Saturday, 18 May 2024
ฉายา

‘พิธา’ คว้าฉายา ‘ดาวดับ’ สภาปี 66 หลังชวดเก้าอี้นายกฯ ด้านสภาผู้แทนราษฎรได้ฉายา ‘สภาลวงละคร’ ไปครอง

(27 ธ.ค. 66) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมร่วมกันของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ได้มีความเห็นร่วมกันในการตั้งฉายาของรัฐสภาตลอดปี 2566 ทั้งนี้ การตั้งฉายาการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้ง สส. และ สว.เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาทุกปี ในฐานะที่ติดตามการทำหน้าที่ของ สส. และ สว.อย่างใกล้ชิด เพื่อสะท้อนความคิดเห็นการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนขอเป็นกำลังใจให้ สส. และ สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ให้มุ่งมั่น ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ สส. และ สว. ที่บกพร่องในการทำหน้าที่ ขอให้ทบทวน ปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชนต่อไปซึ่งมีความเห็นร่วมกัน ดังนี้

1.) สภาผู้แทนราษฎร ได้รับฉายา ‘สภาลวงละคร’
สภาที่มีการชิงไหวชิงพริบ เพื่อเป็นเจ้าของอำนาจ มีการเจรจาจับมือกันหลายฝ่าย โดยในครั้งแรกพรรคเพื่อไทยเล่นตามบทเป็นมวยรอง แต่สุดท้ายใช้สารพัดวิธีพลิกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีแต่การหักเหลี่ยมเฉือนคม ตั้งแต่การเลือกนายกรัฐมนตรี จนถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร แม้กระทั่งการหักหลังฝ่ายเดียวกันเองระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลที่เคยเป็นฝ่ายเดียวจับมือต่อสู้กันมาก่อน จนถึงขั้นฉีกเอ็มโอยู (MOU) ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเล่นตามบทของพรรคอันดับรอง จับมือกอดคอกันอย่างหวานเจี๊ยบ เปรียบเสมือนโรงละครโรงใหญ่ ที่มีแต่ฉากการหลอกลวง

2.) วุฒิสภา ได้รับฉายา ‘แตก ป. รอ Retire’
ล้อมาจากฉายาของวุฒิสภาในปี 65 คือ ‘ตรา ป.’ ที่ สว.ทำหน้าที่รักษามรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประโยชน์ของ 2 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ ‘ป.ประยุทธ์’ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี หรือ ‘ป.ประวิตร’ แบบไม่มีแตกแถว แต่ในปีนี้ทั้ง ‘2 ป.’ ได้แยกทางกัน ซึ่งในการลงมติเลือกนายรัฐมนตรีที่ผ่านมา สว.ฝ่าย ป.ประยุทธ์ ได้ลงมติยอมสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน สวนทางกับ ป.ประวิตร ที่งดออกเสียง และ สว.กำลังจะหมดอำนาจหน้าที่ในเดือน พ.ค. 67 จึงเป็นเสมือนการรอเวลาเกษียณ หมดเวลาการทำหน้าที่ สว.

3.) นายวันมูหะมัด นอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับฉายา ‘(วัน) นอ-มินี’
เนื่องจาก ตำแหน่งนี้เป็นที่แย่งชิงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมาก่อน ก่อนที่จะเห็นร่วมกันว่า ใช้โควตาคนนอก พรรคเพื่อไทย จึงได้เสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติในขณะนั้น เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคก้าวไกลก็ยอมรับ ดังนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ จึงเป็นเสมือนนอมินีของการแย่งชิงครั้งนี้ ทั้งที่จำนวนเสียง สส.ที่มีก็ไม่ได้เพียงพอต่อการชิงตำแหน่งประธานสภาฯ แต่ก็ถือเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ที่พรรคพร้อมให้การสนับสนุน ทั้งยังเคยเป็นคนของพรรคเพื่อไทยมาก่อนด้วย

4.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้รับฉายา ‘แจ๋วหลบ จบแล้ว’
คำว่า ‘แจ๋ว’ เปรียบเสมือน บทบาทของ ‘ผู้รับใช้’ ซึ่งเกือบ 10 ปีที่ผ่าน นายพรเพชร ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า เป็นผู้รับใช้ คสช. แต่เมื่อเข้าสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในยุคปัจจุบัน บทบาทของนายพรเพชรในฐานะประธานวุฒิสภา พยายามหลบแรงปะทะ ไม่แสดงความเห็นที่เสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้งมากนัก รวมถึงไม่ออกสื่อ เพื่อรอเวลาวุฒิสภาหมดวาระในการทำหน้าที่ สว. 6 ปี ในเดือน พ.ค. 67

