Sunday, 19 May 2024
จุฬา

‘นันทิวัฒน์’ โพสต์เดือด!! จี้ ‘ผู้บริหารจุฬาฯ’ ลาออก หลังปล่อยนิสิตย่ำยี ‘พระเกี้ยว’ เหมือนของข้างถนน

(27 ม.ค. 66) นายนันทิวัฒน์ สามารถ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ในฐานะนิสิตเก่าจุฬา รุ่นปี 2512 ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Nantiwat Samart’ แสดงความคิดเห็นกรณีมีนักศึกษารายหนึ่งย่ำยีพระเกี้ยวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย โดยนำมาจัดใส่พานนำไปวางที่บันได และโรยอาหารสุนัขรอบ ๆ

นายนันทิวัฒน์ ระบุว่า "ลาออกดีกว่าไหม? นิสิตจุฬาที่เอาสัญลักษณ์ของสถาบันฯ พระเกี้ยวซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ทีได้รับพระราชทาน มาเล่นเป็นของต่ำข้างถนน โดยอ้างว่าทำงานศิลปะ มันเป็นศิลปะตรงไหน แต่มันคือการเปลือยตัวเองล่อนจ้อน มันคือความพยายามในการดึงของสูงมาเล่น มันคือการแสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันฯ คนที่ไม่มีความรัก ไม่เคารพสถาบันที่ตัวเองศึกษา ไม่รับนับถือในประเพณี ต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่างที่คนส่วนมากให้การยอมรับ โดยอ้างเสรีภาพ กฎระเบียบของสังคมไม่ได้มีให้ต่อต้าน บางอย่างเปลี่ยนแปลงได้ แต่บางอย่างห้ามเปลี่ยนแปลงโดยเด็ดขาด

พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาให้ความเทิดทูนเป็นของสูง และมีความภูมิใจในพระเกี้ยวที่ติดหน้าอกเสื้อหากผู้ใดที่คิดว่า ไม่ใช่ เธอมาอยู่ผิดที่ผิดทางแล้ว ที่นี่อาจไม่ใช่ที่เหมาะกับเธอ ไปอยู่ในที่ที่ชอบไปไคว่คว้าหาเสรีภาพในที่อื่นที่คิดว่าใช่ดีกว่า จะทำอะไรที่พิศดารกว่านี้ก็ไม่มีใครต่อต้าน

‘ศิษย์เก่าฯ’ จี้ ยกเลิก ‘สัญลักษณ์ใหม่-Brand Chula’ โวย!! คนออกแบบอยากทันสมัย แต่ไม่เข้าใจรากเหง้า

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง เรียกร้องอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกเลิกตราสัญลักษณ์ใหม่ และ Brand Chula ชี้คนออกแบบรูปคล้ายพระเกี้ยวเขียนตามจินตนาการ อยากให้ดูทันสมัย แต่ไม่เข้าใจรากเหง้า อีกทั้งคำว่า ‘Chula’ ยังตัดแยกแถมด้อยค่าพระนามเต็ม ซ้ำแบรนด์สินค้าอื่น และเป็นคำสแลงในภาษาสเปนเชิงชู้สาว

(4 มี.ค. 66) รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ ประกอบด้วย รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและรองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สิน ปี 2520-2532 พร้อมด้วย รศ.ศรีวงศ์ สุมิตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ปี 2539-2543 คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ปี 2526-2529, นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2513, ผศ.จำรูญ ณ ระนอง ประธานสภาคณาจารย์ ปี 2538-2539, นายธัชพงศ์ ธรรมพุฒิพงศ์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2529 และนายสวัสดิ์ จงกล อดีตผู้อำนวยการหอประวัติ ผู้เชี่ยวชาญประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหนังสือถึง ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกตราสัญลักษณ์ใหม่ (รูปคล้ายพระเกี้ยว) และ Brand Chula เนื่องจากมีความไม่ถูกต้องเหมาะสมต่อการเผยแพร่สู่สาธารณะ สร้างความเสียหายต่ออัตลักษณ์และเกียรติภูมิของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยพบว่า ‘ตราพระเกี้ยว’ ซึ่งเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยเป็นรูปพระเกี้ยววางบนหมอน ซึ่งมีที่มาจากพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พบว่า ตราสัญลักษณ์ที่เขียนขึ้นใหม่ เป็นการเขียนตามจินตนาการของผู้ออกแบบที่ไม่มีความรู้ในเรื่องศิลปะในสถาปัตยกรรมไทย และไม่เข้าใจรากเหง้าและประวัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เพียงเพื่อให้ดูทันสมัยและเป็นสากล แม้จะอ้างว่าไม่ได้ใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย แต่อาศัยอำนาจใดประกาศให้ใช้ตราสัญลักษณ์อันมีลักษณะที่ผิดเพี้ยนทำให้คนส่วนใหญ่หลงเข้าใจผิด และเข้าข่ายกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551

