Monday, 6 May 2024
ชุดไทย

‘หมอมิยู’ ทันตแพทย์สาว คว้าสถิติโลก ในงานวิ่ง ‘ลอนดอนมาราธอน’  หลังวิ่งด้วยชุดไทยได้เร็วที่สุด ดัน Soft Power ชูชุดไทยสู่สากล

(23 เม.ย. 66) ทันตแพทย์สาวนักวิ่ง อยากเผยแพร่ Soft Power แฟชั่นไทย สวมชุดไทยเต็มยศวิ่งระยะ 42 กิโลเมตร ประกาศความงามชุดไทยให้โลกรู้ในลอนดอนมาราธอน ใช้เวลา 3 ชั่วโมง 45 นาที คว้าสถิติโลกการวิ่งด้วยชุดไทยได้เร็วที่สุด

ข่าวดีจากประเทศอังกฤษ เมื่อวานนี้ (23 เม.ย. 66) เมื่อ ‘หมอยูมิ’ ทันตแพทย์หญิง ชรินญา กาญจนเสวี คุณหมอนักวิ่งชาวไทย ลงวิ่งในรายการ ‘ลอนดอนมาราธอน’ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 รายการวิ่งเมเจอร์ระดับโลก ในระยะมาราธอน (42.195 กิโลเมตร)

ความพิเศษของการวิ่งในครั้งนี้ อยู่ที่ หมอยูมิ เลือกที่จะแต่งชุดไทยแบบเต็มยศ มีทั้งรัดเกล้า สไบ โจงกระเบน รวมน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม พร้อมทั้งยื่นขอจดสถิติโลก Guinness World Records เป็นนักวิ่ง ‘Fastest Marathon dressed in Thai Traditional Dress’ หรือ นักวิ่งที่แต่งชุดไทยวิ่งมาราธอนได้เร็วที่สุด

ภูมิใจในความเป็นไทย!! ลิซ่า BLACKPINK เผย รู้สึกภูมิใจที่ได้สวมชุดไทย และชฎาไทย ในมิวสิกวิดีโอ LaLisa

เมื่อไม่นานมานี้ ‘ลลิษา มโนบาล’ หรือ ‘ลิซ่า’ นักร้องวง BLACKPINK ขวัญใจคนไทยและทั่วโลก ได้ตอบคำถามพิธีกรที่ว่า “รู้สึกอย่างไรที่ทำให้ชุดไทย ชฎาไทยที่ลิซ่าสวมในมิวสิกวิดีโอ LaLisa ขายดีจนหมดเกลี้ยง?” ซึ่งลิซ่าได้ให้คำตอบว่า…

“มันเป็นความภาคภูมิใจเล็กๆ น้อยๆ ของหนูที่ได้ใส่ชุดไทยใน MV ของเรา แล้วทั่วโลกได้เห็น ภูมิใจค่ะ ภูมิใจจริงๆ และแฮปปี้มากๆ ที่ทุกคนชอบ”

โดยลิซ่าได้กล่าวไว้ในงานแฟนมีต What’s Lisa’s True ID จัดขึ้นที่ True ICON Hall ไอคอนสยาม เมื่อคืนวันที่ 26 พ.ค. 66 ซึ่งมีแฟนคลับมาให้กำลังใจแน่นขนัด รับแจกความสดใสจากลิซ่ากันไปเต็ม ๆ ก่อนที่ลิซ่าจะขึ้นเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ของ BlackPink ที่สนามรัชมังคลา 2 รอบ คือวันนี้และพรุ่งนี้

ลิซ่า BLACKPINK’ นุ่งผ้าซิ่น โพสต์รูปเช็กอินไหว้พระ-เที่ยวอยุธยา กระตุ้น Soft Power พาผ้าไทยโกอินเตอร์ คาด!! ซิ่นไทยเตรียมหมดตลาด

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 66 น.ส.ลิษา มโนบาล หรือ ‘ลิซ่า BLACKPINK’ ทำไอจีแทบแตก โพสต์ภาพสวมชุดไทยไหว้พระและเที่ยวอยุธยากับเพื่อน หลังจบคอนเสิร์ตที่ไทย

กลับมาบ้านเกิดเมืองไทยครั้งนี้ นอกจากจะมาทำงานและแสดงคอนเสิร์ตแล้ว ไอดอลสาวชื่อดังระดับโลก ‘ลลิษา มโนบาล’ หรือ ‘ลิซ่า BLACKPINK’ ก็ได้ใช้ช่วงเวลาอยู่กลับครอบครัวและเพื่อน ๆ

