมาคมธนาคาร ได้ร่วมมือ เร่งการระงับ/อายัด บัญชีม้าได้รวดเร็วเฉลี่ยภายใน 10 นาที และมีเงินที่ถูกอายัดได้จำนวนมาก ซึ่งในวันนี้จึงได้ประชุมพิจารณาถึงการหาวิธีคืนเงินให้รวดเร็วขึ้น โดยพิจารณาการออกกฎหมายพิเศษเพื่อเร่งการคืนเงิน 

2.2 การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล โดยถือว่าการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง จึงต้องมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องและคนร้ายในอัตราโทษจำคุกเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 5 ปี  นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงการป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลทฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฏหมาย 

“วันนี้เราประชุมเพื่อหามาตรการเร่งรัดกวาดล้างบัญชีม้า และ หาวิธีคืนเงินให้ผู้เสียหายรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมได้หารือถึงการออกพระราชกำหนด เป็นกฎหมายพิเศษเพื่อเร่งคืนเงินให้ผู้เสียหายและเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูล ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งการปราบปรามจับกุมคนร้าย กวาดล้างบัญชีม้า ซิมม้า ปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงต่อเนื่อง แก้ปัญหาหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ และช่วยลดความเดือนร้อนของประชาชน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าว 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top