Tuesday, 21 May 2024
ซื้อขายที่ดิน

‘รองโฆษก พท.’ แจงปมราคาที่ดิน เชื่อ แวดวงอสังหาฯ เข้าใจดี ชี้!! ‘ราคาประเมิน’ อาจไม่สัมพันธ์กับ ‘ราคาซื้อขายจริง’ เสมอไป

(5 ก.ค. 66) นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตนว่าน่าแปลกใจมากที่ทำไมคนที่เข้าใจการซื้อขายที่ดินดีถึงหยิบเอา ‘ราคาประเมิน’ มาวิพากษ์วิจารณ์ ‘ราคาซื้อขายจริง’ คนที่ทำงานในแวดวงอสังหาริมทรัพย์เข้าใจดี ว่าราคาซื้อขายจริง ไม่สัมพันธ์กับราคาประเมินเสมอไป และการที่เอกชนรายหนึ่งตัดสินใจซื้อที่ดินแปลงใดในราคาใดก็ตาม ไม่ใช่เพราะเค้าเองปั่นราคาขึ้น แต่เพราะ ‘ความต้องการของตลาด’ ที่ปั่นให้ราคาขึ้นไป

ทั้งนี้ ที่ดินในย่านวิทยุ-สวนลุมพินี-หลังสวน เป็นย่านซูเปอร์ลักชัวรี (Super Luxury) หรือบางที่เรียก หรืออัลตร้าลักซ์ชัวรี (Ultra Luxury) ด้วยซ้ำ ทำให้ที่ดินในโซนนี้มีราคาซื้อขายที่ดินที่ทะลุเพดานราคาเดิม (New High) เสมอ แปลงที่เป็นประเด็นอยู่ก็เช่นกัน ภายใต้ปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่

1.) เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ขาด หรือ ‘Free Hold’ แปลงท้ายๆในโซนที่ยังไม่ถูกพัฒนา ต่างจากอีกหลายแปลงที่เป็นสิทธิการเช่า หรือ ‘Lease Hold’

2.) เป็นแปลงขนาด 1 ไร่ ติดถนนกว้าง มีขนาดพอเหมาะ พัฒนาอาคารสูงได้ ศักยภาพที่ดินแบบนี้ราคาต่อตารางวา จะโดดสูงกว่าที่ดินแปลงใหญ่หลายๆไร่ ที่จะถัวเฉลี่ยราคาต่อตารางวาลง

3.) เป็นแปลงที่สามารถได้รับวิวสวนลุมพินี ที่คนทำงานอสังหาชอบขายว่าเป็น ‘เซ็นทรัลพาร์กเมืองไทย’ ได้ดีมาก

และด้วยเหตุผลเหล่านี้ต่างหากที่ปั่นให้ราคาที่ดินแปลงนี้สูง และต้องใช้บริษัทที่มีศักยภาพและมีความน่าเชื่อถือเป็นผู้พัฒนา เพราะเมื่อพัฒนาเป็นคอนโดแล้วจะต้องขายอย่างต่ำราว 600,000 บาทต่อตารางเมตร แต่ก็ไม่แปลกที่แสนสิริกล้าซื้อ เพราะโครงการที่เคยพัฒนาไปก่อนนี้ อย่าง 98 wireless ก็มีราคาขายไปแตะ ตารางเมตรละ 1 ล้านบาทมาแล้ว

“ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ผมเพียงอยากให้ทุกคนระมัดระวังในการรับข้อมูล และอย่าตกเป็นเครื่องมือในการปั่นให้เข้าใจผิด ผมเชื่อว่าคนทำงานอสังหาฯ เข้าใจตรงกัน ว่าธรรมชาติของราคาที่ดินในย่าน ultra luxury นี้เป็นอย่างไร” นายชนินทร์ กล่าว