โดยนอกจากจะไปเดินซื้อของที่ปากคลองตลาดในลุคสบาย ๆ แล้ว เจ้าตัวก็ยังมีโอกาสไปเที่ยวและไปไหว้พระวัดดังที่จังหวัดอยุธยา ซึ่ง ‘ลิซ่า’ ได้โพสต์ภาพสวมชุดผ้าไทย เสื้อผ้าฝ้ายสีขาวและผ้าถุงฝ้ายมัดหมี่ย้อมคราม ลงอินสตาแกรมส่วนตัว

พร้อมเช็กอินที่ ‘วัดมหาธาตุ’ วัดในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยารวมไปถึง ‘วัดแม่นางปลื้ม’ ที่อยู่ในอยุธยาด้วยเช่นกัน

งานนี้หลังจากที่ไอดอลสาวโพสต์ภาพเซ็ตนี้ลงอินสตาแกรมนั้น ก็ทำไอจีเกือบแตก มีแฟนๆ เข้ามาคอมเมนต์มากมาย และยังมีแฟน ๆ ที่บอกว่าจะไปเช็กอินตามรอยลิซ่า ทำเอาโดนแซวยกใหญ่ว่าอยุธยาแตกแน่!!

หากย้อนกลับไป ‘ลิซ่า’ แม้จะเป็นหนึ่งในแฟชั่นไอคอนที่แฟนๆ บอกว่าลุคไหนๆ ก็เอาอยู่ แต่ตัวเธอนั้นเคยเลือกสวมชุดไทยในเอ็มวีเพลงโซโล่แรกในชีวิตอย่าง ‘LALISA’ มาแล้ว โดยเธอให้เหตุผลว่า “เป็นความภาคภูมิใจที่ได้ใส่ชุดไทยในเอ็มวีให้ทั่วโลกได้เห็น ภูมิใจจริงๆ แฮปปี้มากๆ ที่ทุกคนชอบ”

งานนี้เชื่อว่าลิซ่าจะกระตุ้น Soft Power ให้เมืองไทยเหมือนหลายๆ ครั้ง ที่ไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไรก็เป็นกระแสฟีเวอร์ไปซะหมด อาทิ ‘ลูกชิ้นยืนกินบุรีรัมย์’ ที่ขายดิบขายดี เพียงแค่เธอให้สัมภาษณ์ว่าชอบทาน ช่วยพลิกสถานการณ์ให้แม่ค้าในช่วงโควิดอีกด้วย หรือ ‘ชุดไทย’ ที่สวมใหญ่ในเอ็มวี ก็สามารถนำวัฒนธรรมไทยสร้างชื่อก้องโลกมาแล้ว
 

‘กระแต อาร์สยาม’ ฉีกคราบสาวแซ่บ!! ทำแฟนคลับขยี้ตารัวๆ หลังเจ้าตัวนุ่งกระโปรงยาว อวดลุคสาวหวานสไตล์แบบไทย

(24 ก.ค. 66) ปกติเราจะเห็นแต่เธอขายสวยขายแซ่บตลอด สำหรับนักร้องสาวเสียงดี ‘กระแต อาร์สยาม’ แต่ล่าสุดทำแฟน ๆ แตกตื่นไม่น้อยเมื่องานนี้สาวกระแตฉีกลุคขายความสวยหวานสไตล์ไทย ๆ บ้าง

เธอมาในชุดผ้าไทยสายเดี่ยวกระโปรงยาวทรงหางปลาที่คลุมมิดถึงตาตุ่ม เพิ่มดีเทลความปั๊วะปังด้วยเลื่อม โดยเจ้าตัวระบุแคปชันว่า “ลุคนี้งามก่อเจ้าาาา? นาน ๆ แม่จะนุ่งกระโปรงยาว”

งานนี้แฟน ๆ ถูกใจกดไลก์สนั่น ต่างคอมเมนต์บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า งามนักงามขนาดดด ,สวยมากครับพี่แต, สวยมากเลยค่าาาา, งามขนาดเลยครับ, งามแต๊ ๆ เจ้า, งดงามมากกกก

‘แพนเค้ก เขมนิจ’ หยิบผ้าไทยมาสวม อวดเอกลักษณ์ชาติ สวยโดดเด่น เป๊ะหัวจรดเท้า เผย ภูมิใจทุกครั้งที่ใส่ผ้าไทย

