Tuesday, 1 July 2025
ชำระเงินข้ามพรมแดน

'แบงก์ชาติ' เปิดให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดน 'ไทย-ฮ่องกง' ผ่าน QR เอื้อประโยชน์ผู้ที่เดินทางระหว่าง 2 ประเทศกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี

(4 ธ.ค.66) ธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดตัวการให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR ระหว่างฮ่องกงและประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและประเทศไทยได้รับบริการชำระเงินที่รวดเร็ว ปลอดภัย และเข้าถึงได้ง่าย

บริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR ดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและประเทศไทยสามารถทำรายการชำระเงินกับร้านค้าได้โดยง่าย โดยผู้ใช้บริการที่มาจากฮ่องกงสามารถใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสแกน QR มาตรฐานของไทย (Thai QR code) และผู้ใช้บริการที่มาจากไทยสามารถใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสแกน QR ของฮ่องกง (Hong Kong FPS QR code) ที่ร้านค้าได้แสดงไว้ ทำให้ผู้ใช้บริการมีช่องทางชำระเงินที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ร้านค้าจะได้รับเงินค่าสินค้าในทันที ทั้งยังเป็นการสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของฮ่องกงและประเทศไทยด้วย

นาย Eddie Yue ผู้ว่าการธนาคารกลางฮ่องกง กล่าวว่า ธนาคารกลางฮ่องกงมีความยินดีอย่างยิ่งต่อความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในการพัฒนาช่องทางการชำระเงินข้ามพรมแดนรายย่อย ที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ โดยการเปิดตัวบริการในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของระบบ Fast Payment System ในการขยายบริการชำระเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาค

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ความร่วมมือกับฮ่องกงในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาด้านดิจิทัลของไทย และสะท้อนความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างการชำระเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาค ให้มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและไทยจำนวนประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี และต่อร้านค้าที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม

โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งการผลักดันจากธนาคารกลาง คือ HKMA และ ธปท. ผู้ให้บริการระบบการชำระเงิน ได้แก่ Hong Kong Interbank Clearing Limited (HKICL) และ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ (NITMX) ผู้ให้บริการชำระดุลระหว่างประเทศ ได้แก่ HSBC Hong Kong และธนาคารกรุงเทพ รวมทั้งผู้ให้บริการชำระเงินหลายรายที่เข้าร่วมให้บริการแอปพลิเคชัน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง และ Non-bank 2 แห่งของฮ่องกง และธนาคารพาณิชย์ 3 แห่งของไทย และอีกหลายแห่งของทั้งสองฝ่ายที่ร่วมให้บริการ QR แก่ร้านค้า โดยมีรายชื่อตามเอกสารแนบ

ธนาคารกลางทั้ง 2 แห่งเชื่อว่าการเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนครั้งนี้ ให้ทางเลือกการชำระเงินที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม และจะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการเงินในภูมิภาคมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

ธนาคารกลางจีน ทดสอบใช้ ‘หยวนดิจิทัล’ ชำระเงินข้ามพรมแดน เผย!! ใช้บล็อกเชนทำธุรกรรม ประหยัด ‘เวลา - ต้นทุน’

(14 ต.ค. 67) ธนาคารกลาง ‘จีน’ (PBOC) เผยว่าได้เริ่มทดลองการชำระเงินข้ามพรมแดนโดยใช้ ‘หยวนดิจิทัล’ สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ร่วมกับพันธมิตรอย่าง ซาอุดีอาระเบีย ฮ่องกง ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมไปถึงองค์กรระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ 

PBOC เผยว่าปัจจุบัน CBDC ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการบันทึกธุรกรรม ซึ่งทำให้สามารถชำระเงินข้ามพรมแดนได้ภายในไม่กี่วินาที และลดต้นทุนได้มากถึง 50% 

ปัจจุบัน การโอนเงินระหว่างประเทศส่วนใหญ่มักใช้ระบบ SWIFT ซึ่งต้องผ่านธนาคารตัวกลาง ทำให้การทำธุรกรรมใช้เวลานานหลายวันถึงหนึ่งสัปดาห์ ทั้งนี้การใช้ CBDC จะช่วยเสริมการทำธุรกรรมที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์ และลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ของจีน

ความก้าวหน้าของจีนในด้านสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) กำลังกระตุ้นให้ประเทศชั้นนำอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรปเร่งพัฒนาเทคโนโลยีนี้เช่นกัน โดยมีการประกาศร่วมกันในเดือนเมษายน เพื่อทดลองใช้ระบบชำระเงิน CBDC ร่วมกับภาคเอกชน 

นาโอกิ สึกิโอกะ จาก Mizuho Research & Technologies มองว่า จีนมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในการกำหนดมาตรฐาน และเทคโนโลยีใหม่สำหรับธุรกรรมในอนาคต

PBOC เริ่มศึกษา และพัฒนาระบบเงินหยวนดิจิทัลตั้งแต่ปี 2557 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อใช้ในการชำระเงินในชีวิตประจำวัน เช่น การซื้อของที่ร้านค้าหรือร้านอาหารผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ

โครงการนำร่องครั้งแรกเริ่มต้นที่เมืองเซินเจิ้นในปี 2563 และขยายไปยังหลายพื้นที่ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีการนำเงินหยวนดิจิทัลไปใช้จ่ายในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า การชำระค่าอาหาร หรือแม้แต่การจ่ายเงินเดือน และภาษี

จากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ธุรกรรมเงินหยวนดิจิทัลมีมูลค่าสูงถึง 7 ล้านล้านหยวนใน  17 จังหวัด สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้า และศักยภาพของสกุลเงินดิจิทัลชนิดนี้ในการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของจีน

หนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการนำหยวนดิจิทัลมาใช้งานอย่างแพร่หลายคือ ผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมากยังไม่เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างหยวนดิจิทัลกับแอปพลิเคชันชำระเงินยอดนิยมอย่าง WeChat Pay และ Alipay ที่ใช้งานอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าธุรกรรมการชำระเงินในจีนปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นแบบไร้เงินสดอยู่แล้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top