‘เด็กเพื่อไทย’ ไว้อาลัยให้ความน่าเชื่อถือของ ‘ชูวิทย์’ หลังพาดพิง ‘เศรษฐา’ ปมดรามาซื้อขายที่ดินแสนสิริ

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 66 ดร.กฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้สมัคร สส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้แชร์ข่าวกรมที่ดินได้ออกมาชี้แจง กรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง พาดพิงนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารสูงสุดและกรรมการของ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มีส่วนร่วมในการหลีกเลี่ยงภาษีในการซื้อขายที่ดินของแสนสิริ เป็นเหตุให้รัฐต้องสูญเสียรายได้เป็นเงินหลายร้อยล้านบาท พร้อมโพสต์ข้อความผ่านเพจ ‘ดร.ตั้น กฤชนนท์ อัยยปัญญา’ ระบุว่า…

“RIP ความน่าเชื่อถือท่านชูวิทย์ เมื่อวานนี้ผมได้ทราบข่าวที่น่าเศร้า เพราะท่านชูวิทย์ฮีโร่นักแฉในดวงใจของผมได้ประกาศว่า ท่านป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ จึงถือโอกาสแสดงความเสียใจและเป็นห่วงมา ณ ที่นี้

นอกจากนี้แล้ว ผมยังได้ทราบถึงความไม่สบายใจของท่านชูวิทย์เกี่ยวกับประเด็นของท่านเศรษฐา เรื่องการซื้อที่ดินของบริษัทแสนสิริที่ท่านชูวิทย์ไม่สบายใจ ว่าเป็นกระทำโดยมิชอบหรือไม่ และจะส่งผลถึงภาพลักษณ์ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ต้อง ‘ซื่อสัตย์สุจริต’ หรือไม่ ผมขออธิบายดังนี้ครับ

ในประเด็นแรกเรื่องการเสียภาษีซื้อขายที่ดินนั้น กรมที่ดินได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า ‘เป็นภาระโดยตรงของผู้ขาย’ และโดยที่ผู้ซื้อไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง และวิธีปฏิบัติดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะได้มีการเสียภาษีต่างๆ ในวันโอนที่ดินครบถ้วน ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของแต่ละคน เป็นสิ่งที่ผู้ขายแต่ละคนต้องรับผิดชอบในรอบปีภาษีของแต่ละคน ซึ่งหากมีการไม่ชำระก็เป็นเรื่องที่กรมสรรพากรต้องจัดการ ผู้ซื้อไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ครับ

ประเด็นถัดมาในส่วนของราคาซื้อขายที่ดินนั้น ทุกๆ ท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ราคาซื้อขายที่ดินนั้นเป็นความพึงพอใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่ได้จำเป็นต้องซื้อขายกันตามราคาประเมินแต่อย่างใด ไม่ว่าอย่างไรสุดท้ายแล้ว บริษัทแสนสิริจำเป็นต้องซื้อในราคาที่ผู้ขายพึงพอใจ ไม่ได้เป็นการทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด ท่านชูวิทย์สบายใจได้ครับ

ประเด็นสุดท้าย ที่ท่านชูวิทย์ได้แสดงความห่วงใยถึงผู้ถือหุ้นบริษัทแสนสิริว่า ‘ผู้ถือหุ้นเจ๊ง’ นั้น ตามข้อมูลงบการเงินจาก ตลท.ในปี 2562 ที่มีการซื้อขายที่ดินนั้น บริษัทแสนสิริมีกำไรสุทธิ 2,392.44 ล้านบาท ท่านชูวิทย์สบายใจได้ครับ

สุดท้ายนี้ หวังว่าท่านชูวิทย์คงสบายใจได้ในทุกๆ ประเด็น หากท่านจะจากไปในอีกแปดเดือนก็คงจะจากไปอย่างหมดห่วง ด้วยความห่วงใยครับ

