Saturday, 18 May 2024
งานฟุตบอลจุฬาธรรมศาสตร์

งานฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ 2567 สัญลักษณ์แห่งความเสื่อมถอยของเด็กกิจกรรม

เมื่อภาพการแห่ ‘พระเกี้ยว’ ในงานฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.67 ปรากฏขึ้นตามสื่อต่าง ๆ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจถึง ‘รากเหง้า’ และคำว่า ‘เกียรติภูมิจุฬาฯ’ จากเหล่าบรรดาเด็ก ๆ นิสิตที่เป็นผู้จัดกิจกรรมในงานฟุตบอลประเพณีนี้ในทันที ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของกิจกรรมที่เด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้จัดขึ้นอีกด้วย 

>> ‘พระเกี้ยว’ สัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจ...

สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้นั้น มีประวัติโดยย่อที่น่าสนใจ ดังนี้... 

ด้วย ล้นเกล้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเรขาประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา 

จากนั้นการอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ ในงานฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ จึงปรากฏเป็นประจักษ์หลักฐานครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2507 มีนิสิตหญิง 1 คน เป็นผู้อัญเชิญ โดยการอัญเชิญพระเกี้ยวเข้ามาสู่สนามการแข่งขัน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักกีฬาและกองเชียร์ ซึ่งจะคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นนิสิตชาย 1 คน และ นิสิตหญิง 1 คน เป็นตัวแทนบรรดานิสิตอัญเชิญพระเกี้ยวเข้าสู่สนามแข่งขัน และเป็นเช่นนี้มาโดยตลอดมาจนเกือบ 60 ปี

ทว่า ในปี พ.ศ. 2564 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) มีมติในการประชุมสามัญ 29 : 0 เสียง เห็นควรให้มีการ ‘ยกเลิก’ กิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีฯ โดยอ้างว่า เป็นธรรมเนียมที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมและมีการบังคับให้นิสิตให้มาแบกเสลี่ยง ทั้ง ๆ ที่เป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดมากว่า 50 ปีแล้ว และไม่เคยมีข่าวปรากฏว่า นิสิตผู้ปฏิบัติหน้าที่แบกเสลี่ยง ‘ร้องเรียน’ หรือ ‘ประท้วง’ ต่อประเพณีอันดีงามนี้มาก่อน 

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค.67 ผู้เขียนจึงขออนุญาตไม่ขอเรียกพิธีการนี้ว่า เป็นการอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ เพราะการนำพาน ‘พระเกี้ยว’ วางไว้บนหลังคารถกอล์ฟไฟฟ้าเข้าสู่สนามเป็นเพียง ‘การแห่’ เนื่องด้วยวิธีและวิถีการปฏิบัติเช่นนี้ บรรดานิสิตเก่าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มาก ๆ ไม่น่าจะเห็นด้วย 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของเด็กกิจกรรมภายใต้การชี้นำและครอบงำของกลุ่มต่อต้านสถาบันหลักของชาติที่ทำสำเร็จทั้งในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา และกำลังก้าวเข้าสู่ประถมศึกษา 

เรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี อันเป็นวัฒนธรรมนั้น ไม่ใช่การแบ่งแยกชนชั้นหรือกดขี่ข่มเหงแต่อย่างใด หากแต่เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการแสดงออกร่วมกันในพิธีการที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนและที่มาแห่งองค์กรของสถาบันที่ผู้เข้าร่วมสังกัด ได้สะท้อนถึงความงดงามแห่งวิถี อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงเกียรติของตนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ และความไว้วางพระราชหฤทัยขององค์ผู้พระราชทาน

แน่นอนว่า สังคมไทยในขณะนี้ กำลังอยู่ในช่วงตอบรับกับกระแสธารที่ผิดแผก ซึ่งผู้คนในสังคมที่เชื่อตาม ยอมตาม อาจได้รับบทเรียนจากการกระทำ ที่มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชาวยูเครน ที่เลือก Volodymyr Zelenskyy ผู้เป็นหุ่นเชิดและเครื่องมือของชาติตะวันตกมาเป็นประธานาธิบดี เปิดฉากท้าทายเดินหน้ารบกับรัสเซียจนประเทศชาติบ้านเมืองพินาศย่อยยับ เป็นหนี้สินต่างประเทศมากมายชนิดที่ไม่สามารถใช้คืนได้ใน 20-30 ปีข้างหน้า ทั้งไม่อาจที่จะฟื้นคืนสภาพของบ้านเมืองที่เสียหายอย่างหนักภายใน 10 ปีข้างหน้าได้ 

คงหวังได้เพียงแค่สวดภาวนาอ้อนวอนให้สรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ปกปักรักษา คุ้มครองบ้านเมือง ได้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเลวร้ายต่าง ๆ ต่อชาติบ้านเมือง หากเลี่ยงไม่ได้ หนีไม่พ้น ก็ขอให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และที่สำคัญที่สุดคือ ขอให้บรรดาเหล่าผู้ที่เห็นผิดเป็นถูกจนหลงทางเหล่านี้ ได้ ‘ตาสว่าง’ และ ‘คิดเป็น’ กลับตัวเปลี่ยนใจมาช่วยกันพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักของเราคนไทยทุกคนในทางที่ ‘ใช่’ ที่ ‘ถูก’ ที่ ‘ควร’ เพื่ออนาคตที่ดีตลอดไปด้วย...เทอญ 

สรุปดรามา!! เลื่อนงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 งานที่ดูไม่พร้อม-ควรใช้ชื่ออื่น หากอยากจัดเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์

(2 เม.ย.67) จากผู้ใช้แพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์) ได้สรุปดรามา เลื่อนงานฟุตบอลประเพณี 'จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์' ครั้งที่ 75 ไว้ว่า...

สืบเนื่องจากเฟซบุ๊ก Ajarin Pattanapanchai ของ น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โพสต์ข้อความ โดยสรุปได้ดังนี้...

งานบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ซึ่งจัดโดยสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) และสมาคมธรรมศาสตร์ฯ (สมธ.) ครั้งที่ 75  มี สมธ.เป็นเจ้าภาพจัดงาน ซึ่งได้แจ้งเลื่อนการจัดงานมาตั้งแต่ปี 2564-2566 และยังแจ้งโดยวาจาว่า "จะไม่จัดงานในต้นปี  2567"

แต่ สมธ. กลับมีจดหมายแจ้ง สนจ. ว่าจะจัดงานในวันที่ 30 มี.ค. 2567 ขอไปร่วมประชุมและแถลงข่าวการจัดงาน ซึ่งบอกล่วงหน้าแค่ 10 วัน ซึ่ง สนจ. ได้ประชุมและตอบกลับไปว่าไม่พร้อมร่วมจัดงาน เนื่องจาก จะชนกับงานประจำปีของ สนจ. คืองานวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 26 มี.ค. 2567

อีกทั้ง ชุมนุมเชียร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่ผู้รับผิดชอบในการจัดงานบอลประเพณี ได้ออกมาออกประกาศในสื่อ Social Media ว่า สนจ. เป็นต้นเหตุที่ทำให้งานเลื่อนออกไป จึงอยากให้ สมธ.ออกมาชี้แจงให้ชัดเจน  

ทั้งนี้ หากนิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบัน อยากจะจัดเตะบอลเชื่อมความสัมพันธ์กัน ก็ทำได้ ไม่ต้องใช้ชื่องานบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 หรอก (แต่อาจหาสปอนเซอร์ได้ไม่มาก)

#งานบอลจุฬาธรรมศาสตร์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top