5.) นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา เห็นควรว่า ควรงดตั้งฉายา เนื่องจากเพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ และยังไม่ได้เริ่มทำงานในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

6.) ดาวเด่น
ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา เห็นว่า ‘ไม่มีผู้ใดเหมาะสม’ และโดดเด่นเพียงพอที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว

7.) ดาวดับ
ได้แก่ ‘นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มีความโดดเด่นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งรู้ผลเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลได้จำนวน สส.มากที่สุด เดินสายขอบคุณประชาชน พบหน่วยงานต่างๆ ประหนึ่งว่าเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว พลอยให้บรรดาด้อมส้มเรียก ‘นายกฯ พิธา’ ทำให้เกิดกระแส ‘พิธาฟีเวอร์’ แต่สุดท้ายกลับไปไม่ถึงดวงดาว สภาไม่ได้เหยียบ ทำเนียบไม่ได้เข้า เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งแขวน ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จากคดี ‘หุ้นไอทีวี’ ที่ยังลูกผีลูกคน จึงเป็นดาวที่เคยจรัสแสง แต่ตอนนี้ได้ดับลงแล้ว

8.) วาทะแห่งปี66
ได้แก่ วาทะของ ‘นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หนึ่งในแกนนำทีมเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ลุกขึ้นชี้แจงคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66 ที่ผ่านมาว่า “เราเห็นด้วยอย่างยิ่งที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเราเป็นพรรคอันดับ 2 มีความยินดีร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล และถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคเพื่อไทยไม่มีทางจับมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล เราเป็นพรรคอันดับ 2 สามารถที่จะแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้ากลไกการเมือง และรัฐธรรมนูญมันปกติ แต่ด้วยสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญแบบนี้ เราไม่ร่วมมือกันไม่ได้ แต่เราก็คิดผิด เพราะว่ายิ่งเราจับมือกัน ยิ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้”

9.) เหตุการณ์แห่งปี คือ ‘เลือกนายกรัฐมนตรี’
ถือเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่มีการเลือกนายกรัฐมนตรีมากถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 13 ก.ค. 66 ซึ่งบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ คือ นายพิธา แต่ปรากฎว่าได้รับความเห็นชอบไม่ถึง 376 เสียง ทำให้มีการโหวตเลือกผู้ที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 อีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค. 66 แต่ปรากฎว่า ในที่ประชุมรัฐสภากลับมีการถกเถียงกันถึงข้อบังคับการประชุมว่าจะสามารถเสนอรายชื่อนายพิธาซ้ำได้หรือไม่ เนื่องจากมีความเห็นว่า ญัตติที่เสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีตกไปแล้ว ไม่สามารถนำขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ แม้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะเปิดลงมติตามข้อตามข้อบังคับที่ 151 ปรากฎว่า เสียงกึ่งหนึ่งเห็นว่า ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้

จากนั้น ช่วงเช้าของวันที่ 21 ส.ค. 66 นายชัยธวัช ตุลาธน ได้แถลงส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้น นพ.ชลน่าน ในนามของพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวจับมือตั้งรัฐบาลเพื่อไทย 314 เสียงกับ 11 พรรคการเมืองที่เคยเป็นพรรครัฐบาลเดิม ในสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเหตุให้วันที่ 22 ส.ค. 66 นายวันมูหะมัดนอร์ ได้นัดประชุมรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อพิจารณาบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่ 3 โดยมีการเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี สุดท้ายก็ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาด้วยเสียง 482 เสียง ต่อไม่เห็นชอบ 165 เสียง และงดออกเสียง 81 เสียง ทำให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

10.) คู่กัดแห่งปี
ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ลงมติเห็นว่า ควรงดตั้งฉายาคู่กัดแห่งปี เนื่องจากเพิ่งเปิดสมัยประชุมได้เพียงสมัยเดียว และเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงตรงกับช่วงปิดสมัยประชุม จึงยังไม่มีใครเป็นคู่กัดที่ชัดเจน มีเพียงการปะทะคารมในบางเหตุการณ์เท่านั้น

11.) คนดีศรีสภา 66
สื่อมวลชนประจำรัฐสภา มีความเห็นร่วมกันว่า ยังไม่มี สส. หรือ สว.คนใด เหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

ฉายาตำรวจ แห่งปี 66 “ต่อ”เฟรนด์ลี่-เชอร์ล็อค”นพ” “จ๋อ”-โคนันนครบาล -“เต่า”-มือปราบกังฉิน” “จี”-ที่สุดของแจ้