‘เศรษฐา’ โต้ ‘ชูวิทย์’ บิดเบือนปมซื้อที่ดิน เล็งฟ้องถึงที่สุด ย้ำ!! ‘แสนสิริ’ ยึดมั่นในธรรมาภิบาลจนนำพาบริษัทเติบโต

‘เศรษฐา’ โพสต์เฟซบุ๊กโต้ ‘ชูวิทย์’ ยันซื้อที่ดินตามราคาตลาดปกติ ยกผลงาน ‘แสนสิริ’ เติบโตมีทรัพย์สิน 130,000 ล้าน กำไรปีที่ผ่านมา 4,000 ล้าน การันตีบริหารมีธรรมาภิบาล ยืนยันพร้อมให้ตรวจสอบ แต่การบิดเบือนปลุกปั่นโดยมีเป้าหมายบางประการ ต้องถูกดำเนินการทางกฎหมายจนถึงที่สุด

(16 ส.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin’ ว่า…

“ตามที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้ออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินแปลง สุขุมวิท 55 ที่ปัจจุบันคือโครงการ คุณ บาย ยู (KHUN by YOO) และทางบริษัทแสนสิริได้ออกแถลงการณ์ข้อเท็จจริงแล้วนั้น

ผม นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตเคยบริหารแสนสิริมากว่า 30 ปี บริษัทฯ ผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง โดยที่ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งจนเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์แนวหน้าของประเทศ เติบโตมาจนมีทรัพย์สินรวมเกือบ 130,000 ล้านบาท และมีกำไรมากกว่า 4,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ได้รับการยอมรับ เชื่อถือ จากทั้งลูกค้า ผู้ถือหุ้น และสังคมทั่วไป น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ระดับหนึ่งว่าบริษัทแสนสิริได้ถูกบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล”

“การตรวจสอบจากทุกฝ่ายนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และพร้อมให้ตรวจสอบ แต่การตรวจสอบจะต้องสร้างสรรค์ และทำด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ มีข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และไม่บิดเบือน หรือนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ ในขณะที่ผมเป็นผู้บริหารบริษัทฯ ที่ดินแปลงสารสินซื้อมาตามราคาตลาดที่เหมาะสม ส่วนที่ดินแปลงทองหล่อซื้อมาในราคา ตารางวาละ 1,100,000 บาท ซึ่งเป็นราคาตลาดตามปกติในขณะนั้น

การกระทำใดๆ ที่บิดเบือน ไม่เป็นความจริง ฝ่ายกฎหมายจะรวบรวมข้อมูลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง และต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุดอย่างแน่นอน การที่ฝ่ายกฎหมายของบ้านเมืองเข้ามาตรวจสอบ เป็นเรื่องที่ถูกต้องและพึงกระทำ แต่การที่บุคคลหนึ่งปลุกปั่น ตั้งสมมติฐานขึ้นมาเอง โดยมีเป้าหมายบางประการ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง” นายเศรษฐาระบุ

‘สนธิ’ บุกสรรพากรยื่นสอบ ‘ชูวิทย์’ ปมหมกเม็ดโอนที่เลี่ยงภาษี ชี้!! เป็นนิติกรรมอำพราง ทำรัฐเสียรายได้เข้าแผ่นดินเกือบพันล้าน

(21 ส.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้เดินทางเข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ให้ตรวจสอบการเสียภาษีอากร กรณีการซื้อขายที่ดินบริเวณหลังโรงแรมเดอะเดวิส บางกอก

นายสนธิ กล่าวด้วยว่า ที่มายื่นเรื่องเพราะมีคนร้องเรียนมาว่าคุณชูวิทย์ ขายที่เลี่ยงภาษีให้ตระกูลตัวเอง โดยเป็นการขายจากบริษัทของตัวเองไปให้ลูกๆ และลูกๆ นำไปขายต่อให้อีกบริษัทที่เป็นของตัวเองเช่นกัน โดยคิดราคาที่ดินในการโอนทอดแรกแก่ลูกวาละ 2 แสนบาท และนำไปโอนต่ออีกทอดหนึ่งที่เป็นบริษัทของครอบครัวเหมือนกัน