ส่วนตัวอักษร Logotype ที่ใช้คำว่า ‘Chula’ เป็นการตัดแยกชื่อเต็มซึ่งเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์ อันเป็นการด้อยค่าพระนามเต็มแล้วสร้างชื่อใหม่ขึ้นมาแทน และซ้ำกับชื่อสินค้าหลายชนิดทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งในภาษาสเปน คำว่า ‘Chula’ เป็นคำสแลงที่มีความหมายเป็นคำชมหญิงสาวในเชิงดูหมิ่นไปในเรื่องทางเพศอีกด้วย เป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยดูตกต่ำมากกว่าทำให้ดูดีเป็นสากล อีกทั้งเป็นการออกแบบสัญลักษณ์แทนชื่อตัวเองที่มีลักษณะไม่เป็นมงคล คือตัดขาดกันเอง สูงต่ำสลับกัน และแตกต่างในทิศทางซ้ายขวาของหัวตัวอักษรและดูไม่มั่นคงสมกับเป็นสถาบันการศึกษาอีกด้วย จึงไม่สมควรนำมาใช้อย่างเป็นทางการในสถานะของ Brand Chula จึงควรใช้ชื่อเต็มให้รับรู้และจดจำด้วยคำว่า ‘Chulalongkorn’ ไม่ควรจงใจตัดทอนให้สั้น เพียงเหตุผลว่าง่ายต่อการจดจำแล้วสูญเสียเอกลักษณ์สำคัญ อีกทั้งยังสื่อความหมายในเชิงลบต่อจุฬาฯ อีกด้วย

ด้านเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ‘ขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง’ โพสต์ข้อความระบุว่า…

เมื่อวันที่ 1 มีนาคมนี้ ‘กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง’ ได้ส่งหนังสือคัดค้านการใช้รูปตราสัญลักษณ์แบบใหม่ไปถึงอธิการบดี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ซึ่งท้ายเอกสารฉบับนี้ลงนามโดย รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ (รองอธิการบดี พ.ศ.2520-2532), รศ.ศรีวงศ์ สุมิตร (รองอธิการบดี พ.ศ. 2539-2543 และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ พ.ศ. 2526-2529), ผศ.จำรูญ ณ ระนอง (ประธานสภาคณาจารย์ พ.ศ.2538-2539 และนายกสโมสรอาจารย์จุฬาฯ พ.ศ. 2539 - 2543), นายประสาร มฤคพิทักษ์ (นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. 2513) และนายธัชพงศ์ ธรรมพุฒิพงศ์ (นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ.2529)

โดยเนื้อหาในเอกสารได้ระบุว่ากลุ่มนิสิตเก่าจุฬาฯ ซึ่งมีหลายรุ่นหลายคณะต้องการแสดงความเห็นคัดค้านการใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่ที่ดูคล้ายตราพระเกี้ยวเดิม และรูปสัญลักษณ์ตัวอักษรคำว่า ‘Chula’ ซึ่งมหาวิทยาลัยระบุให้เป็น Official Logo Brand ใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทุกชนิดและให้ทุกหน่วยงานใช้รูปตราสัญลักษณ์นี้ ซึ่งในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนจากตราพระเกี้ยวเดิมมาเป็นตราใหม่นี้หมดแล้ว

