Sunday, 12 May 2024
ดีพร้อม

'ดีพร้อม' โชว์พลังคลัสเตอร์หุ่นยนต์ รวมกลุ่มฝ่าวิกฤตสร้างระบบอัตโนมัติต้นทุนต่ำ ลดนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมเปิดทางสร้างพันธมิตรธุรกิจหุ่นยนต์ หวังดันเอสเอ็มอีไทยไปสู่ยุค 4.0 

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายผลักดัน 12 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยมีอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ 

ด้วยนโยบายดังกล่าว ‘ดีพร้อม’ จึงเร่งพัฒนาและฟื้นฟูผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวผ่านการสร้างและพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ ‘คลัสเตอร์’ (Cluster) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างนวัตกรรมร่วมกัน ตลอดจนบูรณาการการทำงานระหว่างกันได้ ซึ่ง ‘ดีพร้อม’ ได้ดำเนินการพัฒนาคลัสเตอร์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 - ปัจจุบัน โดยมีกลไกและกระบวนการพัฒนาตั้งแต่ การกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดการรวมกลุ่ม การพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็ง การพัฒนาธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมให้เติบโต เข้มแข็ง และยั่งยืน 

โดยเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม เครื่องมือและกระบวนการอันสำคัญหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศได้คือการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ หรือ ‘คลัสเตอร์’ ซึ่งมีจำนวนกลุ่มอุตสาหกรรมที่พัฒนามาแล้วอย่างต่อเนื่อง จำนวน 123 กลุ่มอุตสาหกรรม ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และสิ่งที่น่าสนใจพบว่าเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย 11 กลุ่ม ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของผู้ประกอบการ SMEs ตลอดจนเป็นการปูทางสร้างมูลค่าอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี 

สำหรับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก และถือเป็นก้าวสำคัญของ SMEs 4.0 คือ ‘คลัสเตอร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ’ ซึ่งได้รวมตัวและบูรณาการการทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2562 ประกอบด้วยธุรกิจ SMEs จำนวน 22 บริษัทมีเป้าหมายและจุดยืนร่วมกันคือการเพิ่มกำลังการผลิต การลดนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การนำความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัทมาช่วยแก้จุดอ่อน (Pain Point) ของพันธมิตรภายในคลัสเตอร์ รวมถึงผลักดันให้ธุรกิจ SMEs มีโอกาสได้ใช้หุ่นยนต์เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลง

ด้านกำลังแรงงาน และการลดต้นทุนด้านต่างๆ เนื่องจากในปัจจุบันจะพบว่าการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานของประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับสถานประกอบการขนาดใหญ่เท่านั้น มี SMEs จำนวนน้อยที่ใช้ระบบดังกล่าวในการจัดการกระบวนการผลิต เพราะส่วนใหญ่ยังคงเป็นการใช้เครื่องจักร รวมถึงเทคโนโลยีมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง 

“สิ่งสำคัญที่ ดีพร้อม พยายามพัฒนาและยกระดับคลัสเตอร์ให้มีความเข้มแข็งได้มุ่งเน้นทั้งการกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อปรับเปลี่ยนแนวความคิดจากเดิมที่ต่างคนต่างทำหรือต่างคนต่างเก่ง เปลี่ยนการดำเนินงาน จากการแข่งขันเพียงเพื่อความอยู่รอดของตัวเองฝ่ายเดียวมาเป็นพันธมิตร พร้อมวิเคราะห์สถานภาพของกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้ธุรกิจในคลัสเตอร์ทราบถึงระดับความสามารถในการแข่งขัน และนำสิ่งต่างๆ มาเติมเต็มได้ รวมถึงยังได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับความต้องการการพัฒนาธุรกิจ ผลักดันเวทีหรือกิจกรรมการปฏิบัติจริง ทั้งในด้านการทดสอบตลาด การพัฒนาบุคลากร การใช้เทคโนโลยี และยังติดตามความสำเร็จ และเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์อื่นๆ ต่อไป”

