Friday, 3 May 2024
ดนุวัศ_สาคริก

'ผศ.ดร.เอราวัณ' ควง 'รศ.ดร.ดนุวัศ' เลือกตั้งผู้ว่าฯ ชวนคนกรุงฯ เลือกคนดีเข้าบริหารกรุงเทพฯ

เช้านี้ (22 พ.ค. 65) สองนักวิชาการ ผศ.ดร.เอราวัณ ทับพลี ผู้ช่วยอธิการบดีฯ และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พร้อมด้วย รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม และ ส.ก. ณ บริเวณข้างโรงเรียนอนุบาลไสวตาแตง แขวงเสนานิคม 2 เขตจตุจักร   

'ผศ.ดร.เอราวัณ' ควง 'รศ.ดร.ดนุวัศ' ใช้สิทธิเลือกตั้ง 66 ชวนคนไทยไปใช้สิทธิออกเสียง เลือกคนดีเข้าดูแลประเทศ

(14 พ.ค.66) สองนักวิชาการ พร้อมใจกันออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 66 ผศ.ดร.เอราวัณ ทับพลี อดีตผู้ช่วยอธิการบดีฯ และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พร้อมด้วย รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ บริเวณข้างโรงเรียนอนุบาลไสวตาแตง แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร 

โดยอาจารย์ทั้งสองเห็นว่าการมาใช้สิทธิเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นสิทธิของพลเมืองและมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

ถึงเวลาสร้าง ‘ไทย’ ให้เติบใหญ่ในยุคดิจิทัล l รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก

ความ ‘เท่า’ ที่ยากจะ ‘เทียม’ หากระบบการศึกษาไทยยังย่ำอยู่กับที่และทิศทางไทยยังคงหลงอยู่กับนโยบาย

ประชานิยมที่คอยกระตุกกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงแค่ครั้งคราว

กลับกันประเทศไทย ในวันที่เริ่มตั้งตัว ต้องหาทางตั้งทรงแบบยกแผงต้องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะผลักดันอนาคตชาติเริ่มตั้งแต่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในทุกภาคส่วนระบบการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และอื่นๆ ให้เกิดรากอันแข็งแกร่ง เพื่อเป็นฐานรองรับให้ ‘คนในชาติ’ กลายเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ

Contributor EP นี้ ขอกระตุกมุมคิดคนไทยให้ร่วมมองความเจริญแห่งอนาคตที่ถูกทิศผ่านมุมคิดของ... 
รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) NIDA ที่ขอเป็นตัวแทนพูดดังๆ ถึงทุกภาคส่วน ว่า…

ถึงเวลาแล้วที่ ‘ประเทศไทย’ ต้องปฏิรูป!!

‘รศ.ดร.ดนุวัศ’ แนะ!! 6 หนทาง พลิกไทยโตยั่งยืน ยัน!! แนวคิดแจกเงินหมดคลัง ไม่ช่วยคนไทยรวย

จากรายการ CONTRIBUTOR EP.29 ออนแอร์ผ่านช่องทาง THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 6 พ.ย.66 ได้เปิดเผยถึงแนวทางปฏิรูปประเทศไทยต่อจากนี้ ซึ่งจะมีผลลัพธ์อันดีต่อการเติมเงินลงไปในกระเป๋าคนไทยได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังส่งผลไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่เติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ผ่านมุมมองของ รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) NIDA ที่กล่าวไว้ว่า…

จากนี้ไป คือ ช่วงเวลา ‘วัดกึ๋น’ ผู้บริหารของประเทศไทย!!

หากต้องการสร้างเศรษฐไทยยุคใหม่ ที่มีทั้งความปลอดภัยให้แก่ระบบเศรษฐกิจ, การคลัง และสร้างรายได้แก่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน ผู้นำของประเทศ จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนแนวทางเหล่านี้ให้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ดังนี้...