บัณฑิต ‘จุฬา-ธรรมศาสตร์-เกษตร’  กวาดตำแหน่งงาน จาก Top 20 บริษัทชั้นนำของไทย

ข้อมูลที่รวบรวมโดยเว็บไซต์ Candid Data เผยว่า บัณฑิตจาก ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ ครองแชมป์สถาบันที่มีตำแหน่งงานในบริษัท Top 20 ของประเทศไทยสูงสุด ที่ 4,085 ตำแหน่ง ในขณะที่อันดับสองตกเป็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 2,572 ตำแหน่ง ส่วนอันดับสามได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีบัณฑิต 2,018 คน เข้าไปร่วมงานในหลากหลายตำแหน่งของบริษัทใหญ่ รวม 3 มหาวิทยาลัย มีจำนวนทั้งสิ้น 8,675 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ที่ครองที่นั่งในบริษัทระดับท็อปของประเทศเช่นกัน อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 5,532 ตำแหน่ง
 ‘จุฬา - มธ. - เกษตร’ กวาดที่นั่งบริษัทดังกว่าครึ่ง

ตำแหน่งงานทั้งหมดจากการสำรวจในครั้งนี้มี 14,207 ตำแหน่ง เท่ากับว่า บัณฑิตจาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กว่าที่นั่งไปทั้งสิ้น 61% คิดเป็นกว่าครึ่งจากจำนวนที่นั่งทั้งหมด โดยมหาวิทยาลัยที่ครองตำแหน่งสูงสุดอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครองตำแหน่งคิดเป็น 28.7% หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของตำแหน่งทั้งหมดในบริษัทชั้นนำของไทย

นอกจากนี้ Candid Data ยังเผยว่าในบรรดาบริษัทที่ติดโผนั้น บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครองอันดับสูงสุดในแทบทุกบริษัท ยกเว้น AIS, SCB, และ Boon Rawd Brewery ที่มีบัณฑิตจากรั้วเกษตรศาสตร์เข้าทำงานสูงสุด ส่วน Tesla นั้นมีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำงานอยู่มากสุด
ชาวเน็ตตั้งข้อสงสัย ไหนว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน?

หลังบทความดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็ได้รับความสนใจจากชาวเน็ตเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาตั้งคำถามในทำนองว่า ‘ไหนว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน?’ สะท้อนปัญหาด้านความเชื่อมั่นที่บริษัทต่างๆ มีต่อสถาบันการศึกษาที่แตกต่างกัน รวมถึงคุณภาพการศึกษาจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่มีอยู่มากมาย

อีกด้านหนึ่ง ก็มีผู้ตั้งคำถามถึง ‘โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ต่างกัน’ โดยประชากรที่เกิดในบ้านที่มีชนชั้นทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า ก็มีโอกาสที่จะเลือกมหาวิทยาลัยได้มากกว่า นำไปสู่โอกาสที่จะเข้าไปทำงานในบริษัทชั้นนำได้มากกว่าเช่นกัน

ที่ทำงาน / สถาบันการศึกษา ไม่ได้การันตีความสำเร็จในชีวิต
แม้บริษัทที่ทำการสำรวจนี้ จะเป็นบริษัทจาก “สุดยอดบริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วย 2023” ที่รวบรวมโดย WorkVenture แต่ก็มิได้หมายความว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในชีวิต เพราะเป้าหมายชีวิต และนิยามของความสำเร็จนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล บางคนนิยามความสำเร็จด้วยชื่อบริษัทที่ตนทำงาน, บางคนมองว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจคือความสำเร็จ, บางคนมองหาความพอดีระหว่างชีวิตทำงานและชีวิตในมิติอื่นๆ

สถาบันการศึกษา องค์กรที่ทำงาน เป็นเพียงบันไดหนึ่งขั้นที่จะช่วยให้ชีวิตดำเนินไป พึงเลือกบันไดที่ใช่ ที่เหมาะสม เพื่อจะได้ก้าวไปสู่ ‘ความสำเร็จ’ ตามนิยามของตัวคุณเอง

ที่มา :  https://www.amarintv.com/spotlight/future-of-work/detail/47691
https://candiddata.co/2023/05/31/dashboard-graduate-placement-2023/

 