วันที่ 27 ธันวาคม ที่ศูนย์ปฏิบัติการสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย นายไพโรจน์ เทศนิยมนายกสมาคม นายสมชาย จรรยา นายสุรชัย นิโคธานนท์ อุปนายก นายธนากร ริตุ ประชาสัมพันธ์สมาคมฯ แถลงข่าวฉายาตำรวจ ประจำปี 2566 ปีนี้มีทั้งหมด 11 ฉายา

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ปีนี้ สื่อมวลชนสายงานด้านอาชญากรรมได้ติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจนำเสนอผลงานสู่สายตาประชาชน เพื่อสะท้อนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงร่วมกันตั้งฉายาตำรวจประจำปีขึ้นถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งเกณฑ์ในการตั้งฉายานั้น มีการประชุมร่วมกันกับตัวแทนสื่อมวลชนจากสังกัดต่างๆ เสนอรายชื่อนายตำรวจเข้ามา และทำการคัดเลือกในปีนี้เหลือเพียง 11 นาย ดังนี้

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล  ผบ.ตร.ฉายา  “ต่อ เฟรนด์ลี่” 
สื่อมวลชนสายอาชญากรรม ขนานนามให้ว่าเป็น “มือปราบสายธรรมะ” เนื่องจากเป็นนายตำรวจที่ใช้หลักธรรมในการทำงานและหลักรัฐศาสตร์ เดินสายปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่างๆในขณะเดียวกัน “บิ๊กต่อ” ยังเป็นคนเรียบง่ายไม่ถือเนื้อถือตัว บ่อยครั้งจะเห็นภาพของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ร่วมวงกินข้าว กินก๋วยเตี๋ยวกับผู้ใต้บังคับบัญชา เวลาออกเดินสายตรวจเยี่ยมกำลังพลตามโรงพักต่างๆที่ห่างไกล และยังวางตัวเป็นกันเองกับลูกน้อง เน้นสวัสดิการให้ลูกน้อง ใครต่อใครก็เข้าถึงได้เป็นคนเสมอต้นเสมอปลายเป็นที่รักของลูกน้องจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของฉายาว่า “ต่อเฟรนด์ลี่”

พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผบ.ตร. ฉายา “สุภาพบุรุษสีกากี” เป็นนายตำรวจที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ ด้วยฝีไม้ลายมือในการทำงานและผ่านงานระดับ ตร. ทุกหน้างาน ทั้งงานปราบปราม, งานสืบสวน และความมั่นคง เป็นนายร้อยตำรวจรุ่น 40 เกษียณอายุราชการปี 2567 และเป็นรองผบ.ตร.อาวุโส อันดับที่ 1 ในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 13 และคนที่ 14 ที่ผ่านมา ทำให้มีลุ้นเป็นตัวเต็งนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.ถึงสองครั้ง แต่สุดท้ายก็ต้องผิดหวัง เมื่อไม่ได้รับการเสนอชื่อเป็น ผบ.ตร. แต่ยังก้มหน้าก้มตาทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่มีแม้จะฟ้องร้องหรือทวงสิทธิ์แต่อย่างใด แม้จะมีกระแสข่าวว่าจะโยก พล.ต.อ.รอย ไปรับตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นการตอบแทนที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผบ.ตร. เพื่อแก้ปัญหาด้านคุณธรรม คืนความเป็นธรรมและเยียวยาความรู้สึกผิดหวังให้พล.ต.อ.รอย สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น “บิ๊กรอย” ก็ยังคงปักหลักทำงานในหน้าที่ จึงเป็นที่มาของฉายาว่า “สุภาพบุรุษสีกากี”

พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ฉายา “โจ๊ก รอได้”
หากเอ่ยถึงชื่อ “บิ๊กโจ๊ก” เชื่อได้ว่าไม่มีใครไม่รู้จัก และด้วยฝีไม้ลายมือการทำงานที่ปรากฏต่อสายตาประชาชน ประกอบกับอายุราชการที่ยังคงเหลืออีกหลายปี ทำให้ถูกจับตาว่ามีสิทธิ์ที่จะขึ้นเป็น ผบ.ตร.และสื่อมวลชนสายตำรวจวิเคราะห์ว่า หากไม่มีอะไรสะดุด ในปี 2567 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะกลายเป็นอาวุโสอันดับ 1 ทันที และก็อาจจะมีสิทธิ์ได้ใช้นามเรียกขาน “พิทักษ์ 1” แต่ก็ต้องผ่านอีกกี่ขวากหนามบนเส้นทางสู่ ผบ.ตร. อีกทั้งเจ้าตัวก็เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “ตนเองรอได้ ใครอยากเป็นผบ.ตร.ก็เป็นไปก่อน” จึงเป็นที่มาของฉายา “โจ๊ก รอได้”

