Tuesday, 2 July 2024
ชนะทุจริต

‘ก้าวไกล’ เปิดนโยบายปฏิรูปราชการทั้งระบบ ต้องชนะทุจริตด้วยระบบที่โปร่งใส ไม่ใช่พึ่งคนดี

(9 ธ.ค. 65) ที่อาคารอนาคตใหม่ ชั้น 7 พรรคก้าวไกลแถลงนโยบาย ‘ราชการไทยก้าวหน้า’ ครอบคลุมทั้ง นโยบายต้านโกง เพิ่มประสิทธิภาพราชการ และ ปฏิรูปตำรวจ ซึ่งนับเป็นชุดนโยบายที่ 4 จากทั้งหมด 9 ชุด ต่อจาก ‘การเมืองไทยก้าวหน้า - สวัสดิการไทยก้าวหน้า - ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า’

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า วันนี้ตรงกับวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล พรรคก้าวไกลจึงถือโอกาสเปิดนโยบาย ‘ราชการไทยก้าวหน้า’ ที่มีหัวใจสำคัญคือ ‘ราชการเพื่อราษฎร’ ซึ่งรวมถึงนโยบายต่อต้านการทุจริตทั้งระบบ โดยพรรคก้าวไกลไม่ได้มองปัญหาคอร์รัปชันอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะประสิทธิภาพของระบบราชการ และการปฏิรูปตำรวจ เพราะหากบริการภาครัฐมีความล่าช้าและเต็มไปด้วยกฎระเบียบ-ใบอนุญาต จะเป็นการเปิดช่องให้มีการเรียกสินบนจากประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อแลกมาซึ่งความสะดวก รวมถึงต้องปฏิรูปตำรวจ เพื่อขจัดระบบตั๋วและระบบอุปถัมภ์ที่ทำให้ตำรวจต้องมารีดไถประชาชน เอาเงินส่งนาย

พิธา กล่าวว่า ในเรื่องความโปร่งใส ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทย แย่ลงอย่างต่อเนื่องตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ตกลงจากอันดับที่ 85 มาอยู่ที่ 110 ซึ่งทำให้ต้นทุนชีวิตของคนไทยจำนวนมาก ตั้งแต่เกิดจนแก่ วนเวียนอยู่กับการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น ในวัยเด็ก พ่อแม่อาจต้องจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะเพื่อให้ลูกได้เข้าโรงเรียน ในวัยทำงาน จะเปิดร้านอาหารก็ต้องขอใบอนุญาตหลายสิบใบ งบที่จะนำมาสร้างสวัสดิการก็รั่วไหลไปกับการทุจริตงบประมาณ ดังนั้น ขอยืนยันว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องใหญ่

พิธา กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ต้องไม่ใช่การหวังพึ่งแค่การปลูกฝังจิตสำนึก-จริยธรรมในการต่อต้านการโกง หรือ การมอบศรัทธาทั้งหมดไว้ให้กับ ‘คนดี’ มาปกครองบ้านเมืองเหมือนที่ผ่านมา แต่ต้องเป็นการทำให้รัฐโปร่งใสกว่าที่เคยเป็นมา ทุกคนตรวจสอบทุกคนได้ด้วยอาวุธใหม่ ๆ ที่ประเทศไม่เคยมี เพื่อวางระบบที่ดีในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ตนจะไม่ยอมให้คนไทยถูกโกง โดยสิ่งที่ทำได้ทันทีในฐานะนายกรัฐมนตรี คือการเปิดเผยข้อมูลรัฐทันที เปิดเผยงบประมาณทุกบาทให้ละเอียดในรูปแบบที่วิเคราะห์ต่อได้ (machine readable) รวมถึงเปิดข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ทุกคนถูกตรวจสอบโดยทั้งประชาชนและระบบจับโกงอัจฉริยะที่จะแจ้งเตือนเมื่อมีโครงการส่อทุจริต ‘เราเชื่อว่าประชาชนพร้อมตรวจสอบเรา และพวกเรานักการเมือง-ข้าราชการ ก็ต้องพร้อมถูกตรวจสอบเช่นกัน’