(13 ส.ค. 66) ด้วยรูปร่างแสนเพอร์เฟกต์… ความสูง 175 ซม. ไม่แปลกใจที่นางเอกสาว ‘แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์’ จะชนะคว้ารางวัล ‘Thai Supermodel 2004’ จนได้มีโอกาสเฉิดฉายโลดแล่นในวงการนานเป็น 10 ปี

นอกจากงานแสดงแล้ว ยังมีงานพิธีกร เดินแบบบรันเวย์ทั้งในไทย และต่างประเทศตลอด และล่าสุด สาวแพนเค้กก็ได้ใส่ชุดสวยๆ ที่ถักทอจากผ้าไทย พร้อมบอกเล่าความภูมิใจว่า…

“ใส่ผ้าไทยให้สนุก ใส่ผ้าไทยให้มีความสุข

เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาแชร์ สิ่งที่รัก เกี่ยวกับผ้าไทยค่ะ และ แม่ก็คือต้นแบบในการแต่งตัวของแพนมาตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ และวันนี้ได้มาที่นี่ @sacit_official มีทุกอย่างของแรงบันดาลใจ และ ร้านมากมายที่ตอบโจทย์ให้เราสวมใส่ผ้าไทยได้อย่างสนุกค่ะ #แพนแพนผ้าไทย”

สวธ. ร่วมกับ สถาบันไทยคดีศึกษา จัดเสวนาพร้อมรับฟังความคิดเห็น การจัดทำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ชุดไทย” เพื่อเตรียมเสนอยูเนสโก เสริมสร้างให้เกิดพลวัตและคุณค่าต่อสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันพุธ ที่ 20 ธันวาคม 2566 เวลา 13.30 น. กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานการประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องในโครงการจัดทำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม "ชุดไทย" เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนต่อองค์การยูเนสโก โดยมี นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธาน ผศ.ดร.เสาวธาร โพธิ์กลัด ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ หัวหน้าคณะทำงาน อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ที่ปรึกษาคณะทำงาน และ อาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ที่ปรึกษาคณะทำงาน ร่วมด้วย สินจัย เปล่งพานิช เข้าร่วมการประชุมเสวนา พร้อมการรับฟังความคิดเห็นในการเตรียมความพร้อมจัดทำข้อมูล ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ชุดไทยเป็นชุดประจำชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกับชาติอื่น ๆ ด้วยการออกแบบและการตัดเย็บที่ประณีตอันเป็นพัฒนามาจากการนุ่งห่มแบบไทย สร้างสรรค์ขึ้นโดยใช้ผ้าทอที่เป็นงานฝีมือของช่างไทยในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว สำหรับสุภาพสตรีมีแบบหลัก ๆ จำนวน ๘ แบบ หรือเป็นที่รู้จักในนามว่า “ชุดไทยพระราชนิยม” โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงริเริ่มให้มีการศึกษาค้นคว้าเครื่องแต่งกายสตรีไทยสมัยต่าง ๆ และออกแบบเพื่อทรงใช้เป็นฉลองพระองค์ในโอกาสที่โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรปอย่างเป็นทางการ เมื่อ ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา จึงนับว่าเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของ “ชุดไทยพระราชนิยม” ที่มีแพทเทิร์นในการตัดเย็บแบบร่วมสมัย ส่วนของสุภาพบุรุษ มี ๓ รูปแบบ ซึ่งคนไทยทุกภูมิภาคมักสวมใส่ชุดไทยในวาระโอกาสต่าง ๆ และเมื่อมีโอกาสสำคัญในชีวิต 