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ  ผู้ช่วย ผบ.ตร.ฉายา “หลวงโดดปราบยา”
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ มีชื่อเล่นว่า “หลวง” เป็นนายตำรวจที่เก่งทั้งบู๊และบุ๋นและเป็นหนึ่งเดียวในระดับผู้ช่วย ผบ.ตร.ได้รับความไว้วางใจจาก ผบ ตร. ดูแลงานครบทุกหน้างานและทุกมิติ ทั้งงานสืบสวน สอบสวน งานป้องกันปราบปราม งานมั่นคงและกิจการพิเศษ อีกทั้งยังได้รับมอบหมายให้ดูแลงานป้องกัน บำบัด ผู้ติดยาเสพติด ที่ผ่านมานำกำลังตำรวจระดมกวาดล้างอาชญากรรมและยาเสพติดจับผู้ต้องหาได้มากกว่า 60,000 คนขยายผลจนไปถึงผู้ซื้อและตัวแทนจำหน่ายยาเสพติด 209 แห่งทั่วประเทศ ยึดของกลาง ยาเสพติด อาวุธปืนเถื่อน กระสุน และวัตถุระเบิดได้อีกเป็นจำนวนมาก จนได้รับการเสนอชื่อกระโดดข้ามห้วยเป็นข้าราชการพลเรือน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จึงเป็นที่มาของฉายา “หลวงโดดปราบยา”

พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ฉายา “จ้าว แข็งโป๊ก”
พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง นามเรียกขาน “น.1” ด้วยฝีไม้ลายมือที่เป็นที่ยอมรับให้คุมพื้นที่เมืองหลวง กรุงเทพมหานคร เป็นนายตำรวจที่ได้ชื่อว่ามีความตงฉิน ยอมหักไม่ยอมงอ และไม่ยอมรามือให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาที่ออกนอกลู่นอกทาง เน้นย้ำภารกิจสำคัญสูงสุด “ถวายความปลอดภัย” รวมถึงการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล กำชับเรื่องปัญหายาเสพติด บ่อนการพนัน สถานบริการ และการแต่งตั้งที่ผ่านมาหลายคนคิดว่า พล.ต.ท.ธิติ  ต้องได้ย้ายหรือไม่ก็ขยับขึ้นเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร. เนื่องจากเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ แต่ก็ยังรักษาเก้าอี้ “น.1.” ไว้ได้อย่างเหนียวแน่นจึงเป็นที่มาของ ฉายา “จ้าว แข็งโป๊ก”

พล.ต.ท.ไตรรงค์  ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร. ฉายา “บิ๊กอรรถกัดไม่ปล่อย”
พล.ต.ท.ไตรรงค์  มีชื่อเล่นว่า “อรรถ” ที่ผ่านมาเคยเป็นหัวหน้าทีมคดี “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุเกินกว่า 15 ปี 2 คดี และคดีข่มขืนกระทำชำเรา 1 คดี ในพื้นที่ สน.ลุมพินี โดยทำคดีอย่างตรงไปตรงมาไม่เลือกปฏิบัติ แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะมีตำแหน่งใหญ่ก็ตามช่วงในรอบปีที่ผ่านมาก็ฝากผลงานไว้มากมาย จากการที่สวมหมวกเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ PCT นำกำลังไล่กวาดล้างจับกุมเครือข่ายพนันออนไลน์ ที่สร้างความเดือดร้อนมอมเมาเยาวชนและพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก และเกาะติดไล่ล่าชนิดถอนรากถอนโคน จึงเป็นที่มาของ ฉายา “บิ๊กอรรถกัดไม่ปล่อย”

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ฉายา “เพชฌฆาต โจรไซเบอร์”
พล.ต.ท.วรวัฒน์ เป็นอีกหนึ่งนายตำรวจที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับของประชาชน ที่ผ่านมานำกำลังขุนพลไซเบอร์ออกปราบปรามเหล่าร้าย กวาดล้างภัยออนไลน์กลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมทั้งเว็บพนันออนไลน์ต่างๆ ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน รวมไปถึงการจับกุมแก๊งมิจฉาชีพหลอกนักเรียน ม.6 โอนเงินดาวน์ผ่อนซื้อไอโฟน 13 ทางออนไลน์ เกือบ 2 หมื่นบาท สุดท้ายปิดเฟซบุ๊กหนี นักเรียน ม.6 เครียด ตัดสินใจผูกคอเสียชีวิต และทุกครั้งที่มีการปฏิบัติการ พล.ต.ท.วรวัฒน์ จะลงพื้นที่คุมงานเองเสมอ ขณะเดียวกันยังแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์กลโกงของคนร้ายต่างๆให้รับทราบเปรียบเสมือนการให้วัคซีนทางไซเบอร์กับพี่น้องประชาชนให้รู้เท่าทันมีสติเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ จึงเป็นที่มาของ ฉายา “เพชฌฆาต โจรไซเบอร์”