นอกจากนั้น รัฐบาลก้าวไกลจะนำเสนออีก 2 โครงการต้านโกง คือ…

(1) โครงการ ‘คนโกงวงแตก’ หรือ leniency programme เพื่อจูงใจให้คนที่คิดจะโกง เกิดความระแวงกันเองจนไม่มีใครกล้าโกง เพราะมีการออกกฎผ่อนผันโทษ ให้ใครที่มอบตัวและแฉกันเองก่อน
(2) โครงการ ‘แฉโกง ปลอดภัย ได้เงิน’ เพื่อสร้างสังคมต้านโกง ด้วยกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยและความก้าวหน้าทางอาชีพให้กับเจ้าหน้าที่ที่แฉการทุจริตในหน่วยงาน (whistleblower protection) รวมถึงการเพิ่มเงินรางวัลให้ประชาชนที่แจ้งเบาะแส

สำหรับเรื่องประสิทธิภาพภาครัฐ ข้อมูลของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่าตลอด 8 ปี ในช่วงที่ภาครัฐมีขนาดใหญ่ขึ้น ประสิทธิภาพภาครัฐกลับลดลง บริการภาครัฐหลายส่วนล่าช้า-ยุ่งยาก ทำให้ภาระตกอยู่กับประชาชน ดังนั้น ถ้าก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลและพิธาเป็นนายกฯ เรื่องแรกที่จะทำคือการทำให้บริการภาครัฐอย่างน้อย 99% ทำได้ผ่านมือถือ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและประหยัดเวลาประชาชน และจะช่วยให้ข้อร้องเรียนไม่เงียบหาย มีการอัปเดตความคืบหน้าทุกขั้นตอน และมีฐานข้อมูลที่ช่วยให้โอนสวัสดิการให้ประชาชนได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องรอ ไม่ต้องลงทะเบียน 

นอกจากนั้น ก้าวไกลจะเดินหน้ายกเลิกทุกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อประชาชน ยกเลิกใบอนุญาตที่ซ้ำซ้อน 50% และปรับกระบวนการทำงานให้ประชาชนรู้ผลใบอนุญาตใน 15 วัน โดยหากหน่วยงานของรัฐ พิจารณาใบอนุญาตเกินกำหนด ให้ถือว่าคำขออนุญาตนั้น มีผลบังคับใช้เหมือนใบอนุญาตทันที

ในส่วนของการปฏิรูปตำรวจ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงนโยบายปฏิรูปตำรวจว่า ปัจจุบันมีการสร้างระบบเส้นสาย ตั๋วตำรวจ ตั๋วช้าง ทำให้ตำรวจไม่สนใจการสืบสวนคดีหรือทำงานที่เป็นของตำรวจจริง ๆ แต่กลับไปรีดไถ รับสินบน ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด บ่อนการพนัน และการค้ามนุษย์ แม้ว่ารัฐสภาเพิ่งจะผ่าน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งระบบเดิม ๆ ที่เอื้อให้กลับสู่การทุจริตอีกครั้ง

พรรคก้าวไกลจึงเสนอนโยบายตำรวจของประชาชน โดยปรับโครงสร้างให้ยึดโยงกับประชาชน ทั้งใน ‘ระดับประเทศ’ ที่จะมีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่ส่วนใหญ่มีที่มาผ่านผู้แทนทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล คอยป้องกันการใช้เส้นสาย ทำให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ต้องทำงานอยู่ในสายตาประชาชนตลอดเวลา และใน ‘ระดับจังหวัด’ จะมี ‘คณะกรรมการนโยบายความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด’ ซึ่งองค์กรท้องถิ่นและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม สามารถลงมติว่าจะเห็นชอบนายตำรวจที่ ก.ตร. ตั้งขึ้นมาเป็นผู้บังคับการจังหวัดนั้น ๆ หรือไม่ และช่วยประเมินคุณภาพการทำงานของตำรวจในจังหวัด ส่วนเรื่องการตรวจสอบ พรรคก้าวไกลเสนอให้มีคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระแยกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อย่างเด็ดขาด ทำงานไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตำรวจโดยขึ้นตรงต่อรัฐสภาและมีกระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใส ยึดโยงกับประชาชน เพื่อขจัดปัญหาประโยชน์ทับซ้อนของตำรวจที่อาจช่วยเหลือกันเอง และเปิดให้ตำรวจน้ำดีภายใน สตช. ให้ความร่วมมือแจ้งเบาะแสการทุจริตได้อย่างปลอดภัย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top