‘สวทช. – จุฬาฯ’ พัฒนา ‘เส้นพลาสติกรักษ์โลก’ จาก ‘เปลือกหอยแมลงภู่’ คืนชีพขยะ PLA ย่อยสลายได้ 100% ขจัดปัญหาขยะในชุมชนอย่างยั่งยืน

‘นักวิจัยนาโนเทค สวทช.’ จับมือ ‘จุฬาฯ’ ต่อยอดไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจาก ‘เปลือกหอยแมลงภู่’ ผสมขยะพลาสติกชีวภาพ (PLA) พัฒนา ‘Re-ECOFILA เส้นพลาสติกรักษ์โลกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ’ ย่อยสลายได้ 100% คุณภาพเทียบเท่าของที่มีในท้องตลาดในราคาที่ถูกกว่า หวังทดแทนของนำเข้าราคาสูง สร้างโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติของนักเรียน นักศึกษาและคนทั่วไป ตอบ BCG เศรษฐกิจหมุนเวียน-สีเขียว ช่วยคืนชีพขยะ PLA จัดการขยะเปลือกหอยแมลงภู่ในชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

(22 พ.ย. 66) ดร.ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ นักวิจัยจากทีมวิจัยการวินิจฉัยระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ‘Re-ECOFILA’ มาจากงานวิจัย ‘เส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ ผลิตจากขยะเปลือกหอยแมลงภู่และขยะพลาสติกชีวภาพ’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ‘สวทช.’ โดย ‘นาโนเทค’ และ ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ โดยศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ ที่มีแนวคิดการใช้ประโยชน์ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่ที่ได้ทำงานวิจัยมาก่อนหน้านั้น จากความเป็นไปได้สำหรับเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ โดยจะไปแทนที่แคลเซียมคาร์บอเนตจากหินปูน ที่ใช้ในกระบวนการผลิตพอลิเมอร์

ข้อมูลจากกลุ่มสถิติการประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ประเทศไทยผลิตหอยแมลงภู่เฉลี่ยมากกว่า 50,000 ตันต่อปี โดยน้ำหนักมากกว่าครึ่งเป็นน้ำหนักของเปลือกหอย ทำให้เกิดขยะเปลือกหอยสะสมเป็นจำนวนมาก ตามพื้นที่ชุมชนที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยและแกะเนื้อหอยขาย ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ปัจจุบัน วิธีการเดียวที่จะนำเปลือกหอยแมลงภู่ไปใช้ประโยชน์คือ การรับซื้อในราคาถูกเพื่อนำไปถมที่

“แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ถูกใช้เป็นสารเติมแต่ง (additive) ในอุตสาหกรรมพอลิเมอร์ เพื่อลดต้นทุน โดยเติมแคลเซียมคาร์บอเนตจากหินปูนที่มีราคาถูกกว่า แต่เมื่อเรามีขยะจากเปลือกหอยแมลงภู่จำนวนมาก ซึ่งเปลือกหอยเป็นแหล่งแคลเซียมคาร์บอเนตที่มีความบริสุทธิ์สูง นอกจากจะสามารถใช้ทดแทนแคลเซียมคาร์บอเนตจากหินปูนได้แล้ว ยังช่วยในมิติของสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อีกด้วย ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาวิธีการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่เป็นไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตและนำไปใช้เป็นสารเติมแต่งใน PLA เพื่อฉีดเป็นเส้นพลาสติกสำหรับใช้ขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ” ดร.ชุติพันธ์ กล่าว

ปัจจุบัน ‘พอลิแลกติกแอซิด’ (polylactic acid : PLA) ซึ่งเป็นพลาสติกชีวภาพผลิตจากพืชนั้น มีการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการพิมพ์สามมิติ (3D printing) จากคุณสมบัติของ PLA ที่เหมาะสมสำหรับการฉีดขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ได้แก่ มีจุดหลอมเหลวที่ต่ำ, มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างต่ำ (dimension stability) และมีค่าการไหลที่เหมาะสำหรับการฉีดขึ้นรูป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการพิมพ์สามมิติด้วยเทคนิค FDM (Fused Deposition Modeling) ซึ่งจะเป็นการหลอมเส้นพลาสติกให้กลายเป็นของไหลแล้วฉีดออกมาเป็นเส้นด้วยหัวฉีด โดยเครื่องพิมพ์จะฉีดเส้นพลาสติกตามแนวระนาบและฉีดซ้อนทับเป็นชั้นไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นชิ้นงาน