พล.ต.ท.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผบช.ภ.1 ฉายา “ที่สุด ของแจ้”
พล.ต.ท.จิรสันต์ หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่าติดปากว่า “บิ๊กจี” แต่น้อยคนจะรู้ว่าชื่อเล่นจริงๆของ พล.ต.ท.จิรสันต์ มีชื่อว่า “แจ้” และด้วยบุคลิกที่เป็นนายตำรวจใฝ่รู้ มาดสุขุม นุ่มลึก มีรอยยิ้มและสมองเป็นอาวุธ บวกกับสไตล์การทำงานคลุกคลีตีฝุ่นเป็นกันเองกับผู้ใต้บังคับบัญชา ยามว่างลงพื้นที่เสริมสร้างสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับประชาชน พล.ต.ท.จิรสันต์ เป็นรอง ผบช.น.ยาวนานถึง 5 ปีทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งก็คาดหมายว่าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้บัญชาการตำรวจ เพราะจะเกษียณอายุราชการในปี 2567 แต่สุดท้าย ปรากฏชื่อได้เป็นผู้บัญชาการ ซึ่งถือเป็นปีสุดท้ายก่อนเกษียณแต่ที่สำคัญไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 หรือที่ใครเรียกว่าผู้บัญชาการตัวเลข จึงเป็นที่มาของฉายา “ที่สุด ของแจ้”

พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผบช.น.  ฉายา “เชอร์ล็อคนพ”
พล.ต.ต.นพศิลป์ เรียกได้ว่าเป็นนักสืบยุค 5 จีจริงๆ มีผลงานเป็นที่ยอมรับมากมาย ด้วยประสบการณ์ที่สะสมบนเส้นทางนักสืบได้ถ่ายทอดวิชาแก่นักสืบรุ่นหลัง และบ่อยครั้งมักจะถูกดึงตัวมาอยู่ในชุดทีมคลี่คลายคดีสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลายยุคหลายสมัย ล่าสุดกับผลงานการเสียชีวิตของ “น้องชมพู่” ถือว่าเป็น“ตัวจักร” สำคัญ และเป็นบทพิสูจน์ชุดคลี่คลายคดีหลังศาลชั้นต้นสั่งจำคุกนายไชย์พล วิภา หรือ “ลุงพล” 20 ปี จน ผบ.ตร.ชื่นชมยกเป็นโมเดลให้นักสืบรุ่นใหม่ และด้วยฝีไม้ลายมือเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ชื่อของรองนพศิลป์ ติดทำเนียบเป็นนักสืบชั้นครูของวงการตำรวจไทย เทียบคล้ายกับนักสืบดังในภาพยนตร์ “เชอร์ล็อคโฮล์ม” และในอดีตมีนักสืบชั้นครูอย่าง “เชอร์ล็อคนู” พล.ต.ท.มนู หอมหวล  จึงเป็นที่มาของ ฉายา “เชอร์ล็อคนพ”

พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ฉายา“มือปราบกังฉิน”
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ เป็นมือปราบที่ไม่เคยเกรงกลัวอิทธิพลใดๆ และผ่านคดีดังมากมายที่เกี่ยวข้องกับการจับข้าราชการระดับสูง ที่ทุจริตเรียกรับสินบน ด้วยภาพของการปราบข้าราชการทุจริตคอรัปชั่น เรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ ฮั้วประมูลงานต่างๆ ตั้งแต่สมัยเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ปัจจุบันได้รับ ความไว้วางใจให้ขยับตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แต่ยังคงรับผิดชอบหน่วยงาน (บก.ปปป.) ล่าสุดเป็นผู้นำทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมนายวีระชาติ รัศมี  นายกเทศบาลตลุกดู่ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ลูกเขยของ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยจับกุมตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่ จ.167-169/2566 ข้อหาร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ และร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงเป็นที่มาของ ฉายา “มือปราบกังฉิน”

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนนครบาล “โคนัน นครบาล”
พล.ต.ต.ธีรเดช เป็นหนึ่งในลูกหม้อนครบาล ด้วยฝีมือระดับตำนานน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top