Wednesday, 15 May 2024
จอมพลป_พิบูลสงคราม

16 กันยายน พ.ศ. 2500 ‘จอมพลสฤษดิ์’ ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’

วันนี้เมื่อ 65 ปีก่อน วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อ้างสาเหตุการเลือกตั้ง ที่มีการกล่าวขานว่า เป็นการเลือกตั้งสกปรกที่สุดของประเทศไทย

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม สาเหตุการรัฐประหาร เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ปี 2500 ซึ่งมีการกล่าวขานว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรกที่สุดของประเทศไทย โดยผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก และได้ตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความวุ่นวายอย่างหนักจากการเดินประท้วงของประชาชนจำนวนมาก ที่เรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง 

เมื่อสถานการณ์ลุกลาม จอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้นำประชาชนเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบรัฐบาล ทำให้กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที จากเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อจอมพลสฤษดิ์ เห็นว่ารัฐบาลจอมพล ป. ขาดความชอบธรรมในการปกครองบ้านเมืองแล้ว จอมพลสฤษดิ์ จึงประกาศลาออกจากตำแหน่ง รมว.กลาโหม ในรัฐบาลของ จอมพล ป. คงเหลือแต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเพียงอย่างเดียว

วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ และคณะทหาร ยื่นคำขาดต่อ จอมพล ป. ให้รัฐบาลลาออก แต่ได้รับคำตอบจาก จอมพล ป. ว่า ยินดีจะให้รัฐมนตรีลาออก แต่ตนจะขอเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง ยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ได้พูดผ่านวิทยุยานเกราะถึงผู้ชุมนุมในเหตุการณ์นี้ โดยมีประโยค “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”

จากนั้นวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2500 ประชาชนพากันลุกฮือเดินขบวนบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่พบจอมพล ป. จึงพากันไปบ้านจอมพลสฤษดิ์ ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. ก็กำลังเตรียมจับกุมจอมพลสฤษดิ์ ในข้อหากบฏ แต่ไม่ทัน 

และในคืนวันที่ 16 กันยายน นั้นเอง จอมพลสฤษดิ์ ได้นำกำลังรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. ส่วน  จอมพล ป. ได้หลบหนีไปยังประเทศกัมพูชา ก่อนจะขอลี้ภัยไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งเสียชีวิต

17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ ก่อการรัฐประหารตัวเอง หลังไม่อาจคุมสถานการณ์ในสภาฯ ได้อีกต่อไป

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เป็นการรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองอีกครั้งในประวัติศาสตร์ชาติไทย เหมือนรัฐประหาร พ.ศ. 2494 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

การรัฐประหารในครั้งนี้ สาเหตุสืบเนื่องจากการที่สมาชิกพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนต่าง ๆ ตามที่จอมพลถนอมได้เคยสัญญาไว้ในช่วงเลือกตั้ง เมื่อไม่ได้รับการตอบแทนดังที่สัญญาไว้ ส.ส.เหล่านี้ได้ต่างพากันเรียกร้องต่าง ๆ นานา บ้างก็ขู่ว่าจะลาออก เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ จอมพลถนอม หัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับฉายาสมัยนั้นว่า 'นายกฯคนซื่อ' ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ในสภาฯ ได้ จึงทำการยึดอำนาจตนเองขึ้น โดยไม่มีชื่อเรียกคณะรัฐประหารในครั้งนี้โดยเฉพาะเหมือนการรัฐประหารที่เคยมีมาในอดีต แต่เรียกตัวเองเพียงแค่ว่า คณะปฏิวัติ

โดยมีคำปรารภในการยึดอำนาจตัวเองครั้งนี้ว่า ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน 

จากนั้นคำสั่งของคณะรัฐประหารได้สั่งให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2511 ที่ใช้อยู่ก่อนหน้านั้น และยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมืองและประกาศห้ามมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

คณะปฏิวัติได้ครองอำนาจมาถึงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้และตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติให้จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งในธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับนี้มีการนำเอารัฐธรรมนูญมาตรา 17 กลับมาใช้อีกครั้งเหมือนยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเต็มที่ในการสั่งการใด ๆ อันเนื่องจากเหตุที่กระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาฯ หรือ มีกฎหมายฉบับใด ๆ มารองรับ

22 มกราคม พ.ศ. 2486 ประกาศใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทาย หลังจากมีการคิดค้นคำนี้เมื่อปี 2476

วันนี้ เมื่อ 79 ปีก่อน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการคิดค้นคำนี้เมื่อปี 2476 ในรายการวิทยุกระจายเสียง

การกล่าวคำทักทายของแต่ละประเทศล้วนมีความแตกต่างกัน และถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่บ่งบอกความเป็นมาของประเทศนั้น ๆ ซึ่งประเทศไทยก็มีคำทักทายเช่นกัน นั่นก็คือคำว่า "สวัสดี" เรียกได้ว่าเป็นคำพูดติดปากไม่ว่าจะเป็นการพบกัน หรือลาจากกัน ต่างก็ต้องเอ่ยคำว่า "สวัสดี" และรู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยนั้นมีการใช้คำนี้อย่างเป็นทางการนานเกือบ 80 ปีแล้ว

โดยเริ่มแรกนั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้เล่าต้นสายปลายเหตุว่า เมื่อก่อนเจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียงจะใช้คำว่า "ราตรีสวัสดิ์" เป็นการพูดเมื่อจบรายการ บางครั้งก็มีการอนุโลมให้พูดคำว่า "กู๊ดไนท์" (Goodnight) ของอังกฤษ แต่มีคนไม่เห็นด้วย จึงให้กรรมการชำระปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ในสมัยนั้น ช่วยคิดหาคำใหม่ขึ้นมาแทน จนในที่สุดก็ได้คำว่า "สวัสดี"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top