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ดีพร้อม ยังได้มีการติดตามผลลัพธ์ ซึ่งพบว่าสิ่งที่คลัสเตอร์หุ่นยนต์
และระบบอัตโนมัติประสบความสำเร็จ คือ มีการซื้อขายระบบเทคโนโลยีรวมถึงหุ่นยนต์ระหว่างกันคิดเป็นมูลค่า ทางเศรษฐกิจประมาณ 95 ล้านบาท หรือ 4.75 ล้านบาทต่อกิจการ พร้อมด้วยความสำเร็จของการพัฒนาระบบอัตโนมัติต้นทุนต่ำ Low Cost Automation ซึ่งทำให้ธุรกิจในกลุ่มสามารถมีระบบอัตโนมัติช่วยการปรับปรุงกระบวนการผลิตในราคาที่เอื้อมถึงได้ คืนทุนได้เร็วเฉลี่ยประมาณ 12 เดือน และมีราคาที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศเฉลี่ย 300,000 - 500,000 บาท จากปกติที่ต้องนำเข้าในราคาระดับหลักล้านบาท อย่างไรก็ตาม ดีพร้อม ยังมีแนวทางในการต่อยอดให้กลุ่ม SMEs มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 

1.) การดึงกลุ่มสถานประกอบการที่มีความต้องการใช้หุ่นยนต์เข้ามาร่วมในกลุ่มคลัสเตอร์ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ผู้พัฒนาระบบทราบถึงความต้องการของพันธมิตร และต่อยอดสู่เทคโนโลยีเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น 

2.) การส่งเสริมและเชื่อมโยงผ่านกลไกด้านการเงิน พร้อมให้ความรู้กับผู้ประกอบการได้เห็นถึงสิทธิประโยชน์จากการนำหุ่นยนต์มาใช้ เช่น มาตรการด้านภาษี ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในอัตราต่ำ รวมถึงจัดทำข้อเสนอทางเทคนิคและข้อเสนอด้านการเงินสำหรับ SMEs เพื่อใช้ในการขอสินเชื่อจากกองทุนและจากธนาคารพาณิชย์

3.) จัดหาหรือดึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ / ประสบการณ์ในด้านระบบอัตโนมัติรวมถึงหุ่นยนต์มาช่วยให้ความรู้ หรือเทคนิคสำคัญให้กับผู้ประกอบการในคลัสเตอร์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านที่ปรึกษา พร้อมช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาเทคโนโลยีประสิทธิภาพได้มากขึ้น

และ 4.) ส่งเสริมแผนงานด้านการตลาด เนื่องจากในปัจจุบันแม้คลัสเตอร์จะเริ่มประสบความสำเร็จในการแบ่งปัน - ซื้อขายเทคโนโลยีระหว่างกัน แต่ยังจำเป็นต้องทำให้เกิดการซื้อขายนอกกลุ่ม หรือช่องทางอื่น ๆ เพื่อให้เกิดมูลค่าและการเป็นที่รู้จักที่มากขึ้นต่อไป 

‘ดีพร้อม’ ปล่อยสินเชื่อพิเศษช่วยเอสเอ็มอี เร่งเสริมสภาพคล่องผู้ได้รับผลกระทบโควิด

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ปล่อยสินเชื่อพิเศษดีพร้อมเพย์ เร่งเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 วางกรอบสินเชื่อ สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย 

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากนโยบายของท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางและมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้กลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ได้เสนอแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผ่านการอนุมัติสินเชื่อพิเศษ “ดีพร้อมเพย์” ภายใต้กรอบวงเงิน 30 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ และต่อยอดธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยเริ่มยื่นคำขออนุมัติฯ ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มเป้าหมายของผู้ขออนุมัติสินเชื่อดังกล่าว คือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการของดีพร้อม ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 จำนวนไม่น้อยกว่า 30 ราย กำหนดวงเงินสูงสุดไม่เกิน 5,000,000 บาทต่อราย โดยให้ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 3 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นแบบขั้นบันไดเริ่มต้นที่ 3% ต่อปี

ดีพร้อม จับมือพันธมิตร ชวนชาวเหนือช็อปสนุก ในงาน ‘DIPROM MOTOR SHOW 2022’

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ‘ดีพร้อม’ จับมือพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เชิญชวนทุกท่านร่วมช็อปสินค้าดีมีคุณภาพ กับครั้งแรกในงาน ‘DIPROM MOTOR SHOW 2022’ พื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งภายในงานจะพบกับรถยนต์และจักรยานยนต์ กว่า 20 ค่ายดัง ยกขบวนพาเหรดโปรโมชันพิเศษสุดมาให้เลือกสรรภายในงานไม่ต่ำกว่า 10% พร้อมดาวน์ 0% 
 