>> เรื่องแรก ‘ปฏิรูป’
สถานการณ์ของประเทศไทยในวันนี้ แค่ ‘เปลี่ยน’ หรือปรับ ไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะปัญหาต่าง ๆ บางทีต้องรื้อใหม่ตั้งแต่โครงสร้าง ซึ่งผมมองว่า ต่อจากนี้ประเทศไทยต้องใช้คำว่า ‘ปฏิรูป’ โดยการปฏิรูปนี้ต้องเข้าไปสะเทือนหลายโครงสร้างของประเทศ ทั้งการเมือง, เศรษฐกิจ, การศึกษา องค์กรด้านความมั่นคง และกฎระเบียบที่ย่อหย่อน ต้องเขย่ากันใหม่ตั้งแต่รากฐาน ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ไม่ดี แต่ไม่พอ อย่างเรื่องการศึกษา พูดมานาน ทั้งแนวทางการเรียนการสอนแบบใหม่ การพัฒนาบุคลากรครูผู้สอน และรวมถึงการเท่าทันกับเทรนด์อาชีพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เหล่านี้พูดกันมานาน แต่ก็ยังไม่เกิดอะไรขึ้น นั่นก็เพราะมันไม่ง่าย เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องเยอะ กระทบคนเยอะ นี่จึงเป็นตัววัดฝีมือผู้บริหารประเทศที่ต้องทรงวิสัยทัศน์

>> เรื่องที่ 2 ‘ตระหนักใน 3 ทักษะเปลี่ยนโลก’
ในโลกยุคการศึกษา 4.0 มี 3 เรื่องใหญ่ ๆ ที่ภาคการศึกษาต้องทำ นั่นก็คือ 

1. ทักษะด้านดิจิทัล ทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และโค้ดดิ้ง ซึ่งเรื่องนี้ก็เห็นว่าระบบการศึกษาไทยกำลังให้ความสำคัญอยู่ 

2. ทักษะในการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องเข้าใจว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ต้องเท่าทันโลก 

3. ทักษะด้านซอฟต์สกิล ซึ่งเป็นเรื่องของภาวะส่วนบุคคล ที่ต้องมีไหวพริบ ควบคุมอารมณ์ได้ดี มีทักษะในการอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อนำมาสู่การทำงานและสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือทำงานกันเป็นทีมได้ ซึ่ง 3 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ World Economic Forum ให้ความสำคัญกับการอยู่ในโลกดิจิทัลอย่างมาก แต่โลกการศึกษาไทยอาจจะยังไม่ได้เน้น และเราต้องเร่งขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะผมมองว่ามันสำคัญมากกับการใช้ชีวิตในโลกยุคหลังจากนี้

>> เรื่องที่ 3 ‘โลกนอกกะลา’
การเปิดรับต่อองค์ความรู้นอกประเทศ เป็นสิ่งที่ยังเป็นปัญหาในสังคมไทย ซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องฝากความหวังไว้ที่สื่อบ้านเรา ช่วยเปิดโลกให้คนไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในต่างประเทศ ทั้งการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, การศึกษา และเรื่องอื่น ๆ ต้องเติมเข้ามาให้คนไทยได้รับรู้กันมากขึ้น เพราะในวันนี้คนไทยจำนวนไม่น้อย เริ่มคิดว่า พวกเขาคือ ศูนย์กลางของจักรวาล สิ่งที่เขารู้คือสิ่งที่เป็นบรรทัดฐาน และคิดว่าเรื่องราวแคบ ๆ ในประเทศ คือ คำตอบที่ถูกต้อง …ผมเคยถามคำถามหนึ่งกับนักศึกษาว่า รู้ไหมนายกฯ คนก่อนของเยอรมนี (อังเกลา แมร์เคิล) อยู่ในตำแหน่งกี่ปี ไม่มีใครตอบได้ …เขาอยู่ในตำแหน่ง 16 ปีครับ แต่บ้านเราพอมีนายกฯ ที่อยู่ในตำแหน่ง 8 ปีก็โวยวายกันแล้ว เป็นต้น