“บริษัทที่โอนมาเป็นของตัวเองแบ่งที่เป็น 4 แปลง โอนให้ลูก 4 คน หลังจากนั้นโอนต่อให้อีกบริษัทที่ลูกๆ เป็นเจ้าของ คนที่ส่งมาบอกว่าเป็นนิติกรรมอำพราง โอนครั้งแรกเสียภาษีแค่ 11 ล้าบาท แต่ถ้าเป็นนิติกรรมอำพรางคุณชูวิทย์ ต้องเสียภาษี 359 ล้านบาท ถ้าผิดจริงต้องโดนอีกเท่าตัว และรวมหมดตระกูลคุณชูวิทย์ต้องเสีย 900 กว่าล้าน ผมขี้เกียจทะเลาะกับคุณชูวิทย์ เขามั่นใจว่าเขาไม่ผิด เขาทำงานมาเขาเป็นนักบัญชี แต่ความจริงมีหนึ่งเดียว คนที่ชี้ขาดเรื่องนี้ได้น่าจะเป็นสรรพากร ผมจึงนำหลักฐานมาให้ และถ้าเป็นนิติกรรมอำพรางคุณชูวิทย์ ต้องเสียภาษี ถ้าไม่ใช่ก็จบไป ยุติธรรมมาก ไม่ต้องเถียงกัน นั่นคือสิ่งที่ผมมาวันนี้” นายสนธิ กล่าว

ทั้งนี้ ในหนังสือร้องเรียนมีการระบุว่า มีการสมรู้ร่วมคิดกันทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอากรอันถึงชำระ อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 มาตรา 37 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

สำหรับข้อมูลที่เข้าร้องเรียนในครั้งนี้ มีรายละเอียดบางส่วนระบุดังนี้

ข้าพเจ้า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ตรวจพบหลักฐานการทำนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและการชำระภาษีที่เกิดจากการซื้อขายที่ดินที่ผิดปกติและอาจมีการจงใจหลีกเสี่ยงการชำระภาษี กรณีการซื้อขายที่ดินบริเวณหลังโรงแรมเดวิส บางกอก โฉนดที่ดินเลขที่ 1778, 1779, 3538, 3539 ระหว่างบริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ผู้ขาย กับนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ นายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ ผู้ซื้อ และการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1778, 1779, 3538, 3539 ระหว่างนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ นายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ ผู้ขาย กับบริษัท เดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้โฟร์ จำกัด หรือบริษัท เดวิส 24 จำกัด ในปัจจุบัน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 23 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2562 ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ช่วงปี 2542 บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัวนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้ครอบครองที่ดินบริเวณหลังโรงแรมเดวิส บางกอก จำนวน 2 แปลง เนื้อที่แปลงละ 278.5 ตารางวารวม 557 ตารางวา (ปัจจุบันเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 1778, 1779, 3538, 3539) ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1-4

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 เวลา 09.00 น. บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ได้ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2562 มีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมี น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ เข้าร่วมประชุมด้วย นายชูวิทย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทแต่เพียงผู้เดียว อนุมัติให้บริษัทฯ ขายที่ดิน โฉนดเลขที่ 1778, 1779 ให้ผู้ถือหุ้นได้แก่ นายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ และนายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์

และในวันเดียวกัน คือวันที่ 23 กันยายน 2562 เวลา 11.00 น. บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ได้ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2562 มีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมีนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ และนายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ เข้าร่วมประชุมด้วย นายชูวิทย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทแต่เพียงผู้เดียว อนุมัติให้บริษัทฯ ขายที่ดิน โฉนดเลขที่ 3538, 3539 ให้ผู้ถือหุ้นได้แก่ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 5-8

