Tuesday, 14 May 2024
ชุดลูกเสือ

‘หม่อนปลื้ม’ ชี้ ยกเลิกเครื่องแบบลูกเสือ อาจทำเด็กขาดวินัย ลั่น!! อย่าใช้ความเหลื่อมล้ำเป็นข้ออ้างเพื่อยกเลิกการเรียนลูกเสือ

เมื่อไม่นานมานี้ หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ ‘คุณปลื้ม’ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น เรื่องการเครื่องแบบ ในความคิดของก้าวไกล ไว้ว่า ตนเข้าใจดีในเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการถูกสังคมในปัจจุบันกดดันเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ที่เกิดจากเครื่องแบบนักเรียนลูกเสือ ที่คนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้ายกขึ้นมาอ้างเพื่อให้มีการพิจารณายกเลิกการใส่เครื่องแบบลูกเสือ

โดยคุณปลื้มได้กล่าวว่า ตนไม่มีปัญหา และเข้าใจ หากมีคนต้องการให้มีการยกเลิกการใส่เครื่องแบบลูกเสือ แต่ด้วยความที่กระทรวงศึกษาธิการถูกกดดัน และสั่งการไปถึงทุกโรงเรียน ให้ทำหนังสือชี้แจ้งผู้ปกครอง เรื่องการอนุญาตให้นักเรียนไม่ต้องสวมเครื่องแบบลูกเสือ โดยให้สวมแค่ผ้าพันคอลูกเสือเพียงเท่านั้น แบบนี้เมื่อถึงเวลาอาจทำให้เกิดความสับสน นักเรียนบางส่วนอาจใส่เครื่องแบบมา อีกส่วนอาจไม่ใส่มา แบบนี้จะเวิร์กหรือไม่?

ถ้าคุณเคยเป็นทหาร คุณจะรู้ว่าส่วนสำคัญในการฝึกวินัยของทหาร มันเริ่มตั้งแต่การใส่เครื่องแบบ เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญ เป็นการฝึกวินัยในการดูแลเครื่องแบบ ตั้งแต่การซักรีด การติดดาว ติดยศให้ถูกต้อง การขัดรองเท้าให้เงา ทั้งหมดนี้เป็นการฝึกวินัย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นลูกเสือที่ดี ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องจิตอาสาเพียงเท่านั้น แต่ยังสอนในเรื่องของการทำอาหาร การเดินป่า การผูกเชือก และทักษะการเอาตัวรอด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนทั้งสิ้น

ดังนั้น หากจะมีการรณรงค์ให้ยกเลิกการสวมเครื่องแบบลูกเสือ ในสถาบันการศึกษาของภาครัฐฯ และเอกชน อย่างที่มีการบังคับกันอยู่ในขณะนี้ ผมมองว่า หากจะให้มีการเรียนลูกเสืออยู่ ก็ควรจะต้องมีการสวมเครื่องแบบลูกเสือ

คุณปลื้มยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในสมัยก่อนที่มีการเรียนและแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ก็ไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำ เพราะฉะนั้น หากจะอ้างเรื่องของความยากจนและภาระทางการเงิน แล้วทำไมสมัยก่อนถึงแต่งเครื่องแบบลูกเสือกันได้? แล้วถ้าหากมีการประกาศว่าไม่ต้องมีการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ แต่เมื่อถึงวันสำคัญที่ต้องแต่งเครื่องแบบจะทำอย่างไร?

“หากเราต้องการอยู่ในสังคมที่ไร้การฝึกวินัยในเรื่องการแต่งกาย นี่นับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการถกเถียงกันในแง่ของนโยบายต่อไป และผมคิดว่า ไม่ควรยกเรื่องของความเหลื่อมล้ำ และความยากจนมาอ้างเพื่อเป็นการต่อยอดวาระในการยกเลิกการเรียนลูกเสือแบบถาวร”

โซเชียลแชร์ภาพเด็กนักเรียนตัวน้อยในชุดลูกเสือ พร้อมบอก “เห็นเด็กใส่แล้วนึกถึงพี่คิงเลย”

วันที่ (13 มิ.ย. 66) ได้มีการแชร์ภาพของเด็กชายวสุพล วงศ์จีนา โรงเรียนพุทธ​ศาสน์​โกศล วัดวังยาว อำเภอกุยบุรี​ จังหวัดประจวบคีรี​ขันธ์ ​ในชุดเครื่องแบบลูกเสือ พร้อมกล่าวว่า “เห็นเด็กใส่แล้วนึกถึงพี่คิงเลย” เนื่องจากก่อนหน้านี้ ได้เกิดกรณีการถกเถียงกันสนั่นโซเชียล หลัง ‘คิง ก่อนบ่าย’ ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ ‘ณภัทร คิงก่อนบ่าย ชุ่มจิตตรี’ แสดงความไม่เห็นด้วยกับกระแสการยกเลิกชุดลูกเสือ เพราะลูกเสือตรีบุญยิ่ง มีพระคุณต่อบ้านเกิดของตน พร้อมฝากคนรุ่นใหม่ให้ลองคิดทบทวนดูให้ดี ก่อนจะเปลี่ยนแปลงอะไร โดยระบุว่า…