>> เรื่องที่ 4 ‘หยุดสร้างผลงานเพื่อเรียกคะแนนเสียง’
ด้วยหนทางในการต่อสู้ทางการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารประเทศ พรรคการเมืองโดยมากก็มักจะสร้างผลงานระยะสั้นออกมา เพราะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการเข้าไปปฏิรูปโครงสร้างบางอย่างที่แม้จะเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ก็มักจะใช้เวลานาน แต่ผมอยากให้เห็นภาพแบบนี้ว่า เรื่องโครงสร้างพื้นฐานบ้านเรา ที่กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างทุกวันนี้ ถ้าไม่ได้รัฐบาลที่อยู่ต่อเนื่องนาน ๆ อาจจะไม่ได้เห็นก็ได้ เฉกเช่นเดียวกันกับระบบคมนาคมขนส่งในยุโรป, อังกฤษ, อเมริกา กว่าจะทำได้ก็เป็น 100 ปี หรือ ชินคันเซ็น ในญี่ปุ่นก็สร้างมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลลัพธ์ของมันคือ เมื่อระบบโครงสร้างที่ดีเกิดขึ้น การพัฒนาทางเศรษฐกิจไหลตามมาโดยอัตโนมัติ เหมือนที่ญี่ปุ่น สถานีรถไฟใหญ่ ๆ อยู่ตรงไหน ความเจริญจะอยู่ตรงนั้น เกิดห้าง, โรงเรียน, มหาวิทยาลัย, ร้านขายของ และอีกมากมายที่มีเม็ดเงินมหาศาลเกิดการหมุนเวียนในพื้นที่ ฉะนั้นนโยบายที่มาจากแรงผลักดันทางการเมือง เพียงเพื่อล่าคะแนนเสียงจากประชาชนในช่วงเลือกตั้ง ไม่ยั่งยืน!! 

>> เรื่องที่ 5 ‘สร้างคนต้นน้ำ-ปลายน้ำ’
ประเทศไทยต้องยกระดับขึ้นไปทั้งแผง ต้องผสานพลังขนานใหญ่จากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน โดยเฉพาะกับบุคลากร ที่ต้องสร้างกันตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ แบบเข้มแข็ง เริ่มที่ระบบการศึกษาที่ต้องสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัลโลก ตลาดงาน รวมถึงสถาบันครอบครัวก็ต้องเข้มแข็งด้วย ขณะเดียวกันในส่วนของ ‘ปลายน้ำ’ ก็ต้องส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ หรือ SMEs เหล่านี้ต้องสอดคล้องไปด้วยกัน ตลาดงานได้คนเก่ง สร้างการเติบโตทางธุรกิจ แล้วภาษีก็จะไหลวนคืนสู่ประเทศ แต่วันนี้ทุกภาคที่ว่ามายังแยกเป็นส่วน ๆ ไม่ทำงานประสานพลังกัน เราต้องยกระดับหลากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำงานร่วมมือกัน ก้าวขึ้นไปพร้อมกันแบบยกแผง

>> เรื่องที่ 6 ‘แจกเท่าไร คนไทยก็ไม่รวย’
วิธีง่าย ๆ ในการทำให้คนที่เงินในกระเป๋ามากขึ้น ก็คือ แจกเงิน เพิ่มรายได้ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำได้ทันที ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ แต่โจทย์นี้มันไม่ง่าย หากต้องการให้เงินในบัญชีคนไทยงอกเงยได้อย่างยั่งยืน ซึ่งก็ต้องบอกตรง ๆ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องชี้วัดเชิงนโยบายว่าผู้บริหารประเทศมีความแหลมคมแค่ไหน กลับกันคนไทยจะมีเงินในกระเป๋าได้มากขึ้นจริง ๆ ต้องมาจากความสามารถในการทำงานที่มากขึ้น แล้วรายได้ที่ความมั่นคงอย่างยั่งยืนจะมากตาม ฉะนั้นแจกเงินหมดคลังไป คนไทยก็ไม่รวย

เหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญ ที่ผู้นำของประเทศ, รัฐบาล และทุกหน่วยงานที่จะมีบทบาทต่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย คงจะรอช้าไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่า แนวคิด ‘ปฏิรูป’ นี้มันไม่ง่าย แต่ถ้าไม่ทำตอนนี้ โอกาสที่จะเติมเงินใส่กระเป๋าคนไทย และสร้างสรรค์เศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้กว่าที่เป็นอยู่อย่างยั่งยืน ก็คงจะไม่ง่ายด้วยเช่นกัน และการสร้างแค่นโยบายเชิงประชานิยม จนทำให้คนในประเทศเสพติดจนเป็นนิสัย ก็ไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้นมาอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top