ทีมวิจัยนาโนเทค-จุฬาฯ เริ่มจากพัฒนาวิธีการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่เป็นไบโอแคลเซียมคาร์บอเนต โดยไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตที่ได้มีรูปร่างกลมและมีขนาดเฉลี่ยประมาณ 109 นาโนเมตร มีความบริสุทธิ์สูงโดยจากผลการวิเคราะห์ด้วย TGA พบว่า ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตมีความบริสุทธิ์มากกว่าร้อยละ 98 โดยน้ำหนัก และจากผลการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค Raman spectroscopy พบว่า ไบโอแคลเซียมมีอัญรูปเป็นอะราโกไนต์

ในช่วงแรก ทีมวิจัยได้นำพลาสติกชีวภาพหรือ PLA มาผสมกับไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่ที่เตรียมขึ้นมา จากนั้น นำไปแล้วฉีดขึ้นรูปเป็นเส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ ผลที่ได้คือ เส้นพลาสติกที่มีคุณภาพดีมีคุณภาพเทียบเท่ากับเส้นพลาสติกที่มีจำหน่ายเชิงพาณิชย์ สามารถใช้งานได้กับเครื่องพิมพ์สามมิติระบบ FDM ได้ทันที นับเป็นโอกาสทางการตลาดที่ใหญ่ ในขณะเดียวกันก็มองเห็นโอกาสในการนำขยะพลาสติกจากการพิมพ์สามมิติมาคืนชีพ ใช้ทดแทน PLA

ดร.ชุติพันธ์กล่าวว่า เมื่อศึกษาข้อมูลด้านการพิมพ์สามมิติ ก็พบว่า ปริมาณขยะพลาสติกจากการพิมพ์สามมิติทั้งชิ้นส่วนที่ไม่ใช้แล้วและการเกิดขยะจากการกระบวนการพิมพ์ (การพิมพ์ support และการพิมพ์ที่ผิดพลาด) สืบเนื่องจากปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีราคาถูกลง การใช้ที่ไม่ซับซ้อน สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์อย่างรวดเร็ว (fast fashion) ทำให้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติถูกนำไปใช้ในวงกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะการขึ้นรูปต้นแบบอีกต่อไป เช่น การพิมพ์วัสดุสามมิติสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

“เราได้ทดลองนำขยะพลาสติกชีวภาพ หรือ ‘Recycled PLA’ จากกระบวนการพิมพ์สามมิติมาใช้ โดยบดผสมกับไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่ แล้วฉีดขึ้นรูปเป็นเส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ โดย Re-ECOFILA หรือ ‘เส้นพลาสติก’ ที่ผลิตได้มีคุณภาพเทียบเท่ากับเส้นพลาสติกที่มีจำหน่ายเชิงพาณิชย์ สามารถใช้งานได้กับเครื่องพิมพ์สามมิติระบบ FDM ได้ทันที อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องสีของเส้นพลาสติกที่แตกต่างจากของทั่วไป แต่ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสทางการตลาด ด้วยข้อมูลจาก HSSMI ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านการผลิตที่ด้วยกระบวนการที่ยั่งยืน พบว่า มีการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติชนิด FDM ที่ต้องใช้เส้นพลาสติกโดยเฉพาะเส้นพลาสติกผลิตจาก PLA ถึง 66% ของจำนวนเครื่องพิมพ์สามมิติทั่วโลก” ดร.ชุติพันธ์ กล่าว