“ครอบครัวผมไม่สามารถสนับสนุนให้มีการยกเลิกชุดลูกเสือได้จริง ๆ เพราะลูกเสือตรีบุญยิ่ง มีพระคุณต่อบ้านเกิดของผม

ผมเชื่อว่าคนอำเภอเมืองประจวบยังจำลูกเสือตรีบุญยิ่งได้ว่าเขาคือใคร และสร้างคุณประโยชน์​ให้กับอำเภอเมืองประจวบไว้อย่างไรหากใครยังไม่รู้​ ก็ลองไปศึกษา​ดู แล้วเราจะรู้คำตอบเอง และหากเข้ามาในเมืองประจวบคุณก็จะได้คำตอบเองว่าชื่อถนนแต่ละเส้น มีที่มาที่ไปอย่างไร พิทักษ์​ชาติ สละชีพ สู้ศึก

อย่างน้อยคนรุ่นใหม่​ก็ควรศึกษาไว้บ้าง เราจะได้มีเรื่องเล่าให้เพื่อนๆ หรือคนรุ่นหลังได้ฟัง สิ่งเหล่านี้เรารู้เอาไว้ ก็ไม่ได้ทำให้เราเสียหายอะไร ดีกว่าเวลามีใครถามแล้วเราตอบอะไรไม่ได้เลย โพสต์​นี้เพื่อขอบคุณ​และเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวของลูกเสือตรีบุญยิ่ง ศิริเสถียรครับ #ลูกเสือ #ประจวบวิทยาลัย #วีรกรรม”

จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเน็ต ที่ต่างพากันเข้ามาแสดงความคิดเห็นในหลากหลายแง่มุม ถึงประเด็นการยกเลิกชุดลูกเสือ มุมหนึ่งก็มองว่าเป็นการลดภาระของพ่อแม่ผู้ปกครองในเรื่องค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องแบบชุดลูกเสือ ส่วนอีกแง่มุมหนึ่งก็มองว่าจะเป็นการด้อยค่าความสำคัญของชุดลูกเสือ ที่มีมาอย่างยาวนานของประเทศไทย และยังมองว่า การแต่งกายตามระเบียบการเรียนการสอนนั้น มีความจำเป็นอย่างมากในการฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัย เพื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต
 

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา ‘กิจการลูกเสือไทย’ .

วันนี้ เมื่อ 112 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงสถาปนากิจการลูกเสือไทยขึ้น จึงยึดถือเอาวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น ‘วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ.
ลูกเสือได้กำเนิดครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 โดยท่านลอร์ดบาเดน เพาเวลล์ กิจการลูกเสือในยุคแรกมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมคนไว้เป็นทหาร หลายประเทศที่ไม่มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร จึงได้จัดให้มีลูกเสืออย่างประเทศอังกฤษบ้าง หลังจากนั้นไม่นานกิจการลูกเสือก็ได้แพร่หลายเข้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา

ต่อมาใน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้น เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนได้เข้ารับการอบรม โดยมีจุดประสงค์ที่จะมุ่งอบรมจิตใจให้คนไทยรู้จักรักชาติมีมนุษยธรรม มีความเสียสละ สามัคคี และมีความกตัญญู

เมื่อกิจการของเสือป่าเจริญก้าวหน้ามั่นคงดีแล้วพระองค์ จึงทรงพระราชดำริว่า ควรจะได้มีการอบรมของลูกเสือด้วย ดังนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จึงมีพระบรมราชโองการจัดตั้งลูกเสือขึ้นในประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา จากนั้นนานาชาติในยุโรปจึงจัดตั้งกองลูกเสือของตนขึ้น ลูกเสือกลายเป็นองค์การสากลและมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก เป็นสื่อผูกมิตรไมตรีกันโดยใช้กฎของลูกเสือ 10 ประการ ผูกสัมพันธ์กันไม่เว้นเชื้อชาติใด ศาสนาใดทั้งสิ้น ถือว่าลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกันหมด

แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสวรรคตแล้วก็ตาม พระราชอนุสรณ์กิจการลูกเสือของพระองค์ท่านได้พัฒนารุ่งเรืองมาตามลำดับจน โดยปัจุบันกลายเป็นกิจการที่สร้างคุณประโยชน์สร้างชื่อเสียงของประเทศให้เป็นที่รู้จักของนานาประเทศทั่วโลก และเพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ท่าน ทางราชการจึงได้กำหนดวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปีเป็น ‘วันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ’ หรือ ‘วันลูกเสือ’
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top