'สุริยะ' สั่ง 'ดีพร้อม' ปั้น CIV Leader รับวิถี Now Normal คิกออฟ 'บ้านปลายบาง' ต้นแบบชุมชนนำร่องการท่องเที่ยว

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้านโยบายขับเคลื่อนการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ภายหลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมของวิสาหกิจชุมชนในการเร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ พร้อมสั่งการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม พัฒนาต่อยอดผู้นำชุมชนให้เป็นผู้นำหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV Leader นำร่อง 20 ชุมชน เพื่อรองรับวิถีชีวิตปัจจุบันที่สามารถอยู่ร่วมกับสภาพการเปลี่ยนจากโควิด-19 ได้อย่างเป็นปกติ (Now Normal) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาชุมชนตามสภาพปัจจุบัน ซึ่งคำนึงถึงต้นทุนของชุมชน และศักยภาพของแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนา และการส่งเสริมพัฒนาสินค้าชุมชนตามพฤติกรรมลูกค้า พร้อมชู “ชุมชนท่องเที่ยวบ้านปลายบาง” ตัวอย่างชุมชนนำร่องการท่องเที่ยวที่มีการปรับตัวไว พลิกวิกฤตพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น สร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 300 ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศถือได้ว่าเริ่มฟื้นตัวขึ้น จากปริมาณนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ และอัตราการเข้าพักในโรงแรมในเดือนมกราคมที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็นภาพสะท้อนโอกาสทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามสำหรับหลายกิจการที่รอคอยให้เครื่องจักรการท่องเที่ยวกลับมาเดินเครื่องเต็มกำลังอีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน เพราะถือเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จึงได้สั่งการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขยายผลการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) หรือ หมู่บ้าน CIV ที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สร้างรายได้มั่นคงให้กับ 250 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขับเคลื่อนหมู่บ้าน CIV ในปีนี้ ดีพร้อมเน้นการดำเนินงานภายใต้นโยบาย “DIProm CARE: ดีพร้อม แคร์” ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาชุมชนที่จะลงลึกถึงความต้องการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ พร้อมการส่งเสริมที่ตรงจุด ด้วยทีมบุคลลากรคุณภาพที่เชี่ยวชาญองค์ความรู้ในด้านการจัดการอุตสาหกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ อีกทั้ง ได้ปรับรูปแบบเพื่อรองรับวิถีชีวิตปัจจุบันที่สามารถอยู่ร่วมกับสภาพการเปลี่ยนจากโควิด-19 ได้อย่างเป็นปกติ (Now Normal) ประกอบด้วย... 

>> Now Village หรือ การส่งเสริมพัฒนาชุมชนตามสภาพความเป็นปัจจุบัน คือ การสำรวจความพร้อมและผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งถือเป็นต้นทุนเดิมในการพัฒนา และการสำรวจต้นทุนที่เกิดขึ้นใหม่ คือ การเปลี่ยนแปลงของประชากรในชุมชน เพราะในช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมามีแรงงานฝีมือจำนวนมากที่ตกงานและเดินทางกลับภูมิลำเนาที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน หากสามารถใช้ศักยภาพของแรงงานเหล่านี้ในการพัฒนาสินค้าและบริการของชุมชน จะทำให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้นและชุมชนเกิดความยั่งยืนในอนาคต 

>> Now Customer หรือ การส่งเสริมพัฒนาสินค้าชุมชนตามพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า หรือนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น และความต้องการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปด้วยมาตรการการควบคุมโรค ที่เข้มงวดการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น และนักท่องเที่ยวบางส่วนงดการเดินทางท่องเที่ยว แต่ยังคงมีความต้องการซื้อสินค้าชุมชน หรือสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น การพัฒนาสินค้าและบริการในความปกติปัจจุบัน จึงต้องพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ 