อธิบดีสวธ. กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันการสวมใส่ชุดไทยถือเป็นแนวปฏิบัติทางสังคมที่แสดงออกทางวัฒนธรรมร่วมของชาวไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชนชาวไทย การเลือกใช้ชุดไทยแบบต่างๆ ให้เหมาะสมแก่โอกาส ถือเป็นความเคารพต่อแนวปฏิบัติทางสังคม และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ส่วนการเลือกใช้ผ้า และการตัดเย็บ ถือเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ช่าง และช่วยธำรงไว้ซึ่งงานช่างฝีมือดั้งเดิมด้านการทอผ้าพื้นบ้านของภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศ เสริมสร้างให้เกิดพลวัตในการสร้างสรรค์สิ่งทอพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ชุดไทย จึงมีคุณค่าต่อสังคมในมิติบทบาททางวัฒนธรรม และมิติการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวธาร โพธิ์กลัด  ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา กล่าวว่า สถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดทำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม "ชุดไทย"  เพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโก ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนั้น คณะทำงานจึงดำเนินการศึกษา รวบรวมข้อมูลจากเอกสารชั้นต้น ข้อมูลการสวมใส่ชุดไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน การสัมภาษณ์ผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแต่ละแขนงที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ประกอบการชุดไทย โดยมุ่งหวังที่จะนำเสนอให้เห็นถึงคุณค่า “ชุดไทย” ทั้งมิติบทบาททางวัฒนธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมให้เกิดกลุ่มอาชีพและรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 

ดร.เสาวธาร กล่าวต่อว่า การจัดประชุมในวันนี้ จะเป็นการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และรูปแบบการเสนอขึ้นทะเบียน ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อองค์การยูเนสโก โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยจะขอรับฟังข้อเสนอแนะอย่างรอบด้านต่อปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการสงวนรักษา และปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของ “ชุดไทย” ทั้งมิติบทบาททางวัฒนธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อจากนี้ คณะทำงานจะได้รายงานข้อมูลต่อกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พิจารณาอนุมัติข้อมูล แล้วจึงเสนอขอมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วย การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ต่อไป

ภายในงานดังกล่าว มีการเสวนาเรื่อง “วิวัฒนาการเครื่องแต่งกายไทยถึงชุดไทยพระราชนิยม” โดยมีอาจารย์ เผ่าทอง ทองเจือ ที่ปรึกษาคณะทำงาน, อาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ที่ปรึกษาคณะทำงาน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ หัวหน้าคณะทำงาน ได้ให้ความรู้ถึงประวัติศาสตร์ หลักฐานการใช้ชุดไทยเริ่มตั้งแต่สมัยทวารวดี กรุงศรีอยุธยา วิวัฒนาการต่อมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ และเข้าสู่ยุครุ่งเรือง ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพัฒนาและสร้างมาตรฐานให้ชุดไทยได้รับความนิยม และมีการจำแนกการใช้งานตามวาระ โอกาสต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบแบบแผน และหลังจากจบการเสวนา มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น เตรียมความพร้อมจัดทำข้อมูล “ชุดไทย” เพื่อเตรียมเสนอยูเนสโก โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ หัวหน้าคณะทำงาน ในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังนี้ ประกอบด้วย ผู้ถือครองหลักคือคนไทยในทุกภูมิภาคของประเทศและในต่างประเทศ, กลุ่มช่างตัดเย็บชุดไทย, กลุ่มช่างทอผ้าพื้นบ้าน, การสืบทอดความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องด้านการผลิตวัตถุดิบผ้าทอพื้นบ้าน, หน้าที่ทางสังคม และความหมายทางวัฒนธรรมต่อชุมชน และเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของยูเนสโก ในการรวบรวมข้อมูลของมรดกภูมิปัญญาฯ ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม จากชุมชนผู้ถือครองอย่างกว้างขวาง อีกด้วย 

‘ครม.’ ไฟเขียว!! ดัน ‘ชุดไทย-มวยไทย’ เข้าคิวยูเนสโก ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

(26 มี.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม รมว.วธ. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงวัฒนธรรมในการเสนอรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย 2 รายการ คือ ชุดไทย และ มวยไทย

โดยให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นำเสนอเอกสารข้อมูลประกอบการพิจารณา ส่งให้ทางสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ของประเทศไทย (Thai National Commission for UNESCO) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งเอกสารให้ยูเนสโก ให้ทันภายในวันที่ 31 มี.ค.67 นี้

เพื่อเข้าสู่ลำดับการพิจารณาต่อจากรายการ ‘ต้มยำกุ้ง’ และ ‘เคบาย่า’ (มรดกร่วม 5 ประเทศ ไทย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) ที่ยูเนสโก บรรจุเข้าวาระที่ประชุมของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ครั้งที่ 19 ระหว่าง 2-7 ธ.ค.67 ณ สาธารณรัฐปารากวัย และต่อด้วยรายการ ‘ผ้าขาวม้า’ ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโกไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2566 แล้ว