ภายหลังจากที่ทำสัญญาซื้อขายกับผู้ซื้อรายเก่า เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 อีก 3 วันถัดมา คือวันที่ 27 กันยายน 2562 บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายให้ลูกของนายชูวิทย์ 4 คน ได้แก่ นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล คนละ 1 แปลง ระบุราคาซื้อขายที่แปลงละ 27.86 ล้านบาท รวม 4 แปลง เป็นราคา 111.4 ล้านบาท คิดเป็นตารางวาละ 200,000 บาท รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 9-12

และในวันเดียวกันนั้น นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกนายชูวิทย์ทั้ง 4 คน โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายต่อให้บริษัท เดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้ โฟร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตั้งไว้รอการร่วมทุนระหว่างครอบครัวกมลวิศิษฏ์ กับบริษัทไรมอน แลนด์ (มหาชน) จำกัด ระบุราคาขายที่แปลงละ 502,388,500 บาท รวม 4 แปลง ราคา 2,009,554,000 ล้านบาท คิดเป็นราคาตารางวาละ 3.6 ล้านบาทเศษ รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 14-17 ซึ่งบริษัท เดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้ โฟร์ จำกัดมีนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ นายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูลกมลวิศิษฏ์ เป็นผู้ถือหุ้น รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 18-19 การซื้อขายที่ดินดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามูลค่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินเป็นการโอนที่ดิน 2 ทอดในวันเดียวกันแต่กลับซื้อขายในราคาที่ต่างกันถึง 18 เท่าตัว โดยการโอนที่ดินทอดแรกจาก ‘บริษัทกงสี’ ให้ ‘ทายาท’ ในราคา ‘ต่ำเป็นพิเศษ’ ซึ่งในวงการอสังหาฯ รู้ดีว่าเป็น ‘นิติกรรมอำพราง’ เพื่อเลี่ยงภาษีเงินได้ของบริษัทจำกัด ในที่นี้คือ บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด บริษัทกงสีของตระกูลกมลวิศิษฏ์ ซึ่งตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากร ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ทวิ(4) ที่เกี่ยวกับ ‘ภาษีเงินได้นิติบุคคล’ สาระสำคัญความว่า บริษัทจำกัดจะต้องโอนขายทรัพย์สินในราคาไม่ต่ำกว่าราคาตลาด มิฉะนั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ‘ตามราคาตลาดในวันที่โอน’ ได้ตาม ‘ข้อเท็จจริง’ จึงถือว่าราคา 2,009 พันล้านบาทเศษ เป็น ‘ราคาตลาดในวันโอน’ ทำให้บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ต้องถูกประเมินให้มีกำไรในทางภาษีราว 1,900 ล้านบาท (หักจากราคาที่ขายให้กับนายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกๆ นายชูวิทย์ 111.4 ล้านบาท) และต้องเสียภาษีเงินได้ 380 ล้านบาท หรือ (1,900x20%) ซึ่งไม่สามารถยึดราคาขายให้แก่นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกๆ ของ นายชูวิทย์ 4 คน เพื่อชำระภาษีเพียง 11.4 ล้านบาทเศษได้ รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 20

ซึ่งหากคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ต้องชำระตาม "ข้อเท็จจริง" คือ ภาษีเงินได้ 380 ล้านบาท บวกด้วยเบี้ยปรับ 1 เท่าตัว หรือ 380 ล้านบาท และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (ตั้งแต่ มิถุนายน 2563-กรกฎาคม 2566) หรือราว 205 ล้านบาท รวมภาษีที่นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกทั้ง 4 คนของชูวิทย์ ต้องจ่ายรวมประมาณ 965 ล้านบาท หัก 11.4 ล้านบาทที่ได้ชำระไปแล้ว เท่ากับว่าการโอนที่ดินกรณีดังกล่าวอาจมีการหลบเลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน และทำให้รัฐเสียรายได้เข้าแผ่นดินถึง 954 ล้านบาท รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top