เส้นพลาสติกที่ผลิตได้จากงานวิจัยนี้ ดร.ชุติพันธ์ เผยว่า เป็นเส้นพลาสติกที่มีราคาไม่แพง คุณภาพเทียบเท่ากับเส้นพลาสติกที่มีจำหน่ายเชิงพาณิชย์ สามารถใช้งานได้กับเครื่องพิมพ์สามมิติระบบ FDM ได้ทันที ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อชิ้นต่ำลง สามารถใช้นวัตกรรมนี้เพื่อผลิตเส้นพลาสติกราคาถูกสำหรับการใช้งานที่ไม่ต้องใช้ PLA คุณภาพสูง เพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง ด้วยเป็นวัสดุทางเลือกที่สามารถลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายในการขึ้นรูปต้นแบบผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาและบุคคลทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติได้ง่ายขึ้นจากวัสดุที่ราคาถูกลง เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและการพัฒนาโครงงานและงานนวัตกรรมสำหรับนักเรียน นักศึกษา

นอกจากนี้ นวัตกรรมเส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติผลิตจากขยะเปลือกหอยแมลงภู่และขยะพลาสติกชีวภาพ ยังเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) สร้างมูลค่าให้กับขยะจากการพิมพ์สามมิติ และขยะจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล (Waste-to-Wealth) ส่งเสริมการจัดการของเสีย (waste management) ทั้งขยะเปลือกหอยสะสมในแหล่งชุมชนและขยะพลาสติก PLA ที่ไม่มีวิธีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่า ส่งผลให้มีการวางแผนการจัดการขยะอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ กำจัดขยะเก่า และลดการสร้างขยะใหม่

“ที่สำคัญ ผลงานนี้ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการขายเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งจากการแปรรูปอาหารทะเลให้ภาคธุรกิจโดยการแปรรูปเบื้องต้น เช่นเดียวกับองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้ ก็สามารถถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการไทยมีเทคโนโลยีการผลิตเส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ ลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้สารเติมแต่งไบโอแคลเซียมคาร์บอเนต และเทคโนโลยีการนำขยะพลาสติก PLA กลับมาใช้ใหม่ ผลิตภัณฑ์สามารถจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์กลางน้ำเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ หรือผลิตเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายได้เชิงพาณิชย์ได้” นักวิจัยนาโนเทคกล่าว พร้อมชี้ว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีมีระดับความพร้อมอยู่ที่ TRL 6 เส้นพลาสติกที่ผลิตได้ถูกนำไปใช้กับเครื่องพิมพ์สามมิติ และสามารถพิมพ์ชิ้นงานสามมิติได้ โดยคุณภาพของชิ้นงานเทียบเท่ากับชิ้นงานที่ถูกพิมพ์จากเส้นพลาสติกที่มีจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยทีมวิจัยอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโมเดลธุรกิจ เพื่อทำให้นวัตกรรมเส้นพลาสติกที่พัฒนาขึ้น ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมงานวิจัย

นอกจากนี้ ดร.ชุติพันธ์ แย้มว่า เตรียมต่อยอดการวิจัย เพื่อเพิ่มแอปพลิเคชันการใช้งานที่มีความต้องการทางการตลาดอีกมุมหนึ่ง จากนวัตกรรมรักษ์โลก ย่อยสลายได้ 100% ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่ม CRS เราจะเปลี่ยนมาใช้พลาสติก ABS หรือ ‘Acrylonitrile Butadiene Styrene’ ที่มีความแข็งแรง ทนทาน นิยมใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างแพร่หลาย ผสมกับสารตัวเติมที่มีคุณสมบัติหน่วงไฟ (flame retardants) ที่เตรียมขึ้นใช้เองโดยมีสารตั้งต้นเป็นไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่ พัฒนาเป็นวัสดุที่มีสมบัติหน่วงไฟ สามารถประยุกต์ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เคสคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและพิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์สามมิติ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นอีก 1 ตลาดใหญ่ที่จะต่อยอดใช้ประโยชน์จากขยะเปลือกหอยแมลงภู่ในอนาคต

เส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติผลิตจากขยะเปลือกหอยแมลงภู่ และขยะพลาสติกชีวภาพ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จาก Korea Invention Promotion Association สาธารณรัฐเกาหลี ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในเวที ‘Taiwan Innotech Expo 2023’ (TIE 2023) เมื่อวันที่ 12 - 14 ตุลาคม 2566 ณ กรุงไทเป ไต้หวัน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top