นายเสริมศักดิ์ เปิดเผยถึง ความสำคัญและสาระของมรดกฯ ทั้ง 2 รายการ ดังนี้ รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรม ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ (Chud Thai : The Knowledge, Craftsmanship and Practices of The thai National Costume) ชุดไทยเป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานาน พบหลักฐานมีการนุ่ง และการห่ม มากว่า 1,400 ปี ตั้งแต่สมัยทวารวดี อยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์

ภาพการแต่งกายจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าให้คนรุ่นหลัง ได้รับรู้และสืบทอด ในปีพุทธศักราช 2503 ชุดไทยได้รับการพัฒนารูปแบบครั้งสำคัญ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ศึกษาวิวัฒนาการรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทย และสร้างสรรค์ชุดไทยขึ้น 8 แบบ

ส่วนของสุภาพบุรุษ มี 3 แบบ คนไทยทุกภูมิภาคมักสวมใส่ชุดไทยในวาระโอกาสต่าง ๆ และเมื่อมีโอกาสสำคัญในชีวิต ทั้งงานรัฐพิธี งานพิธีการทางศาสนา ถือเป็นแนวปฏิบัติทางสังคมและยังเป็นกระบวนการผลิตของช่างฝีมือไทยทั้งในเรื่องของการทอผ้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบ และงานช่างตัดเย็บ ตลอดจนการปักประดับลวดลายบนผืนผ้าอีกด้วย

รมว.วธ. กล่าวต่อว่า ในส่วน ‘มวยไทย’ (Muay Thai : Thai Traditional Boxing) เป็นศิลปะการต่อสู้ของไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ปรากฏหลักฐานใน ‘จดหมายเหตุว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม’ ซึ่งบันทึก โดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère)

มวยไทยเป็นวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าในระยะประชิดตัว เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ก่อกำเนิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ สัตว์ป่า มนุษย์ และภัยจากสงคราม การฝึกฝนวิชามวยไทย มีตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน จนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไว้ใช้ในการป้องกันตนเองและปกป้องประเทศ เอกลักษณ์โดดเด่นของมวยไทย คือการใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายในการป้องกันตัว ซึ่งครูบาอาจารย์ได้คิดค้นกลวิธีการฝึกจากการเลียนแบบท่าทางของสัตว์ การสังเกตธรรมชาติ และวรรณคดี

รวมถึงวิถีชีวิตตามบริบทท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาคประยุกต์เป็นท่าทางมวยต่าง ๆ และยังมีพิธีกรรมของการมอบตัวเป็นศิษย์ การขึ้นครู และการครอบครู การแสดงความกตัญญูต่อครูอาจารย์และผู้มีพระคุณ เห็นได้จากการรำไหว้ครูมวยไทยก่อนการชกทุกครั้ง ปัจจุบัน มวยไทย เป็นกีฬาประจำชาติ เป็นกีฬาอาชีพ มีการจัดการเรียนการสอนมวยไทยในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มวยไทยจึงถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งรายการ ชุดไทย และ มวยไทย นี้ เป็นการนำเสนอยูเนสโก เพื่อขอขึ้นทะเบียนในประเภทบัญชีรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)

ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก 5 เกณฑ์ ประกอบด้วย 

1.รายการที่นำเสนอนี้สอดคล้องกับลักษณะของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามที่นิยามไว้ในมาตรา 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003

2.การขึ้นทะเบียนรายการที่นำเสนอนี้จะส่งเสริมความประจักษ์ และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในระดับโลก และแสดงถึงความสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ 

3.มาตรการสงวนรักษาที่เสนอมานั้น ผ่านการพิจารณามาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้มีการป้องกันและส่งเสริม และมีการกำหนดมาตรการสงวนรักษาวัฒนธรรม

4.รายการที่นำเสนอนี้เกิดจากชุมชน กลุ่มบุคคล หรือปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และ 5.เป็นรายการที่ปรากฏและดำรงอยู่ในดินแดนของรัฐภาคีสมาชิกที่นำเสนอ โดยบรรจุอยู่แล้วในบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของรัฐภาคีสมาชิกตามที่นิยามไว้ในอนุสัญญา มาตรา 11 และ 12

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดองค์รู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทั้งระดับจังหวัด ระดับชาติ และมนุษยชาติ ได้ในเว็บไซต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.culture.go.th หัวข้อ องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญาฯ ICH และติดตามข่าวสารต่าง ๆ ได้ทางเฟซบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Line @วัฒนธรรม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top