Thursday, 16 May 2024
ชนินทร์_รุ่งธนเกียรติ

‘ชนินทร์’ ซัด ‘บิ๊กตู่’ ยิ่งอยู่ยิ่งเจ๊ง ยิ่งแจกยิ่งจน!! หวั่นชาติล่ม จมอยู่ 8 ปี สร้างหนี้ 10 ล้านล้านบาท

วันที่ 10 ก.พ. 65 นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนฯ ครั้งที่ 1/2565 ร่วมกับก๊วน 3 ป. ว่า การประชุมเพื่อแก้ปัญหาความยากจน เกิดขึ้นในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ นับครั้งไม่ถ้วน แต่เหตุใดตัวเลขผู้ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

หากดูจากตัวเลขผู้ได้รับสิทธิ์ในปี 2560 อยู่ ที่ 7.7 ล้านคน เพิ่มจนมาสูงสุดที่ 14.6 ล้านคนในปี 2562 หรือคิดเป็น 22% ของคนทั้งประเทศ และหากพลเอกประยุทธ์ มีการขยายสิทธิ์ใหม่ในปี 2565 ภายหลังปรับกฎเกณฑ์ตามมติ ครม. ที่ตั้งเป้าผู้เข้าร่วม 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในทันที ในขณะที่ตัวเลขคนจนไม่ได้ลดลง ในเวลาเดียวกันพลเอกประยุทธ์ ก็เดินหน้ากู้จนหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 9.64 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 10 ล้านล้านบาท หรือ 59.57% ของจีดีพี สะท้อนให้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์ บริหารประเทศแบบกู้แหลก แต่สร้างผลขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้น้อย เพราะตัวเลขหนี้สวนทางกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคพลเอกประยุทธ์ ที่โตเฉลี่ยเพียง 1.66% นับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศภายหลังจากทำการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ขัดแย้งกับผลงานโดดเด่นในเรื่องของการกู้ และยังใช้งบประมาณไปกับโครงการประชานิยมรวมเกือบ 2 ล้านล้านบาท อาทิ

1.) งบประมาณที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ใช้ในโครงการประชานิยมในช่วงปี 2557-2561 ซึ่งมี 19 โครงการ ใช้งบประมาณรวม 8.78 แสนล้านบาท
2.) โครงการประกันราคาสินค้าเกษตร ตั้งแต่ปี 2562/63 - 2564/65 ใช้งบประมาณ 2.61 แสนล้านบาท
3.) โครงการต่าง ๆ ที่ออกมาในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมมากกว่า 6 โครงการ ในปี 2563-2564 ทั้งคนละครึ่ง 4 เฟส, เราชนะ, ม.33 เรารักกัน, ยิ่งใช้ยิ่งได้, บัตรคนจน, เราเที่ยวด้วยกัน ใช้งบประมาณรวมทั้งหมดรวมกว่า 1.15 ล้านล้านบาท จากกรอบวงเงินที่กู้ได้ 1.5 ล้านล้านบาท

'ชนินทร์' จวก 'ประยุทธ์' ขยันสร้าง 'หนี้จน' หลังเล็งกู้เงินค้ำหนี้ กฟผ. หวั่นคนไทยจมกองหนี้

นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงินเพิ่ม 85,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ทั้งก้อน เพื่อตอบสนองนโยบายการบริหารภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ของรัฐบาลว่า...

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งบริหารประเทศด้วยการกู้เงินมาใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเพียงเท่านั้นหรือ หากมีการอนุมัติการกู้เงินในครั้งนี้จริง จะนับเป็นการอนุมัติกรอบวงเงินกู้ของ กฟผ.ในปีนี้รวมสูงถึง 112,000 ล้านบาท เนื่องจากได้มีการอนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว 25,000 ล้านบาทในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ในอดีตรัฐบาลต่างๆ ที่มีศักยภาพ จะใช้กลไกการกู้เงินนอกงบประมาณมาเพื่อการลงทุนขยายเศรษฐกิจ สร้างเงิน สร้างรายได้ให้กับประชาชนเท่านั้น เรียกว่า 'หนี้รวย' 

แต่ที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์พิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นรัฐบาลที่ถนัดกู้มาแจก ขยันสร้างแต่ 'หนี้จน' เพื่อมาชดเชยความล้มเหลวในการบริหารงานของตนเองมากกว่า จึงขอตั้งคำถามไปยังรัฐบาลได้ตอบกับประชาชนว่า การอนุมัติการกู้ให้ กฟผ.ในครั้งนี้ มีความจำเป็นเร่งด่วนในตอนนี้จริงหรือไม่ และต้องกู้ไปเพื่อเหตุใดทั้งที่ยังไม่มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในตอนนี้ ใครจะได้ประโยชน์จากการกู้นี้ หรือเป็นเพียงพฤติการณ์ที่ทำตามความเคยชินไปแล้ว

รัฐบาลเร่งจัดสรรที่ดินทำกินแก่ ปชช. 50 ล้านไร่ ชงใช้ ‘โฉนดดิจิทัล’ แทนโฉนดที่ดินแบบกระดาษ

(1 พ.ย. 66) นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 3/2566 ว่า คณะกรรมการโดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินของประเทศ เพื่อให้นโยบายในการดำเนินงานโดยยึดหลักว่า ‘ประชาชนต้องมีที่ดินและที่ทำกิน อย่างพอเพียง’ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจัดสรรที่ดินทำกิน 50 ล้านไร่ ตามคำแถลงของนายกรัฐมนตรีที่ได้กล่าวต่อรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจะครอบคลุมทั้งพื้นที่ในเขต ส.ป.ก. และพื้นที่ป่าไม้ ที่เป็นภารกิจที่ต้องบูรณาการหลายกระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น โดยให้ศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน ตลอดจนแนวทางในการแก้ไขข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นข้อจำกัดอยู่ เพื่อให้สามารถจัดสรรที่ดินทำกินให้กับพี่น้องประชาชนได้ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้

“การเร่งรัดให้ประชาชนมีสิทธิ์มีที่ดินทำกิน มิใช่เพียงการให้อาชีพ ให้โอกาสในการสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนเท่านั้น แต่รัฐบาลยังมุ่งหวังให้สามารถใช้เอกสารสิทธิ์หรือหนังสืออนุญาตที่รัฐออกให้เหล่านี้ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการเข้าถึงแหล่งทุนให้ได้จริง เพื่อต่อยอดเป็นทุนในการประกอบอาชีพได้ด้วย” นายชนินทร์กล่าว

นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังมีข้อสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ ศึกษาแนวทางในการทำ ‘โฉนดดิจิทัล’ เชื่อมต่อกับระบบแผนที่ One-Map เพื่อให้ใช้ฐานข้อมูลที่ดินออนไลน์กลาง แทนการแนบแผนที่แนบท้ายในรูปแบบกระดาษของหน่วยงานต่าง ๆ โดยประสานการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมธีออส 2 (THEOS-2) ที่จะทำให้การทำงานของภาครัฐมีความแม่นยำ รวดเร็ว ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และภาคประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกมากขึ้น ตามหลักคิดของนโยบายรัฐบาลดิจิทัล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top