‘สุริยะ’ ชี้!! อุตสาหกรรมไมซ์ภาคเหนือคึกคัก หลัง ‘ดีพร้อม มอเตอร์ โชว์’ สำเร็จเกินคาด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลสำเร็จการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเชิงพื้นที่และภูมิภาคให้คึกคักขึ้นกว่าเดิม หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้จัดงาน “ดีพร้อม มอเตอร์ โชว์” (DIPROM MOTOR SHOW 2022) ที่จัดขึ้น ณ จังหวัดลำปาง ส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้กว่า 225 ล้านบาท พร้อมเตรียมเดินหน้าผลักดันศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมต่างๆ สอดรับกับนโยบาย “ดีพร้อมแคร์” ที่ต้องการขยายผลด้านธุรกิจและเครือข่ายพันธมิตรไปสู่ระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงไปจัดทําแผนงานต่างๆ เพื่อมอบ ‘ของขวัญปีใหม่ 2565’ ให้กับประชาชน โดยดําเนินการภายใต้นโยบายทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 1) อำนวยความสะดวกและลดต้นทุนผู้ประกอบการ 2) เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ 3) ยกระดับผู้ประกอบการ และ 4) ดูแลเกษตรกรและประชาชน จึงได้มอบหมาย ดีพร้อม (DIPROM) หรือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้ขานรับนโยบายดังกล่าว ในการจัดมหกรรมแสดงสินค้า DIPROM MOTOR SHOW 2022 จําหน่ายรถยนต์รถจักรยานยนต์ และเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อกระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจและลดภาระให้ผู้บริโภค รองรับการเปิดประเทศหลังปิดประเทศเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และเป็นของขวัญให้กับประชาชน

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดีพร้อม จึงได้พัฒนาศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือของดีพร้อม ที่เรียกว่า DIPROM Meeting Industrial Conference and Exhibition Center หรือ DIPROM MICE CENTER ณ จังหวัดลำปาง ให้รองรับการจัดประชุมนิทรรศการ หรือ อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ให้เป็นพื้นที่ในการจัดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรม ตลอดจนสินค้าชุมชน และสินค้าของเอสเอ็มอี รวมถึง DIPROM MICE CENTER นี้ จะเป็นพื้นที่ในการจัดประชุมสัมมนา หรือเจรจาธุรกิจในภาคเหนือ สำหรับผู้ประกอบการจากทั่วประเทศไทย จึงจะมีบทบาทช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค ทั้งธุรกิจโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจบริการต่างๆ ให้มียอดการเข้าพักและใช้บริการเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการยกระดับการเติบโตของอุตสาหกรรม ทั้งในระดับพื้นที่จังหวัดลำปาง ระดับภูมิภาคในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ และในระดับประเทศ

'สุริยะ' ดัน DIPROM Community ชุบชีวิต ศก.ฐานราก ชี้!! ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเพิ่ม 7 พันล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนผ่านการ Kick Off พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม สั่งการอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมุ่งเป้าการพัฒนาชุมชนเปลี่ยนผ่านจากยุคที่ 3 หมู่บ้าน CIV ก้าวไปสู่ยุคที่ 4 “ชุมชนดีพร้อม หรือ DIPROM Community อย่างเต็มรูปแบบทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย คาดกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 7,000 ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 เป็นวิกฤติการณ์ระดับโลกที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะในระดับชุมชน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

นายสุริยะ จึงได้สั่งการให้ดีพร้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ดำเนินโครงการเพื่อเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นอุตสาหกรรมที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก ภาคเกษตรอุตสาหกรรม, ภาคการผลิตสินค้า และภาคบริการของชุมชน ให้สามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ปกติโดยเร็ว ผ่านนโยบายในการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนที่เน้นการปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิตวิถีใหม่ เพื่อมุ่งเป้าการพัฒนาชุมชนก้าวไปสู่ยุคที่ 4 

โดยพัฒนาจาก “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ หมู่บ้านซีไอวี (CIV)” ในยุคที่ 3 สู่กลไกใหม่ในยุคที่ 4 “ชุมชนดีพร้อม หรือ DIPROM Community” ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งและสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีการพัฒนาที่ครบถ้วนใน 7 มิติที่ดีพร้อม ทั้ง แผนชุมชน, คนชุมชน, แบรนด์ชุมชน, ผลิตภัณฑ์ชุมชน, เครื่องจักรชุมชน, ตลาดชุมชน และเงินหมุนเวียนในชุมชน 

ถือเป็นการ “เปลี่ยนวิถีใหม่ ปรุง 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนให้ดีพร้อมอย่างเต็มรูปแบบทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย คาดกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 7,000 ล้านบาท 

'ครม.' ตั้ง ‘ณัฐพล รังสิตพล’ ขึ้นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (12 ก.ค.) ได้มีมติแต่งตั้ง นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ 'ดีพร้อม' กระทรวงอุตสาหกรรม ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 แทน นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยนับเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนที่ 30


ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9650000066372

‘บิ๊กตู่’ คิกออฟ งานอุตสาหกรรมแฟร์ อิมแพ็ค 1-4 ธ.ค.นี้ ชวน ‘ซื้อของไทย-ใช้ของดี-สร้างอาชีพ-เสริมธุรกิจที่ดีพร้อม’

‘บิ๊กตู่’ ยกทัพอุตสาหกรรมแฟร์ ดันผลงานพลิกเศรษฐกิจฐานรากยั่งยืน คาดบูมเศรษฐกิจมากกว่า 500 ล้านบาท

(1 ธ.ค. 65) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานใหญ่แห่งปี อุตสาหกรรมแฟร์ ภายใต้แนวคิด ‘ซื้อของไทย ใช้ของดี สร้างอาชีพ เสริมธุรกิจที่ดีพร้อม’ เพื่อต่อยอดผลสำเร็จของโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม ด้านการเสริมทักษะในการประกอบธุรกิจ ให้สามารถพึ่งพาตัวเองและมีอาชีพใหม่ พร้อมทั้งระดมสุดยอดผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมกว่า 1,200 ราย นำสินค้าดี มีคุณภาพ ราคาถูก เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ตลอดจนการเปิดตลาดไอเดียสำหรับประชาชนเพื่อหาแรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจที่มั่นคง ระหว่างวันที่ 1-4 ธันวาคม 2565 ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 9-12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท โดยได้รับเกียรติจาก นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้ 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะวิกฤติ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือเยียวยาและการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกด้านอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาผลกระทบและเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้เศรษฐกิจสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยเฉพาะการสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานรากที่จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้วยการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘คน’ ที่เป็นประชาชนในระดับท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานและกลไกสำคัญของการพัฒนาประเทศ ด้วยการเสริมทักษะและฝึกอาชีพแก่ประชาชนให้สามารถพึ่งพาตัวเองและมีรายได้ มีอาชีพใหม่ อันจะก่อให้เกิดความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

สำหรับการจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ ‘ซื้อของไทย ใช้ของดี สร้างอาชีพ เสริมธุรกิจที่ดีพร้อม’ ในวันนี้ ถือเป็นการจัดงานครั้งใหญ่ในรอบหลายปี ซึ่งเป็นการต่อยอดและขยายผลโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ขณะเดียวกัน ยังถือเป็นการสะท้อนภาพความสำเร็จของการนำนโยบายสำคัญของรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่ทำให้ประชาชนมีความรู้และทักษะใหม่ในการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่และภูมิปัญญาของคนในชุมชนที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริง ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งได้จากภายใน สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนและเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมถึงช่วยผลักดันให้ภาคเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่สภาวะปกติต่อไปได้

ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘ชุมชนดีพร้อม’ และการพัฒนา ‘คน’ ที่เป็นประชาชนในระดับท้องถิ่นและชุมชน ผ่าน ‘กลไก 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม’ ได้แก่ แผนชุมชนดีพร้อม, คนชุมชนดีพร้อม, แบรนด์ชุมชนดีพร้อม, ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม, เครื่องจักรชุมชนดีพร้อม, ตลาดชุมชนดีพร้อม และเงินทุนหมุนเวียนดีพร้อม ซึ่งหนึ่งในกลไกข้างต้น กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่า ‘คน’ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในก้าวแรกที่จะพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยการเสริมทักษะและฝึกอาชีพแก่ประชาชนในรูปแบบการฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองและมีรายได้ มีอาชีพใหม่ผ่านโครงการ ‘พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม’ โดยที่ผ่านมาสามารถพัฒนาทักษะอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายไปแล้วกว่า 600,000 คน ในกว่า 2,100 พื้นที่ และกำลังดำเนินการเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 

นอกจากนั้น อีกหนึ่งกลไกที่มีความสำคัญ คือ การพัฒนาตลาดชุมชนดีพร้อมให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งในการพัฒนา ‘ตลาดชุมชนดีพร้อม’ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเลือกที่จะใช้งานอุตสาหกรรมแฟร์ ‘ซื้อของไทย ใช้ของดี สร้างอาชีพ เสริมธุรกิจที่ดีพร้อม’ เป็นเครื่องมือทางการตลาดให้กับชุมชน ระหว่างวันที่ 1-4 ธันวาคม 2565 ณ เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 9-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top